ที่มา เดลินิวส์
นปช.ไม่สวมเสื้อแดงรวมพลเดินสายชุมนุมพาบุกกรุงอีก
นปช.นับร้อย ไม่สวมเสื้อแดง รวมตัวกันที่โรงแรมรอยัลฯ เปิดหลักฐานดีวีดีอ้างมีคนตาย ลั่นไม่ยุติการชุมนุม เร่งเดินสาย 10 จังหวัดพาบุกกรุงเทพฯแน่ นัดชุมนุม 25 เม.ย. ที่มหาชัย ยังเรียกร้อง ผบ.ทบ. ผบ.ตร. ผบช.น. และองคมนตรีลาออก ส่วนพรรคเพื่อไทย ร้องดีเอสไอ ตรวจสอบเหตุทหารสลายการชุมนุมที่ดินแดง อ้างทำเกินกว่าเหตุ พร้อมออกแถลงการณ์ 5 ข้อ วันเดียวกัน “พัชรวาท” สั่งเด้ง ผู้บัญชาการภาค 2 กับ ผู้การฯชลบุรี เข้าประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังม็อบเสื้อแดงบุกขวางการประชุมอาเซียน จนผู้นำประเทศต่างๆ ต้องเผ่นหนีออกหลังโรงแรม ขณะที่ “ธานี” เรียกประชุมชุดพนักงานสอบสวน สั่งตั้งศูนย์ที่ บช.น.คลี่คลายทุกคดีที่เกิดทั้งก่อนและหลังประกาศ พ.ร.ก.รวม 55 คดี ให้ “วรพงษ์” รายงานทุก 7 วันพร้อมแจงสื่อ ด้าน “วิทยา” เผย สธ.จ่ายค่ารักษาเสื้อแดง 14 ล้าน ยันไม่มีคนตาย ยังนอนอยู่ในโรงพยาบาลอีก 16 ราย ส่วน “อภิสิทธิ์” ไม่รู้จะเจรจากับ “ทักษิณ” เรื่องใด เผยกำชับโฆษก ระมัดระวังคำให้สัมภาษณ์ ขณะที่ “เนวิน” ส่งทนายความแจ้งดำเนินคดีกับ 4 แกนนำ นปช.ปราศรัยให้ร้ายตลอด เช่นเดียวกับที่ ขอนแก่น แจ้งจับ “ขวัญชัย” ปิดถนนยุประชาชนต้านรัฐบาล “วิปรัฐบาล” นัดเปิดสภา 2 วัน อภิปรายเหตุการณ์เสื้อแดงป่วนเมือง พร้อมถ่ายทอดสด และเตรียมทำซีดี 1 ล้านแผ่นแจงประชาชน
กรณีแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นพ.เหวง โตจิราการ ถูกควบคุมตัวไว้ดำเนินคดี ล่าสุด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. มีคำสั่งแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร.เข้ามาควบคุมการสืบสวนสอบสวนคดีที่กลุ่ม นปช.กระทำผิด ตั้งแต่การชุมนุม รวมตัวปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล, การชุมนุมปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, การรุมทำร้ายขบวนรถ นายกฯที่กระทรวงมหาดไทย ตลอดจนการเข้าไปขัดขวางการประชุมอาเซียนที่พัทยา และการก่อจลาจลในกรุงเทพฯหลายจุดนั้น
“พัชรวาท”เด้งผบช.ภ.2เข้ากรุ
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 20 เม.ย. พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ลงนามคำสั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 170/2552 เรื่อง ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการ และรักษาราชการแทน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 และ 12 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการ จึงออกคำสั่งไว้ดังต่อไปนี้ 1.ให้ พล.ต.ท.อัศวิน ณรงค์พันธ์ ผบช.ภ.2 ไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2.ให้ พล.ต.ท.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบช.ภ.2 อีกหน้าที่หนึ่ง ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2552
พร้อมกันนี้ได้มีคำสั่งที่ 171/2552 ให้ พล.ต.ต.บัณฑิต คุณจักร์ ผู้บังคับการตำรวจ ภูธรจังหวัดชลบุรี ไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และให้ พล.ต.ต. ปราโมช ปทุมวงศ์ รอง ผบช.ภ.2 รักษาราชการแทน ผบก.ภ.จว.ชลบุรี อีกหน้าที่หนึ่ง ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
“ธานี”เรียกประชุมแบ่งงาน
สายวันเดียวกัน ที่ บช.น. พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร. เรียกประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ถึงปัจจุบัน และคดีที่เกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน และร่างกาย เฉพาะในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อกำชับการปฏิบัติงานและเร่งรัดคดีที่เกิดขึ้น ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล, การปิดล้อมและทุบทำลายรถยนต์ของนายกรัฐมนตรี ที่กระทรวงมหาดไทย ตลอดจนการปิดกั้นการจราจร และเผาทำลายรถโดยสารประจำทาง และการลอบสังหาร นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนดังกล่าว ได้รับการแต่งตั้งจาก ผบ.ตร. ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมี พล.ต.อ.ธานี เป็นหัวหน้าคณะฯ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น. เป็นรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน
สั่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่ บช.น.
