ที่มา ประชาไท
ผมเพิ่งทราบจากอาจารย์ที่เคารพนับถือกันท่าน หนึ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้เองว่า ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เขียนหนังสือตอบบทความของผมที่เผยแพร่ในประชาไทเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว หนังสือที่ว่านี้ชื่อ “ขว้างก้อนอิฐมา พัฒนาเป็นแก้วมณี” ดาวน์โหลดอ่านได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้
หนังสือนี้ตีพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม 2554 ตอบบทความของผมชื่อ “พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กับวัฒนธรรมการวิจารณ์ในพุทธศาสนาเถรวาท” (http://prachatai.com/journal/2011/09/36962)
ท่านเจ้าคุณบอกว่า ได้รับบทความดังกล่าวนี้จากพระลูกศิษย์ของท่าน แต่ผมแปลกเหมือนกันว่า ทำไมลูกศิษย์ท่านไม่นำบทความต่อเนื่องชื่อ “พระสงฆ์กับกัลยาณมิตรและการท้าทายทางวิชาการ” (http://prachatai.com/journal/2011/09/36986) ซึ่งเป็นบทความที่ให้รายละเอียดชัดเจนขึ้นว่า “ท่าที” ต่อคำวิจารณ์ของคนอื่นของท่านเจ้าคุณเป็นอย่างไร และผมมีความเห็นต่อท่าทีเช่นนั้นอย่างไร โดยเฉพาะบทความเรื่องที่สอง (ที่เผยแพร่ในประชาไทไล่เลี่ยกับบทความชิ้นแรกเพียง 2 วัน) เป็นบทความที่ผมตั้งข้อสังเกตตรงๆ ว่า ลูกศิษย์ท่าน (บางคน) ดูจะไม่เป็น “กัลยาณมิตร” ต่อท่านนัก มักชงเรื่องเชิงขัดแย้งในการตั้งคำถามกับท่าน เป็นต้น
ผมอยากแสดงความเห็นต่อหนังสือ “ขว้างก้อนอิฐมาพัฒนาเป็นแก้มณี” ของท่านเจ้าคุณ โดยรวมๆ ดังนี้
1. โดยปกติท่านเจ้าคุณมักตั้งชื่อหนังสือตรงกับ “เนื้อหา” ที่ท่านต้องการบอก เหมือนชื่อหนังสือ “ตื่นกันเสียทีจากความเท็จของหนังสือเหตุเกิด พ.ศ.1” ก็หมายความว่า เนื้อหาของหนังสือนี้เป็นเรื่องเท็จ ท่านต้องการบอกความจริงให้คนตื่นจากเรื่องเท็จ ฉะนั้น ชื่อ “ขว้างก้อนอิฐมา พัฒนาเป็นแก้วมณี” ก็สะท้อนว่าท่านเจ้าคุณ (อาจ) มองว่า บทความวิจารณ์ของผมเป็นเหมือน “ก้อนอิฐ” แต่ท่านก็ใช้ประโยชน์จากก้อนอิฐนั้นในแง่บวก คือพัฒนาให้เป็น “แก้วมณี” ในความหมายว่า ยกข้อวิจารณ์นั้นมาเพื่อเป็นโอกาสได้ชี้แจงความจริง ให้ความรู้ และแง่คิดที่เป็นประโยชน์แก่สังคม
แต่อย่างไรก็ตาม ตอนที่ผมเขียนบทความวิจารณ์ “ท่าที” ของท่านเจ้าคุณ ผมก็ไม่ได้มีเจตนาร้าย ตั้งใจกล่าวหา โจมตี หรือมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายใดๆ แก่ท่าน พูดในเชิงอุปมาอุปมัยก็คือผมไม่ได้มีเจตนาจะ “ขว้างก้อนอิฐ” ใส่ท่าน แม้ว่าบทความจะเขียนอะไรตรงๆ ตามความคิดความเข้าใจของตนเอง ก็กระทำไปโดยไม่ได้มี “จิตเป็นอกุศล” ต่อท่านเจ้าคุณเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด
ที่วิจารณ์ก็เพียงวิจารณ์ “ท่าทีสาธารณะ” คือท่าทีที่ท่านแสดงออกอย่างเป็นสาธารณะที่ผมเห็นว่ามีผลบางอย่างต่อ วัฒนธรรมการวิจารณ์ในพุทธศาสนาเถรวาทไทยที่ควรตั้งข้อสังเกต หรือวิพากษ์วิจารณ์กันได้
2. เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือท่านเจ้าคุณ เป็นการยกข้อความในบทความผมขึ้นมาเป็นตอนๆ แล้วท่านก็ถือเป็นโอกาสได้อธิบายเรื่องราวที่บทความผมอ้างถึงให้ชัดขึ้น เช่น ประเด็น 4 นักวิชาการ ในหนังสือ “นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ใช่แค่คิดเอา” ประเด็นที่ผมอ้างความเห็นของจิตร ภูมิศักดิ์ เปรียบเทียบกับความเห็นของท่านเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันสงฆ์กับรัฐ แล้วท่านก็อธิบายให้เห็นว่าระหว่างท่านกับจิตรมุมมองใครน่าจะ romantic หรือ realistic อธิบายเรื่อง “เหนือการเมือง” โดยเปรียบเทียบพุทธกับคริสต์ เรื่อง “สมประโยชน์” ระหว่างคณะสงฆ์กับผู้นำรัฐ เรื่องข้อมูลการสังคายนาครั้งที่ 3 เรื่องทำพระธรรมวินับให้วิปริต การเขียนหนังสือกรณีธรรมกาย กรณีสันติอโศก เป็นต้น
โดยรวมแล้ว เป็นการอธิบายความคิดของท่านเจ้าคุณต่อปัญหาที่บทความผมอ้างถึงในการวิจารณ์ “ท่าที” ของท่านให้ชัดเจนขึ้น และโต้แย้งส่วนที่ท่านเห็นว่าบทความผมให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
แน่นอนว่า ตัวผมเองย่อมได้รับประโยชน์จากข้อโต้แย้ง คำวิจารณ์เชิงติติง ชี้แนะ และเตือนสติด้วยเมตตาจิตจากท่านเจ้าคุณ
3. แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า ผมเห็นด้วยกับท่านเจ้าคุณในเรื่องการอ้างอิงข้อมูลในพระไตรปิฎก เพื่อเป็นมาตรฐานตัดสินว่าใครอ้างข้อความในพระไตรปิฎกถูกหรือผิด หรือใครตีความคำสอนพุทธศาสนาถูกตามพระไตรปิฎกหรือไม่ และเห็นด้วยว่าการวิจารณ์จะต้องยึดความจริงและข้อมูลที่ถูกต้องเป็นหลัก (และที่ท่านชี้ให้เห็นว่าบางเรื่องที่ผมอ้างข้อมูลผิดพลาดนั้น ผมก็น้อมรับด้วยความขอบพระคุณ) แต่ที่ผมเห็นต่างจากท่านเจ้าคุณ คือ เรื่อง “ท่าที” ของท่าน ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
ก. ทัศนะต่อความจริง หรืออาจเรียกว่า “ท่าทีระดับทัศนะต่อความจริง” ก็ได้ ท่านเจ้าคุณเขียนว่า
ประเด็นของ หนังสือ นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ใช่แค่คิดเอา นั้น ไม่ใช่การวิจารณ์ แต่เป็นการบอกความจริง คือบอกให้รู้ว่า นักวิชาการที่กล่าวถึงเหล่านั้น นำข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงมาใช้มาอ้างในการวิจารณ์ ซึ่งเป็นกรรมที่ไม่ควรกระทำ...การวิจารณ์เป็นเรื่องของความคิดเห็น… แต่ความจริงไม่อยู่ที่ความคิดเห็นของคน ไม่ขึ้นต่อความคิดเห็นของคน ไม่ต้องให้คนมาว่า มาวัดมาตัดสินกัน (น.3)
