WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, April 22, 2009

สังคมพุทธกับความรุนแรง

ที่มา ประชาไท

สุรพศ ทวีศักดิ์

เมื่อเรียกร้องให้บัญญัติ พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ในรัฐธรรมนูญ เราอ้างความชอบธรรมจากข้ออ้างที่ว่า สังคมไทยเป็นสังคมพุทธ แต่เมื่อเกิดความรุนแรงนองเลือด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19,พฤษภา 35,7 ตุลา 51 กระทั่ง เมษาวิปโยค ที่ผ่านมา กลับแทบไม่ได้ยินกระแสเสียงเรียกร้องให้ ยุติความรุนแรง โดยอ้าง ความเป็นสังคมพุทธ จากองค์กรพุทธหรือภาคส่วนใดๆของสังคมพุทธแห่งนี้เลย

หรือว่า ความเป็นสังคมพุทธ เกี่ยวข้องอย่างจำเป็นกับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญและการอุปถัมภ์จากรัฐ หากไม่เกี่ยวข้องใดๆ (หรืออย่างจริงจัง) กับ หน้าที่ในการมีส่วนร่วมยับยั้งความรุนแรงหรือการหาทางออกอย่างสันติให้กับความขัดแย้งทางสังคมการเมือง ทั้งโดยการระดมแนวคิดและกระบวนการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมอื่นๆ

พุทธศาสนาทั้งโดยสถาบัน และโดยเครือข่ายองค์กร ต่างเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สถาบันพุทธศาสนาที่เป็นทางการ เช่น คณะสงฆ์ วัด สำนักปฏิบัติธรรม หรือที่ไม่เป็นทางการ เช่น เครือข่ายชาวพุทธต่างๆนั้น ย่อมต้องทำหน้าที่พลเมืองในการแสดงบทบาทปกป้องสันติสุขของสังคม และการทำหน้าที่ดังกล่าวย่อมไม่ขัดแย้งกับหลักการพุทธศาสนา หากถือว่าพุทธศาสนามีอยู่เพื่อสันติสุขของสังคม

เป็นไปได้ไหมว่า การที่ชาวพุทธไทยไม่ได้นำข้ออ้าง ความเป็นสังคมพุทธ มาใช้เป็นเครื่องมือยับยั้งความรุนแรงอย่างจริงจังเพียงพอ ทั้งด้วยการระดม หลักคิด แบบพุทธอธิบายปัญหาและหาทางออก และการสร้างเครือข่ายเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพทางสังคมที่เป็นรูปธรรม อาจเป็นผลมาจากปัญหาหลักๆ ของชาวพุทธอย่างน้อย 3 ประการคือ.-

ประการแรก ชาวพุทธติดอยู่ใน กระบวนทัศน์ (paradigm) ที่ปลูกฝังกันมานานว่า โลก กับ ธรรม ต้องแยกขาดจากกัน เรื่องทางโลกเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความวุ่นวายต่างๆที่ผู้ใฝ่ทางธรรมไม่ควรข้องแวะ ส่วนเรื่องทางธรรมเป็นเรื่องของการหลีกหนีกิเลสและความวุ่นวายต่างๆในทางโลกไปสู่ ความสงบ กาย วาจา ใจ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ถ้ายังยุ่งเกี่ยวทางโลก ดังนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองจึงเป็นเรื่องความวุ่นวายทางโลก ที่ชาวพุทธผู้ใฝ่ทางธรรมไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง

แต่ก็น่าสังเกตว่า ถ้าอะไรที่ชาวพุทธเห็นว่าเป็นการปกป้องและส่งเสริมพุทธศาสนา พวกเขาก็พร้อมที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองแม้ว่าการเกี่ยวข้องนั้นอาจเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งในสังคมก็ตาม เช่น การเดินขบวนเรียกร้องให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ การที่ พระป่า ออกมาเรียกร้องให้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็นเรื่องของ พระราชอำนาจ เท่านั้น (ซึ่งในประเด็นนี้มีข้อขัดแย้งลึกๆในวงการพุทธศาสนาเกี่ยวกับ นิกายของเจ้า กับ นิกายของไพร่) เป็นต้น

