ที่มา ประชาไท
ผม ดูข่าว 37 ปี 14 ตุลา แล้วก็นึกขำๆ ว่า นี่ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของ สนนท. ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ที่ถูกรัฐบาลนำไปตีปี๊บว่ามี “ชาย ชุดดำ” ผ่านการฝึกอาวุธจากเขมร (แล้วก็หน้าแหกเมื่อทหารไม่เล่นด้วย) 14 ตุลา ก็คงเป็นแค่งาน “เช็งเม้ง” ที่ถูกกลบกระแสโดยข่าวฟิล์ม-แอนนี่ พิงกี้-ธัญญ่า-เป๊ก อย่างเก่งหนังสือพิมพ์ก็จะเอาภาพมาลงตามธรรมเนียม
สื่อ กระแสหลักไม่ได้ให้ความสนใจนักกับ 14 ตุลา สัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คงยอกอกยอกใจที่ตัวเองสนับสนุนรัฐประหาร ขณะที่สื่อเสื้อแดง-หรือสื่อที่เสื้อแดงดูและอ่าน ให้ความสนใจกับ 14 ละ 6 ตุลา เสมือนประวัติศาสตร์ที่ตนเองมีส่วนร่วม
ใน แง่ของการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ คนเสื้อแดงกำลังแย่งชิง 14 ตุลามาเป็นประวัติศาสตร์ที่ตนเองมีส่วนร่วม รวมทั้ง 6 ตุลา พฤษภา 35 หรือ 24 มิถุนา 2475 และปูชนียบุคคลอย่าง อ.ปรีดี อ.ป๋วย
คนเดือนตุลาผู้ถือว่าขบวนการนักศึกษาในยุคนั้นเป็นพลังอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง-ผ่องกว่าขบวน “ไพร่” ในยุคนี้ จะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ แต่จิตวิญญาณและมรดกการต่อสู้ของวีรชน 14 ตุลา 6 ตุลา กระทั่งพฤษภา 35 หรือย้อนไปถึงคณะราษฎร ได้ถ่ายทอดเข้าถึงมวลชนที่แท้จริงอย่างกว้างขวาง เข้าถึงแม่ค้า แท็กซี่ สามล้อ คนชนบท คนธรรมดาสามัญ ที่ตื่นตัวขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตย เหมือนพวกเราเมื่อ 37 ปีก่อน และสนใจศึกษาใคร่รู้ เหมือนเมื่อครั้งที่พวกเราศึกษาย้อนไปถึงยุคสมัยของ อ.ปรีดีและก่อนรัฐประหาร 2500
รุ่น น้องผมรายหนึ่ง เล่าให้ฟังว่าเธอมีแท็กซี่ขาประจำเป็นเสื้อแดง พอรู้ว่าเธอเป็นคนรุ่น 6 ตุลา เขาก็ซักถามอย่างสนใจใคร่รู้ ย้อนอดีตจาก 6 ตุลาถึง 14 ตุลา กระทั่งเรื่องราวของ อ.ปรีดีกับกรณีสวรรคต ที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน
นั่นขณะที่คนชั้นกลางหันไปอ่านหนังสือเล่มล่าของวิมลพรรณ ปิตธวัชชัย “พี่ติ๋ม” ของผม ที่อ้างว่า อ.ปรีดีขอให้แพทย์อังกฤษปกปิดข้อมูลกรณีสวรรคต
มี พรรคพวกยุให้โต้พี่ติ๋ม ผมบอกว่าเรื่องไร พี่ติ๋มกับผมซี้กันดีสมัยแกยังอยู่สยามโพสต์-ไทยโพสต์ แกเป็นไฮโซอีสานลูกเจ้าของโรงสีที่บัตรเอทีเอ็มขึ้นสนิม เพราะไม่เคยกดบัญชีเงินเดือน ชอบซื้อขนมมาเลี้ยงโต๊ะข่าวแล้วตัวเองก็นั่งเมาท์เกาพุงแกรกๆ ต้องโน่นเลย ให้ อ.เทพศิริ สุขโสภา มาโต้ รับรองพี่ติ๋มไม่กล้าหือ (ฮาอย่างลับๆ)
