ที่มา ประชาไท
ทีมแปลข่าวเฉพาะกิจ: แปลจาก “THAILAND: With Censorship, Thais Turn to Websites and Foreign Media”, By Marwaan Macan-Markar, IPS- Inter Press Service
http://www.ipsnews.net/news.asp?idnews=46553
โดย มาร์วาน มากัน-มาร์การ์
กรุงเทพฯ, 19 เมษายน (IPS) – เมื่อรัฐบาลไทยประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการควบคุมผู้ประท้วงกลุ่มเสื้อแดงที่กำลังอาละวาดอยู่บนท้องถนนสายต่างๆของกรุงเทพมหานคร ทหารที่พร้อมประจัญบานนั้นไม่ใช่อาวุธเพียงอย่างเดียวของรัฐบาล รัฐยังได้ใช้การเซ็นเซอร์ข่าวปิดปากสื่อมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐ
ตลอดสัปดาห์ บรรยากาศของการเซ็นเซอร์คืบขยายออกไปจากเมืองหลวงและ 5 จังหวัดที่ยังมีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ สถานีวิทยุชุมชนในภาคเหนือและภาคอิสานที่สนับสนุนกลุ่มเสื้อแดงต่อต้านรัฐบาลถูกบุกค้นและสั่งปิด
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ใช้อำนาจสั่งให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เนทปิดเว็บไซด์ 67 แห่ง นักรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อเตือนว่าจำนวนเว็บไซด์ที่ถูกสั่งปิดอาจมีมากขึ้น เพราะ “เว็บไซด์ที่ไม่ได้สนับสนุนกลุ่มเสื้อแดง แต่วิพากษ์วิจารณ์รัฐก็ตกเป็นเป้าหมายด้วย”
รัฐบาลร่วมอายุสี่เดือนที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ให้ความชอบธรรมกับมาตรการเช่นนี้ว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้นบนท้องถนนต่างๆอย่างที่ได้เห็นกันในเมืองหลวงเมื่อวันที่ 13 และ 14 เมษายน การปะทะกันระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงที่โกรธแค้นกับกองกำลังของทหารบนถนนหลายแห่งเป็นผลให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 100 คนและมีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวน 2 ราย
“สถานีวิทยุถูกปิดเพราะสถานีเหล่านั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง” นายบุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสิ้นสุดลงเมื่อมันถูกใช้ในการก่อความรุนแรง”
“แม้ว่ารัฐบาลจะหยุด “พวกเสื้อแดงที่ก่อความไม่สงบ”ในกรุงเทพลงได้ แต่สถานการณ์ยังคงไม่สงบ” เขากล่าวเพิ่มเติม “ความพยายามที่สำคัญอย่างยิ่งของรัฐบาลคือการป้องกันไม่ให้คนเสื้อแดงก่อการร้ายและ [จัดตั้ง] ขบวนการต่อต้านด้วยกำลังอาวุธ”
อย่างไรก็ตาม การเซ็นเซอร์ที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 13 เมษายนด้วยการปิดสถานีเคเบิลทีวี ‘ดี สเตชั่น’ กระบอกสียงของฝ่ายเสื้อแดง นั้นได้เปิดเผยให้เห็นอคติที่เกาะกุมสื่อไทยอย่างไม่ตั้งใจ สื่อกระแสหลักทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ไม่ถูกเซ็นเซอร์ สื่อเหล่านี้ต่างพูดถึงรัฐบาลร่วมที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ในทางที่ดี
“พวกหนังสือพิมพ์ไม่ได้ถูกรัฐบาลกดดัน พวกเขาเลือกที่จะทำแบบนั้นเองเพราะพวกเขาชอบพรรคประชาธิปัตย์และบรรดาผู้หนุนหลังพรรคประชาธิปตย์ พวกเขาเกลียดกลุ่มเสื้อแดง” นักข่าวอาวุโสของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ กล่าวกับ IPS “พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องกังวงกับเรื่องของการเซ็นเซอร์”
“สถานีโทรทัศน์กระแสหลักอยู่ภายใต้การกดดัน” เขาเปิดเผย “หัวหน้าของผมถูกผู้มีอำนาจสั่งไม่ให้เผยแพร่ภาพข่าวต่างๆที่เป็นผลเสียกับฝ่ายทหารหรือรัฐบาล”
นักวิเคราะห์ด้านสื่อซึ่งเป็นผู้ได้รับการยอมรับคนหนึ่งตำหนิการรายงานข่าวด้านเดียวเช่นนี้ของพวกสื่อกระแสหลักที่ไม่มีความพยายามที่จะทำความเข้าใจและอธิบายว่าเหตุใดคนนับแสนจากต่างจังหวัดและในเมืองหลวงจึงเข้าร่วมการประท้วงที่นำโดยขบวนการคนเสื้อแดงต่อต้านรัฐบาล – แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
“ไม่มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมชอง นปช. ถ้ามีก็มักเป็นข่าวทางด้านลบของการชุมนุม” อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว “สื่อมวลชนจำเป็นต้องรายงานข่าวคนทุกสีในการเมืองของประเทศไทย เพราะนั่นคือความรับผิดชอบของสื่อต่อสังคม สื่อต้องพยายามเป็นมืออาชีพและเป็นกลาง”
“การรายงานข่าวที่มีอคติของสื่อกระแสหลักทำให้ฝ่ายสนับสนุน นปช. ไม่พอใจและคับข้องใจ” เธอกล่าวในการให้สัมภาษณ์ “คนที่ถูกทำให้ไร้ความสำคัญเหล่านี้ถูกทำให้มีทางเลือกน้อย นอกจากสร้างพื้นที่สื่อทางเลือกของพวกเขาเองผ่านวิทยุชุมชนและเว็บไซด์ต่างๆ”
