ที่มา ประชาไท
บก.ลายจุด
ที่มา: กระดานข่าวพันทิพ ห้องราชดำเนิน, 16 เมษายน 2552
วันก่อนมีทีมงานของ TPBS มาขอสัมภาษณ์เรืองข่าวลือในม็อบ ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้ถอดบทเรียนสถานการณ์ของข่าวสารในสถานการณ์ วิกฤติเช่นนี้
น่าเสียดายว่า การให้สัมภาษณ์ของผม กับเนื้อหาบางส่วนในรายการมีความแตกต่าง ไม่ตรงกับเจตนารมณ์หรือเนื้อหาที่อยากจะเสนอ อาจด้วยความเข้าใจของนักข่าวหรือข้อจำกัดในการตัดต่อข้อความบางส่วนออกไป ทำให้ข้อความนอกจากไม่ครบแล้ว ยังไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการเสนอด้วย
ผมจึงขอเขียนเล่าเรื่องข่าวลือในม็อบอีกที
ข่าวในสถานการณ์ พรก. ฉุกเฉินฯ
พลังการเล่าเรื่องของสื่อโดยภาพเหตุการณ์ บวกกับความพยายามอธิบายปรากฏการณ์ด้านเดียวที่รัฐบาลอยากให้เกิดขึ้น ภายใต้ข้ออ้างว่าเพื่อให้ข่าวสารที่ถูกต้องถูกส่งไปถึงพี่น้องประชาชน ลดความสับสนต่างๆ นั้น เป็นเพียงข้ออ้าง แต่ที่แท้ที่จริง สื่อเป็นหนึ่งในแนวรบ ที่เรียกกันว่า แนวรบด้านข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นรัฐบาลจึงเลือกที่จะให้ประชาชนเชื่อถือในข้อมูลของฝ่ายตนเท่านั้น ไม่ต้องแปลกใจว่า สถานการณ์สื่อในช่วง พรก. ฉุกเฉิน หรือ รัฐประหาร อยู่ในมาตรฐานใกล้เคียงกัน มีการออกรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจอย่างบ้าระห่ำ เหมือนกับออกมาประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ต่างๆ อย่างไรอย่างนั้นเลย
ปิดสื่อฝ่ายตรงข้าม
เริ่ม ด้วยส่งสัญญาณรบกวนวิทยุชุมชนของฝ่ายเสื้อแดง จนมีนักเทคนิคเอาเครื่องไปตรวจวัดการส่งสัญญาณรบกวนแล้วชี้ว่า สัญญาณรบกวนนั้นออกมาจากบริเวณกรมประชาสัมพันธ์นั้นเอง แล้วก็ติดตามมาด้วยการปิดการ Uplink สัญญาณของ D-Station ต่อจากนั้นเสียงและภาพที่ปรากฏก็ออกมาจากฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว
ข่าวลือคืออะไร?
ข่าวลือ อาจเป็นทั้งข่าวจริง และ ข่าวไม่จริง แต่มันถูกพูดต่อๆ กันมาจากปากต่อปาก เรียกว่ามันไม่ได้ถูกส่งออกมาอย่างเป็นทางการผ่านสื่อกระแสหลัก แต่มันเกิดจากการบอกเล่า ผมไม่ได้ตั้งใจบอกว่า ข่าวลือในม็อบเป็นข่าวที่ไม่จริง แต่ผมพยายามบอกว่า มีข่าวจำนวนมากที่ชาวบ้านพูดปากต่อปากกัน และเหตุที่ข่าวลือมีอิทธิพลมาก เพราะการขาดช่องทางการสื่อสารที่ประชาชนเชื่อถือ หรือ มีข้อมูลเรื่องนั้นเพียงพอในสื่อกระแสหลัก และข่าวที่ค่อนข้างที่มีน้ำหนักและได้รับความสนใจอย่างยิ่งคือ ข่าวการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม และ ข่าวการปราบปรามสลายการชุมนุม และ ข่าวการปะทะกันในสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงการซุ่มโจมตี
ผู้เขียนเองก็ยอม รับว่า เคยได้ยินข่าวลือว่ามีผู้ชุมนุมสีแดงเสียชีวิต 2 คนที่พัทยา ซึ่งต่อมาข่าวดังกล่าวที่ได้ยินจากการรายงายของผู้ร่วมชุมนุมที่พัทยาที่โทร เข้ามาในสถานีวิทยุชุมชนแห่งหนึ่ง ก็ไม่เป็นความจริง ในขณะที่บนเวทีอธิบายว่า ผู้บาดเจ็บคนหนึ่งถูกยิงและหัวใจหยุดเต้น แต่แพทย์สามารถปั้มหัวใจและรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด
ข่าวลือการสลายการชุมนุม
ผู้เขียนมีความเชื่ออย่างสนิทใจว่า รัฐบาลได้เตรียมแผนการสลายการชุมนุมอย่างแน่นอน แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป การสลายการชุมนุมกลับจบเป็นแกนนำยุติการชุมนุม ซึ่งผู้เขียนไม่แปลกใจแต่ประการใด ทั้งนี้เนื่องจากระหว่างเวลามีการเคลื่อนไหวและมีท่าทีการเจรจาจากภายนอก เกิดขึ้น ข่าวลือที่หากแกนนำไม่ยุติการชุมนุม ก็จะกลายเป็นข่าวจริงขึ้นมาทันที
ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า แกนนำมีความพยายามสร้างข่าวลือขึ้นในที่ชุมนุมตามที่นักข่าวเอาไปสรุปเอาเอง ในสกู๊ปข่าว แต่ผู้เขียนต้องการกล่าวว่า ธรรมชาติการชุมนุมในสถานการณ์เช่นนี้มีข่าวลือเกิดขึ้นจำนวนมาก และแกนนำบนเวทีก็จะเป็นช่องทางในการขยายข่าวนั้นออกไปสู่ผู้ร่วมการชุมนุม
ข่าวลือ ที่ยังลืออยู่ต่อไป
กรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ เป็นสิ่งที่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมเสื้อแดง ไม่มีทางเชื่อตามรัฐบาลได้เด็ดขาด หากไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายเสื้อแดงตั้งคำถามต่อหลายๆ เหตุการณ์ด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิถีการยิง กระสุนที่ใช้ หรือ การไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้ที่สูญหายไปในเหตุการณ์ ซึ่งมีเสื้อแดงหลายคนยืนยันว่าได้เห็นผู้บาดเจ็บล้มตาย และถูกทหารลากออกไปหลายต่อหลายคน
ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าคงมีหลายคนอยากทราบข้อเท็จจริง ดังนั้นการทำให้เรื่องนี้มีข้อยุติ ควรที่รัฐจะสร้างกลไกที่อีกฝ่ายสามารถมีส่วนร่วมต่อกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริง รวมถึงการที่รัฐตอบคำถามที่คนเสื้อแดงตั้งข้อสังเกต