ที่มา ประชาไท
สังคม ไทยเป็นสังคมพุทธศาสนา ประชาชนไทยส่วนข้างมากไหว้พระพุทธรูปมาช้านาน เพราะถือว่าพระพุทธรูปเป็นรูปแทนของพระพุทธเจ้า เป็นตัวแทนของคุณงามความดี ความบริสุทธิ์ การไหว้เคารพพระพุทธรูปนี้ดำเนินตลอดมาตั้งแต่ในอดีต และคนไทยส่วนใหญ่คงจะไหว้หรือเคารพพระพุทธรูปไปอีกนานในอนาคต ตราบเท่าที่พระพุทธศาสนายังอยู่คู่สังคมไทย
ความสำคัญอยู่ที่ว่าการ เคารพกราบไหว้พระพุทธรูปของคนไทยดำรงอยู่ได้โดย ไม่ต้องมีกฎหมายคุ้มครอง การเคารพศรัทธาพระพุทธรูปเป็นเรื่องของจิตใจ ไม่ต้องมีใครบังคับ การไม่มีกฎหมายห้ามหมิ่นพระพุทธรูปไม่ได้ทำให้การกราบไหว้บูชาพระพุทธรูป ยุติลงได้
ถ้าหากมีใครกล่าววาจาหมิ่นพระพุทธรูป จาบจ้วงพระพุทธรูป ลบหลู่ หรือไม่เคารพบูชาพระพุทธรูป แม้ว่าทำได้แต่จะไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ เลย เพราะไม่สามารถทำให้คนไทยเสื่อมศรัทธาหรือคลายความนับถือพระพุทธรูป ตราบเท่าที่พระพุทธรูปยังเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า เป็นเครื่องแทนความดี ความบริสุทธิ์ในสังคม
การไม่มีกฎหมายห้ามหมิ่นพระพุทธรูปจึงทำให้ พระพุทธรูปปลอดจากการตกเป็น เครื่องมือทางการเมือง ไม่มีอำนาจรัฐหรือใครสามารถใช้มาตราใดทางกฎหมายห้ามหมิ่นพระพุทธรูปไปใส่ ร้ายป้ายสีใคร ไปจับกุมใคร ไปจำคุกใคร หรือทำร้ายใครได้ ซึ่งแตกต่างจากการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 อย่างสิ้นเชิง
เพราะ ตลอดเวลาที่ผ่านมากฎหมายอาญา มาตรา 112 กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างสำคัญของรัฐและชนชั้นปกครองในการใส่ร้าย ป้ายสี ทำลายศัตรูทางการเมือง และทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องถูกจับกุมคุมขังติดคุก
แม้กระทั่งในขณะ นี้มีปัญญาชนฝ่ายค้านและประชาชนหลายคนถูกติดคุก ถูกดำเนินคดี ทั้งที่เรื่องทั้งหมดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดกับหลักประชาธิปไตยใน ด้านเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพทางความคิดทั้งสิ้น
หลักฐานจาก องค์กรสิทธิมนุษยชนชี้ว่านับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้มีประชาชนถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตาม มาตรา 112 แล้วราว 400 คดี และในวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้จับกุมประชาชนคือ นายเลอพงษ์ (ขอสงวนนามสกุล-ประชาไท) ชาวไทย-อเมริกัน ที่นครราชสีมา ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะเผยแพร่หนังสือ The King Never Smile ทางเว็บไซต์ และผู้ต้องหาไม่ได้รับการประกันตัว
จึงเป็นที่คาดหมาย ว่าการจับกุมและลงโทษประชาชนตามมาตรา 112 นี้จะไม่หยุดและจะยิ่งเพิ่มทวีขึ้น ภายใต้การดำเนินงานล่าแม่มดของกรมสอบสวนคดีพิเศษปัจจุบัน จนกระทั่งปัญญาชน หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปไม่มีความแน่ใจเลยว่าในอนาคตอันใกล้จะมีผู้ตกเป็น เหยื่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้เพิ่มขึ้นอีกเท่าใด
ที่น่า สังเกตคือผู้ต้องหาจำนวนมากในจำนวนที่ถูกดำเนินคดีเป็นฝ่ายสนับ สนุนคนเสื้อแดง กลุ่มสนับสนุนฝ่ายเสื้อเหลืองมักรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดี ปรากฏว่าผู้ถูกจับกุมตามกฎหมายมาตรา 112 เกือบทั้งหมดจะไม่ได้รับการประกันตัว เพราะศาลจะอ้างว่าเป็นคดีที่มีโทษสูง ถ้าให้ประกันตัวจำเลยจะหลบหนี ผู้ต้องหาคดี 112 จึงต้องติดคุกทันทีที่ถูกจับกุมเสมอ จากนั้นในจำนวนคดีมากกว่าครึ่งผู้ต้องหามักต้องยอมรับสารภาพและถูกศาลตัดสิน ว่ามีความผิด มีการต่อสู้คดีน้อยรายมาก เพราะผู้ต้องหาคดี 112 ส่วนใหญ่จะตกเป็นจำเลยสังคม และบุตรภรรยามักจะได้รับความเดือดร้อนไปด้วย ในรายที่ต่อสู้คดีก็มักถูกตัดสินว่ามีความผิด โดยการตีความของฝ่ายผู้พิพากษา ดังกรณีคดี น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ซึ่งเคยถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกถึง 18 ปี กลายเป็นตัวอย่างที่ขู่ให้ผู้ต้องหาจำนวนมากรับสารภาพไว้ก่อน แทนที่จะยืนยันความถูกต้อง เพราะวิตกกันว่าถ้าสู้คดีแล้วจะถูกศาลตัดสินจำคุกยาว