ดูเหมือน “ความจริง” ตามนิยามของท่านเจ้าคุณจะหมายถึงความจริงที่เป็น “ภววิสัย” (objective) ซึ่งในวงวิชาการเชื่อกันว่า ความจริงเช่นนี้เป็น “ความจริงทางวิทยาศาสตร์” แต่ก็มีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าความจริงทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นภววิสัยที่ไม่ ขึ้นต่อความเห็น การตัดสินของตัวบุคคลจริงหรือไม่
ทว่าประเด็นในที่นี้คือ “ความจริงทางศาสนา” (เช่น เรื่องราวในพระไตรปิฎก) นั้น มีลักษณะเป็นความจริงทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ปนๆ หรือคาบเกี่ยวกันอยู่ ซึ่งความจริงดังกล่าวนี้ในทางวิชาการเชื่อกันว่าไม่ใช่ความจริงภววิสัยแบบ วิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ภาษาในพระไตรปิฎกเองก็เป็นภาษาที่มีบริบททางวัฒนธรรมความเชื่อของสังคมยุค พุทธกาลและยุคต่อๆ มา (ที่มีการทำสังคายนา) ปะปนผสมผสานกันอยู่จนยากที่จะแยกให้เห็นความเป็นภววิสัยของสัจธรรมพุทธจริงๆ ที่ไม่มีบางมิติของความจริงอื่นๆ ผสมผสานคละเคล้ากันอยู่
งานเขียนของ พระมโน เมตตานนฺโท คืองานที่ตั้งคำถามกับข้อมูลในพระไตรปิฎกว่าส่วนไหนน่าจะใช่ หรือไม่ใช่พุทธพจน์ แล้วก็ระบุว่าตรงนั้นใช่ ตรงนี้ไม่ใช่ ส่วนงานของท่านเจ้าคุณคือการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลในพระไตรปิฎกและชี้ ให้เห็นว่า ที่พระมโนนำมาอ้างนั้นไม่ถูกตามพระไตรปิฎกอย่างไร ที่ถูกคืออะไร
แต่ว่าบางเรื่องข้อสรุปของพระมโนเช่น ข้อสรุปว่า “ครุธรรม 8 ประการ ไม่น่าจะใช่พุทธพจน์” ก็สรุปก็ออกมาจากการพิจารณาความสอดคล้อง ไม่สอดคล้อง ของข้อความในพระไตรปิฎกเป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการวิเคราะห์ความจริงทางศาสนา (ที่มีลักษณะเป็นความจริงทางสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์) ย่อมหนีไม่พ้นการตีความ ในกรณีเช่นนี้หากเป็นการวิเคราะห์ผิดสรุปผิด เราก็กล่าวได้แค่ว่าพระมโน “ตีความผิด” หรือ “สรุปผิด” ไม่ใช่ไปสรุปว่าพระมโนเจตนาไม่ซื่อ กล่าวเท็จ สร้างงานวิชาการผีหลอก (นักวิชาการหลายคนก็เห็นด้วยกับท่านเจ้าคุณว่างานพระมโนมีปัญหาในการอ้างพระ ไตรปิฎก แต่เขาก็มี “ท่าที” ต่างออกไป เช่นเห็นว่าเป็นงานที่ท้าทายให้วิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงเพื่อความก้าวหน้าทาง วิชาการ เป็นต้น)
เช่นเดียวกันประเด็น “ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต” ท่านเจ้าคุณนิยามว่าคือ “ทำให้พระธรรมวินัยมีความคลาดเคลื่อนแล้วถูกถือเป็นหลักที่ผิดเพี้ยนไป” (น.44) ซึ่งท่านเจ้าคุณเห็นว่า มีความผิดร้ายแรงกว่า “ประพฤติผิดพระธรรมวินัย” แต่ถ้ามีคนแย้งว่า ไม่มีใครทำพระธรรมวินัยให้วิปริตได้จริงๆ หรอก เพราะถ้าเราเชื่อว่าพระธรรมวินัยบริสุทธิ์มีอยู่แล้วในพระไตรปิฎกที่เป็น สมบัติร่วมกันของชาวพุทธทั่วโลก ต่อให้มีใครตีความผิด สอนผิด ประพฤติผิดจากพระไตรปิฎก พระธรรมวินัยที่ถูกต้องนั้นก็ยังคงมีให้เป็นหลักตรวจสอบตัดสินอยู่ในพระ ไตรปิฎกเช่นเดิม
ดังประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็มีพระสงฆ์หรือชาวพุทธทั้ง ในอดีตและปัจจุบันจำนวนมากที่ตีความผิด สอนผิด ถือผิดจากพระไตรปิฎก ทำให้มีการแยกเป็นนิกายต่างๆ จำนวนมาก แต่พระธรรมวินัยที่ถูกต้องก็ยังมีอยู่ในพระไตรปิฎกเช่นเดิม (ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าการ“ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต” ตามนิยามของท่านเจ้าคุณไม่ใช่ปัญหาที่ควรแก้ไข แต่ในแง่หนึ่งหากไม่ระมัดระวังคำเช่นนี้ก็อาจถูกใช้ในความหมายเชิง “วาทกรรม” ที่ไปกดคนอื่น ฝ่ายอื่นซึ่งอ่านพระไตรปิฎกแล้วสรุปความออกมาต่างกันให้ดูเลวร้ายเกินความ เป็นจริงได้)
คำถามคือ ในกรณีเช่นนี้ ความจริงตามนิยามของท่านเจ้าคุณกับความจริงตามข้อโต้แย้ง อะไรคือความจริงที่เป็นภววิสัยกันแน่? และ/หรือจะสรุปอย่างสมเหตุสมผลได้หรือไม่ว่าท่าทีที่โต้แย้งท่านเจ้าคุณเป็น เท็จ เป็นท่าทีที่ไม่สนใจความจริง คิดเอาเอง อยู่ในโลกของความคิด เป็นต้น
ข. “ท่าทีเชิงจริยธรรม” หรือการตัดสินงานของคนอื่น ความคิดเห็นของคนอื่นในเชิงจริยธรรม คือไม่ได้ตัดสินตาม “ข้อเท็จจริง” แค่ว่า เขาอ้างพระไตรปิฎกผิด ให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน สรุปความคิดผิด วิจารณ์ผิดอย่างไร แต่ไป “ตัดสินเชิงจริยธรรม” ว่าเขา “ขว้างก้อนอิฐ” “ด่า” หรือ “กล่าวเท็จ” ซึ่ง “การกล่าวเท็จ” มีความหมายเชิงจริยธรรมว่ามี “เจตนาอกุศล” แฝงอยู่ด้วย ดูเหมือนท่านเจ้าคุณเองก็ตระหนักในเรื่องนี้ (ดังที่ท่านหมายเหตุไว้ในหนังสือว่า ที่ไม่เอ่ยชื่อจริงของท่าน บก.และ ดร.ช. เพราะเกรงว่าผู้อ่านจะสงสัยใน “เจตนา” ของคนทั้งสอง)
ในหนังสือ “ขว้างก้อนอิฐมา พัฒนาเป็นแก้วมณี” เล่มนี้ ท่านเจ้าคุณเน้นย้ำมากเป็นพิเศษว่างานของท่านที่ตอบโต้นักวิชาการต่างๆ นั้น “ไม่ใช่การวิจารณ์” แต่เป็น “การบอกความจริง” คือ บอกให้รู้ว่าที่เขาเขียนนั้นเท็จ หรือไม่จริงอย่างไร และที่จริงเป็นอย่างไร และดูเหมือนท่านจะไม่เห็นด้วยว่า การอ้างความคิดของคนอื่นจะสรุปเอาตามความเข้าใจของตนเองว่าเขาคิดอย่างนั้น อย่างนี้ไม่ได้ (อย่างที่ ดร.ช.ท่าน บก.วารสารพุทธศาสน์ศึกษา Dr.McCargo ทำ) ต้องอ้าง “ข้อความของเขา” ตามที่ปรากฏในเอกสารหลักฐานจริงๆ
แน่นอนว่า ข้อเสนอของท่านเจ้าคุณนั้นควรแก่การรับฟัง แต่บางที “การสรุปความเห็นของคนอื่น” ก็เป็นเรื่องที่ทำกันอยู่บ้าง และท่านเจ้าคุณเองก็ทำ เช่นที่ผมยกมาในบทความชื่อ “พระสงฆ์กับกัลยาณมิตรและการท้าทายทางวิชาการ” ที่อ้างถึงข้อความในหนังสือ “นักวิชาการเทศ-ไทยฯ” ของท่านเจ้าคุณตอนหนึ่งว่า....
