ที่มา ประชาไท
ชื่อบทความเดิม “จากเสื้อเหลืองสู่เสื้อแดงกับสิ่งที่ขาดหายไป?: อำนาจของความโศกเศร้า กับ ปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทย”
ภูวิน บุณยะเวชชีวิน
ความรุนแรงที่เกิดจากการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี 2548 โดยเฉพาะภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ดูเหมือนว่าจะเพิ่มระดับความรุนแรงและผลกระทบมากขึ้นทุกขณะ คงเป็นสิ่งที่ต้องถกเถียงกันว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะสามารถเรียกว่าเป็น “การเมืองภาคประชาชน” ได้หรือไม่ ในทัศนะของผู้เขียนดูเหมือนคำว่า “การเมืองเรื่องม็อบ” (mob politics) จะเหมาะสมกว่าในการกล่าวถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน
ปรากฏการณ์การเมืองเรื่องม็อบแบบไทย ๆ นำไปสู่ความรุนแรงหลายระลอกแต่ที่เห็นจะหนักหนาสาหัสเหตุการณ์หนึ่งก็คือ เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันว่าจะถูกบันทึกจากแง่มุมไหนอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ ความบาดเจ็บ และความสูญเสียของชีวิตหลายชีวิต บางชีวิตได้รับการเชิดชูว่าเป็นวีรสตรีและได้รับเกียรติอย่างสูงจากสถาบันดั้งเดิม แต่ว่าอะไรคือสิ่งที่ขาดหายไป? บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะชวนถกเถียงในประเด็นดังกล่าว และอธิบายการหายไปจากแนวคิดทฤษฎีของนักปรัชญาร่วมสมัยที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อโลกทางวิชาการ
จากตัวอย่างเหตุการณ์ข้างต้นจะพบว่าบางชีวิตที่สูญเสียไปได้รับความโศกเศร้าอย่างยิ่งทั้งจากประชาชน สื่อสาธารณะ แต่ทำไมชีวิตอีกหลายทีชีวิตกลับไม่ได้รับโอกาสดังกล่าว? ทำไมความสามารถที่จะได้รับความโศกเศร้าจึงขาดหายไป? ในแง่นี้จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ทุกชีวิตที่สามารถได้รับความโศกเศร้า หากแต่ความโศกเศร้าเป็นสิ่งที่ถูกแบ่งสรรไว้อย่างจำกัด และอำนาจของความโศกเศร้า (power of mourning) ทำให้คนโศกเศร้ากับความสูญเสียของบางชีวิตในขณะที่ไม่แยแสความสูญเสียของอีกหลายชีวิต การพิจารณาถึงสิ่งที่ขาดหายไปดังกล่าวอาจช่วยให้สามารถมองเห็นความสูญเสียของชีวิตจำนวนมากไม่ว่าจะใส่เสื้อสีอะไรที่ถูกละเลยมองข้าม
อำนาจของความโศกเศร้า
แนวคิดเรื่องอำนาจของความโศกเศร้ามาจากหนังสือ Precarious Life: The Power of Mourning and Violence (2004) ของ Judith Butler เมื่อไหร่คนถึงโศกเศร้า? Butler อธิบายว่าความโศกเศร้าเกิดขึ้นเมื่อคนคนหนึ่งประสบกับความสูญเสีย (loss) ที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ในแง่นี้เมื่อประสบกับความสูญเสียคนจึงต้องเผชิญกับบางสิ่งบางอย่างที่ยากจะอธิบาย (enigmatic) มิติของความยากจะอธิบายจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ความโศกเศร้าดำรงอยู่ โดยเฉพาะเมื่อความสูญเสียเกิดขึ้นกับคนที่มีความสัมพันธ์กัน หรือ อีกนัยหนึ่งคนที่สูญเสียไปมีส่วนในการประกอบสร้างตัวตนขึ้นมา เมื่อ “ฉัน” (I) สูญเสีย “คุณ” (you) ฉันจึงไม่ได้เพียงโศกเศร้ากับความสูญเสียเพียงอย่างเดียว หากแต่ตัวฉันกลายเป็นสิ่งที่ยากจะอธิบายกับตัวฉันเอง ฉันเป็นใครถ้าปราศจากคุณ (Who “am” I without you?) เพราะตัวฉันเองก็หายไปเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อเราสูญเสียอะไรบางอย่างที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่ประกอบสร้างเราขึ้นมา เราจะไม่รู้ว่าเราคือใคร หรือ เราจะทำอย่างไร จึงอาจกล่าวได้ว่าความโศกเศร้าประกอบด้วยความเป็นไปได้ของความเข้าใจรูปแบบการที่บางสิ่งบางอย่างที่เป็นรากฐานของตัวตนถูกนำออกไป (dispossession)