ประการที่สอง ประเพณีการสอนพุทธศาสนาในบ้านเรานั้นเน้นเฉพาะการสอน ศีลธรรมของปัจเจกบุคคล ละเลยการสอน ศีลธรรมทางสังคม ความดีที่เน้นคือ การทำบุญ ที่อธิบายกันว่าใครทำก็ได้เฉพาะตัวของบุคคลนั้นเหมือนกินข้าวใครกินคนนั้นก็อิ่มไม่ได้ไปอิ่มท้องของคนอื่นที่ไม่ได้กิน แล้วความดีหรือบุญนั้นก็จะเป็นเสบียงเลี้ยงตัวเราให้เรามีความสุขความเจริญ (ด้วยโภคทรัพย์) ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ตราบกระทั่งเข้าสู่สวรรค์นิพพานนั้นแล ดังนั้น คนที่ทำความดี หรือ คนดี ในความหมายของชาวพุทธไทยจึงเป็นคนดีที่มุ่งทำความดีในมิติปัจเจกหรือมี ศีลธรรมของปัจเจกบุคคล อันเป็นศีลธรรมที่จะก่อให้เกิด อานิสงส์ เป็นความสุขความเจริญเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวกับสังคม ไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่เกี่ยวกับสาธารณะ

ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตทำนองนี้กับเพื่อนที่อุทิศตนทำงานเผยแผ่พุทธศาสนาให้กับ สำนัก ใหญ่ที่สุดในประเทศนี้ที่ประกาศว่าจะเป็น ศูนย์กลางพุทธศาสนาแห่งโลก เขาโต้แย้งว่า งานเผยแผ่พุทธศาสนาที่เขาทำก็เป็นการทำเพื่อสังคมเช่นกัน อย่างเช่นการจัดอบรมให้คนเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ จัดค่ายปฏิบัติธรรม กิจกรรมตอบปัญหาธรรมะของเยาวชนในสถานศึกษาต่างๆ หรือกิจกรรมวันสำคัญทางพุทธศาสนาที่ทำให้คนเข้าวัดเป็นเรือนหมื่น เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนั้นก็มีเป้าหมายเพื่อสร้าง คนดี ให้สังคม นั่นเอง

ประเด็นคือ ที่ว่ากิจกรรมทางสังคม (เช่นจัดให้คนเข้าวัดเป็นเรือนหมื่นฯลฯ) เป็นการสร้าง คนดีให้สังคมนั้น คนดีที่ว่านั้นเป็นคนดีตามศีลธรรมของปัจเจกบุคคล หรือคนดีตามศีลธรรมทางสังคม? เราเคยตระหนักกันหรือไม่ว่าชาวพุทธที่ถือกันว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม เป็นคนธัมมะธัมโมอะไรทำนองนั้นมักเป็นคนดีที่ไม่สนใจสังคม ขาด มิติความคิด ในเรื่อง จิตสาธารณะ (public spirit) ขาดสำนึกต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม ไม่เรียนรู้ไม่เข้าใจความไม่เป็นธรรมทางสังคม มักมีมุมมองแบบง่ายๆว่าความไม่เท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคมนั้นเกิดจาก กรรม ของใครของมัน ไม่เกี่ยวกับโครงสร้าง ระบบ หรือวัฒธรรมชนชั้น/อำนาจนิยม/อุปถัมภ์นิยมต่างๆที่ครอบงำสังคมอยู่ และเรามีหน้าที่ในการร่วมกันปรับรื้อเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้นเรื่อยๆในฐานะพลเมืองที่มีมโนธรรมสำนึกในพันธสัญญาทางสังคมการเมือง