นักแทรก (ชื่อสมมติของคนที่สนทนากับท่านเจ้าคุณ): เข้ากับเรื่องที่กำลังพูดนะนี่ ขออ่านเลยนะครับ ท่าน บก.เขียนอย่างนี้ครับ
“...เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาส ได้อ่านหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่ง จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เนื้อหาของหนังสือเป็นบทสนทนาระหว่างท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กับคณะแพทย์จำนวนหนึ่ง ในการสนทนา บรรดาแพทย์ทั้งหลายได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับทัศนะของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับ ปัญหาทางจริยธรรมที่เกิดจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และชีววิทยา เช่น ปัญหาเรื่องการโคลนมนุษย์ ปัญหาการใช้เซลล์ต้นแบบจากตัวอ่อนมนุษย์ เป็นต้น ท่านเจ้าคุณนั้นเวลาที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนาในเรื่อง ต่างๆ ท่านมักองอาจดังพญาราชสีห์ แต่ความองอาจที่เคยเห็นนั้นหายไปมากในหนังสือเล่มนี้ สิ่งที่ผมพยายามคิดหลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบคือ “เกิดอะไรขึ้นกับท่านเจ้าคุณ” เท่าที่ผมอธิบายให้กับตัวเองได้ในเวลานี้คือ นี่อาจเป็นสัญญาณแรกๆ ของการที่พระพุทธศาสนาแบบเดิมที่เราคุ้นเคย ไม่สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ในสังคมสมัยใหม่ได้แล้ว ท่านเจ้าคุณนั้นเป็นปราชญ์ทางพุทธศาสนาในความหมายของผู้ที่ “แม่นทางปริยัติ” แต่ปัญหาทางจริยธรรมในโลกสมัยใหม่ ไม่ต้องการเพียงความแม่นยำในปริยัติเท่านั้น หากแต่ต้องการความเป็นผู้มีสติปัญญาอันกว้างขวางที่จะให้ทางออกอันประกอบ ด้วยความลึกซึ้ง กินใจ ชวนคิด มีเมตตาแก่ทุกฝ่ายเป็นต้นด้วย การศึกษาพระปริยัติธรรมแบบดั้งเดิมที่คณะสงฆ์ดำเนินการอยู่นั้น ดูท่าจะไม่พอเสียแล้วสำหรับการตอบสนองความต้องการเช่นนี้ หากสิ่งที่ผมคิดถูกต้อง ก็แปลว่าเกิดลางในทางไม่ดีต่ออนาคตของพระพุทธศาสนาอย่างที่อยู่ภายใต้การนำ ของคณะสงฆ์ไทยในบางด้านเสียแล้ว”
พออ่านจบ “นักแทรก” ก็ชงต่อทันทีว่า “นี่เขาด่าคณะสงฆ์ แต่ว่าไม่ใช่ เขาด่ามหาจุฬาฯ ท่านอาจารย์อยู่ในมหาจุฬาฯ ตลอดเลย”
พระพรหมคุณาภรณ์: ท่าน บก.จะด่าคณะสงฆ์ หรือด่ามหาจุฬาฯ ก็คงต้องไปถามตัวท่านเอง แต่ก็ถือว่าด่าพระสงฆ์ไทย เป้าอยู่ที่อาตมานี่แหละ
