ที่มา ประชาไท
ภูวิน บุณยะเวชชีวิน
ที่มา: http://www.prachatai.com/05web/th/home/popup_cartoon.php?ID=94
บทความนี้จุดประกายมาจากภาพการ์ตูนประชาไทที่เผยแพร่ในวันที่ 4 เมษายน 2552 โดยบทความมีจุดมุ่งหมายเพื่อชักชวนให้ผู้อ่านตระหนักถึงการเมืองเรื่องอินเทอร์เน็ต (internet politics) ซึ่งหากพิจารณาอย่างผิวเผินดูเหมือนว่าจะไม่มีความสำคัญนักหากเปรียบเทียบกับความร้อนระอุของปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทยในระยะเวลานี้ แต่ถ้าใคร่ครวญให้ดีจะพบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่สมควรจะต้องพิจารณาเพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่สังคมการเมืองไทยให้นิยามว่า ‘เป็นภัยต่อความมั่นคง’ และบทความจะเสนอแนวคิดทฤษฎีซึ่งประยุกต์ใช้กับการเมืองเรื่องอินเทอร์เน็ตด้วย
นับแต่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นที่แพร่หลายและคนจำนวนมากสามารถเข้าถึงได้ นำไปสู่คำถามว่า สื่ออินเทอร์เน็ตมีส่วนช่วยในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย (democratization) หรือไม่? และส่งผลอย่างไรต่อสังคมการเมือง โดยทั่วไปอินเทอร์เน็ตควรจะมีส่วนช่วยในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย โดยเฉพาะเป็นพื้นที่ซึ่งจะเป็นเสียงให้กับประชาชนและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะ สื่ออินเทอร์เน็ตต่างจากสื่ออื่น ๆ ตรงที่ไม่ได้เป็นการสื่อสารทางเดียว หากแต่ผู้ใช้สามารถมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบได้ เช่น กระดานสนทนา (forum) ที่ผู้ใช้สามารถสนทนาและแสดงวามเห็นในประเด็นต่าง ๆ เป็นต้น
ในแง่นี้อินเทอร์เน็ตจึงควรเป็นพื้นที่ที่รัฐไม่ควรเข้ามาแทรกแซง ถึงกับมีผู้กล่าวว่า ‘อิสรนิยม’ (libertarianism) หรือ ‘อิสรนิยมไซเบอร์’ (cyberlibertarianism) คือ อุดมการณ์ของอินเทอร์เน็ต กล่าวคือ มีเสรีภาพจากการควบคุมทั้งจากรัฐบาลและบริษัท แต่ทว่าในความเป็นจริงดูเหมือนว่าจะไม่ได้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่ออินเทอร์เน็ตถูกเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องความมั่นคง
อินเทอร์เน็ต ภัยต่อความมั่นคง และสรรพทัศน์นิยม (panopticism)
คำว่า ‘ภัยต่อความมั่นคง’ หมายถึง ภัยคุกคามร้ายแรงที่มีต่อรัฐ แต่ความหมายของภัยต่อความมั่นคงไม่ได้มีลักษณะสถิตย์ หากแต่แปรเปลี่ยนไปตามบริบทของเวลาและสถานที่ ในบริบทของสังคมการเมืองไทยปัจจุบันดูเหมือนว่า ภัยต่อความมั่นคง คือ สิ่งใดก็ตามที่จะกระทบหรือนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของสถาบันดั้งเดิม (traditional institution) แน่นอนว่าคงไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของสถาบันดั้งเดิมที่มีต่อสังคมการเมืองไทย แต่ตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันดังกล่าวควรเป็นอย่างไรยังคงเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียง ทว่าเรื่องดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นสิ่งต้องห้ามที่ไม่สามารถพูดถึงได้
อย่างไรก็ตามในอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะกระดานสนทนาต่าง ๆ ในเว็บไซต์กลายเป็นพื้นที่ที่เรื่องดังกล่าวถูกกล่าวถึงอย่างเปิดเผย ในแง่นี้การควบคุมตรวจตรา (surveillance) โดยรัฐในพื้นที่ของอินเทอร์เน็ตจึงมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ในหลายกรณีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถูกฟ้องด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ขณะที่ผู้ดูแลเว็บไซต์ถูกฟ้องในความผิดฐานยินยอมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว (ม.15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) เช่น กรณีที่เกิดขึ้นกับประชาไท เป็นต้น
การควบคุมตรวจตราอินเทอร์เน็ตโดยรัฐที่เพิ่มมากขึ้นนำไปสู่แนวคิดที่เรียกว่า ‘สรรพทัศน์นิยม’ (panopticism) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดทฤษฎีที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการเมืองเรื่องอินเทอร์เน็ต คำว่า สรรพทัศน์ (panopticon) หมายความถึง พื้นที่ที่สามารถถูกมองเห็นได้ทั้งหมด (all-seeing place) เป็นสถาปัตยกรรมการออกแบบโดย Jeremy Bentham นักปรัชญาในยุครู้แจ้ง เพื่อสร้างคุกที่มีประสิทธิภาพซึ่งสามารถควบคุมนักโทษได้ตลอดเวลา โดยสถาปัตยกรรมดังกล่าวจะมีหอคอยเป็นแกนกลางและล้อมรอบด้วยอาคารวงแหวนซึ่งเป็นชายขอบ อาคารชายขอบจะแบ่งเป็นห้องขังซึ่งทุกห้องสามารถถูกมองเห็นได้โดยหอคอยแกนกลาง
คุกแบบสรรพทัศน์ดังกล่าวทำให้นักโทษรู้สึกเหมือนถูกควบคุมตรวจตราอยู่ตลอดเวลา แม้แท้จริงแล้วอาจไม่มีใครคอยจับตาดูอยู่ก็ตาม และในที่สุดนักโทษก็จะควบคุมตัวเอง Michel Foucault เรียกลักษณะเช่นนี้ว่า อำนาจทางวินัย (disciplinary power) ที่ร่างกายตกอยู่ใต้บงการ
ในกรณีของอินเทอร์เน็ตก็เช่นเดียวกันผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมทั้งสื่ออินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นสื่อทางเลือก รู้สึกเหมือนถูกควบคุมตรวจตราอยู่ตลอดเวลาซึ่งลักษณะเช่นนี้ย่อมสร้างอำนาจทางวินัยในการควบคุมตรวจตราพื้นที่อินเทอร์เน็ตโดยอัตโนมัติ ประกอบกับการใช้การเมืองแห่งความกลัว (politics of fear) เป็นส่วนเสริมในการควบคุมตรวจตราดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเอง
บทส่งท้าย
จากคอมมิวนิสต์ในปี 2519 ถึงคอมพิวติสต์ในปี 2552 การเมืองเรื่องอินเทอร์เน็ตจึงเป็นเรื่องที่ควรหันมาให้ความสำคัญโดยเฉพาะประเด็นเรื่องการควบคุมตรวจตราซึ่งสามารถสร้างอำนาจที่สลับซับซ้อน อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประชาธิปไตยในหลายสังคมการเมือง แต่สำหรับสังคมการเมืองไทยกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามและกลับสร้างการบั่นทอนประชาธิปไตย โจทย์สำคัญ คือ ทำอย่างไรรัฐจึงจะไม่มองคอมพิวติสต์ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และทำอย่างไรพื้นที่อินเทอร์เน็ตในสังคมการเมืองไทยจะสามารถบรรลุอุดมการณ์อิสรนิยมได้?