พล.ต.อ.ธานี กล่าวภายหลังประชุมคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ในกรณีที่มีกลุ่มบุคคลออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล ในพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดอื่น ๆ ที่มีการกระทำผิดกฎหมายขึ้นว่า ได้เชิญพนักงาน สืบสวนสอบสวน และผู้เกี่ยวข้องมาหารือด้านสำนวนการสอบสวน โดยมอบให้ บช.น.จัดแบ่งคนรับผิดชอบแต่ละคดี และสั่งให้ตั้งศูนย์ที่ บช.น.ในการบริหาร สืบสวน ติดตามงาน เป็น การประชุมสืบสวนสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น หลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนปัญหาต่าง ๆ นั้น ก็บอกพนักงานสืบสวนสอบสวนไปแล้วว่า หากมีปัญหาในจุดใด ก็แจ้งผู้บังคับบัญชามา จะได้แก้ไข เรื่องนี้ไม่มีการเมืองแทรกแซง เราก็ทำไปตามอำนาจหน้าที่ของเรา
“ธานี”ไม่หนักใจทำตามหน้าที่
ผู้สื่อข่าวถามว่าหนักใจหรือไม่ ที่ต้องมาดูแลคดีกลุ่มเสื้อแดง รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของตำรวจอยู่แล้วที่ต้องทำ เราเป็นตำรวจ ก็ต้องทำตามหน้าที่ก็แค่นั้น โดยคดีที่ยังอยู่ระหว่าง ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีทั้งสิ้น 49 คดี ที่ประกาศก่อน พ.ร.ก.ก็มีอีก 6 คดี รวมเป็น 55 คดี ในพื้นที่นครบาล การทำคดีต่าง ๆ ก็จะรีบทำ บางคดีก็สอบอยู่ บางคดีก็ต้องสอบสวนทั้งคดียิง เผารถ ระเบิดต่าง ๆ รวมทั้งหมด การสอบสวนคดีก็ช่วยกันเร่งรัดทำสำนวนการสอบสวนให้เร็ว ให้เป็นธรรม และรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และจะมีการเรียกประชุมทุก 7 วัน โดยให้ ผบช.น.เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดกับสื่อ มวลชน
สธ.สรุปดูแลเสื้อแดง14ล้าน
ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเวลา 11.00 น. นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงวงเงินในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บฉุกเฉินจากเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ว่า กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าจะรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดประมาณ 14,063,257 ล้านบาท โดยเหตุการณ์ที่ จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 10-11 เม.ย. มีผู้บาดเจ็บ 17 ราย วงเงิน 260,000 บาท เหตุการณ์ชุมนุมที่กรุงเทพฯระหว่างวันที่ 12-14 เม.ย. มีผู้บาดเจ็บ 135 ราย วงเงิน 13,802,552 บาท ทั้งนี้จะมีการนำเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาสำรองจ่ายให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนไปก่อน หลังจากนั้นจะมีการทำเรื่องขออนุมัติเบิกจ่ายกับทางรัฐบาลต่อไป
รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า สำหรับ ผู้ป่วย 135 ราย ในกรุงเทพฯ กระจายตาม รพ. ต่าง ๆ ดังนี้ รพ.ราชวิถี 18 ราย ค่าใช้จ่าย 5,866,850 บาท รพ.รามาธิบดี 42 ราย 3,909,024 บาท รพ.ทหารผ่านศึก 33 ราย 543,664 บาท รพ.มิชชั่น 5 ราย 257,915 บาท รพ.หัวเฉียว 5 ราย 226,402 บาท รพ.กลาง 11 ราย 280,947 บาท รพ.พระมงกุฎเกล้า 7 ราย 810,065 บาท รพ.วชิรพยาบาล 9 ราย 164,713 บาท รพ.ตำรวจ 1 ราย 130,520 บาท รพ.คามิลเลียน 1 ราย 6,054 บาท รพ.บางกอก 9 อินเตอร์ 1 ราย 77,746 บาท สถาบันประสาท วิทยา 1 ราย 143,730 บาท รพ.เดชา 1 ราย 41,063 บาท
อีก6รายหลบหนีออกจาก รพ.
