WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, February 7, 2012

อมร จันทรสมบูรณ์: เผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาด

ที่มา ประชาไท

หมายเหตุ: วันนี้ (6 ก.พ.) ที่ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร (LT1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนา “วิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ?” โดยกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ในช่วงแรก ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และอาจารย์นิติศาสตร์ด้านกฎหมายมหาชน ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง “เผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาด” มีรายละเอียดตามที่เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานดังนี้

000

เผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาด
อมร จันทรสมบูรณ์

ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ที่ให้โอกาสผมมาชี้แจงว่า ตามความเห็นของผม ขณะนี้ระบอบการปกครองของเราเป็นระบอบอะไร ในเอกสารที่ท่านมีอยู่ในมือจะเห็นว่ามีบทความอยู่ ซึ่งไม่ยาวนัก ของผมอยู่ 2 บทความ ความจริงถ้าท่านมีโอกาสไปอ่านบทความนี้ ท่านก็จะเข้าใจว่าเพราะเหตุใดประเทศไทยจึงได้กลายเป็นระบบเผด็จการโดยพรรค การเมืองนายทุน

ผมเองกำลังนึกว่าจะทำยังไงให้ท่านมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การแตกแยกก็ดี การผูกขาดอำนาจก็ดี มันเกิดขึ้นเพราะเหตุใด จะพยายามอธิบายในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ผมจะพยายามอธิบายเหตุผลของการที่ประเทศไทย จากระบอบประชาธิปไตย ทำไมจึงกลายเป็นระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนได้ โดยจะใช้เวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะย่อได้ แล้วท่านก็กรุณาไปอ่านบทความเองนะ ที่อยู่ในมือของท่าน

ความจริงแล้วก็จะมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นเพาเวอร์พอยท์ ซึ่งจริงๆ เป็นสี แต่ผมเข้าใจว่าท่านผู้ไปจัดพิมพ์ จัดพิมพ์น้อยเกินไป เพราะฉะนั้นก็จะมีบางท่านที่มีเพาเวอร์พอยท์ที่เป็นสีอยู่ในมือ บางท่านก็จะไม่มี

ในบทความอันหลังที่สุดที่ผมได้เขียนไว้ ถ้าหากท่านดูจากหัวข้อในเอกสารที่ท่านมีอยู่ในมือ ท่านจะเห็นว่าบทความบทแรกเราตั้งชื่อไว้ว่า จากระบอบประชาธิปไตย 2475 มาเป็นระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภาในปัจจุบัน

ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา เราเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ขนาดยังไม่รู้ว่าทำไมในปี พ.ศ.2535 มันเกิดอะไรขึ้น แล้วทำไมจึงกลายเป็นระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนไปได้ ดังนั้นเพื่อที่จะให้ท่านมองเห็นตรงนี้ เราก็จะเอาตัวบทของรัฐธรรมนูญต่างประเทศมาให้ท่านดูว่าหลักเกณฑ์ของความเป็น ประชาธิปไตยนั้นเป็นยังไง แล้วทำไมในปี 2535 เราจึงกลายเป็นระบบเผด็จการไปได้

ในตอนแรกเราจะเห็นว่าขณะนี้เรามีประเด็นเรื่องความปรองดอง ข้างหน้านี่ก็อาจจะมีพระราชบัญญัติความปรองดองแห่งชาติ โผล่ขึ้นมา ผมถึงบอกว่าความปรองดองนั้นมันไม่ใช่เรื่องออกกฎหมาย บังคับให้คนต้องกอดกัน แต่ความปรองดองนั้นมันเกิดขึ้นด้วยการทำถูกให้เป็นถูก ทำผิดให้เป็นผิด

แต่ตรงนี้เราไม่ได้พูดเรื่องความปรองดอง วันนี้เรามาพูดเรื่องว่าเราเป็นเผด็จการ หรือเป็นประชาธิปไตย ผมจะเริ่มต้นว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นระบอบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา ทำไมผมจึงว่าอย่างนั้น ดังนั้นเราจะเอาตัวบทรัฐธรรมนูญมาเรียงให้ท่านดู ว่าทำไมจากประชาธิปไตยดีๆ ปี 2535 เรากลายเป็นเผด็จการไปได้ ดังนั้นตรงนี้ผมก็จะเอาตัวบทรัฐธรรมนูญของเราตั้งแต่ต้น มาเรียงจนกระทั่ง ณ ปัจจุบัน แล้วดูซิว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของเราค่อยๆ เปลี่ยนไป จนกระทั่งกลายเป็นเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนเต็มรูปแบบได้ยังไง

