ที่มา thaifreenews
โดย bozo
มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 1 ก.ค. 54
ยิ่งคืบคลานเข้าใกล้วันเลือกตั้งทั่วไป 3 กรกฎาคม 2554 มากเท่าใด
ความคิดเห็นหลากหลายจากต่างประเทศเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งครั้งนี้ยิ่งเพิ่มมากขึ้น
และหลากหลายมุมมอง หลากหลายทรรศนะมากยิ่งขึ้น
มีทั้งทรรศนะอย่างเป็นทางการ จาก
บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ที่เพิ่งรับตำแหน่งวาระที่ 2 ไปหมาดๆ,
ความเคลื่อนไหวของ 2 ส.ส.อเมริกันจาก 2 พรรค เรียกร้องให้
นางฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศ แถลงจุดยืนและส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบเลือกตั้งในไทย,
เรื่อยไปจนถึงบทวิเคราะห์ว่าด้วยในบริบททางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาของสำนักข่าวเอเอฟพี
ต่อไปนี้คือรายละเอียดของความเคลื่อนไหวเหล่านั้น
ที่จับจ้องมาที่การเลือกตั้งครั้งสำคัญของไทยครั้งนี้อย่างช่วยไม่ได้
เพราะเหตุรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมานั้น ยังสดใหม่ในความทรงจำของทุกๆ คน
โดยเฉพาะคนที่ไม่ต้องการให้มีเรื่องทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีกครั้ง
จี้"คลินตัน"ตรวจสอบเลือกตั้งไทย
นายเท็ด โป สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตัวแทน
เขตเลือกตั้งที่ 2 ของรัฐเท็กซัส ร่วมกับ นายเดนนิส คูซินิช ส.ส.พรรคเดโมแครตจากรัฐโอไฮโอ
ร่วมกันลงนามในจดหมายเปิดผนึกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา
ส่งถึงนางฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ
มีทั้งในส่วนของการแสดงความคิดเห็นและในส่วนที่เรียกร้องต่อรัฐมนตรฮิลลารี มีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้
"เรียนท่านรัฐมนตรี
ในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ราชอาณาจักรไทย เตรียมจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น
ซึ่งหลังจากภาวะปั่นป่วนทางการเมืองที่เกิดขึ้นยาวนานนับทศวรรษ
การเลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จำเป็นต้องเป็นไปโดยเสรี เป็นธรรม
เพื่อให้ประชาธิปไตยได้เบ่งบานอีกครั้ง
อย่างที่ท่านคงรำลึกได้ เมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา
กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเข้ายึดครองพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพฯเป็นเวลานานถึง 9 สัปดาห์
จากที่เริ่มต้นโดยสันติ
ทั้งการชุมนุมประท้วงและการรับมือของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกลายเป็นเหตุ
ให้ก้าวร้าวรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ลงเอยในท้ายที่สุดด้วยการกลายเป็นการสู้รบกันใจกลางเมือง
เมื่อถึงเวลาที่ทหารใช้กำลังกวาดล้างเพื่อสลายผู้ชุมนุมในราวกลางเดือนพฤษภาคมนั้น
มีผู้เสียชีวิตไป 88 คน และมากถึง 2,000 คน ได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ ตามรายงานของสื่อมวลชน
เราจำเป็นต้องแสดงให้เห็นเด่นชัดว่า เราจะยืนหยัดเคียงข้างกับประชาธิปไตยในประเทศไทย ดังนั้น
เราขอเรียกร้องให้ท่านรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งของไทยครั้งนี้
สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม และสร้าง ความกระจ่างชัดให้เกิดขึ้นว่า
สหรัฐอเมริกาจะเคารพในเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทย
เราขอเสนอด้วยว่า ท่านควรส่งทีมเข้าไปตรวจสอบการเลือกตั้ง
เพื่อช่วยให้เกิดความแน่ใจได้ว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกต้องและชอบธรรม
ภายใต้ภาวการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้เองที่สหรัฐอเมริกาจำต้องแสดงออก
ซึ่งจุดยืนอย่างกล้าหาญเพื่อให้เจตนารมณ์ของประชาชนได้รับการรับฟังและเคารพ
เท็ด โป
เดนนิส คูซินิช
สมาชิกรัฐสภา"
ทุกฝ่ายควรเคารพประชาชน
ในห้วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น โฆษกประจำตัวเลขาธิการสหประชาชาติ
เผยแพร่ถ้อยแถลงสั้นๆ ที่เป็นทรรศนะของ นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ต่อการเลือกตั้ง
ที่กำลังจะ มีขึ้น ไม่เพียงสะท้อนถึงนัยกดดันในเชิงการทูตเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึง
ความสำคัญต่อการมี "เสถียรภาพ" ทางการเมืองขึ้นในไทยอีกด้วย
ในถ้อยแถลงในนามของ บัน คี มุน ดังกล่าว ระบุว่า ได้ติดตามสถานการณ์ก่อนหน้าการเลือกตั้ง
ที่จะมีขึ้น ในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ อย่างใกล้ชิด และคาดหวังว่า การเลือกตั้งดังกล่าวนี้
จะดำเนินไปโดยสันติ และในลักษณะที่มีเสรี เป็นธรรม และโปร่งใส
เพื่อให้การเลือกตั้งนี้ส่งเสริมให้เกิดความสมานฉันท์
และเสริมสร้างขนบประชาธิปไตยในประเทศไทยให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