นายวิทยา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จากการราย งานของเจ้าหน้าที่ยังพบว่า มีผู้บาดเจ็บประมาณ 6 ราย ที่ไม่ได้แสดงตนในการรักษา และไม่ได้แสดงบัตรประจำตัวประชาชน และได้ออกจากโรง พยาบาลมิชชั่นไปแล้ว ไม่แน่ใจว่า มีการส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นหรือไม่ หรือว่าออกไปเพราะกลัวความผิด ไม่ได้รับบาดเจ็บมาก หรือไม่อยากให้รู้ว่าเป็นใคร ซึ่งตนก็อยากรู้ว่าเหตุผลในการไม่แสดงตนคืออะไร ก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและรายงานมา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการ ดูแลจิตใจของผู้ป่วยนั้น ได้สั่งการให้กรมสุขภาพจิตเข้าไปดูแลผู้บาดเจ็บตั้งแต่เกิดเหตุแล้ว และจะติดตามอาการต่อไปหลังออกจากโรงพยาบาล
พม.ระบุผู้บาดเจ็บ26สูญหาย2
ด้าน นายอิสสระ สมชัย รมว.การพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะประธานศูนย์เยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับความเสีย หายจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เมื่อวันที่ 8-14 เม.ย. และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้บาดเจ็บขอรับการช่วยเหลือจากศูนย์ฯ 26 ราย นอกจากนั้นเป็นการแจ้งบุคคลสูญหายจากเหตุการณ์ 2 คน ชื่อ นายสัมฤทธิ์ ชัยปัญญา อายุ 50 ปี และนายยรรยงค์ ไม่ทราบนามสกุล อายุ 40 ปี และแจ้งว่าสูญหายขณะไปร่วมชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งตนจะสอบถามไปยังตำรวจว่า 2 ราย ที่แจ้งว่าสูญหายนี้ เป็นบุคคลในกลุ่ม 19 ราย ที่ถูกตำรวจควบคุมตัวไว้หรือไม่ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้บาดเจ็บที่มารับการช่วยเหลือจากศูนย์ฯเพียง 26 ราย จากทั้งหมด 135 ราย อาจเป็นเพราะไม่ทราบว่ามีศูนย์ฯ ให้การช่วยเหลือ ดังนั้นเราจะเปิดศูนย์ฯต่อไปอีก 3 เดือน เพื่อรอให้การช่วยเหลือ รายไหนที่ยังไม่มา ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปติดต่อผู้บาดเจ็บเองเพื่อให้ทุกคนได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด จะได้ไม่เกิดปัญหาถูกมองว่าศูนย์ฯ ทำงานสองมาตรฐานแตกต่างกับการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ 7 ตุลา
“ผมยังยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุ การณ์วันที่ 8-14 เม.ย. เพียง 2 ราย และยังไม่มีการแจ้งเพิ่มเข้ามา ทั้งนี้หากจะแจ้งผู้ตาย หรือสูญหายจากเหตุการณ์ ขอให้แจ้งผ่านศูนย์เยียวยา ช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เมื่อวันที่ 8-14 เม.ย. และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในข้อมูล อย่างไรก็ตามผมได้เดินทางไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บ จากเหตุการณ์ที่โรงพยาบาล พบว่าเหลือเพียง 16 ราย ที่ยังรักษาตัวที่โรงพยาบาล” รมว.การ พัฒนาสังคมฯ กล่าว
พท.ร้อง ดีเอสไอทำเกินเหตุ
ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังเดินทางพร้อมด้วย นายพิชา วิจิตรศิลป์ ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์แห่งประเทศไทยและเครือข่าย เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันท์ รองอธิบดี ดีเอสไอ ว่า พรรคเพื่อไทยต้องการให้ ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบกรณีที่ทหารหน่วยรบ พร้อมอาวุธสงคราม เข้าสลายการชุมนุมบริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และอาจมีผู้สูญหาย ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 23 คน สูญหาย 8 คน และเสียชีวิต 2 ศพ โดยผู้เสียชีวิตดังกล่าว ยังเป็นที่สงสัยว่าเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมหรือไม่ เนื่องจากญาติของผู้เสียชีวิตแจ้งว่าทั้ง 2 คนเป็นการ์ดของ นปช. ซึ่งพรรคเพื่อไทยมองว่า เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และในวันที่ 21 เม.ย. จะเข้าร้องเรียน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากนั้นในวันที่ 22 เม.ย. จะเข้ายื่นเรื่องต่อประธานกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร
ขณะที่ พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า หลังได้รับหนังสือร้องเรียนจะเข้ารายงานต่อผู้บังคับบัญชา จากนั้นจึงจะตรวจสอบว่าเป็นอำนาจหน้าที่ที่ดีเอสไอจะสามารถเข้าไปตรวจสอบได้หรือไม่ต่อไป โดยจะดูถึงความประสงค์ของผู้ร้อง และข้อมูลต่าง ๆ ประกอบ และจะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด
ยื่นศาลขอปล่อยตัว3แกนนำ
ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. นายคารม พลทะกลาง ทนายความ นปช. ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัว นายวีระ มุสิก พงศ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. ผู้ต้องหาที่ 1-3 คดีปลุกระดมโดยวิธีการใดเพื่อให้ละเมิดกฎหมายแผ่น ดิน และมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เนื่องจากถูกคุมขังโดยมิชอบ โดยขอให้ศาลไต่สวนคำร้องโดยด่วนและมีคำสั่ง ปล่อยตัวผู้ต้องหาทันที ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป
นายคารม กล่าวว่า หากศาลรับคำร้องไว้ไต่สวน ก็ได้เตรียมเอกสารและพยานบุคคลไว้ 5 ปาก ประกอบด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ส.ส. สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ซึ่งจะไต่สวนเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพราะสมัยรัฐบาลนายสมชาย เคยประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินมาแล้ว อย่างไรก็ดี หากไต่สวนแล้วศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัว โดยเห็นว่าการประกาศสถาน การณ์ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบ ครม.ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ก็ต้องปล่อยตัวผู้ที่ควบคุมตัวตามประกาศนี้ทุกคน
นปช.รวมตัวไม่กล้าใส่เสื้อแดง
เมื่อเวลา 13.00 น. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ตัวแทนกลุ่ม นปช.นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน และนายเขื่อนเพชร โพนรัมย์ ร่วมกันแถลงท่าที นปช.ต่อการใช้ความรุนแรงขั้นสูงสุดปราบปรามผู้ชุมนุม โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดงเข้ารับฟังร่วมร้อยคน แต่ส่วนใหญ่ไม่ใส่เสื้อสีแดง
นายสมยศ กล่าวว่า นปช.ต้องขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งกระทบ ต่อคนกรุงเทพฯ และจะเป็นบทเรียนในการเคลื่อนไหวครั้งต่อ ๆ ไป เราไม่ได้วางแผนให้เกิดเหตุการณ์ แต่เชื่อว่ามีการแทรกแซงให้เกิดการจลาจล เพื่อทำลายการต่อสู้ของคนเสื้อแดง นอกจากนี้ภาพติดลบที่เกิดกับกลุ่มคนเสื้อแดง เกิดจากการดำเนินการ 2 มาตรฐานของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยดูได้จากการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็มีการประกาศ แต่คนทำผิดในขณะนั้นกลับยังไม่มีใครถูกดำเนินคดี ทั้งเหตุการณ์บุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ยึดสนามบิน และการปิดถนนพิษณุโลกเกือบ 6 เดือน และพ.ร.ก. ดังกล่าวกลายเป็นเครื่องมือปราบปรามประชาชน คุกคามสื่อและปิดกั้นคนเสื้อแดง ทั้งนี้การที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ใช้กำลังทหารคุมเสื้อแดง แทนตำรวจปราบจลาจล ก็ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลนี้ถูกอุปถัมภ์โดยทหาร และครอบงำโดยอำมาตยาธิปไตย
ประกาศเดินสาย10จังหวัด