เพื่อที่จะให้ย่อเข้ามา ผมก็จะเอารัฐธรรมนูญต่างประเทศ ที่เราถือว่าเป็นประชาธิปไตย มีตัวบทอะไรบ้างที่สำคัญๆ เอามาให้ท่านดูก่อนว่าระบอบประชาธิปไตยของสากลเขาถือหลักอะไรบ้าง จริงๆ แล้วการเลือกตั้งนั้นจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 1. สิทธิการเลือกตั้ง 2. สิทธิการรับสมัครเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นสิทธิการเลือกตั้งของเรา เป็น Universal Suffrage คือบุคคลทั่วไปมีสิทธิ์ที่จะเลือกตั้งได้ ยกเว้นแต่เด็กที่ยังไม่มีความรู้สึกผิดชอบ แต่สิ่งที่นักวิชาการ หรืออาจารย์ของเราลืมไปก็คือ สิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง

สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งนั้น ที่เป็นประชาธิปไตย บุคคลทุกคนต้องมีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่สังกัดพรรค

ประการที่ 2 พรรคการเมือง ใครจะตั้งก็ได้ ไม่ตั้งก็ได้ และประการที่ 3 ก็คือ เมื่อได้รับเลือกตั้งมาแล้ว ผู้ที่เป็นผู้แทนราษฎรนั้น มีสิทธิ์ที่จะใช้ดุลพินิจของตนเองในการบริหารประเทศตามมโนธรรมของตนเอง ไม่ใช่ว่าได้รับเงินมาแล้วต้องตามคำสั่งของเจ้าของพรรคการเมือง

ผมอยากจะให้ท่านผู้ฟังนึกดูว่า มีประเทศไหนบ้างที่เวลาจะตั้งรัฐมนตรี คนต้องบินออกไปนอกประเทศ ออกไปปรึกษานายทุนพรรคการเมือง เห็นไหมครับนี่เป็นสิ่งผิดปกติแล้ว

ประการที่ 2 มีที่ไหนบ้างที่ ส.ส.ในสังกัดพรรคการเมือง พอมีตำแหน่งว่าง ให้ภรรยาหัวหน้าพรรคเป็น โดยสมาชิกพรรค ส.ส.บอกว่าข้าพเจ้าไม่เป็น ถามว่าทำไมเขาถึงไม่อยากเป็น นึกดูให้ดีนะครับ เหตุการณ์เหล่านี้ที่มันเกิดขึ้น มันแสดงความผิดปกติของระบบสถาบันการเมืองของเรา ทำไมถึงไม่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ทำไมถึงเกิดขึ้นในประเทศไทยประเทศเดียว ก็เพราะว่ารัฐธรรมนูญของไทยนั้น ระบบบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค ระบบให้พรรคการเมืองมีอำนาจไล่ ส.ส.ได้ แล้วยังเขียนว่า หัวหน้าพรรคเท่านั้นที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้

สามบทบัญญัตินี่ล่ะครับเป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญของไทยประเทศเดียวใน โลก แต่ท่านอย่าเพิ่งนึกไปไกล ถามว่าทำไมอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของเราไม่สอน ถามตรงนี้สิครับ อาจารย์มหาวิทยาลัยทำไมไม่สอน เราเรียนรัฐธรรมนูญมา 80 ปี แต่ไม่มีใครสอน แล้วแถมยังมาบอกว่านี่คือระบอบประชาธิปไตย นี่ผมบอกให้ท่านคิดนะครับ ทำไมเหตุการณ์อย่างนี้มันเกิดขึ้น แล้วทำไมอาจารย์ของเราไม่สอน เพราะอะไร ก็เพราะว่าการสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญในมหาวิทยาลัยของเรานั้นไม่ได้มาตรฐานสากล

คราวนี้เราดูซิว่ามาตรฐานสากลมียังไง เมื่อกี้ผมบอกแล้วว่า การเลือกตั้งมีสิทธิอยู่ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ สิทธิมาออกเสียงเลือกตั้ง อีกด้านหนึ่งก็คือสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีอิสระในการไม่สังกัดพรรค พรรคการเมืองต้องตั้งได้โดยเสรี และเมื่อได้เป็นผู้แทนมาแล้ว ต้องสามารถใช้มโนธรรมของตนบริหาร ออกเสียงบริหารประเทศได้ นี่คือหลักประชาธิปไตย

