ที่มา ประชาไท
เมื่อ วันที่ 2 มิถุนายน 2554 เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรุปประเทศไทย (Thaireform) เผยแพร่รายงานการบรรยายของศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชนของมหาวิทยาลัย London Metropolitan University เกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกในไทย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 ซึ่งสรุปคำบรรยายโดยกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีเนื้อหา ดังนี้
ทั้งนี้ อุปทูตและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตของไทย ณ กรุงลอนดอน ได้เข้าร่วมฟังการบรรยายดังกล่าวและสรุปคำบรรยายส่งให้ปลัดกระทรวงกระทรวง ยุติธรรมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2552 เพื่อใช้เป็นข้อมูลโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนสรุปสาระสำคัญของการบรรยายข้างต้น และข้อสนเทศที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับจากสถานเอกอัครราชทูตฯ มาดังนี้
1. เสรีภาพในการแสดงออกเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 (United Nations Universal Declaration on Human Rights) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1976 (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งไทยเป็นภาคี
นอก จากนี้ เสรีภาพในการแสดงออกยังได้รับการรับรองไว้เช่นกันโดยรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทยฉบับปี 2540 และฉบับปัจจุบัน (2550) อย่างไรก็ดี เสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย ถูกละเมิดโดยทางการ ผ่านการแทรกแซงสื่อในยุคของรัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปัจจุบัน
2. ในอดีต วิธีการแทรกแซงสื่อในประเทศไทยมีการดำเนินการใน 3 รูปแบบ ได้แก่
(1) การซื้อสื่อไว้ในการครอบครองเพื่อให้สามารถควบคุมการรายงานข่าวได้โดยตรง
(2) การชักชวนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสื่อที่สำคัญเข้าร่วมในรัฐบาล เพื่อจำกัดการายงานข่าวของฝ่ายตรงข้าม
และ (3) การควบคุมหรือแทรกแซงทางอ้อมโดยการไม่จัดสรรงบประมาณด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้แก่สื่อที่เสนอข่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล
ทั้ง นี้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จึงได้ระบุข้อบทใหม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน อาทิ การห้ามมิให้นักการเมืองเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม
นอกจากนี้ ยังมีการตราพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พุทธศักราช 2551 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ อย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ดี นาย Leyland ยังมีข้อกังวลอยู่ 2 ประการ คือ
(1) การที่ฝ่ายทหาร (กองทัพบก) ยังคงเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์หลายสถานี
และ (2) ความจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการที่โปร่งใสในการคัดสรรและได้มาซึ่งบุคคลที่ เหมาะสมในคณะกรรมการฯ รวมถึงการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ที่ชัดเจน
3. ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นาย Leyland เห็นว่ าด้วยบริบทเฉพาะของสังคมไทย โดยเฉพาะสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย การมีอยู่ของกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่รับได้
อย่าง ไรก็ดี ในปัจจุบัน ข้อบทและการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว (มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา) ยังคงมีจุดบกพร่องซึ่งควรได้รับการปฏิรูปโดยเฉพาะในประเด็น ดังนี้
3.1 ขอบเขตและนิยามของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังขาดความชัดเจน โดยมีข้อสังเกตว่า มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เป็นข้อบทที่สั้นและไม่มีการอธิบายเพิ่มเติม โดยเฉพาะคำนิยามของการกระทำอันเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
ทั้ง นี้ ถึงแม้ว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะบัญญัติไว้ใกล้เคียงกับความผิดฐานหมิ่นประมาทในกรณีบุคคลทั่วไปในประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งใกล้เคียงกับแนวคิดของกฎหมาย common law ของสหราชอาณาจักร แต่ความแตกต่างกันคือ ในขณะที่การหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปในมาตรา 326 และระบบกฎหมาย common law น้ำหนักของคดีจะขึ้นกับการพิสูจน์หลักฐานว่า การกระทำนั้น ก่อให้เกิดผู้ถูกหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น เสื่อมเสียชื่อเสียงขึ้นจริงหรือไม่