ในแง่นี้ความโศกเศร้าจึงเป็นสิ่งที่ถูกทำให้น่ากลัว ความกลัวของเราสามารถนำไปสู่แรงผลักดันที่จะแก้ไขความกลัวดังอย่างอย่างรวดเร็วอาจด้วยวิธีการที่ใช้กำลังในการฟื้นฟู (restore) ความสูญเสีย หรือ ในระดับของสังคมการเมืองคือทำให้กลับไปสู่ระเบียบที่มีมาแต่เดิม
ในบริบทของสังคมการเมืองอเมริกาหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ประสบกับความสูญเสียความเป็นโลกที่หนึ่งนิยม (First Worldism) อาจกล่าวได้ว่าความสูญเสียดังกล่าวเป็นความสูญเสียอภิสิทธิ์ (prerogative) ในการเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวที่สามารถรุกล้ำพรมแดนอธิปไตยของรัฐอื่น และการไม่อยู่ในฐานะที่พรมแดนของตนจะถูกรุกล้ำได้ สหรัฐอเมริกาน่าจะเป็นที่ซึ่งไม่สามารถถูกโจมตีได้และชีวิตน่าจะปลอดภัยจากความรุนแรงจากภายนอก ในแง่นี้การตอบสนองต่อเหตุการณ์ 11 กันยาจึงเป็นความกังวล ความปารถนาความมั่นคงอย่างสุดขั้ว และส่งเสริมการป้องกันต่อต้านสิ่งใดก็ตามที่ถูกรับภาพว่าเป็นต่างชาติ (alien)
การประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งตามมาด้วยการบุกยึดอัฟกานิสถานและอิรัก นำมาสู่คำถามสำคัญของ Butler คือ ใครถูกนับว่าเป็นมนุษย์ (human) ชีวิต (live) ของใครถูกนับว่าเป็นชีวิต และอะไรสร้างชีวิตที่สามารถได้รับความโศกเศร้าได้ (grievable life) กล่าวคือ สงครามแบ่งประชากรเป็นสองกลุ่มระหว่างผู้ที่สามารถได้รับความโศกเศร้าได้ กับ อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถได้รับได้ Butler อธิบายกระบวนการดังกล่าวว่าเป็นผลของการทำงานของบรรทัดฐาน (norm) ที่กำหนดว่าใครถูกนับว่าเป็นมนุษย์ ชีวิตใดถูกนับเป็นชีวิต และชีวิตของใครที่สามารถได้รับความโศกเศร้าได้
การจะทำความเข้าใจคำถามที่ Butler ตั้งไว้จำเป็นต้องทำความเข้าใจการทำงานของบรรทัดฐานเสียก่อน Butler อธิบายว่าแบบแผนบรรทัดฐานของการสามารถถูกเข้าใจได้ (normative scheme of intelligibility) เป็นสิ่งกำหนดว่าอะไรคือมนุษย์อะไรไม่ใช่ อะไรคือชีวิตที่ดำรงอยู่ได้ และอะไรคือความตายที่โศกเศร้าเสียใจได้ แต่ในบางครั้งแบบแผนบรรทัดฐานทำให้ชีวิตไม่เคยเป็นชีวิต และความตายไม่เคยเป็นความตาย ในแง่นี้ความรุนแรงที่กระทำต่อคนที่ไม่จริง (unreal) จึงไม่ถูกมองเห็นว่าเป็นความรุนแรงเพราะชีวิตเหล่านั้นถูกปฏิเสธ (negate) ไปตั้งแต่แรกเริ่ม และคนที่ไม่จริงเหล่านี้ไม่สามารถได้รับความโศกเศร้าได้ เพราะชีวิตเหล่านี้ไม่เคยดำรงอยู่
อาจกล่าวได้ว่านี่คือ ความรุนแรงของบรรทัดฐาน (violence of norm) หรือ ความรุนแรงเชิงบรรทัดฐาน (normative violence) ซึ่งสาระสำคัญ คือ เป็นความรุนแรงที่เกิดก่อนความรุนแรงตามความเข้าใจทั่วไป มิติหนึ่งความรุนแรงเชิงบรรทัดฐาน คือ ความรุนแรงปฐมภูมิ (primary violence) ในแง่ที่ว่าทำให้ความรุนแรงในลำดับถัด ๆ มา (derivative violence) สามารถเป็นไปได้ (enable) อีกมิติหนึ่งที่อาจสำคัญกว่า ความรุนแรงเชิงบรรทัดฐานสามารถลบความรุนแรงที่มีอยู่ทั่วไปให้ไม่ถูกมองเห็นได้
อำนาจของความโศกเศร้าจึงถูกขับเคลื่อนด้วยการทำงานของบรรทัดฐาน หรือ ความรุนแรงเชิงบรรทัดฐานที่แบ่งประชากรออกเป็นสองกลุ่มดังที่กล่าวไปแล้ว
จากเสื้อเหลือง สู่ เสื้อแดง กับ สิ่งที่ขาดหายไป
