ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ เหล็กใน
มันฯ มือเสือ
น่า เห็นใจกองทัพที่ถูกประชาชนจำนวนหนึ่งจับจ้องด้วยสายตาหวาดระแวงว่า อาจเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งเพื่อช่วยเหลือบางพรรคการ เมืองหรือไม่
ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. จะย้ำแล้วย้ำอีกว่าได้สั่งการเป็นนโยบายไปแล้ว ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกนายวางตัวเป็นกลาง
และยอมรับได้หากพรรคเพื่อไทยจะได้รับเลือกเป็นรัฐบาล
แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ช่วยลบล้างความหวาดระแวงดังกล่าวให้หมดไปได้
อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจฝ่ายที่หวาดระแวงกองทัพด้วยเช่นกัน ว่าไม่ได้เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีเหตุผลรองรับ
แต่เป็นความหวาดระแวงที่มีเชื้อมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549
เป็นความหวาดระแวงจากแผนบันได 4 ขั้นของคณะรัฐประหารที่กดดันจน "รัฐบาลสมัคร" และ "รัฐบาลสมชาย" อยู่ไม่ได้
พร้อม กันนั้นยังมีการเปิดค่ายทหาร ผลักดันนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ จัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำสำเร็จ
ทั้ง เป็นความหวาดระแวงจากกรณีกองทัพเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อ เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่มีประชาชนเสียชีวิตกว่า 90 ศพ และพิการบาดเจ็บอีกร่วม 2,000 คน
และยังมีส่วนสำคัญในการโอบอุ้ม "รัฐบาลอภิสิทธิ์" อย่างแข็งขันในช่วงตลอด 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา
จน กระทั่งรัฐบาลประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่กองทัพโดยกอ.รมน. เกิดปิ๊งไอเดียจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามยาเสพติด หรือ ปส.315 ขึ้นมา โดยการสนธิกำลังทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน และเจ้าหน้าที่ปปส.
เป็น หน่วยฉก. ที่กำลังถูกกล่าวหาจากผู้สมัครพรรค เพื่อไทยว่า เป็นการใช้งานปราบปรามยาเสพติดบังหน้า แต่เบื้องหลังคือแทรกแซงการเลือกตั้ง
จนกลายเป็นเหตุโต้เถียงลุกลามถึงขั้นมีการแจ้งความกล่าวหากันไปมาระหว่างผู้สมัครเพื่อไทยกับตัวแทนกองทัพ
แน่นอนว่ายาเสพติดคือปัญหาใหญ่ของสังคมที่ต้องเดินหน้าแก้ไขต่อเนื่อง
แต่ข้อสงสัยในกรณี ปส.315 คือทำไมเพิ่งมาตั้งในจังหวะได้เสียทางการเมือง ทำไมไม่ขยันตั้งแต่เมื่อปีหรือ 2 ปีที่แล้ว
หากจะว่าปัญหายาเสพติดเพิ่งจะมารุนแรงตอนนี้ก็คงไม่ใช่
แล้วอย่างนี้จะไม่ให้หวาดระแวงได้อย่างไร