ก่อนที่เราจะมาดูวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทย ผมอยากจะให้ท่านดูรัฐธรรมนูญต่างประเทศ ว่าหลักนี้พอออกมาเป็นตัวบทแล้วมันเป็นยังไง ซึ่งความจริงอันนี้เราได้พิมพ์อยู่แล้วในเอกสารที่ท่านแจกไป แต่บังเอิญมันไม่เป็นสี ฉะนั้นถ้าท่านดู เราจะเรียงลำดับ จะเห็นสีชัดเจน เราจะเห็นว่าในเฟรมแรกที่อยู่บนจอ จะเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนี ท่านเห็นไหมครับ 2 ตัวบทนี้ ในมาตราแรก เราจะเห็นว่า ส.ส.นั้นจะต้องปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมโนธรรมของตน

ในวรรค 2 ท่านเห็นไหมครับ ตัวแดง ทุกอย่างจะต้องมี Democratic Principal ถามว่า Democratic Principal อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ผมบอกนี่ไงครับ เสรีภาพในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ต้องมีความเป็นอิสระในการที่จะใช้มโนธรรมของตนในการใช้สิทธิในการเป็น ส.ส.ในการโหวตรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่โหวตตามคำสั่งของนายทุนพรรคการเมือง

ในช่วงแรกเราจะเห็นว่าจะมีบทบัญญัติ ท่านสังเกตกรอบนะครับ กรอบสีแดงจะเป็นกรอบของกฎหมายต่างประเทศ พอจบกรอบสีแดงแล้วก็จะเป็นรัฐธรรมนูญของไทย เพื่อที่จะดูว่ารัฐธรรมนูญไทยได้บิดเบือนหลักการของความเป็นประชาธิปไตย อย่างไร

ต่อไปเฟรมที่ 2 จะเป็นรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส เห็นไหมครับ สีแดงในตอนท้าย เขาบอกว่า จะต้องเคารพ Principal of Democracy เราไม่มี ข้างบนนั้น มาตรา 27 ส.ส.ต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติใดๆ ใครสั่งมาก็ไม่ได้ แต่ของเรานี่ได้รับซองมา เราสั่งได้

เราจะเห็นว่าบทบัญญัติหลักของประเทศที่สำคัญที่สุดในยุโรปคือ ฝรั่งเศส กับเยอรมัน เขาเขียนอย่างนี้ แล้วลองดูว่าในประเทศอื่นๆ เขียนอย่างไรบ้าง

จากรัฐธรรมนูญของเยอรมัน กับฝรั่งเศส ต่อไปก็เป็นรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ ใกล้ๆ เรานี่เอง เราจะเห็นนะครับ ตัวสีน้ำเงิน ว่า ส.ส.จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมโนธรรมของตนเอง

ต่อไปก็จะเป็นรัฐธรรมนูญของเดนมาร์ก เขาต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมโนธรรม แล้วก็ใครจะมาให้ Direction ใดๆ ไม่ได้ รวมทั้งผู้ที่เลือกตั้งมาด้วย

ต่อไปก็เป็นรัฐธรรมนูญของสเปน เราจะเห็นว่า หลักของ Democracy ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญสำคัญๆ ทั้งนั้น อันนี้เฟรมเปลี่ยนสีแล้ว แสดงว่าจบสำหรับต่างประเทศ ขณะนี้ท่านเข้าใจแล้วว่า Democratic Principal หรือ Principal of Democracy คืออะไร

ดูซิว่า รัฐธรรมนูญของเราเคารพต่อหลักการของความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ผมก็บอกว่าต่อไปนี้เราจะดูรัฐธรรมนูญของประเทศไทย เรียงตามลำดับนะครับ ตั้งแต่ปี 75 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ถ้าท่านดูเฟรมสีเขียว ท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมรัฐธรรมนูญไทย ผมจึงเริ่มต้นด้วยฉบับที่ 2 ทำไมไม่เริ่มต้นด้วยฉบับที่ 1 แต่ท่านจะรู้ว่าทำไมผมไม่เริ่มต้นด้วยฉบับที่ 1 ก็พลิกไปอ่านสิครับ อยู่ในเอกสารของท่านนะครับ เพราะในฉบับที่ 1 นั้น เราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของเรา ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ร่าง