ประการที่สาม พุทธศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐตลอดมา นับแต่รัฐสมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนต้นจนมาถึงปัจจุบัน ในอดีตที่การศึกษาถูกจำกัดอยู่ในวังกับวัด ผู้กุมอำนาจรัฐหรือคนชั้นสูงมีบทบาทอย่างสำคัญในการกำหนดว่าพระสงฆ์ควรสอนหลักธรรมอะไรแก่ชาวบ้าน ในแง่หนึ่งหลักธรรมที่พระสงฆ์หรือเจ้านายสั่งสอนอบรมชาวบ้านนั้น อาจช่วยให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นคนดี มีศีลธรรม ดำรงชีวิตที่มีความสุขตามอัตภาพ เช่น สอนให้รู้จักละเว้นอบายมุขต่างๆ มีศีล 5 รู้จักขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน ฯลฯ

ส่วนอีกในแง่หนึ่ง หลักธรรมที่เลือกมาสอนนั้นมีการประยุกต์อธิบายในลักษณะเป็นเครื่องมือในการปกครองของรัฐ เพื่อใช้ ปลูกฝัง ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจงรักภักดีต่อรัฐ เช่น มีการสร้างความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือ สมมติเทพ การปกครองด้วยทศพิธราชธรรมของพระมหากษัตริย์เป็นการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้มุ่งตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินที่เคารพเชื่อฟังนับเป็นการร่วมบุญบารมีนั้นด้วย ความแตกต่างทางฐานะชนชั้นเป็นผลของการ ทำบุญ มาต่างกัน คนจนคนชั้นล่างเป็นคนประเภท บุญมาวาสนาน้อย คนชั้นบนคนมีอำนาจมีชีวิตอยู่อย่างอลังการสุขสบายตามระดับฐานันดร ราวกับออยู่บนสวรรค์ชั้นต่างๆ เป็นคนประเภท บุญหนักศักดิ์ใหญ่

คำสอนทางพุทธศาสนาทำนองนี้ เราอาจพบได้ตั้งแต่การอบรมในครอบครัว ในนิทาน วรรณคดี บทเทศนาของพระสงฆ์ในใบลาน ในหนังสือ บทประพันธ์ บทนิพนธ์หรือพระราชนิพนธ์ต่างๆ (เช่น ไตรภูมิพระร่วง เทศนาเสือป่า ฯลฯ)

จากกระบวนทัศน์ที่แยกธรรมออกจากโลก การเน้นสอนเฉพาะศีลธรรมของปัจเจกบุคคล ละเลยการสอนศีลธรรมทางสังคม และรัฐได้ใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือปลูกฝังให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเคารพเชื่อฟังอำนาจรัฐ จึงทำให้ชาวพุทธทั่วไปเมินเฉยต่อปัญหาทางโลก เห็นว่าการมาเกี่ยวข้องกับปัญหาสาธารณะเป็นเรื่องของกิเลส (เช่นมองว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก) ไม่ใช่เรื่องของคนดีมีศีลธรรมที่มุ่งสวรรค์นิพพาน และการถูกปลูกฝังให้เชื่อว่าความไม่เสมอภาคของมนุษย์ เป็นผลของ บุญกรรม ของแต่ละบุคคล ทำให้ชาวพุทธนอกจากจะไม่ตั้งคำถามต่อโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจการเมืองที่อยุติธรรมแล้ว ยังมีทัศนคติสยบยอมและสนับสนุนโครงสร้างอันอยุติธรรมนั้นโดยปริยายและตลอดมา

อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวพุทธจำนวนหนึ่งที่มองเห็นปัญหาข้างต้นแล้วหันกลับไปหาพระไตรปิฎกอันเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แล้วนำมาอธิบายประยุกต์ให้เห็นว่าศีลธรรมของปัจเจกบุคคล กับศีลธรรมทางสังคม และการต่อสู้เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมให้เกิดความเสมอภาคเป็นธรรม เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาไปด้วยกัน เช่น การเสนอทฤษฎี ธรรมมิกสังคมนิยม ของท่านพุทธทาสภิกขุ การศึกษาพุทธศาสนาด้วยทัศนะวิพากษ์และข้ามนิกายทางศาสนาพร้อมกับเสนอแนวคิด พุทธศาสนาเพื่อรับใช้สังคม ของ ส.ศิวรักษ์ และเครือข่าย บทบาทของนักสันติวิธีอย่าง พระไพศาล วิสาโล หรือนักต่อสู้เพื่อคนชั้นล่างอย่าง วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นต้น แต่ทว่าความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในทางที่ก้าวหน้าเช่นนี้นอกจากจะอยู่ นอกสายตา ของสถาบันพุทธศาสนาที่เป็นทางการ (ทั้งภาคพระสงฆ์และหน่วยงานราชการ) แล้ว บางครั้งยังเป็นที่หวาดระแวงและยากที่จะทำความเข้าใจหรือหาแนวร่วมสนับสนุนจากชาพุทธตามจารีตที่ถูกปลูกฝังให้มีกระบวนทัศน์ และความคิดความเชื่อผิดๆ (จากหลักการที่เป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา) มาอย่างยาวนาน

จากตัวอย่างปัญหาที่กล่าวมาประกอบกับพัฒนาการทางสังคมการเมืองยุคใหม่ที่ก้าวมาไกลมากแล้ว จึงทำให้ชาวพุทธกระแสหลักพลัดตก ขบวนรถพัฒนาการทางสังคมการเมือง เราจึงเห็นบทบาทของพระบางรูปออกมาเทศนาว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19 เห็นคณะสงฆ์กระแสหลักออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้บรรจุ พุทธศาสนาประจำชาติ ในรัฐธรรมนูญโดยอ้าง ความเป็นสังคมพุทธ เห็นกลุ่มสันติอโศกออกมาสนับสนุนการแบ่งฝักฝ่ายของคนในชาติอย่างเปิดเผย เห็นคณะธรรมยาตราออกมาเรียกร้องความเป็นชาตินิยมกรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร และเห็นพระบางรูปร่วมถือธงเดินขบวนร่วมกับมวลชนเสื้อแดง ทั้งหลายทั้งปวงนี้ดำเนินไปโดยปราศจาก ปฏิกิริยา ใดๆจากมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของสถาบันสงฆ์

และในความแตกแยกที่ทำให้เกิดความรุนแรงในขณะนี้ นอกจากเราได้เคยเห็นภาพพระสงฆ์กว่าหมื่นรูปออกมาประกอบ พิธีทำบุญประเทศ ตามการนิมนต์ของ พล.ต.อ.สล้าง บุญนาค แล้ว เราแทบไม่เห็นการแสดงออกอย่างเป็นทางการของคณะสงฆ์กระแสหลักในการเรียกร้องสันติวิธี เพียงแต่เห็นการแสดงออกบ้างประปรายจากพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงบางรูป เครือข่ายชาวพุทธบางเครือข่าย แต่ก็ถือว่าน้อยมาก ยังไม่จริงจัง และไม่มีพลังเท่าที่ควรจะเป็น หรือให้สมกับที่เราเรียกสังคมตัวเองว่าเป็น สังคมพุทธ ที่รักสันติ ที่มีพุทธธรรมเสนอแนวทางสู่สันติภาพทางจิตใจและทางสังคมไว้อย่างชัดเจน ทว่าในสถานการณ์วิกฤต แนวทางแห่งสู่สันติภาพนั้นกลับมิได้มีกระบวนการนำเสนอที่ให้เห็นเป็นรูปธรรมและมีพลังทางสังคมอย่างแท้จริง

จึงถึงเวลาที่ชาวพุทธจะต้องเป็น ผู้ตื่น ให้ทัน ขบวนรถพัฒนาการทางสังคมการเมือง เพราะหากไม่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความเป็นธรรมและสันติ การดำรงอยู่ของพุทธศาสนาในสังคมยุคใหม่ก็แทบจะไร้ความหมาย และวาทกรรมที่ว่า สังคมไทยเป็นสังคมพุทธ ก็จะใช้หลอกตัวเองและชาวโลกไม่ได้อีกต่อไป!