นายสมยศ กล่าวต่อว่า นปช.จะยังไม่ถอย และเราเชื่อว่ามีการเสียชีวิต การทำลายศพ เบื้องต้นมีการแจ้งคนหายกับทางสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และศูนย์ของพรรคเพื่อไทย มีร่วม 30 คน ซึ่งเราจะหาความจริงต่อไป ทั้งนี้ เชิญชวนให้คนเสื้อแดงมาร่วมทำบุญในวันที่ 23 เม.ย. เวลา 10.00 น. ที่สามเหลี่ยมดินแดงและขอเชิญ นปช.ร่วมชุมนุมใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินและยุติความเป็น 2 มาตรฐาน ที่จ.สมุทรสาคร ในวันที่ 25 เม.ย. เวลา 18.00-23.00 น. โดยจะแจ้งสถานที่ ให้ทราบอีกครั้ง และหลังจากนั้นจะไป จ.นครราช สีมา และเมื่อครบ 10 จังหวัด เราจะกลับมากรุงเทพฯอีกครั้ง และขอเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม และอย่าสร้างสถานการณ์โยงว่ากลุ่มคนเสื้อแดงเกี่ยวข้อง กับการลอบสังหาร นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นได้มีการเปิด ดีวีดีบันทึกภาพเหตุการณ์ ความยาวประมาณ 3 นาที พร้อมกับออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ 1.ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที เร่งหาคนสูญหาย ตาย และบาดเจ็บพร้อมเยียวยา 2.หยุดคุกคามสื่อ โทรทัศน์ วิทยุชุมชน รวมถึงเว็บไซต์ต่าง ๆ 3.หยุดคุกคามแกนนำและประชาชนเสื้อแดง 4.เร่งจับตัวคนที่ยิงประชาชนมาลงโทษโดยเร็ว 5.รัฐบาล ผบ.ทบ., ผบ.ตร., ผบช.น. ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก 6.พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ต้องลาออกจากองคมนตรี
เพื่อไทยออกแถลงการณ์5ข้อ
ด้าน นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวภายหลังการประชุมกรรมการบริหารพรรค โดยมีมติออกแถลงการณ์จากเหตุ การณ์การสลายการชุมนุมของรัฐบาล 1.พรรคฯ ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย ผู้บาดเจ็บ และผู้ได้รับความเสียหายจากการสลายการชุมนุมของรัฐบาลและทหาร 2.พรรคฯไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงและการกระทำที่ผิดกฎหมายในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทางการเมือง 3.พรรคฯขอเรียกร้องจากบุคคลที่มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง ให้มีการไต่สวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง และเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนให้การเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ 4.พรรคฯเห็นว่าการแก้วิกฤติการเมืองที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันจะต้องแก้ไขที่รากเหง้าคือ การที่ประเทศไทยขาดไร้ซึ่งประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม 5.พรรคฯเรียกร้องให้เกิดกระบวนการสร้างความปรองดองแห่งชาติอย่าง แท้จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อประเทศสามารถสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและใช้หลักนิติธรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกันให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง โดยพรรคเรียกร้องให้นำ รธน.ฉบับ พ.ศ. 2540 มาบังคับใช้แทนฉบับ พ.ศ. 2550
ทำซีดีล้านแผ่นแจงประชาชน
ส่วนที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล แถลงภายหลังการประชุม ว่า ได้เชิญนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกฯ มาชี้ แจงสถานการณ์และความจำเป็นที่รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี พื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวมทั้งขั้นตอนการทำงานของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ต่าง ๆ โดยพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ ตัดสินใจแก้ไขปัญหาและสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับ นอกจากนั้นการดำเนินการยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งรัฐบาลได้ใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างถูกต้องมีเพียงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งรัฐบาล ก็ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ เยียวยาแล้ว ทั้งนี้รัฐบาลได้ตรวจสอบข้อมูลกับฝ่ายกฎหมายและคณะกรรมการกฤษฎีกา และเห็นว่ารัฐบาลได้ดำเนินการต่าง ๆ ด้วยความเสมอภาค ยุติธรรม ไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐานอย่างที่มีการกล่าวหา ทั้งนี้รัฐบาลจะจัดทำซีดี 1 ล้านแผ่น เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาที่ เกิดขึ้น
ประชุมรัฐสภา22-23เม.ย.
