ที่มา ประชาไท
เพลงชาติไทยบทแรกมีเนื้อร้องว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี” สะท้อนชัดเจนถึงอุดมการณ์ของคณะราษฎร์ ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งก็คือ มุ่งหมายสร้างประเทศไทยให้เป็น “ประชารัฐ”
ประเทศสยามภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่มีเพลงชาติอย่างเป็นทาง การ แต่ในทางพฤตินัย ได้ถือเอาเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งเป็นเพลงถวายความเคารพแด่พระมหากษัตริย์เป็นเพลงชาติ สอดคล้องกับหลักคิดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ว่า พระมหากษัตริย์คือ รัฐ หรือ ชาติ คณะราษฎร์ขณะเมื่อเตรียมก่อการก็ได้มีความพยายามที่จะร่างเพลงชาติไว้ล่วง หน้า เช่นเดียวกับที่ได้ร่าง “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม” รอไว้
เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 ขึ้นแล้ว คณะราษฎร์จึงได้ขอให้พระเจนดุริยางค์ประพันธ์ทำนองขึ้น และได้ใช้บรรเลงต่อมา แต่การแสวงหาเนื้อร้องที่เหมาะสมกลับยืดเยื้อมาอีกหลายปี เนื้อร้องที่เป็นทางการชิ้นแรกเริ่มใช้ในปี 2477 ประพันธ์โดยขุนวิจิตรมาตรา มีความยาวมากถึง 4 บท บทละ 4 วรรค รวมเป็น 16 วรรค เนื้อร้องชุดนี้ยังคงใช้ชื่อประเทศอย่างเป็นทางการว่า “สยาม” มีเนื้อหาเป็นลัทธิเชื้อชาติไทยอย่างเข้มข้น เน้นการปลุกใจสู้รบอาจหาญ แต่กลับไม่เป็นที่นิยมของประชาชน เพลงชาติไทยหลังจากนั้นจึงยังคงเป็นเพลงบรรเลง ที่มีการร้องเนื้อเพลงน้อยมาก
เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น ประเทศไทยแล้ว รัฐบาลจึงได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติขึ้นใหม่เมื่อปี 2482 ปรากฏว่า เนื้อร้องของหลวงสารานุประพันธ์ได้รับการยอมรับ มีเนื้อร้องสั้นกะทัดรัดเพียง 2 บท บทละ 4 วรรคเท่านั้น โดยมีเนื้อร้องบทแรกที่เข้าประกวดว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชาธิปไตยของไทยทุกส่วน อยู่ยืนยงดำรงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี” แต่ข้อความวรรคที่สองและสามถูกแก้ไขเป็นฉบับทางการว่า “เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล” ปรากฏว่า เนื้อร้องใหม่นี้เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป และได้ใช้สืบมาจนทุกวันนี้
เนื้อร้องใหม่นี้มีข้อเด่นที่สะท้อนอุดมการณ์ของคณะราษฎร์ได้ชัดเจน คือเป็นทั้งลัทธิรักชาติ และเน้นประชาธิปไตยควบคู่กัน คำว่า ประชารัฐ ก็คือ รัฐของประชาชน เป็นรัฐประชาธิปไตยที่เป็นของคนไทยทุกส่วน ที่สำคัญคือ เนื้อร้องนี้มีท่วงทำนองที่ทันสมัย ลดความสำคัญของลัทธิเชื้อชาติไทยของยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลง เปลี่ยนจากการมองไปในอดีตบรรพกาล มาเป็นมองอนาคตที่สดใส ดังข้อความวรรคสุดท้ายว่า “เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย”