จากที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าสิ่งที่ขาดหายไป คือ ความเป็นชีวิตที่สามารถได้รับความโศกเศร้าได้ (grievable life) สำหรับทุกชีวิต นับแต่การชุมนุมของฝ่ายเสื้อเหลือง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนถึงเหตุการณ์บุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีชีวิตจำนวนมากที่ไม่มีชื่อ ไม่เคยถูกกล่าวถึง ไม่ได้รับความโศกเศร้าจากประชาชน จากสื่อสาธารณะ หรือจากสถาบันดั้งเดิม ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ทำไมชีวิตของตำรวจที่บาดเจ็บ หรือ สูญเสียไปจึงถูกลดทอนเหลือเพียงความเป็นกลไกของรัฐ การจะตอบคำถามเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องย้อนกลับไปพิจารณาบรรทัดฐานที่ครอบงำการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองนั่นคือ อุดมการณ์ราชาชาตินิยม (royal nationalism) ซึ่งเป็นอุดมการณ์กระแสหลักของสังคมการเมืองไทย
ผู้เขียนเชื่อว่าอุดมการณ์กระแสหลักในฐานะบรรทัดฐานทำหน้าที่ความรุนแรงเชิงบรรทัดฐานในการลบบางชีวิตออกไป ทำให้บางชีวิตไม่สามารถได้รับความโศกเศร้าได้ เป็นชีวิตที่ไม่จริงเสมือนว่าชีวิตเหล่านั้นไม่ได้ดำรงอยู่
สำหรับคำถามที่ว่าฝ่ายเสื้อเหลืองสูญเสียระเบียบอะไรจึงต้องออกมาเคลื่อนไหว ในทัศนะของผู้เขียน ความสูญเสียดังกล่าวคือความสูญเสียอำนาจ อภิสิทธิ์ ของกลุ่มชนชั้นนำเดิมและเครือข่ายกษัตริย์ รวมทั้งความหวั่นเกรงของชนชั้นกลางต่อความไม่โปร่งใสของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในแง่นี้ความสูญเสียดังกล่าวจึงเป็นแรงขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวเรียกร้องระเบียบที่เคยเป็นมาอยู่เดิม
ในกรณีของฝ่ายเสื้อแดง ผู้เขียนเลี่ยงที่จะอธิบายอย่างที่สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่อธิบาย คือ เป็นเรื่องที่ถูกชักใยโดยคน ๆ เดียว คือ ทักษิณ ชินวัตร ผู้เขียนคิดว่าคงจะเป็นธรรมกว่าหากจะอธิบายว่าการเคลื่อนไหวของฝ่ายเสื้อแดงเกิดจากการสูญเสียระเบียบเดิมที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่าฝ่ายเสื้อแดงจะมีความชอบธรรมมากกว่าฝ่ายเสื้องเหลืองเท่ากับว่าเราควรอธิบายสาเหตุที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
ความรุนแรงที่เกิดจากการชุมนุมประท้วงในเดือนเมษายน 2552 ถูกประณามจากคนจำนวนมาก และความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนเสื้อแดงเป็นสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านั้นสมควรได้รับ จริงอยู่ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดงจำเป็นต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเช่นเดียวกับการกระทำของกลุ่มคนเสื้อเหลือง แต่ทำไมชีวิตหลายชีวิตของคนเสื้อแดงที่ต้องบาดเจ็บจึงไม่สามารถได้รับความโศกเศร้าได้?
ผู้เขียนไม่ได้จะบอกว่าเราไม่ควรโศกเศร้ากับชีวิตที่เราโศกเศร้าเท่ากับว่าเราควรหันไปมองชีวิตอีกหลายๆ ชีวิตที่เรามองข้าม ไม่นับรวมว่าเป็นความสูญเสียซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไปนับแต่การชุมนุมของเสื้อเหลืองจนถึงการชุมนุมของเสื้อแดง ผู้เขียนเพียงต้องการให้ทบทวนการแบ่งสรรความโศกเศร้าให้กับชีวิตอื่นๆ และนับรวมพวกเขาในฐานะชีวิตและในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง
สรุป
อำนาจของความโศกเศร้าทำให้คนโศกเศร้ากับชีวิตบางชีวิต ในขณะที่ไม่แยแสกับความสูญเสียของชีวิตอีกหลายชีวิต ผู้เขียนคิดว่าแนวคิดเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่สังคมการเมืองไทยควรใคร่ครวญเวลาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้เขียนหวังว่าหากบทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ ผู้อ่านจะได้หันมาไตร่ตรองถึงอำนาจของความโศกเศร้าและสิ่งที่กำลังดำเนินไปในสังคมการเมืองนี้อีกครั้งหนึ่ง