WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, April 19, 2009

"อภิสิทธิ์"เปิดทางนิรโทษกรรมแต่ไม่เว้นโทษอาญา 2บิ๊กพรรคร่วมให้นายกฯคุย"แม้ว" "มาร์ค"ฝากชงแก้ รธน.

ที่มา มติชนออนไลน์

นายกฯส่งสัญญาณนิรโทษกรรม แยกโทษการเมืองกับโทษอาญา 2 บิ๊กพรรคร่วมให้"มาร์ค"คุย"แม้ว"เพื่อยุติปัญหา นายกฯฝากชงแก้ รธน.ใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย วิป3ฝ่ายถกกรอบอภิปราย21เม.ย. ดักคอ"ตู่" อย่าสวมเสื้อแดงพูด นายกฯวาง3กลไกปฏิรูปการเมือง ปธ.วิปวุฒิฯขู่บอยคอต ถ้าไม่ฟัง

"มาร์ค"เปิดทางนิรโทษกรรม แต่ไม่เว้นโทษอาญา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ"เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ว่า ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย ตนและรัฐบาลได้เริ่มกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขกฎหมายหรือปฏิรุปทางการเมือง และได้เสนอให้มีคนกลาง แต่ยังไม่ได้รับการขานรับฝ่ายค้าน ซึ่งอาจระแวงเรื่องความเป็นการเป็นกลาง ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งหลักจะให้ทุกพรรคการเมืองไปสรุปปัญหาในรัฐธรรมนูญ ควาไม่เป็นกลางและไม่เป็นประชาธิปไตยมีประเด็นใด ให้เวลารวบรวม 2 สัปดาห์ ก่อนนำมาพิจาณาเพื่อขอฉันทามติจากสังคมถึงวิธีแก้ไขต่อไป เชื่อไม่ใช้เวลามากเกินไป


"แม้แต่ในประเด็นที่มีการพูดถึงว่า ความผิดทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สมควรจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ ตรงนี้ผมก็เปิดใจกว้างพร้อมที่จะรับฟัง แต่ผมขอย้ำอีกครั้งว่า เราต้องแยกความทางการเมืองออกจากความผิดทางอาญา ความผิดทางอาญา เช่น การก่อการจลาจล การยุยงปลุกปั่นที่อยู่นอกเหนือจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ รวมถึงความผิดอื่นๆ เช่นการใช้อำนาจรัฐไปในทางที่ไม่ถูกต้อง การทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นต้น เหล่านี้ต้องแยกออกมา และไม่ควรนำมารวมกัน เพราะว่าในส่วนหลังนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

2 บิ๊กพรรคร่วมให้"มาร์ค"คุย"แม้ว"


ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเปิดเผยเมื่อวันที่ 18 เมษายน ว่า ในการหารือร่วมกันของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่บ้านพักของนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ขอความเห็นเรื่องการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมือง โดยระบุว่าต้องการทำให้บ้านเมืองคืนสู่ภาวะสงบเรียบร้อย เพราะขณะนี้มีการรบกันมากเกินไปแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลถูกกดดันและถูกตั้งเงื่อนไขหลายเรื่อง เรื่องไหนยอมได้ก็จะยอมเพื่อความสมานฉันท์ แต่ถ้าเรื่องไหนยอมไม่ได้ ก็ยอมไม่ได้ เช่น การดำเนินคดีความต่างๆ ต้องดำเนินการอย่างถึงที่สุด และดำเนินการกับทุกฝ่าย ไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลเห็นควรให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมความผิดทางการเมืองทั้งหมด โดยไม่รวมคดีอาญา ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกฝ่ายพึงพอใจและทำให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในบ้านเมือง ที่สำคัญคือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอย่างน้อย 2 คนได้เสนอให้นายอภิสิทธิ์เปิดเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อยุติปัญหาความวุ่นวายทั้งหมด แต่เจ้าตัวยังคงสงวนท่าทีในเรื่องนี้อยู่


