ที่มา ประชาไท
นักวิชาการจาก 5 มหาวิทยาลัย ร่วมเสนอผลสรุปการวิจัยในพื้นที่ เหนือ-อีสาน-ใต้ พบกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เข้าใจและเชื่อมั่นระบอบประชาธิปไตย ไม่เชื่อถือสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อโทรทัศน์ ตั้งคำถามกลับถึงองคาพยพอื่นๆ ในสังคมไทยจะเป็นแรงหนุนหรือขัดขวางพลังประชาธิปไตยจากประชาชน
วันที่ 8 ก.พ. 2555 โครงการสร้างสำนึกพลเมืองเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลในท้องถิ่น จัดการสัมมนาสรุปผลการวิจัย ซึ่งทำการวิจัยในพื้นที่อิสาน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยะลา
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าประชาชนส่วนใหญ่แสดงความเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตย และสามารถตอบคำถามเกี่ยวกับสิทธิของตนเองในฐานะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ได้มากกว่าร้อยละ 90 อย่างไรก็ตาม การศึกษาในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ พบว่าประชาชนแสดงความไม่เชื่อมั่นต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่าไม่มีความเป็นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อโทรทัศน์ ในทางกลับกัน ประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เสพสื่อโทรทัศน์มากกว่าสื่ออื่นๆ
รศ.ดร.วัฒนา สุกัณศีล อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการทำแบบสอบถามภายหลังน้ำท่วม ประชาชน 94 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยคือระบอบที่ดีที่สุดและไม่ต้องการการทำ รัฐประหาร และพึงพอใจกับการทำงานรัฐบาล 84 เปอร์เซ็นต์
“ที่น่าสนใจคือ นี่เป็นคำถามหลังน้ำท่วมและรัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นี่สำคัญเพราะประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้เลือกสิ่งที่เขาสนใจ และพลังนี้เป็นพลังที่สนับสนุนความเข้มแข็งของสังคม”
แต่เมื่อถามถึงองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย คือ องค์กรอิสระต่างๆ เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประชาชนกลับเห็นว่ามีความสำคัญต่ำที่สุด แต่ที่น่าตกใจคือประชาชนเห็นว่า ขณะเดียวกันองค์กรที่มีความสำคัญพอๆ กับรัฐบาลในการแก้ปัญหาบ้านเมือง กลับเป็นกองทัพ
“ชาวบ้านเลือกแล้ว ตัดสินใจแล้ว เข้าใจพอสมควร คำถามคือองคาพยพทั้งหลายแหล่ในสังคมจะช่วยเสริม ผลักดันหรือขัดขวางพลังเหล่านี้หรือเปล่า” รศ.ดร.วัฒนา ตั้งคำถาม
รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สรุปข้อเสนอแนะ จากงานวิจัย ว่า สิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการพัฒนาประชาต่อไปก็คือ การต้องมี Tool Box คือต้องมีเครื่องมือใหม่ๆ ที่ประชาชนสามารถใช้ในการติดตามบทบาทขององค์กรต่าง
ข้อเสนอที่สองคือ ภาคประชาสังคมและสื่อ ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีองค์กรภาคประชาสังคมอยู่มาก แต่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งโดยรัฐ ถูกจัดตั้งโดยรัฐ เป็นองค์กรภาคขยายของรัฐ แต่สิ่งที่ต้องการคือองค์กรที่ทำหน้าที่ติดตามการทำงานของรัฐและหน่วยงาน ต่างๆ ทำหน้าที่ที่รัฐและภาคธุรกิจไม่ได้ทำ และเป็นองค์กรที่ส่งเสริมให้ประชาชนลุกขึ้นมาเอาเรื่องการบ้านเมืองเป็นกิจ ธุระ รับผิดชอบต่อสังคมการเมืองด้วย