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 เมื่อปี 75 เขาเรียกคณะรัฐมนตรีว่า คณะกรรมการราษฎร เขาไม่ได้เรียกว่าคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ใช้อยู่ได้ราว 6 เดือน ก็ถูกเปลี่ยนเป็นรัฐธรรมนูญที่เรารู้กัน คือที่รัชกาลที่ 7 ได้มาเขียนให้ พระราชทานให้มา

ท่านรู้ไหมครับว่าในสมัยนั้น รัฐธรรมนูญที่เรียกฝ่ายบริหารว่าเป็นคณะกรรมการราษฎรนั้น คือรัฐธรรมนูญของประเทศไหน ท่านอาจจะไม่รู้ เพราะไม่มีการสอน รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่เรียกคณะรัฐมนตรีว่าเป็นคณะกรรมการราษฎรนั้น มาจากรัฐธรรมนูญประเทศรัสเซีย รัสเซียนี่รัฐธรรมนูญปี 1918 เรียกคณะมนตรีว่าคณะกรรมการราษฎร คือ People's Commissar รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของเรามาเปลี่ยนนิดหน่อยก็คือว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของเรานั้นยังมีพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าท่านจะรู้หรือไม่รู้ ขณะนี้ ผมอยากจะพูดว่า สิ่งที่ผมเขียนลงไปในนี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของเรานั้นเรียกคณะรัฐมนตรี ว่าคณะกรรมการราษฎรนั้นมาจากรัสเซีย ผมเชื่อว่านี่เป็นเอกสารฉบับแรกที่เขียนถึง

เพราะฉะนั้นเราตัดออกไป เราจะดูตั้งแต่รัฐธรรมนูญของไทยฉบับที่ 2 ในรัฐธรรมนูญของไทยฉบับที่ 2 นี้ ถ้าท่านดู ถ้าท่านมีเอกสารที่เป็นสี ท่านจะเห็นว่าเฟรมของรัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนสีไป ในเฟรมรัฐธรรมนูญช่วงแรกนั้นมี 6 ฉบับ ฉบับที่ 2 ท่านดูนะครับ เราจะเห็นว่าเราเดินตามหลัก Principal of Democracy คือ ส.ส.ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ภายใต้ความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ คำปฏิญาณตนก็จะอยู่ในแนวทางเดียวกัน ลองดูสิครับว่าหลักเกณฑ์นี้ Principal of Democracy เปลี่ยนเมื่อไร

ต่อไปครับ ฉบับที่ 2 ฉบับที่ 3 เราจะเห็นว่าคงเดิม ฉบับที่ 4 เราก็จะเห็นว่ายังคงอยู่ ไม่อยู่ภายใต้ความผูกพันแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ ต่อไปเราก็จะเห็นว่าฉบับที่ 5 ก็ยังเหมือนเดิมอยู่ ฉบับที่ 6 เราก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2495 ก็ยังเหมือนเดิม เพราะว่าเอามาจากปี 75 ต่อไปรัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 ปี 11 เราก็จะเห็นว่าสถานภาพกับคำปฏิญาณยังคงเหมือนกัน

ต่อไปท่านจะเห็นว่าเฟรมเปลี่ยนสีแล้ว เราจะเห็นว่าจนกระทั่งถึงฉบับที่ 8 เรายังคงยึดหลัก Principal of Democracy ถ้าคุณดูต่อมา ท่านก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ฉบับที่ 10 ท่านรู้ไหมครับรัฐธรรมนูญฉบับ 17 เริ่มการบังคับสังกัดพรรค ความจริงผมยังเขียนบทความไม่จบ เพราะถ้าเขียนบทความจบ ท่านจะเห็นเลยว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการบังคับสังกัดพรรคเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อย่าลืมนะครับ การบังคับสังกัดพรรคนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นตามหลักของความเป็นประชาธิปไตย