เห็นได้ชัดว่า ลูกศิษย์และท่านเจ้าคุณอ่านข้อความดังกล่าวแล้วสรุปว่า นั่นคือการ “ด่า” และนี่เองที่ผมคิดว่าเป็น “ท่าทีเชิงจริยธรรม” ที่มีปัญหาไม่น้อยไปกว่า “การสรุปความเห็นของคนอื่นคลาดเคลื่อนแล้วนำมาวิจารณ์”
ท่าทีเชิงจริยธรรมทำนองนี้นี่เองที่ผมคิดว่า เป็นท่าทีที่มีปัญหามากในวงการพุทธศาสนาเถรวาทไทย เพราะในที่สุดไม่ใช่แค่ “การบอกความจริง” ว่าคนอื่นอ้างพระไตรปิฎกผิด ตีความผิด สอนผิด เป็นต้นอย่างไร แต่มักนำไปสู่การ “ตัดสินเชิงจริยธรรม” คือตัดสิน “เจตนาภายใน” ว่า เขามีเจตนาอกุศลอย่างไร เช่น เจตนาไม่ซื่อ และอื่นๆ (ในวงการพุทธมักประณามว่าเป็น “มิจฉาทิฐิ” เป็นต้น)
เหมือนปรากฏการณ์ทางสังคมหลายๆ เรื่อง เช่น กรณีนิติราษฎร์เสนอแก้ ม.112 แทนที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยจะโต้แย้งเฉพาะข้อเสนอและเหตุผลของนิติราษฎร์ว่ามี ปัญหาอย่างไร แต่กลับไปใช้ “ท่าทีเชิงจริยธรรม” ตัดสิน “เจตนาภายใน” ของนิติราษฎร์ว่า ต้องการล้มเจ้า ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นต้น (ที่เปรียบเทียบนี้ไม่ได้หมายความว่า ท่าทีทางจริยธรรมของท่านเจ้าคุณกับของฝ่ายต้านนิติราษฎร์มี “ระดับคุณภาพ” เท่ากัน เพียงแต่ยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรมชัดๆ เท่านั้น)
กล่าวโดยสรุป ผมเห็นว่า เนื้อหาหลักๆ ของหนังสือ “ขว้างก้อนอิฐมาพัฒนาเป็นแก้วมณี” มีประโยชน์ในแง่การให้ความรู้ ให้หลักการ แง่คิด เตือนสติในการวิพากษ์วิจารณ์ และการมีวัฒนธรรมเคารพความจริง รักในการแสวงหาความจริง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ผมไม่ได้เห็นแย้งกับท่านเลย และเห็นว่างานของท่านมีคุณภาพมากในการยืนยันหลักฐานข้อมูล ความถูกต้องของหลักพระธรรมวินัยแห่งพุทธศาสนาเถรวาท
เพียงแต่ผมไม่เห็นด้วยกับ “ท่าที” บางประการของท่านดังกล่าวมาแล้วเท่านั้นเอง!
ปล. ผมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า บรรดาลูกศิษย์ควรให้ท่านเจ้าคุณมีเวลาพักผ่อนและทำงานใหญ่ๆ มากกว่าที่จะไปรบกวนให้ท่านใช้เวลาในการตอบโต้คนอื่นๆ ที่วิจารณ์งานของท่าน หากเห็นว่าการวิจารณ์นั้นๆ มีปัญหา ลูกศิษย์ควรรับภาระโต้ตอบหรือชี้แจงแทนท่านเองน่าจะเหมาะสมกว่า