โทษ ที อันนั้นขี้เล่น แต่ผมบอกว่าพี่ติ๋มแกก็เชื่อของแกอย่างนั้นมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ตั้งแต่ก่อนมีเหลืองมีแดงอีก แกเขียนทุกทีก็จะมีสานุศิษย์หรือผู้ยกย่องเชิดชู อ.ปรีดีออกมาตอบโต้ มันควรจะเป็นหน้าที่ของคนเหล่านี้ แต่บัดนี้คนเหล่านี้ส่วนใหญ่หันไปใส่เสื้อเหลือง มันควรจะเป็นวาระของอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ กับลูกศิษย์ลูกหา หรือว่าทายาทตระกูลชัยนาม ที่ อ.ดิเรกท่านถูกพาดพิงด้วย... แต่ที่ไหนได้ มีแค่ทายาทคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ออกมาโต้แทน
นั่น แปลว่าพวกเสื้อเหลืองได้ปล่อยให้ ปูชนียบุคคลแห่งประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยหลุดมือมาอีกแล้ว ซ้ำร้าย คำนูณ สิทธิสมาน ยังกล่าวหาสมบัติ บุญงามอนงค์ ว่าการไปรณรงค์ที่อยุธยาเพื่อโชว์ป้ายสะพานปรีดี พนมยงค์ เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ที่มีอันตราย
อ้อ เพิ่งรู้ว่าการเชิดชู อ.ปรีดีเป็นอันตรายมาก สำราญ รอดเพชร กับยะใส ก็ออกมาตอกย้ำ คนพวกนี้ไม่ใช่หรือที่เคยยกย่อง อ.ปรีดี มาตอนนี้กลับเห็นเป็น “สัญลักษณ์อันตราย”
24 มิถุนา ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกคนเสื้อแดงแย่งยึดมาแล้ว ตั้งแต่ตอนครบ 75 ปีในช่วง คมช.พอดี 6 และ 14 ตุลาปีนี้ ก็เห็นได้ว่าสื่อเสื้อแดง ตั้งแต่ทีวีดาวเทียมไปถึงวิทยุชุมชน ให้ความสำคัญนำเสนอมากกว่าสื่อกระแสหลัก ที่อาจจะเห็นว่าไม่มีอะไรใหม่ แต่มันใหม่สำหรับคนที่เพิ่งตื่นตัว และมีอารมณ์ร่วม มีชะตากรรมร่วม
คน เสื้อแดงมีอารมณ์ร่วมกับ 14 ตุลา โดยไม่ต้องอ่านแบบเรียนของกระทรวงศึกษา ที่ถกเถียงกันมาเกือบสามสิบปีกว่าจะเขียนลงไปได้หนึ่งย่อหน้า คนเสื้อแดงมีอารมณ์ร่วมกับ 14 ตุลา โดยไม่สนใจว่า ธีรยุทธ-เสกสรรค์-จีระนันท์-สมบัติ ธำรงธัญวงศ์-ประสาร มฤคพิทักษ์ จะไปยืนอยู่แถวไหน
เพราะคนเสื้อแดงถูกกระทำคล้ายกับ 6 ตุลา และขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ก็ถูกกระทำไม่ต่างจากยุคก่อน 14 ตุลา