นายกฯฝากชงแก้ รธน.ใน 2 สัปดาห์


แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลยังเห็นพ้องว่าการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการคลี่คลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นการดึงเกมการเมืองภายนอกเข้าไปอยู่ในระบบรัฐสภา นายกฯได้ขอความร่วมมือให้พรรคร่วมรัฐบาลช่วยกันรวบรวมประเด็นที่คิดว่าเป็นปัญหา และอยากเสนอแก้ไขเพื่อจัดประชุมร่วมกันในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า จากนั้นจะหารือเรื่องรูปแบบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายต่อไป


วิป3ฝ่ายถกกรอบอภิปราย21เม.ย.


ทางด้านการเปิดอภิปรายทั่วไปของ 2 สภาเพื่อร่วมกันคลี่คลายวิกฤตทางการเมือง นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ได้นัดวิปพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เพื่อหารือเรื่องการเปิดอภิปรายทั่วไปในเวลา 10.00 น. วันที่ 21 เมษายนนี้ เพื่อหารือเรื่องกรอบการประชุมร่วมคร่าวๆ กำหนดให้เวลาสมาชิกอภิปรายอย่างเต็มที่ในวันที่ 22-23 เมษายน ยืนยันว่าการตัดสินใจดังกล่าวไม่ใช่การเล่นตามเกมของฝ่ายค้านที่เคยออกมาเสนอให้รัฐบาลเปิดประชุมร่วม 2 สภาก่อนหน้านี้ และไม่มีการต่อรองทางการเมืองแต่อย่างใด รัฐบาลต้องการแสดงความจริงใจในการคลี่คลายวิกฤตที่เกิดขึ้น


ดักคอ"ตู่" อย่าสวมเสื้อแดงพูด


ประธานวิปรัฐบาลกล่าวด้วยว่า การประชุมร่วม 2 สภาไม่มีระเบียบวาระเรื่องการขอให้ยกเลิกเอกสิทธิ์คุ้มครองนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถูกทางการออกหมายจับ แต่อยากเรียกร้องให้นายจตุพรเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะจะมีความสง่างามมากกว่ารอให้ศาลทำหนังสือแจ้งถึงนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอตัวไปดำเนินคดี


"ถ้านายจตุพรอยากจะลุกขึ้นอภิปรายรัฐบาล ก็เป็นสิทธิที่ทำได้ในฐานะ ส.ส. แต่ถ้าจะมาแก้ตัว หรือนำข้อมูลที่เคยพูดบนเวทีคนเสื้อแดงมาอภิปรายซ้ำ ก็คงไม่เหมาะสม เพราะทุกฝ่ายต้องการมองไปข้างหน้าและอยากเห็นทางออกของบ้านเมือง" นายชินวรณ์กล่าว


นายกฯวาง3กลไกปฏิรูปการเมือง


ส่วนกรณีที่สถาบันพระปกเกล้าประกาศยุติบทบาทในการเป็นเจ้าภาพปฏิรูปการเมืองให้รัฐบาลนั้น นายชินวรณ์กล่าวว่า นายกฯคิดหาทางออกไว้หลายทางแล้ว เพราะมองว่าข้อเรียกร้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การยุบสภา การให้นายกฯลาออก หรือการตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น ไม่อาจคลี่คลายวิกฤตในบ้านเมืองได้ แต่ต้องแก้ปัญหาด้วยการปฏิรูปการเมือง ดึงทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม เบื้องต้นสถาบันพระปกเกล้าอาจมีส่วนร่วมเช่นเดิม แต่เน้นดำเนินการด้านวิชาการ โดยเฉพาะการรวบรวมความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ พร้อมกันนี้จะตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 และแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง มีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ก่อนรวบรวมความคิดเห็นของทั้ง 3 ฝ่ายเข้าสู่การพิจารณาของสภา


