ที่มา มติชน ทุกสายตา กำลังจับจ้อง กรณีการตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ ยักษ์ใหญ่มือถือ ดีแทค ว่าเป็นบริษัทไทย หรือ บริษัทไทยเทียม ? เอา เข้าจริง ปัญหา บริษัท ไทยเทียม ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องใหญ่ แน่ๆ ถ้าจะจัดการกรณีไทยเทียม หรือ การเชิดตัวแทนอำพราง(นอมินี) อย่างเคร่งครัดและจริงจัง เพราะไม่ใช่ แค่ ดีแทค บริษัทเดียวที่มีปัญหา แต่ยังมีบริษัทต่างชาติ หรือ ต่างด้าว ที่อยู่ในธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจการเงิน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มูลค่าหลายแสนล้าน จนเกิดคำถามว่า จะปิดประเทศ ไล่ต่างทุนต่างด้าวออกไป หรือ จะปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการเปิดเสรีมากขึ้น ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงปัญหาการเข้ามาถือหุ้นของผู้มีผลประโยชน์ทางพาณิชย์ ต้องยอมรับว่า ขณะนี้โลกได้กลายเป็นโลกที่ไร้พรมแดนไปแล้ว เป็นการค้าเสรีมากขึ้น จึงหนีไม่พ้นถ้าที่ไหนมีกำไร ที่นั่นก็ต้องมีผู้ลงทุนเข้ามา โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยเข้าไปเป็นภาคีเขตการค้าเสรี ไม่ว่าจะเป็น WTO หรือในสนธิสัญญาที่เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจเสรีต่างๆ จะ เห็นได้ว่าในอีกไม่ช้าประเทศไทยก็ต้องเปิดประเทศ เพื่อให้ต่างประเทศเข้ามาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงประเทศอื่นๆ ก็จะเป็นลักษณะเช่นนี้ ปัญหาก็คือว่า เราจะเผชิญหน้าได้อย่างไร แต่ก่อนเราเคยต้านสินค้าของญี่ปุ่น แม้กระทั่งการที่ไทยจะเข้าร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เราต้องได้ส่วนแบ่งเท่าไหร่ ทุกวันนี้ไทยได้แค่ 13 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้จะทำอย่างไรให้ไทยได้เพิ่ม ตราบใดที่คนไทย ยังไม่พัฒนาเทคโนโลยี ก็จะทำให้เราเป็นเจ้าของการผลิตที่แท้จริงไม่ได้ ตัวเลขของรายได้ก็จะหดลงในมุมมองชาวต่างชาติ ลงทุนที่ไทยแล้วได้ค่าแรงถูกกว่า ใครก็อยากมาลงทุน ที่น่าสนใจก็คือว่าชาติอื่นที่ฉลาด เห็นเศรษฐกิจไทยที่กำลังดำเนินไปด้วยดี ก็อยากเข้ามาทั้งนั้น คนรวยเหล่านั้นก็เห็นผลประโยชน์ร่วมกันกับต่างชาติ ยอมเป็นนอมินีต่างด้าว ยอมร่วมมือต่างด้าว ที่น่าแปลกใจคือ คนรวยดังกล่าวล้วนเป็นคนที่ถืออำนาจรัฐ มีอิทธิพล และสามารถกำหนดนโยบายรัฐได้ อย่าง ไรก็ตามปัญหาการถือครองของต่างด้าวเราก็ห้ามไม่ได้ เพราะเขาก็มีกลไกของเขาเอง เช่น เข้ามาเป็นกลุ่ม มีการวางแผนอย่างดี เลี่ยงการตรวจสอบ ส่วนการตรวจสอบของไทยก็ไม่สามารถจับมือใครดมได้ และไม่สามารถเข้าไปเจาะเป็นรายบริษัทได้ด้วย แม้ เขาจะถือหุ้นไม่เกินตามที่พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจต่างด้าวฯ( ไทย 51 % ต่างด้าว 49%) แต่ต่างด้าวก็สามารถควบคุมโดยให้ผู้อื่นถือให้หรือที่เรียกว่านอมินี แล้วจ่ายเป็นค่าตอบแทน ซึ่งทั่วโลกเป็นแบบนี้หมด ส่วนทางออกที่เป็นผลได้จริงก็คือ การสร้างจิตสำนึกของต่างด้าว หรือการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นผลอย่างแท้จริง ด้านหนึ่ง เราต้องกันทรัพย์สินให้อยู่ในมือนักลงทุนไทย แต่จะให้เฉพาะนักลงทุนไทยอย่างเดียวก็ไม่ได้ อีกด้านหนึ่งก็จะปล่อยให้ต่างด้าวเป็นผู้ถือครองอย่างเดียวก็ไม่ได้ อย่างน้อยการลงทุนของต่างประเทศก็ต้องเดินควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจในบ้าน เราเช่นกัน ฉะนั้นความชัดเจนในเรื่องของนโยบาย การลงทุนหรือการประกอบธุรกิจในไทยของ ต่างด้าว จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยการกำหนดสิทธิการถือครอง หรือระบุให้ชัดเจนว่ามีข้อจำกัดในการลงทุนของต่างด้าวอย่างไรบ้าง คนที่ใช้กฎหมายก็ต้องจริงจัง และไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของนักลงทุน การ ถือครองโดยใช้นอมินีผิดกฎหมาย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ไม่สนับสนุนตรงนี้อยู่แล้ว สุดท้ายนโยบายต้องชัดเจน คนใช้ต้องเข้มในข้อกฎหมาย เนื่องจากว่าเนื้อหาครบถ้วน แต่การบังคับใช้ยังไม่เต็มที่ หลายๆ คดีกว่าจะตัดสินได้ ผ่านมาเป็น 10 ปี ทำให้ไม่หลาบจำ แต่เสมือนเป็นการย้ำหรือสนับสนุนให้ทำมากกว่า เพราะเขาคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ค่อยหาทางแก้ระหว่างทางได้ มากกว่านั้น ปัญหานี้ต้องดูที่กลไกว่าจะทำอย่างไร ยิ่งการลงโทษมีหลายขั้นตอนก็จะยิ่งทำให้ช้า และแก้ปัญหาไม่ได้ จาก การแจ้งรายละเอียดการถือหุ้น ทุกบริษัทล้วนแล้วไม่เกินตามที่กฎหมายระบุไว้ เพราะมีการใช้นอมินีในการถือหุ้นแทน ในส่วนที่เกินจากที่แจ้งไว้ ฉะนั้น ถ้าต้องการเห็นภาพ จะต้องเจาะรายละเอียดเป็นรายๆ ไป ซึ่งเป็นข้อจำกัดและทำได้ยาก และปัญหาก็อยู่ที่คนไทยมักจะยอมเป็นนอมินีถือครองหุ้นด้วย อย่าง ไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์เป็นเพียงหน่วยงานที่ดูได้แค่การซื้อขายหุ้น แต่ไม่สามารถตรวจสอบหรือโชว์หลักฐานได้ หรือจะเข้าไปตรวจสอบได้ก็ต่อเมื่อพบความผิดปกติ ซึ่งปัญหาเกิดขึ้นที่บริษัทแล้วย้อนมาดูที่ตลาดหลักทรัพย์ หรือมีคนแย้งเข้ามาเท่านั้น อยากเตือนสติเพื่อให้คนไทยพร้อมกับการลงทุน หรือได้พัฒนาขีดความสามารถของตนเองให้แข็งแรง หากไม่รับมือให้ดีหรืออ่อนแอ ต่างด้าวก็เข้ามาครอบงำได้ โดยเฉพาะการเปิดการค้าเสรีของไทย อย่าง ไรก็ตามถ้าการเข้ามาลงทุนนั้นไม่เกี่ยวกับ คดีความมั่นคง ดีเอสไอก็ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้เช่นกัน ที่สำคัญคือ ข้าราชการซื้อง่าย และยินดีที่เข้าร่วมเพื่อรับผลประโยชน์ ต่างด้าวเป็นเพียงมือที่ 3 และจากกรณีที่เกาะสมุยจึงถือได้ว่า เป็นตัวอย่างของการเข้ามาทำธุรกิจแล้วกระทบต่อความมั่นคง
วงเสวนา ไทยเทียม นอมินี
28 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้จัดการเสวนา เรื่อง "ปัญหา การถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนบริษัทและบริษัทในตลาดหลักทรัพย์โดยตัวแทนอำพราง และปัญหาการประกอบธุรกิจของต่างด้าวในนามของตัวแทนอำพราง" ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น
ปัญหา ที่ต้องแก้ก็คือ ปัญหาโครงสร้างการถือครองทรัพย์สิน รวมไปถึงความสามารถในการผลิต เพื่อให้ไทยแข่งขันในเส้นทางธุรกิจได้อย่างแท้จริง แนวทางนี้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการไล่ต่างด้าวที่เข้ามาลงทุนในประเทศออกไป ตราบใดที่ยังไม่แก้ไขปัญหา อีกไม่นานคนไทยก็จะกลายเป็นคนรับใช้ เป็นแค่เสมียนของต่างด้าว อย่างน้อยเราไม่สามารถเลี่ยงได้ ที่จะไม่ให้ต่างด้าวเข้ามาลงทุน เราอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ร่วมมือกับทั่วโลก แต่เราควรสร้างหลักประกันให้ประเทศไทยอยู่กับต่างชาติให้ได้มากกว่า
ขณะที่ นายศักรินทร์ ร่วมรังสี ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานกำกับหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีการใช้นอมินีเป็นผู้ถือหุ้นแทน ก็ยังเป็นปัญหาอยู่มาก เพราะการถือครองโดยตัวแทนอำพรางได้กระทบต่อการลงทุน โจทย์ก็คือว่า จะทำอย่างไรให้ชัดเจนในเรื่องของการลงทุน ทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลในการถือหุ้น
ตลาด หลักทรัพย์ได้พยายามเสนอนโยบายต่อรัฐ เพื่อให้การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อยู่ในสภาพคล่อง แม้จะมีข้อกำหนดของบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนว่า ต่างด้าวถือครองได้เท่าไหร่ ซึ่งมีเกณฑ์และมีกระดานซื้อขายตรงนี้อยู่แล้ว ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ได้ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย
นายสยาม ลิขิตพงศธร ผู้อำนวยการสำนักบริหารประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมพัมนาธุรกิจการค้าถือได้ว่าเป็นต้นทางและปลายทางการลงทุนของต่างด้าว หรือนักลงทุนต่างชาติ รับหน้าที่ในการจดทะเบียนธุรกิจการค้าต่างๆ กว่าล้านธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าต้องดูแลและพัฒนาธุรกิจนั้นๆ ให้รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง รู้จักกำกับตนเอง รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในด้านการจดทะเบียน ซึ่งทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าต้องทำได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส
หน้าที่ ภายหลังการจดทะเบียนก็ต้องทำการตรวจสอบ โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องตรวจสอบว่าเขาทำผิดกฎหมายหรือไม่ ทำให้เขารู้ว่าเราเข้มงวดในเรื่องของการตรวจสอบ เพื่อป้องปรามการทำผิดกฎหมาย อย่างน้อยพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ ก็เป็นกลไกหนึ่งในการตรวจสอบ ส่วนอาชีพที่สงวนให้คนไทยได้ประกอบธุรกิจนั้น ก็ถือเป็นการถ่วงดุลอำนาจการถือหุ้นของต่างชาติอย่างหนึ่ง เพื่อให้การเข้ามาหาผลประโยชน์ของต่างด้าวเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย
ส่วน การกำหนดนิยามของการถือหุ้นของต่างด้าว ก็ส่งผลต่อการใช้ตัวแทนอำพรางเหมือนกัน ต่างด้าวที่เข้ามามักจะเลี่ยงการทำธุรกิจในอาชีพที่สงวน เลี่ยงกฎหมาย เช่นการออกหุ้นบุริมสิทธิ์ เพื่อให้คนไทยเข้ามาถือหุ้นตรงนี้ แต่ต่างด้าวเป็นผู้ถือหุ้นหลัก และได้กำหนดให้หุ้นที่ต่างชาติถือ สามารถปันผลได้มากกว่า ได้เปรียบกว่าคนไทย ซึ่งตรงนี้อันตรายมาก ส่วนการตรวจสอบการจดทะเบียนก็มีการเลี่ยงเช่นกัน คือ เรียกตรวจสอบแล้วไม่มา และยอมจ่ายเงินค่าปรับจำนวน 5 พันบาทแทนการถูกตรวจสอบ รวมถึงการตรวจสอบหลายๆ อย่างก็ทำได้ลำบาก ต้องโยนไปให้ดีเอสไอเป็นคนทำ
พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเชี่ยวชาญ 8 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กล่าวว่า ประเด็นที่สำคัญก็คือว่า หลายๆ กรณีที่ต่างด้าวเข้ามาลงทุน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งจะต้องดูควบคู่กันไปในแต่ละราย โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ยิ่งน่ากลัว เพราะกลุ่มที่เข้ามาลงทุนได้สร้างนิติบุคคลที่เป็นคนไทยขึ้นมา คอยแนะนำการลงทุนเพื่อเลี่ยงกฎหมาย หรือใช้นักกฎหมายมาวางแผนการลงทุนให้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี แล้วให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ หรือที่เรียกกันว่า สร้างตัวแทนอำพรางขึ้นมา ที่เป็นลักษณะการถือครองแทน แต่การดำเนินคดียังติดปัญหาที่ว่า จะดำเนินคดีได้อย่างไร กว่าที่จะพิสูจน์ได้ว่าธุรกิจนั้นเป็นต่างด้าวจริง และกว่าที่จะรวบรวมข้อมูล สรุปประเด็น แล้วดำเนินคดีเป็นไปด้วยความลำบาก ซึ่งมีหลายขั้นตอน การหาหลักฐานก็ทำได้ยากขึ้น หลายๆ กรณีเริ่มหาทางป้องกันตัวเอง ซับซ้อนขึ้น ต้องใช้ความละเอียดในการตรวจสอบมากขึ้น
จะสังเกตได้ ว่า ต่างด้าวเหล่านี้พยายามหลีกเลี่ยงภาษี เช่น เมื่อขายที่ดินก็ใช้การเปลี่ยนผู้ถือหุ้น เพื่อเลี่ยงภาษี ขณะที่คนไทยซื้อที่ดินต้องเสียภาษี อีกกรณีหนึ่งคือการทำธุรกิจเพื่อการเช่า โดยให้ต่างด้าวด้วยกันเป็นคนเช่า ทำสัญญาหลายสิบปี แต่เช่าในราคาถูก อย่างกรณีของเกาะสมุยที่ใช้เงินจากการค้ายาเสพติด มาซื้อที่บนเกาะหลายไร่ บุกรุกที่ แล้วทำเป็นบ้านพักต่างอากาศ หรือทำธุรกิจในลักษณะที่เป็นการฟอกเงิน ที่มักจะเกิดขึ้นในเมืองที่เป็นเมืองท่องเที่ยว