คน เสื้อแดงไม่เคยรู้เรื่องยุคเผด็จ การถนอม ประภาส กวาดจับผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่พวกเขาเห็นเด็กนักเรียนชูป้าย มีคนตายที่ราชประสงค์ แค่นั้นก็ถูกจับ ส่งไปบำบัดจิต แม่ค้าขายรองเท้าแตะ เอาหน้ามาร์ค-เทือก มารอง teens แค่นั้นก็ถูกจับ มีความผิดฐานบิดเบือนข้อมูล (แถมยังมีกรรมการสิทธิ์มาช่วยบิดว่าผิดฐานละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อ้าว แน่นอน แต่นั่นคือคดีหมิ่นประมาท ที่มาร์ค-เทือกต้องแจ้งความดำเนินคดีเอง ไม่ใช่จับฐานผิด พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ร้ายแรงกว่า)
คน เสื้อแดงไม่เคยรู้ว่ายุคเผด็จการถนอ ม ประภาส ที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในสถาบันการศึกษา แต่พวกเขาเห็นนิสิตนักศึกษาชูป้ายประท้วงนายกฯ แล้วโดนอาจารย์ไล่ตะเพิด คนเสื้อแดงไม่เคยอ่านประวัติศาสตร์การลบชื่อ 9 นักศึกษารามคำแหงที่ขับไล่ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ แต่พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติทั่วทุกด้าน แม้กระทั่งในรายการเรียลลิตี้อย่างมาร์ค V11
คน เสื้อแดงไม่เคยรู้เห็นอภิสิทธิ์ของ ทหารในยุคถนอม ประภาส แต่พวกเขาประจักษ์ด้วยตัวเองในยุค ศอฉ. คนเสื้อแดงไม่เคยรู้เรื่องทหารพาดารา ขี่ ฮ.เอาไรเฟิลส่องสัตว์ป่าในทุ่งใหญ่นเรศวร แต่เห็นการ “ส่องสัตว์” คาตากลางเมืองหลวง (โดยมีดาราปรบมือเชียร์)
ฯลฯ เหล่านี้คือสิ่งที่คนเสื้อเหลืองไม่มีอารมณ์ร่วม แม้พวกคนตุลาในเสื้อเหลืองจะพยายามเปรียบเทียบ 14 ตุลา 6 ตุลา กับ 7 ตุลา แต่อุดมการณ์และเป้าหมายห่างไกลกันสุดกู่
คำ ถามคือ คนเดือนตุลา คนเดือนพฤษภา ทั้งหลายปิติยินดีหรือไม่ที่มรดกเดือนตุลา มรดกเดือนพฤษภา ได้สืบทอดไปยังบรรดาคนชนบทคนชั้นล่าง แท็กซี่ สามล้อ แม่ค้า แมงกะไซค์ ที่เคยถูกกล่าวหาว่า โง่ จน เครียด กินเหล้า ขายเสียง และตกเป็นเหยื่อทักษิณ
หรือคุณจะหวงแหนไว้เป็นของตัวเอง ของคนชั้นกลางผู้แสนวิเศษ ไม่ยอมให้มันตกไปถึงมือ “คนชั้นต่ำ” เหมือนบางคนพยายามปฏิเสธว่า 19 พฤษภาไม่เหมือน 6 ตุลาเพราะพวกเราบริสุทธิ์และพวกเราไม่หวังให้เกิดความรุนแรง
โทษที ใครที่ไม่เคยอยู่กับ “คน ชั้นต่ำ” อาจรับไม่ได้กับการแสดงอารมณ์อย่างไม่มีจริต แสดงออกอย่างหยาบกร้าน มุทะลุ ตรงไปตรงมา แต่คนเดือนตุลาส่วนใหญ่คือคนที่เคยใช้ชีวิตร่วมกับพี่น้องกรรมกร ชาวนา ชาวเขา ไม่ใช่หรือ ในอดีต ผมเคยฝากชีวิตไว้กับ “สหาย” ที่บางคนก็เคยเป็นโจรมาก่อนด้วยซ้ำ ผมเคยอยู่ในหมู่บ้านที่ทหารปิดล้อม โดยมีเพียงความจริงใจของชาวบ้านเป็นที่พึ่ง
แค่อยากถามใจคนเดือนตุลา ว่ายินดีจะช่วยเหลือสนับสนุนให้มวลชนเติบโตเป็นพลังประชาธิปไตย หรือจะยุยงให้ปราบปราม ทำลาย แยกสลาย “ปฏิรูป” เพื่อให้ “สามัคคี” แบบที่พวกเขาต้องสยบยอมน้อมหัวอีกต่อไป