เราจะเห็นว่า ในฉบับแรก การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจนั้นถูกตัดออกจากสถานภาพ ไม่มีแล้ว แต่มาเขียนไว้ในคำปฏิญาณ นี่คือ ฉบับแรกนะครับ ฉะนั้นในฉบับแรกกฎหมายของรัฐธรรมนูญของเราบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค แต่บอกว่าถ้าจะเปลี่ยนพรรค หรือถูกพรรคไล่ออก สามารถไปหาพรรคการเมืองใหม่เป็นสมาชิกต่อไปได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นบทบัญญัติเริ่มต้นของการบังคับให้สถานะ แต่ยอมให้เปลี่ยนได้ เริ่มเป็นต้อหิน คือบอดไป 1 ใน 4 เป็นฉบับที่ 13

อันที่ 8 ท่านดู ไม่เหลือแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่มีแล้ว เรื่องสถานภาพ และในคำปฏิญาณ เพียงแต่บอกให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแก่คนที่จ่ายเงิน ตัวบทมันฟ้อง รวมทั้งฟ้องอาจารย์ของเราด้วยที่ไปช่วยเขียนรัฐธรรมนูญ

ตรงนี้ถ้าท่านไปดูตัวบท รัฐธรรมนูญบอกว่า พรรคการเมืองมีอำนาจไล่ ส.ส.ออกได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราเป็นต้อหินเต็มตาแล้ว

แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 ตรงนี้เราจะเห็นว่า ปี 34 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 สังเกตดูดีๆ ผมไม่ได้บอกว่า รัฐธรรมนูญอันนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เท่าไหร่ของประเทศไทย เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งๆ ที่เขียนใหม่ เรียงมาตราใหม่ แต่อาจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญของเรานับไม่เป็น คือไม่นับ เหตุที่ไม่นับคือ บังเอิญมีหนังสือ 1 เล่มเขาไม่นับ เราเลยไม่นับไปด้วย แสดงให้เห็นว่า อาจารย์ที่สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญของเราไม่เคยสังเกต

ในเอกสารเขียนว่า ที่เราถือว่ารัฐธรรมนูญเราขณะนี้มี 18 ฉบับนั้นผิด มี 19 ฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนใหม่ ชื่อว่า แก้ไขเพิ่มเติมแต่มาตราไม่ตรงกัน อาจารย์ที่สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่รู้ว่ามาตราไม่ตรงกันแล้วจะอ้างได้อย่างไร

ดังนั้น ตรงนี้ ก่อนมาถึงเพิ่มเติมฉบับที่ 5 ผมมีข้อสังเกต เราจะเห็นว่าก่อนตรงนี้ เราจะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 โดยมีรัฐประหารแล้วยกร่างเป็นรัฐธรรมนูญปี 34 ปี 34 ท่านจำได้ไหมว่าเราเคยมีคณะรัฐมนตรี 1 คณะอยู่เพียง 6 เดือน ได้เติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 34 หลังพฤษภาทมิฬว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง อะไรเกิดขึ้น ผมชี้ให้เห็นแล้วว่า เราไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะเรา ส.ส.สังกัดพรรค พรรคการเมืองมีอำนาจไล่ ส.ส.ได้ คนที่เติมอันสุดท้ายลงไปว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ทำให้เราตาบอด หมายความว่า คนที่ผูกขาด เป็นอำนาจผูกขาดเผด็จการโดยพรรคการเมือง นายทุนถ้าลงทุนแล้ว หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีได้

เราจะเห็นว่า ตลอดเวลาจนถึงรัฐธรรมนูญปี 34 ที่มาเติมว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ยังไม่รู้เลยว่าประเทศไทยเป็นเผด็จการไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราบอดสนิท หายจากการเป็นต้อหิน เราจะเห็นว่า พอเราเป็นต้อหินแล้ว ตาบอดสนิทแล้ว ก็จะมาถึงรัฐธรรมนูญปี 40 นอกจากบอดสนิท ถ้าท่านจำได้เราได้เติมบทบัญญัติลงไปว่า ส.ส.เมื่อเวลายุบสภาแล้ว เปลี่ยนพรรคไม่ได้ต้องเป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อย 90 วันก่อนเปลี่ยน หมายความว่า นายทุนต้องมีอำนาจเด็ดขาด และบทบัญญัติเช่นนี้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก และคิดว่าขณะนี้ท่านเข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้นปี 50 ก็เหมือนกัน สังเกตดูให้ดีว่า ไม่มีสีน้ำตาล แต่มีสีน้ำเงินเพิ่มมา ไม่อยู่ในความผูกมัด ทำไมถึงมี ทั้งที่ตัวบทไม่ได้แก้เลย หมายความว่า คนร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ต้องการหลอกนักวิชาการต่างประเทศว่าเราเป็นประชาธิปไตย โดย ส.ส.ให้อิสระไม่อยู่ภายใต้ผูกมัดใดๆ ทั้งที่ในตัวบทพรรคการเมืองมีอำนาจปลด ส.ส.แสดงให้เห็นถึงถึงความไม่เป็นกลางของความเป็นนักวิชาการที่ไปเขียนรัฐ ธรรมนูญเหล่านี้ขึ้น