นอกจากนี้ ยังต้องการสื่อมืออาชีพ “เราพูดยากว่าสื่อเป็นกลางหรือไม่เป็นกลาง แต่ขอให้ทำงานอย่างมืออาชีพ อย่าสักแต่รายงานสิ่งทีไปทำร้ายคนอื่น และเมื่อเป็นมืออาชีพก็อาจจะต้องมีสมาคมที่คอยตรวจสอบดูแล” รศ. บัวพันธ์กล่าว
ประการสุดท้าย ที่เป็นข้อเสนอจากการวิจัยชุดดังกล่าวคือ ต้องเป็นประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ดร.บัวพันธ์กล่าวว่าทัศนคติที่เป็นเชิงลบหรือไม่ศรัทธาต่อกลไกประชาธิปไตย นั้นเป็นสิ่งคนในเมืองก็ไม่ได้ศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น ประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์หมายถึง เรื่องประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปสอนให้ประชาชนหรือชาวบ้านมีความรู้ แต่เป็นเรื่องของสังคมทั้งมวลว่าเราจะทำอย่างไรให้เราปฏิบัติหลักการ ประชาธิปไตยที่จะต้องมีสิทธิเสรีภาพและเคารพในสิทธิเสรีภาพของคนอื่น จะคิดว่าจะไปสอนรัฐธรรมนูญให้ชาวบ้าน เท่านั้นไม่ได้ แต่ต้องเล่นกันเป็นทีม คือต้องไปด้วยกันทั้งหมด ต้องเป็นประชาธิปไตยด้วยกันทั้งหมด ทั้งทหาร ภาคประชาสังคม สื่อ องค์กรอิสระ ต้องปฏิบัติตามหลักประชาธิปไตยที่เท่าเทียมกัน
รศ.ดร. วัฒนากล่าวเสริมในตอนท้ายของการนำเสนอว่า “ถ้าจะโยนภาระอันหนักอึ้งเรื่องประชาธิปไตยให้กับชาวบ้านแล้วละก็ เขาก็ตอบแล้วว่าเขาเห็นความสำคัญ แต่คำถามคือ แล้วคนอื่นๆ ล่ะ ถ้าชาวบ้านเชื่อมั่น ยึดหลักการนี้ แล้วฝ่ายที่เป็นสถาบันองค์กรของสังคมล่ะ....(เดี๋ยวจะปฏิวัติหรือเปล่า) องค์กรที่ว่านี้คือทั้งในและนอกระบบต้องมีส่วนช่วยในการผลักดัน รับรู้และส่งเสริม ข้อเสนอประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์คือทุกองคาพยพ ไม่งั้นไปไม่รอด ไม่งั้นก็มาบอกว่าชาวบ้านไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็ต้องพยายามผลักดันให้ชาวบ้านรู้และเข้าใจ มันต้องนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในวิธีคิด
“มันผิดปกติแน่ๆ เลยที่ประชาธิปไตยที่เป็นอยู่มันทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสน คำถามไม่ได้อยู่ที่ชาวบ้านไม่รู้ โง่ หรือขาดข้อมูลข่าวสาร ปัญหาคือข้อมูลข่าวสารจากองค์กรที่สำคัญๆ จากสังคม ล้วนแล้วแต่ทำหน้าที่ส่งเสริมหรือขัดขวาง ถ้าชาวบ้านท้อถอยเบื่อหน่ายเซ็งกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เราก็ต้องถามว่าทำไม มันเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ประชาธิปไตยคือระบบที่รับผิดชอบร่วมกัน เราจะมีเงื่อนไขข้อยกเว้น อำนาจพิเศษ มันก็จะดันกันไปไม่ได้ โจทย์คือชาวบ้านรู้หรือไม่รู้ไม่ได้ แต่ต้องถามว่ามันคือความเข้าใจผิดเพราะอะไร” รศ.ดร.วัฒนากล่าวทิ้งท้าย
โครงการสร้างสำนึกพลเมืองเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลในท้อง ถิ่นได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย และ USAID จัดทำวิจัยโดยนักวิชาการจาก 5 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาหัวข้อประชาธิปไตย รัฐประหารและธรรมภิบาลในมุมมองของคนเชียงใหม่และลำพูน มหาวิทยาลัยนเรศวร ประเด็นจิตสำนึกและความร่วมรับผิดชอบของพลเมืองในการปกครองในพื้นที่ พิษณุโลก พิจิตร และสุโขทัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาหัวข้อ ความรู้ ทัศนคติ ต่อประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศึกษาประเด็นการเสริมสร้างความรับรู้และการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการปกคอ งท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ศึกษาเรื่องการรับรู้ของพลเมืองกับการเสริมสร้างประชาธิปไตย