ที่มา ประชาไท
” ห้ามฉันพูด ฉันจะพิมพ์
ห้ามฉันพิมพ์ ฉันจะเขียน
ห้ามฉันเขียน ฉันก็ยังคิด
หากจะห้ามฉันคิด ก็ต้องห้ามลมหายใจฉัน”
ใน ช่วงเวลาที่สังคมถูกปกคลุมไปด้วยความกลัว ต้องยอมรับว่าคุณ “หนูหริ่ง” หรือ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ คือผู้ที่แหวกม่านของความกลัว และลุกขึ้นท้าทายความอำนาจของปีศาจ และประกาศว่าประชาชนย่อมมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ ไม่มีอำนาจใดมากดหัวให้ความเป็นคนสยบยอมได้…
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ภายหลังจากที่ทหารได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเพียง 2 วัน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ และประชาชนจำนวนหนึ่งจึงได้นัดพบปะทำกิจกรรม ณ บริเวณสวนสาธารณะใต้สะพาน เลียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ถนนประดิษฐ์มนูธรรม โดยได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เช่นการให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์มาถ่ายทอดเหตุการณ์ รวมทั้งมีประชาชนผู้ที่มีข้อมูลเช่น ภาพถ่ายเหตุการณ์มาแสดงในเชิงนิทรรศการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการผ่อนคลายสถานการณ์ โดยในวันดังกล่าวเหตุการณ์ก็มิได้มีการกระทำผิดกฎหมาย หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายแต่อย่างใด ต่อมา นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ได้เดินทางไปผูกผ้าแดงที่สี่แยกราชประสงค์ และถูกควบคุมตัวตามหมายควบคุมตัวของศอฉ.เป็นเวลาถึง 14 วัน ภายหลังจากนั้นศาลได้มีคำสั่งให้ ศอฉ.ปล่อยตัวเนื่องจากไม่มีเหตุในการควบคุมตัวต่อไปตามกฎหมาย และในวันปล่อยตัว พนักงานสอบสวน สน.วังทองหลางได้นำเขาส่งพนักงานอัยการและฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือว่า เขาได้ชุมนุมกันเกิน 5 คนโดยก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นการมั่วสุมกันเกินกว่า 10 คน ตามพรก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216… เขาปฏิเสธ !
เมื่อ วันที่ 7 มิถุนายน 2554 เวลา 09.30 น. ศาลแขวงพระนครเหนือได้ออกพิจารณาคดีนัดแรกโดยพนักงานอัยการโจทก์ได้นำพยาน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นายเข้าเบิกความประกอบรูปถ่ายว่า ในวันเกิดเหตุ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ได้ร่วมกับประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง ได้จัดกิจกรรมเป็นเชิงนิทรรศการ โดยมีการเอารูปคนตายมาปิดแสดง และมีการพูดทำนองว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม และมีการให้คนที่อยู่ในเหตุการณ์พูดแชร์ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ได้ประสบมา โดยขณะนั้นได้มีรถมาชลอดู ทำให้รถติด รวมทั้งมีประชาชนจำนวนหนึ่งยืนบนพื้นผิวถนน อันเป็นความผิดตาม พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งห้ามชุมนุมกันเกิน 5 คน และรับว่าภายหลังจากนั้นนายสมบัติ และประชาชนก็ได้แยกย้ายกันกลับโดยไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆ
ฝ่าย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ได้นำสืบว่า ตนไปทำกิจกรรมที่มิได้ก่อให้เกิดความรุนแรงเป็นเพียงการจัดนิทรรศการ และพูดจาแลกเปลี่ยนข้อมูลเท่านั้น ทั้งนี้มิได้มีการตั้งเวทีปราศัย หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายแต่อย่างใด และในขณะนั้น ประชาชนแทบไม่มีใครกล้าออกจากบ้าน รถราก็น้อยมาก ดังนั้นที่ตำรวจกล่าวหาว่าตนทำให้รถติดนั้นจึงไม่เป็นความจริง และยืนยันว่าตนเองใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องแต่อย่างใด การที่เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับตนนั้นเป็นการทำโดยมีเจตนาที่จะสกัดกั้นมิให้ ตนเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น ฯ และวันนี้( 9 มิถุนายน 2554 ) ได้มีการสืบพยานจำเลยต่อโดยมี อ.กฤตยา แห่งมหาวิทยาลัยมหิดลเข้าเบิกความว่า ช่วงเหตุการการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมเดือน เมษายน-พฤาภาคม 2553 รัฐบาลได้มีการประกาสสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่ชอบ และไม่เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศ และมีเจตนาจะใช้กฎหมายดังกล่าวสร้างเงื่อนไขในการเข้าสลายการชุมนุม รวมทั้งยังมีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ เป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก และมีอ.ธีระ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าเบิกความให้ความเห็นทางกฎหมายว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามพรก.ฉุกเฉิน นั้น ต้องเป็นการชุมนุมเกิน 5 คน และมีลักษณะอันเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และต้องตีความประกอบเจตนารมณ์ของกฎหมายแม่บทที่ประกาศดังกล่าวอาศัยเป็นฐาน แห่งอำนาจ และหากจะตีความเพียงว่ามีการชุมนุมตั้งแต่ คนก็จะเป็นความผิดทุกกรณี การตีความเช่นนั้นก็จะเป็นการตีความกฎหมายที่เกิดผลประหลาด ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินความจำเป็น ฯ
อย่างใดก็ตาม ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 กันยายน 2554 เวลา 9.00 น.
น่าสนใจว่า … กระบวนการยุติธรรมไทยจะมองการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไร
น่าสนใจว่า … นี่จะเป็นกระบวนการหยุด “หนูหริ่ง” มิให้เคลื่อนไหวหรือไม่
และน่าสนใจว่า … เมื่อไหร่ประชาชนจะหลุดจากวงจรกฎหมายอุบาทว์เช่นนี้เสียที !