ดังนั้น คิดว่า ขณะนี้ท่านมองเห็นวิวัฒนาการจากตัวบทจริงๆ ส่วนข้างหน้าท่านจะคิดว่าเราจะแก้ไขอย่างไร จะมีท่านที่ร่วมอภิปรายต่อถึงระบบเผด็จการในพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา ก่อให้เกิดอะไรขึ้น ถ้าย้อนไปดูจากปี 35 พรรคการเมืองที่มาต่อสู้ในสภาเป็นพรรคการเมืองนายทุนทั้งสิ้น ระยะแรกจะเป็นพรรคการเมืองของนายทุนท้องถิ่น แย่งกันจับขั้วกันเอง และแย่งกันเป็นนายกฯ ลองย้อนไป ผมจะไม่เอ่ยชื่อใครทั้งนั้น ลองนึกว่า จากปี 34 - ปี 42 พรรคการเมืองนายทุนท้องถิ่นสลับขั้วกันอย่างไร หลังจากนั้นมา นายทุนระดับชาติมองเห็น ร่วมลงทุนมากหน่อย ใหญ่กว่านายทุนท้องถิ่น จึงซื้อทั้งผู้สมัคร ส.ส.ซื้อผู้ที่เป็น ส.ส.แล้ว และซื้อพรรคการเมือง ซึ่งจะเห็นว่า นายทุนท้องถิ่นระดับชาติกระโดดเข้ามาในระบบเผด็จการในพรรคการเมืองนายทุน เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ เพราะระบบรัฐสภาของเราคือใครคุมเสียงข้างมากในสภา คนนั้นเป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้นจึงซื้อเสียงเข้ามา และผูกขาดอำนาจพรรค และคอร์รัปชั่น และเอาเงินไปซื้อเสียงกลับเข้ามาอีก

ท่านมองเห็นปัญหาได้ ทำไมขนาดนี้ไม่มีนักการเมืองใดที่บอกว่า เขาเป็นเผด็จการในพรรคการเมืองนายทุน เพราะเขาได้ประโยชน์ เขาแข่งขันเพื่อมาคอร์รัปชั่น แต่การที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นใหม่ เราต้องสร้างจากพื้นฐานจริงๆ ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ 1.ข้าราชการประจำต้องเป็นกลาง 2.ระบบการกระจายอำนาจต้องดี 3.กระบานการยุติธรรมต้องดี ถ้าถามว่า 3 พื้นฐานของการปกครองประเทศ เราจะพัฒนาได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาจากคณาจารย์ที่สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบคนตาบอดคลำช้าง

อาจารย์ประเภทคนตาบอดคลำช้าง เขาตาบอด เมื่อเขาไปคลำตรงไหนก็สอนตรงนั้น เขาไม่เคยรู้จักเลยว่าช้างตัวใหญ่ รูปร่างเป็นอย่างไร และมันเดินได้อย่างไร พระมหากษัตริย์อยู่ส่วนไหนของช้างยังไม่รู้เลย

ผมอยากสรุปว่า ถ้าเราจะแก้ปัญหาประเทศไทย ต้องแก้ที่ระบบสถาบันการเมืองก่อน เพราะว่า ถ้านักการเมืองไม่แก้ ก็คงไม่มีใครแก้เนื่องจากเขาได้ประโยชน์ และไม่มีใครแก้ ดังนั้น ขอให้ช่วยกันคิดว่า ถ้านักการเมืองไม่แก้ระบบสถาบันการเมืองคนไทยจะทำอย่างไร ผมจึงขอขอบคุณ และจบการบรรยายเพียงเท่านี้ครับ

คลิ้กอ่านความเห็นทั้งหมดได้ที่ ประชาไทครับ