ที่มา ประชาไท 6 มีนาคม 2553 ในแง่ของคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ที่ตัดสินไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานั้น ผมคิดว่าจะปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองระดับมืออาชีพไว้ชั่วคราว แล้วหันมาให้ความสนใจเรื่องความไม่ยุติธรรมในสังคมแทน ทั้งนี้ ในทัศนะของผมแล้ว เป็นต้นตอของอาการป่วยไข้อันน่ากลัวที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดอยู่มากมายในบ้านเมืองของเราซึ่งแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างลึกซึ้ง ยิ่งไปกว่านั้น ผมเชื่อว่า ถ้าหากความไม่ยุติธรรมเหล่านี้ยังคงมีปรากฏอยู่ในคำพิพากษาหรือความหายนะใดๆ ที่รอคอยทักษิณอยู่ในคดีต่างๆ ที่กำลังจะตามมาแล้ว สังคมไทยเราก็จะไม่มีวันพบเจอหนทางกลับไปสู่วิถีแห่งความปรองดองกันอีกครั้งได้ นี่เป็นตัวอย่างความอยุติธรรมในสังคมไทยที่ผมคิดออก ซึ่งจะเป็นเครื่องยืนยันว่า เราจำเป็นต้องให้ความสนใจกับมันอย่างจริงจัง ในความคิดของผม เมืองไทยคงจะเป็นแผ่นดินที่แห้งผากถ้าหากไร้ซึ่งผู้หญิง ไม่ใช่เพราะว่าผมโชคดีพอที่ได้แต่งงานกับคนสวยและเป็นคนที่ผมรัก แต่เป็นเพราะผมเชื่ออย่างแน่วแน่ว่า สถาบันที่สำคัญที่สุดในสังคมไทยไม่ใช่รัฐสภา ศาล หรือกองทัพ แต่เป็นสถาบันครอบครัว และผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในครอบครัวก็คือผู้ที่เป็นแม่นั่นเอง ดังนั้น ออกจะน่าเสียใจ และเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างใหญ่หลวง เมื่อผมเห็นผู้หญิงเพียงน้อยนิดดำรงตำแหน่งอยู่ในรัฐสภา, คณะรัฐมนตรี และระบบยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งดูเหมือนจะมีการกำหนดโควตาให้แก่นักธุรกิจชั้นนำ, นักวิชาการขี้หงุดหงิด และข้าราชการปากมากอย่างไม่อั้น แต่กับผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นแม่ ดูเหมือนว่าตลอดเวลาจะได้รับหน้าที่เป็นตัวแทนน้อยมากในเรื่องที่มีความสำคัญต่อประเทศเช่นนี้ ฉะนั้นแล้ว ลองหาผู้หญิงที่มีความสามารถซักคนมาลงสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีให้ผมเห็น แล้วผมที่เชื่อว่าเราต้องการการเลือกตั้งแบบ ‘วันแมน วันโหวต’ จะขอโอกาสให้แมนคนนี้ไปโหวตเลือกผู้หญิงเป็นนายกฯ! เกษตรกรไทยก็ได้รับความสำคัญน้อยกว่าคนอื่นๆ มานานแสนนานแล้วเช่นกัน เกษตรกร คือคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ดูเหมือนจะถูกบรรดานักการเมืองมองข้ามจนกว่าการเลือกตั้งใกล้จะมาถึง สำหรับประเทศไทย เกษตรกรรมไม่ได้เป็นแค่อาชีพ แต่เป็นวิถีชีวิต โชคร้ายสำหรับเกษตรกร การที่จะดำรงไว้ซึ่งระดับความเป็นอยู่อย่างที่เป็นอยู่นี้ ทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงสูงมาก เพื่อจะได้ผลตอบแทนอันน้อยนิด ผลผลิตทั้งหมดอาจจะหายวับไปกับตาด้วยโรคพืชหรือภัยแล้ง นำพาครอบครัวไปสู่การถูกบีบคั้นทางการเงินและสังคมอย่างหนัก แต่ถึงแม้จะได้เก็บเกี่ยว ผลผลิตที่ได้ก็ไม่ได้มากมายอะไร ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบอย่างมากในเรื่องการเพาะปลูกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเราสามารถปลูกพืชหลายๆ อย่างที่มีคุณค่าและรสชาติอร่อยที่สุดในโลก ด้วยความเคารพต่อชาวอินโดนีเซีย (ผมรู้ว่ากำลังจะโดนขัดคอ) แต่คุณเคยลองชิมมะม่วงจากอินโดนีเซียมั้ย? มันมีขนาดเท่าๆ กับลูกฟุตบอล และรสชาติก็คล้ายๆ กันด้วย! ฉะนั้นแล้ว ขอให้พวกเราโอบกอดเกษตรกรทั้งหลายของเราเอาไว้ และแสดงให้พวกเขารู้ว่า เขามีค่าต่อเราเฉกเช่นผลไม้ที่เขาปลูก ตลอดจนเรียกร้องให้ทุกๆ รัฐบาลควรจะรับผิดชอบให้การชดเชยต่อความไม่สมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนจากการเพาะปลูก และแทนที่จะเห็นแก่ประโยชน์ของพ่อค้าคนกลาง ผู้ซึ่งอยู่ดีกินดีอยู่แล้ว รัฐบาลควรจะหันมาเห็นแก่ประโยชน์ของเกษตรกรรายย่อยหลายล้านคน ซึ่งถูกกระทำให้ต้องอยู่อย่างทุกข์ๆ ยาก ๆ เสมอมา น่าขันที่ว่า ความอยุติธรรมที่น่ารังเกียจที่สุดในสังคมไทยมีแหล่งกำเนิดมาจากคนที่เราเสียภาษีให้มาคุ้มครองเรานั่นคือ กองทัพ นั่นเอง เราอาจจะมีภาพว่า มีรัฐบาลที่เป็นพลเรือน แต่ความจริงแล้ว ตำแหน่งที่มีอำนาจและอิทธิพลมากที่สุดในประเทศไทยไม่ใช่นายกรัฐมนตรี