ความจริงการตี ความให้ผู้ถูกจับกุมต้องมีความผิดอาจจะเริ่มต้นตั้งแต่ขั้น สอบสวนด้วยซ้ำ เช่น กรณีของนายจักรภพ เพ็ญแข ที่พูดเรื่องระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยก็ถูกแกล้งฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 หรือกรณี น.ส.ปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ สตรีเสื้อแดงโคราช ที่เขียนคำ “พระองค์ท่าน” นำหน้าชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ บนโลงแล้วเผาเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552 ก็ถูกจับดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และศาลตัดสินจำคุก โดยตีความว่าคำ “พระองค์ท่าน” นั้นหมายความถึงพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสูงสุดของบุคคลทั่วไป ทำให้มีการพูดทางวิชาการว่าจะเป็นการตีความเกินบริบทเพื่อจะให้ผู้ต้องหามี ความผิดหรือไม่
ด้วยเหตุนี้เององค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) จึงเสนอต่อรัฐบาลไทยตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2553 ว่าขอให้หยุดใช้กฎหมายมาตรา 112 ไปก่อนจนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้ได้มาตรฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นักโทษที่ถูกจำคุกด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้รับการปล่อยตัวโดยทันที
ส่วน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า การใช้มาตรตรา 112 ทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิและละเมิดเสรีภาพ ทำให้สังคมไทยตกอยู่ใต้ความเงียบและความกลัว นอกจากนี้ยังเสนอว่า
“ใน การบังคับใช้มาตรา 112 ดูเผินๆอาจจะดูเหมือนกับเป็นการจงรักภักดีหรือต้องการรักษาสถาบัน แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียดพบว่าผลกระทบของการบังคับใช้เป็นการละเมิดสิทธิ มนุษยชนอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการประกันตัว สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในชีวิตและความปลอดภัย สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในฐานะพลเมือง ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยเป็นอันมาก”
คำ กล่าวของ นพ.นิรันดร์นั้นเป็นเสมือนคำเตือนให้เห็นว่าถ้าฝ่ายชนชั้นนำยังใช้มาตรา 112 ทำร้ายและจับกุมคุมขังประชาชนมากยิ่งขึ้นจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะเป็นมาตรการ อันดีในการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เสนอเพิ่มเติมว่า หากสถาบันพระมหากษัตริย์จะดำรงรักษาอยู่ได้ สถาบันจะต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ควรมีการพูดอย่างเปิดเผยและ ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง
กล่าวโดยสรุปแล้วถ้าพิจารณาจากการไหว้ พระพุทธรูปดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ ว่าความจำเป็นของการใช้กฎหมายมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นไม่มีเลย ในประเทศเช่นอังกฤษและญี่ปุ่นก็มิได้มีกฎหมายมาตรา 112 กระแสจาบจ้างหรือล้มเจ้าก็มิได้มีบทบาทสำคัญแต่อย่างใด
ที่ มา: นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 313 วันที่ 4 - 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554 หน้า 9 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดยสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