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อทางเลือกถูกเซ็นเซอร์ขณะที่สื่อกระแสหลักยังคงเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ สถานีวิทยุชุมชนมากกว่า 300 แห่งถูกปิดโดยทหารหลังจากที่กองทัพไทยที่ทรงอำนาจทำรัฐประหารเพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2549
“สถานีวิทยุชุมชนในภาคเหนือทุกแห่งถูกปิดชั่วคราวหลังจากมีการพบว่าสถานีบางแห่งได้ปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนและสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรัฐประหารเมื่อวันอังคาร” หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอันดับหนึ่งของประเทศไทยรายงานข่าวในช่วงสัปดาห์ที่เกิดการรัฐประหารครั้งที่ 18 ของประเทศ “สถานีวิทยุชุมชน ณ เวลานี้ถูกมองเป็นภัยที่สำคัญต่อการบริหารประเทศ [ของรัฐบาลทหาร] เพราะอาจถูกกลุ่มผู้สนับสนุนของนายกรัฐมนตรีที่ถูกขับไล่ออกไปใช้ในการปลุกปั่นความไม่พอใจของสาธารณชนต่อรัฐบาล [ทหาร]”
การเซ็นเซอร์ครั้งนี้ซึ่งมีเป้าอยู่ที่กลุ่ม ‘เสื้อแดง’ มีความคล้ายหลายประการกับนโยบายด้านสื่อสารมวลชนของคณะรัฐประหารครั้งล่าสุดของประเทศ สื่อหลายแห่งที่ถูกปิดปากนั้นสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อทักษิณซึ่งปัจจุบันลี้ภัยในฐานะผู้หลบหนีคดีทุจริตและความผิดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
สถานีวิทยุและเว็บไซด์ที่ถูกปิดยังถ่ายทอดความเห็นที่เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่, โจมตีผู้นำทหารและข้าราชการฝ่ายอนุรักษ์นิยม, และเรียกร้องให้ที่ปรึกษาอาวุโสของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพสักการะลาออกจากตำแหน่งด้วยข้อกล่าวหาว่าพวกเขามีบทบาทเกี่ยวข้องในการทำรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2549
พวกเขาถูกสื่อกระแสหลักมองว่าก้าวล่วงมากเกินไป และความรุนแรงบนท้องถนนที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่ม ‘เสื้อแดง’เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาซี่งเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศของ นปช. ที่จะทำการปฏิวัติในนามของคนจน กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับสำนักสื่อมวลชนที่ทรงอิทธิพลที่มีฐานอยู่ในกรุงเทพฯ
หนังสือพิพม์โต้ตอบด้วยการพาดหัวข่าวที่ดุดัน, รายงานข่าวแบบสะใจ, และคำวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงต่อ ‘การปฏิวัติ’ที่ล้มเหลวของกลุ่ม ‘เสื้อแดง’ สถานีโทรทัศน์ต่างๆรายงานข่าวด้วยน้ำเสียงแบบเดียวกัน
พวก’เสื้อแดง’ ต่างเดือดดาลกับการรายงานด้านเดียวของพวกสื่อกระแสหลัก “สื่อในประเทศไทยอยู่ข้างเดียวกับรัฐบาลราวกับว่าเป็นผู้ร่วมหุ้นกันทางธุรกิจ” ชาวกรุงเทพฯวัย 47 ปี ให้ความเห็น เขาบอกว่าเขาชื่อสมชาย “พวกเขาทำให้เราหมดความเชื่อถือ พวกเขาไม่ควรถูกเรียกว่าเป็นสื่อระดับชาติ”
“พวกเราไม่สามารถไว้ใจนักข่าวได้ เพราะสิ่งที่พวกเรารู้ไม่ถูกรายงาน” สลักจิตร แสงเมือง กล่าว เธอเป็นนักธุรกิจหญิง และเช่นเดียวกับสมชาย เธอเข้าร่วมกับกลุ่ม ‘เสื้อแดง’ ประมาณ 500 คนที่มาชุมนุมกันที่สนามหลวง บริเวณที่เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯในวันที่ 14 เมษายน เธอได้ข้อสรุปว่าการเคลื่อนไหวของพวกเธอพ่ายแพ้ต่อกองทัพที่พร้อมจะปราบปราม “พวกเราอาศัยการสื่อสารบนเว็บไซด์และข่าวต่างประเทศ”
การเซ็นเซอร์ข่าวนี้ทำให้แม้แต่บุคคลที่ก่อให้เกิดการถกเถียงอย่าง ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต ออกมาช่วยทำให้เรื่องราวของกลุ่ม ‘เสื้อแดง’ได้ปรากฎบนอินเตอร์เนท: ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต เป็นผู้เขียนหนังสือ 2 เล่มที่เป็นการสรรเสริญเยินยอทักษิณที่กำลังหลบหนี ทั้งๆที่เธอรับราชการเป็นทหารในกองทัพ
“สิ่งที่ดิฉันเห็นเกี่ยวกับพวก ‘เสื้อแดง’ บนจอโทรทัศน์นั้นไม่ใช่ความจริง มีเหตุการณ์มากมายที่ไม่ถูกนำเสนอ” ร.ท.หญิงสุณิสา วัย 34 ปี กล่าวขณะหยุดพักการบันทึกวีดีโอภาพกลุ่มคน ‘เสื้อแดง’ที่กำลังร้องไห้ด้วยความโกรธ ที่สนามหลวง พื้นที่โล่งที่ล้อมรอบด้วยวังและวัดเก่าแก่ “ประชาชนโกรธเพราะสิ่งที่หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์รายงานเกี่ยวกับพวกเขานั้นไม่เป็นความจริง”