มัน คงจะดีกว่านี้แน่ๆ เลย ถ้าธีรยุทธ เสกสรรค์ จีระนันท์ หรืออดีตผู้นำทั้งหลายจะเข้าไปหามวลชนและช่วยเผยแพร่ความคิดประชาธิปไตย ไม่ใช่ให้คนตุลาหางแถวอย่างใบตองแห้งต้องสวมบทดาราจำเป็นไปออกทีวีพูดกับคน เสื้อแดง (อิอิ เนื้อที่โฆษณา)
ฝ่ายก้าวหน้ากับความรู้เศรษฐกิจ
ผม เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สื่อไทยไม่ค่อยรู้เรื่องเศรษฐกิจ คือนักข่าวการเมืองก็ไปทาง นักข่าวเศรษฐกิจก็ไปทาง มาย้อนคิดดูดีๆ ก็พบว่าไม่ใช่แค่สื่อหรอก แต่ฝ่ายก้าวหน้า ภาคประชาสังคม ตลอดจนพวกคนเดือนตุลาทั้งหลายที่เป็นต้นธาร ล้วนแล้วแต่ไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ
นี่ ทั้งๆที่เราเพิ่งได้ผู้ว่าแบงก์ ชาติคนใหม่ คุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่เคยเป็นคนรุ่น 14 ตุลา (อย่างไม่ใคร่สง่างามเท่าไหร่ เพราะแบงก์เอกชนส่งประกวด ถ้าไม่อยากให้เกิดความรู้สึกว่า “ทับซ้อน” ก็น่าจะลาออกก่อนเป็นแคนดิเดท)
แต่คนเดือนตุลาส่วนใหญ่ ที่เข้าป่า แล้วกลับออกมาทำงานภาคประชาสังคม หรือไม่ประชาสังคมก็ตาม จะเป็นสื่อ เป็น NGO หรือขายน้ำเต้าหู้ หรือกระทั่งทำธุรกิจ SME ส่วนใหญ่แล้วมีความรู้ทางเศรษฐกิจแค่หางอึ่ง เคยศึกษาแต่ลัทธิมาร์กซ์ ที่วิพากษ์ทุนนิยมสมัยเมื่อร้อยกว่าปีก่อน หรืออย่างน้อยก็เมื่อ 30 ปีก่อนเอ้า แล้วก็คิดว่าวิธีการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนมีทางเดียว คือต้องยึดกิจการเป็นของรัฐ ไม่ให้มีพ่อค้าคนกลาง ไม่ให้มีเอารัดเอาเปรียบความแตกต่างเหลื่อมล้ำ
คนเดือนตุลา ฝ่ายก้าวหน้า ภาคประชาสังคม NGO ที่คลานตามกันมาเป็นพรวน ไม่เคยหูกระดิกเรื่องค่าเงินบาท เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เรื่องตลาดหุ้น ตลาดซื้อขายล่วงหน้า ตลาดตราสารหนี้ ฯลฯ โทษที รวมผมด้วย อย่าง อ.ใจยกเรื่องทฤษฎีของเคนส์ ก็เชื่อได้เลยว่า คนเดือนตุลา สื่อ NGO ที่เข้าใจได้ลึกซึ้งมีน้อยกว่าน้อย
ฉะนั้น กระแสสังคมของเราคืออะไร ก็คือการแห่เฮโลสาระพาตามรสนา โตสิตระกูล ที่คัดค้านการเอา ปตท. เอา กฟผ.เข้าตลาดหุ้น แบบมองโลกแง่ร้ายด้านเดียว ว่าคนไทยจะต้องใช้ไฟแพงเหมือนอาร์เจนตินา (ผมก็ค้านการขายยกพวง แต่กลับไปมองดีๆ มันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย)
สุดท้ายเราก็ต้องมาทนดูคุณพ่อพนักงาน CAT โห่ร้องด้วยความปิติยินดีปรีดาปราโมทย์เมื่อศาลปกครองสูงสุดสั่งคุ้มครอง ชั่วคราวไม่ให้เปิดประมูล 3G (ถามว่ามันโห่เพื่อชาติหรือเพื่อโบนัส)