มรดกของคณะราษฎร์ได้ถูกทำลายจนแทบหมดสิ้นนับแต่รัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์เมื่อปี 2500 ฝ่ายนิยมกษัตริย์พยายามที่จะลบล้างความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎร์ให้สูญไปจาก ประวัติศาสตร์ไทย คณะราษฎร์ถูกกล่าวหาว่า “ชิงสุกก่อนห่ามและรวบอำนาจในหมู่พวกพ้อง” รัฐธรรมนูญสามฉบับที่ใช้โดยคณะราษฎร์หายสาบสูญ หลักหกประการของคณะราษฎร์ถูกลืมเลือน ความพยายามของคณะราษฎร์ที่จะสร้าง “รัฐธรรมนูญ” ให้เป็นสถาบันหลักที่สี่ของชาติ ตามคำขวัญใหม่ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ” ประเพณีการฉลองวันรัฐธรรมนูญอย่างเอิกเกริก และ “วันชาติ 24 มิถุนายน” ถูกยกเลิก แม้แต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ถูกลดความสำคัญลง ถึงกับมีข้อเสนอให้รื้อทำลายทิ้งในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนถึงปัจจุบัน “เพลงชาติไทย” จึงเป็นมรดกทางความคิดชิ้นสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ของคณะราษฎร์เท่านั้น
แต่สายธารแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นไม่เคยหมดสิ้น ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จิตวิญญาณและอุดมการณ์ของคณะราษฎร์ได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอย่างอัศจรรย์ ความทรงจำที่ถูกกดเก็บเอาไว้กลับฟื้นคืนมาปรากฏชัดเจนและสดใส ความรับรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ การต่อสู้ ประสบการณ์ชัยชนะและพ่ายแพ้ของคณะราษฎร์กลับมาเป็นความรู้สาธารณะ เป็นวาทกรรมที่ถูกบอกเล่าซ้ำ ๆ อีกครั้ง ขบวนประชาธิปไตยที่ขยายตัวเติบใหญ่และเข้มแข็งขึ้นหลังรัฐประหารกลายเป็นผู้ สืบทอดอุดมการณ์และจิตวิญญาณของคณะราษฎร์อย่างแท้จริง ขบวนการคนเสื้อแดงปัจจุบันมิได้เชื่อมโยงประสบการณ์และความเรียกร้องต้องการ ของพวกเขาไปที่ 14 ตุลาคม 2516 หากแต่เชื่อมโยงไปที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยตรง ในแง่นี้ ขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงจึงมีลักษณะก้าวหน้ายิ่งกว่าขบวนการนักศึกษาเดือน ตุลาคม
คณะนักวิชาการที่เรียกตนเองว่า “คณะนิติราษฎร์” นิติศาสตร์เพื่อราษฎร นั้น ไม่เคยปิดบังเลยว่า ได้รับแรงบันดาลใจโดยตรงจากคณะราษฎร์ ดังจะเห็นได้จาก คำประกาศก่อตั้งเมื่อ 19 กันยายน 2553 ที่ระบุจุดมุ่งหมายไว้อย่างเปิดเผยว่า เพื่อให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และ “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ” ซึ่งก็คือ ไปบรรลุภารกิจที่คณะราษฎร์กระทำไม่สำเร็จ ข้อนี้ไม่จำเป็นที่บรรดาศัตรูของคณะนิติราษฎร์จะต้องมา “ชี้ให้เห็น”
ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในกรอบของรัฐธรรมนูญสามฉบับของคณะ ราษฎร์ จึงเป็นการรื้อฟื้นโครงการทางการเมืองของคณะราษฎร์ขึ้นมาอีกครั้ง และเป็นข้อเสนอที่กลับไปสู่ 24 มิถุนายน 2475 จึงมีลักษณะก้าวหน้ายิ่งกว่าข้อเสนอเดิมของขบวนประชาธิปไตยและพรรคเพื่อไทย ที่เพียงต้องการรื้อฟื้นรัฐธรรมนูญ 2540
คณะนิติราษฎร์จึงเป็นผู้สืบสานอุดมการณ์ของคณะราษฎร์ในทางความคิดและ หลักการทางกฎหมาย แต่ผู้ที่สืบสานอุดมการณ์ของคณะราษฎร์ในทางการเมืองและในทางปฏิบัตินั้นคือ ขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดง ที่สำคัญคือ ขบวนประชาธิปไตยในวันนี้ยังได้กระทำภารกิจแรกสุดที่คณะราษฎร์ทำไม่สำเร็จ นั้น ให้บรรลุได้ระดับหนึ่งคือ การทำให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยแผ่ขยายกว้างและหยั่งลงลึกสู่มวลประชามหาชน อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ก่อเป็นฐานมวลชนประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ไพศาลและเข้มแข็งที่สุดเท่าที่เคยมี มา