แต่เป็นผู้บัญชาการทหารบก นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาเตือนเราอยู่เสมอว่า ประชาชนทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎกติกา แต่เมื่อกติกา ซึ่งกรณีนี้คือ รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เรียกกันอย่างชื่นชมว่า ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ถูกฉีกกลางวันแสกๆ โดยการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 และเขียนกันขึ้นใหม่ให้เข้ากับความต้องการของคณะรัฐประหาร ท่านไม่ได้ทำตัวเป็นนักสืบเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ทำความเข้าใจว่า ทำไมประเทศไทยถึงได้สิ้นสุดการมี ‘นิติรัฐ’ หรือ ‘การปกครองโดยกฎหมาย’ (Rule of Law) และแทนที่ด้วยยี่ห้อพิเศษเป็นของตนเองว่า เป็นประเทศที่ใช้ ‘กฎหมายของผู้ปกครอง’ (Law of Rule) ‘กฎหมายของผู้ปกครอง’ ทำให้เข้าใจชัดเจนว่า ในราชอาณาจักรนี้ กองทัพมีอำนาจเบ็ดเสร็จ และอยู่เหนือกฎหมาย เนื่องจากกองทัพแต่งตั้งนายทหารระดับนายพลไปนั่งในตำแหน่งที่สำคัญๆ จัดสรรงบประมาณที่สูงเกินให้กับกองทัพเอง และไม่เคยตอบคำถามใครๆ ผมเห็นด้วยกับท่านนายกฯ เมื่อท่านขอร้องเสมอๆ ให้ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง ยึดมั่นใน ‘นิติรัฐ’ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ คนไทยจำนวนมากสัมผัสได้ว่า ตัวกฎหมายเองนั่นแหละที่ไม่ยุติธรรม เพราะดูเหมือนว่าจะมีกฎหมายชุดหนึ่งที่ใช้กับประชาชนทั่วไป และมีอีกชุดหนึ่งที่ใช้กับกองทัพ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในเมื่อกฎหมายและการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายมีสองมาตรฐานอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว ทำให้ผมตั้งข้อสงสัยว่า เหตุผลที่ท่านอภิสิทธิ์อ้างถึง ‘นิติรัฐ’ อยู่เรื่อยๆ คงเป็นเพราะว่า เชื่อและศรัทธา เหมือนการสวดของชาวยิวบนเทมเพิล เมาท์ (เยรูซาเล็ม) นั่นละมั้ง กรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับจีที 200 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ที่แสดงให้เห็นถึงการที่กองทัพไม่แยแสต่อความวิตกกังวลของคนในชาติ และท้าทายต่อเจตนาของท่านนายกฯ อย่างโจ่งแจ้ง ในความเห็นของผม ข้อสงสัยในคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ก็คือ ทำไมอภิสิทธิ์ถึงต้องยัดเยียด ‘นิติรัฐ’ ให้เรานัก ในเมื่อตามความเป็นจริงแล้ว ความยุติธรรมที่แท้จริงและมีความหมายนั้นเป็นที่ยอมรับได้ง่ายมาก สามารถสัมผัส และรู้ซึ้งอยู่ในใจคนทั่วไปได้ ผมเกรงว่า ในคดียึดทรัพย์ทักษิณนั้น จะไม่มีใครรับรู้ได้ถึงความยุติธรรม เนื่องจากความยุติธรรมถูกทำให้มีมลทินโดยการทำรัฐประหารของกองทัพ ซึ่งถือเป็นการปลดปล่อยที่ยิ่งเลวร้าย และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน โครงสร้างจากการรัฐประหาร ซึ่งถือเป็นทางด่วนไปสู่ความยุติธรรมแบบห่วยแตก ด้วยความสัตย์จริง ผมไม่เห็นด้วยและชิงชังหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างที่รัฐบาลทักษิณเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด แต่การกำจัดคนที่ทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นที่ชิงชังรังเกียจของคนทั่วไปขนาดไหน ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นไม่ยุติธรรมอย่างแน่นอน และสมควรได้รับการประณามในประเทศที่ปกครองโดยกฎหมาย ดังนั้น ณ ที่นี้ ปัญหาจึงมีอยู่ว่า จากจุดที่เรายืนอยู่นี้ สังคมไทยจะก้าวไปทางไหน? กฎกติกาอันไหน หรือกฎหมายของใครที่เราต้องทำตาม? ถึงแม้ว่าวันหนึ่งทักษิณจะถูกจับและถูกโยนเข้าคุกใต้ดินที่มืดและชำรุดทรุดโทรมที่สุด แต่หนทางที่จะกลับมาเป็นประเทศที่ปกครองโดยกฎหมายนั้นยังอีกยาวไกล เพราะเป็นที่น่าเศร้าใจว่า ในประเทศไทยคนบางคนที่เราไว้วางใจให้ปกป้องและบังคับใช้ ‘นิติรัฐ’ ดูเหมือนจะคิดว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลัก ‘นิติรัฐ’ ซะเลย .............................................................. *สงกรานต์ กระจ่างเนตร นักธุรกิจ จบการศึกษาจาก The London School of Economics และ Columbia University