เมื่อถามว่า พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอให้กำหนดประเด็นแก้รัฐธรรมนูญให้ชัดเจน และดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 เดือน นายชินวรณ์กล่าวว่า เรื่องกรอบเวลายังไม่เป็นข้อยุติ เพราะฝ่ายต่างๆ ต้องร่วมกันกำหนดกรอบความคิดให้ชัดก่อน


ปธ.วิปวุฒิฯขู่บอยคอตถ้าไม่ฟัง


นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานวุฒิสภา (วิปวุฒิ) กล่าวว่า วันที่ 20 เมษายน เวลา 14.30 น. จะประชุมวิปวุฒิฯหารือกันก่อนไปร่วมประชุมวิป 3 ฝ่ายในวันที่ 21 เมษายน คาดว่าจะหารือ 3 ประเด็น คือ 1.หามาตรการเสนอแนะรัฐบาล และประมวลข้อสังเกตในการทำงานของรัฐบาลระหว่างการจัดการจลาจล 2.การขอให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยด่วน 3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจจะต้องพิจารณาว่าเป็นทางออกของความขัดแย้งหรือไม่ เพราะสถานการณ์ช่วงเวลานี้เห็นได้ชัดว่าต่างฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจกันอย่างรุนแรง หากรัฐบาลยังทำงานแบบสองมาตรฐาน กระบวนการที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็จะลงใต้ดิน และอาจเกิดปัญหาเรื้อรังเหมือนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้


"หากรัฐบาลไม่ยอมรับข้อเสนอของวุฒิสภาไปปฏิบัติ ทางวุฒิสภาอาจใช้มาตรการบอยคอตไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการขอความร่วมมือในประเด็นต่างๆ อาทิ หากรัฐบาลขอความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วุฒิสภาอาจไม่โหวตให้ผ่าน เพราะที่ผ่านมาเราเป็นแค่เสียงนกเสียงกา แต่เมื่อบ้านเมืองเกิดปัญหาขึ้นทุกคนกลับต้องร่วมรับผิดชอบ" นายนิคมกล่าว


ปชป.ปูด"แม้ว"รุก"แผนตากสิน"


เวลา 11.30 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังคงเคลื่อนไหวทำลายความเชื่อมั่นของประเทศไทย ผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศบิดเบือนข้อเท็จจริง พรรคยังเชื่อว่าการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณยังเป็นการดำเนินการตามแผน ตากสินŽ เริ่มจากปลุกระดมมวลชนให้เกิดการเผชิญหน้าสร้างความรุนแรง เพื่อใช้เป็นอำนาจต่อรองในการเปิดทางเข้าสู่อำนาจของตัวเองและพวกพ้อง แต่แผนยังไม่บรรลุเป้าหมาย พรรคมองว่าวิธีการเคลื่อนไหวต่อจากนี้จะเป็นไปใน 2 แนวทาง คือ 1.จัดตั้งขบวนการใต้ดินทำลายความมั่นคงของประเทศ เพื่อก่อให้เกิดเหตุร้าย สร้างความหวาดกลัว และ 2.การสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเผชิญหน้าของประชาชน โดยจะยกระดับความรุนแรงมาเป็นการปองร้าย ข่มขู่เป้าหมายจนถูกลอบฆ่า เป็นความพยายามที่จะจุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่


นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า รัฐบาลควรเตรียมรับมือสถานการณ์ทางการเมือง ดังนี้ 1.ต้องเตรียมรับมือขบวนการใต้ดิน โดยสร้างขบวนการปฏิรูปการเมืองให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการยอมรับ 2.เร่งรัดคดีสำคัญ 2 คดี คือ คดีลอบสังหารองคมนตรี และคดีลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 3.เร่งสร้างเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ 4.เร่งทำความเข้าใจกับประชาชนโดยใช้สื่อทุกแขนง และ 5.เร่งขอความร่วมมือจากมิตรประเทศเพื่อติดตาม พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยโดยเร็ว