เรา มีความรู้ทางเศรษฐกิจตื้นเขินมาก เหมือนยังหลับอยู่ในยุคต่อต้านฐานทัพ ไล่จักรพรรดินิยมอเมริกา เมื่อเทียบกับทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่พัฒนาไป สุดท้ายคืออะไรๆ ก็ต่อต้าน FTA ก็ต่อต้าน (แล้วตอนนี้เป็นไง ตัวเลขส่งออกที่ดีๆ ก็เพราะ FTA ด้วย) ไม่ใช่ผมไม่ต่อต้านนะครับ บางเรื่องมันเป็นผลเสีย เศรษฐกิจไทยวันนี้ก็ยังพึ่งการส่งออกอยู่ดี แต่เปลี่ยนไปเกาะหางมังกรจีน จากที่เคยเกาะแข้งเกาะขากาโม่ยุ่น รัฐบาลไหนก็เดินแนวทางนี้ คุณล้มทักษิณว่านำประเทศกระโจนเข้าไปเป็นเหยื่อทุนโลกาภิวัตน์ แต่มาร์คกับกรณ์ต่างกันตรงไหน คุณบอกไม่ถูก สุดท้าย รสนาก็เลยเงียบกริบทั้งที่ ปตท.ยังโกยกำไรมหาศาล
เกรียง กมล เลาหไพโรจน์ เคยให้สัมภาษณ์ลงไทยโพสต์แทบลอยด์ก่อนรัฐประหาร ผมยังจำได้แม่น สิ่งที่เขาพูดในประเด็นสำคัญคือ เรากำลังสับสนว่าจะพัฒนาประเทศไปทางไหน อย่างไร ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ใครมีอำนาจ คุณต้องมานั่งคุยกันเป็นวงใหญ่ว่าประเทศไทยจะไปทางไหนในโลกาภิวัตน์
แต่ สุดท้ายรัฐประหารแล้วเราได้อะไร เราได้รัฐธรรมนูญที่อ่านแล้วงงเป็นไก่ตาแตก เพราะแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ มาตรา 83 รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่มาตรา 84 รัฐบาลต้องส่งเสริมและสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรี... มันขัดแย้งกันสิ้นเชิง
สังคม อุดมคติแบบลัทธิประเวศ อยากย้อนเวลาให้ชุมชนในชนบทกลับไปพึ่งตัวเอง เลิกพึ่งทุนนิยม ฟังดูมันสวยงามดีแต่เป็นจริงได้ไหม โอเค ทักษิณขายฝัน ปั้น OTOP คุยว่าจะเอาไปวางห้างนิวยอร์กห้างแฮร์รอดส์ ฟังดูมันก็เว่อร์ แต่ทุกวันนี้ คนชนบทที่ “พึ่งตัวเอง” ได้ก็เพราะเก็บใบย่านางแพ็กใส่ถุงสวยๆ ประทับตราปลอดสาร ส่งมาขายคนชั้นกลางตามห้างในกรุงเทพฯ ไม่ใช่หรือ
ประเทศ ไทยทั้งที่มีปัญหาขนาดนี้ยังมี เงินทุนไหลเข้า เพราะภูมิประเทศที่เป็นศูนย์กลางของอาเชียน จีนต้องการสร้างทางรถไฟทะลุลงใต้ไปสิงคโปร์ อีกด้านหนึ่งก็มีคนเล็งไว้ว่าจะต้องสร้างทางรถไฟจากเวียดนามไปทะลุพม่า ถามว่าเราควรทำอย่างไร จะยกธงเย้วๆ คัดค้านกันยันเตหรือ
ใคร ที่จะเป็นผู้นำภาคประชาสังคมในยุค นี้ ควรไปลงคอร์สเศรษฐศาสตร์มหภาค ศึกษาพัฒนาการทุนนิยมโลกภิวัตน์ วิเคราะห์ด้านดีด้านเสียที่เกิดกับประชาชน อะไรเลี่ยงได้ อะไรเลี่ยงไม่ได้ และควรปรับตัวให้ทันอย่างไร
ไม่ใช่อ่านแต่ข้อเขียนของปู่ไสว บุญมา
ใบตองแห้ง
16 ต.ค.53