แต่การตัดสินกระทำผิดตามมาตรา 112 ของไทยที่ผ่านมา เป็นการพิจารณาบนพื้นฐานของสมมุติฐานที่มาจากการตีความของศาลว่า การกระทำหรือคำพูดเช่นว่า สามารถส่งผลกระทบในทางลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากการสืบพยานหลักฐานว่า บุคคลที่สามได้หลงเชื่อในคำพูดที่หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่นั้น ไม่สามารถกระทำได้ในทางปฏิบัติ เพราะหากบุคคลดังกล่าวยอมรับว่าได้หลงเชื่อ ก็อาจถูกตั้งข้อหาว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยเช่นกัน
3.2 แนวโน้มการตีความและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีขอบเขตกว้างกว่าการกระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์และบุคคลที่ได้รับการ คุ้มครองตามกฎหมายมาตราดังกล่าว แต่รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ และแนวคิดสาธารณรัฐนิยม
3.3 กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ผ่านมา ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ตั้งแต่ในอดีต โดยฝ่ายทหารที่ต้องการเสริมสร้างอำนาจให้แก่กองทัพ และปัจจุบันโดยผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
3.4 นอกจากปัญหาเกี่ยวกับขอบเขตและคำนิยามแล้ว มาตรา 112 ของประมวลอาญา ยังมีประเด็นที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนด้วย อาทิ
- มาตรา 112 เป็นฐานความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ นอกจากนี้ ความผิดดังกล่าวไม่มีการพิสูจน์องค์ประกอบด้านจิตใจ (เจตนาหรือประมาท) อันเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของการรับผิดทางอาญา
- มาตรา 112 ไม่สามารถควบคุมกรณีผู้กล่าวหามีความประสงค์ร้ายแอบแฝง โดยอ้างความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเกราะกำบัง
- การบังคับใช้มาตรา 112 ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ เนื่องจากตำรวจ ทหาร อัยการ ผู้พิพากษา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนต่างต้องแสดงความจงรักภักดีในการปกป้องสถาบันพระ มหากษัตริย์ มิฉะนั้น อาจถูกกล่าวหาว่ากระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเองได้
4. นาย Leyland เสนอแนวทางการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย ดังนี้
4.1 ควรจำกัดขอบเขตและแนวทางในการดำเนินคดีในความผิดฐานดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้น กว่าเดิม อาทิ ไม่ควรระบุให้บุคคลทั่วไปสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อเริ่มต้นกระบวนการการ สืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีได้
4.2 ควรจำแนกและกำหนดบทลงโทษที่แตกต่างตามลำดับความร้ายแรงภายใต้ฐานความผิดตามมาตรา 112
4.3 ควรระบุข้อยกเว้นของความผิดบางประการ เพื่อป้องกันการลงโทษคดีที่ไม่เป็นสาระ อาทิ กรณีของนาย Harry Nicolaides
4.4 ควรกำหนดให้การพิสูจน์องค์ประกอบด้านจิตใจ (เจตนาหรือประมาท) เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบการรับผิดชอบทางอาญาในฐานความผิดนี้ ซึ่งที่มีบทลงโทษสูงถึงขั้นการจำคุก
4.5 ควรให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายฯ (พยาน ตำรวจ อัยการ ทนายความ ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง) ได้รับความคุ้มกันอย่างเต็มที่จากการถูกดำเนินคดี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดกระบวนการพิจารณาคดีและพิพากษาที่เป็นธรรม
5. ในช่วงถาม - ตอบ
ผู้ เข้าร่วมฟังการบรรยายซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติประมาณ 30 คน ได้ถามคำถามและร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วย การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย (เป็นส่วนน้อยและส่วนใหญ่เป็นชาวไทย) และผู้ที่คัดค้านการมีอยู่และการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว รวมทั้งประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ โดยรัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณฯ
6. ข้อคิดเห็นและข้อสังเกตของสถานเอกอัครราชทูตฯ
นาย Leyland ตระหนักดีถึงเรื่องความอ่อนไหวของหัวข้อการบรรยายข้างต้น และได้ออกตัวว่าการทำวิจัยในหัวข้อดังกล่าวเป็นไปในเชิงวิชาการ ซึ่งตนมีความสนใจประเทศไทยเป็นพิเศษในการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ และต้องการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความบกพร่องของกฎหมาย โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง และตนเองก็มิได้ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
ทั้งนี้ จากการสนทนาเพิ่มเติมกับนาย Leyland สถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า นาย Leyland เป็นนักวิชาการที่ไม่แข็งกร้าวและพร้อมรับฟังแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ จะพยายามหารือ ชี้แจงและทำความเข้าใจกับนาย Leyland ในประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแนบเนียนต่อไป