นายบัน คี มุน เรียกร้องต่อทุกๆ ฝ่าย ให้งดเว้นการกระทำใดๆ
ที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น ทั้งก่อนหน้า,
ระหว่างและหลังการเลือกตั้ง และขอให้ทุกฝ่ายยอมรับ
และเคารพต่อเจตนารมณ์ของปวงชน ตามที่ได้แสดงออกมาให้เห็นผ่านหีบบัตรเลือกตั้งครั้งนี้
สำนักข่าวเอเอฟพีตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ถ้อย แถลงครั้งนี้มีขึ้นท่ามบรรยากาศของความหวั่นวิตกว่า
การเลือกตั้งครั้งนี้จะนำพาความรุนแรงกลับมาอีกครั้ง
โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า มีผู้สมัครรับเลือกตั้งมากถึง 430 คน ที่ขอความคุ้มครองมา
และจำเป็นต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่มากถึง 170,000 นาย
ทำหน้าที่อารักขาหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศในวันเลือกตั้ง
สหรัฐวิตกกับเลือกตั้งไทย
ฌอน แทนดอน ผู้สื่อข่าวของเอเอฟพี ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. วิเคราะห์การเลือกตั้งไทยในครั้งนี้
ภายใต้บริบทในด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ออกมา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน
เจ้าหน้าที่ระดับ "ผู้กำหนดนโยบาย" ในสหรัฐอเมริกา กำลังจับตามองการเลือกตั้งไทยครั้งนี้
อยู่อย่างเป็นกังวลวิตกว่า การเลือกตั้งจะกลายเป็นชนวนให้เกิดสถานการณ์ต่อเนื่องเป็นชุดออกมา
ที่จะกลายเป็น "ภาวะไร้เสถียรภาพใหม่"
ซึ่งจะลงเอยด้วยการเป็นเครื่อง "บั่นทอนบทบาท" ของมิตรประเทศ
ที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ลง
ในยามที่รัฐบาลบารัค โอบามา ให้ความ สำคัญต่อภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างมากในหลายๆ ด้าน
"เคิร์ท แคมป์เบลล์" ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออก
กล่าวเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าสหรัฐอเมริกาต้องการ
"ทำงานให้ใกล้ชิดกับไทยมากขึ้นอย่างยิ่ง" ดังนั้น
ในความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับผู้ช่วยรัฐมนตรี
การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นจึงถูกยึดถือเสมือนหนึ่งเป็น "เครื่องชี้ขาด"
ในการกำหนดวิถีของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในอนาคต
ภายใต้ภาวการณ์ดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
จะ "เข้าถึงตัว" แกนนำสำคัญของทั้งสองฝ่าย
เพื่อกระตุ้น ส่งเสริมให้เกิด "ความสงบ" ขึ้นในประเทศ
เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในไทย เพิ่งพบหารือกับ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เมื่อไม่นานมานี้
ขณะเดียวกัน ก็ ""ระมัดระวังอย่างยิ่ง" ที่จะไม่พาตัวเองเข้าไป "เกี่ยวข้องโดยตรง"
ในกระบวนการ เลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทางการไทยยื่น "ประท้วง" กลายๆ
เมื่อ แคมป์เบลล์ เข้าพบกับแกนนำของกลุ่มเสื้อแดงในระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อปีที่ผ่านมา
สหรัฐกร้าวขึ้นแน่ถ้า"ปฏิวัติ"อีก
เมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2549 นั้น ปฏิกิริยาต่อทางการไทยในเวลานั้นของสหรัฐอเมริกาก็คือ
สั่งระงับความช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 24 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่งยกเลิกการระงับไปเมื่อต้นปี 2551 นี้
ผู้เชี่ยวชาญมองการกระทำของสหรัฐอเมริกาในครั้งนั้น ว่า
เป็นการแข็งกร้าวเกินไปทำลายมิตรประเทศโดยไม่จำเป็น
แต่มีไม่น้อยเหมือนกันที่เห็นว่า การระงับความช่วยเหลือดังกล่าว
มีค่าเท่ากับไม่ได้ตัดสัมพันธ์ใดๆ เพราะทำไปเพียงให้เป็น "สัญลักษณ์"
และให้สอดคล้องกับกฎหมายเท่านั้นเอง
โจชัว เคอร์แลนท์ซิค นักวิชาการจากสภาวิเทศสัมพันธ์ในวอชิงตัน บอกว่า
ท่าทีของสหรัฐอเมริกาจะแข็งกร้าวมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน
หากเกิด "รัฐประหาร" ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
"สถานการณ์แปลกแยกกับยุคสมัยมากเกินไป
นี่ ไม่ใช่ยุคสงครามเย็นนะครับ ขณะ 2011 แล้ว
ไม่มีประเทศระดับเดียวกันที่มีรายได้ปานกลาง
และเป็นประชาธิปไตยใหม่ที่ไหนเขามีรัฐประหารกันแล้ว"
เขาบอกด้วยว่า ในขณะเดียวกัน การที่สหรัฐให้ความสำคัญ
ในฐานะมิตรประเทศเชิงยุทธศาสตร์ของไทยก็ลดลง
และเพิ่มความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น
พร้อมวิพากษ์วิจารณ์ไทย หรือดำเนินการอื่นใดต่อไทยของสหรัฐอเมริกาทำได้ง่ายขึ้น
"ตอนนี้ไทยเริ่มถูกปรับลดลำดับความสำคัญในความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาลงแล้ว
มาอยู่ในระดับเดียวกับประเทศอย่างเวียดนาม
แทนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายเหมือนก่อนหน้านี้"
ไม่ว่าจะมีใครใส่ใจหรือไม่ แต่นี่คือความเป็นจริงในทางการทูตที่ไทยต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1309496124&grpid=01&catid=&subcatid=