นายชินวรณ์ กล่าวว่า วิปรัฐบาลกำหนดการประชุมสภาในวันที่ 22-23 เม.ย. นี้ระหว่างเวลา 10.00-22.00 น. รวม 2 วัน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ วิปทั้ง 3 ฝ่ายคือฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา จะมีการหารือรายละเอียดเกี่ยวกับการ ประชุมอีกครั้งในวันที่ 21 เม.ย. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา เบื้องต้นเห็นพ้องต้องกันว่า ให้มีการ ถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ (สทท.11) พร้อมทั้งเชิญชวนสถานีวิทยุอื่น ๆ ร่วมเป็น เครือข่ายในการถ่ายทอดสัญญาณเสียงด้วย นอกจากนั้นยังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อกำหนด ติดตาม นำเสนอทางออกให้รัฐบาล นำไปแก้ไขได้อย่างมีเหตุผล และมอบหมายให้ แต่ละพรรคกลับไปปรึกษาแนวทางการปฏิรูปการเมืองภายใน 2 สัปดาห์เพื่อนำมาหารือกันอีกครั้ง
ไม่มีเรื่องเอกสิทธิ์ของ“จตุพร”
สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภา ไม่สามารถนำประเด็นเรื่องการใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 173 ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.มาดำเนินการได้ เพราะกระบวนการขอเอกสิทธิ์คุ้มครอง จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ถูกดำเนินคดีทางอาญาไปแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ได้ขอหมายศาล ศาลจึงจะร้องขอมายังสภา หากบุคคลนั้นเป็น ส.ส. และอยู่ในสมัยประชุม แต่กรณีของนายจตุพรนั้นนายจตุพรได้ไปดำเนินการผิดตามกฎหมายอาญาแผ่นดิน ดังนั้นนายจตุพรควรจะแสดงความสง่างาม และแสดงความรับผิดชอบในฐานะแกนนำ ด้วยการไปแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่ และไม่ควรอ้างเอกสิทธิ์ในการแถลงข่าว
“สุเทพ”ปัดย้าย ผบ.ตร.,ผบ.ทบ.
ด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยกล่าวเพียง ว่า เดี๋ยวคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะแถลงให้ทราบเอง ในช่วงเวลาที่ทุกอย่างยังต้องทำงานอยู่ก็ควรจะฟังการแถลงที่เป็นทางการจากที่เดียว เพื่อให้เป็นทิศทางเดียวกัน เพราะถ้าต่างคนต่างพูด ต่างให้สัมภาษณ์จะเกิดความสับสนได้ ซึ่งทางโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะแถลงทุกเรื่องให้ประชาชนทราบเป็นระยะตามความจำเป็น เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ปรับหน่วยงานด้านความมั่นคงใหม่ นายสุเทพ กล่าวว่า นี่ก็เป็นตัวอย่างของความสับสนอีกเรื่องหนึ่ง ความจริงไม่มีการเสนอความคิดนี้ และตนคงจะไม่พูดตอบโต้การพูดจาของกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะไม่ต้องการให้เกิดข้อโต้แย้งอะไรกัน แต่ในฐานะที่ตนรับผิดชอบฝ่ายความมั่นคงก็จะพยายามดูแลให้ทุกคน และทุกภาคส่วนได้ทำงานเต็มที่
เมื่อถามว่ายืนยันได้หรือไม่ว่าการทำงานของฝ่ายความมั่นคงในขณะนี้มีเอกภาพ ไม่ระแวงกันเอง นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่มีอย่างแน่นอน ยืนยันว่าภายใต้รัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี การทำงานมีเอกภาพเต็มที่ เราทำงานด้วยกันมาตลอด เมื่อถามย้ำว่าจะไม่มีการปรับระดับ ผบ.ตร.หรือ ผบ.ทบ. ใช่หรือไม่ นาย สุเทพ กล่าวว่า ไม่มี
“อภิสิทธิ์”ปัดเจรจา“ทักษิณ”
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กลุ่มนักธุรกิจเสนอให้พึ่งคนมีบารมี มาทำหน้าที่คนกลางให้นายกรัฐมนตรีเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหาทางหยุดความขัดแย้งว่า ตอนนี้กำลังคลี่ คลายเหตุการณ์โดยลำดับ และข้อเสนอที่จะเดินหน้าสร้างความปรองดองก็จะมีการดำเนินการต่อไปบนความถูกต้อง เพราะฉะนั้นตนจึงไม่ทราบว่า ที่เสนอให้มีการเจรจานั้นจะเป็นอย่างไร แต่หลักการคือจะไม่ลบล้างในแง่คดีอาญา ขณะที่ในแง่ความผิดทางการเมืองเป็นเรื่องที่สามารถเสนอเข้ามาให้พิจารณาได้เพื่อมาดูความเหมาะสม รูปแบบ วิธีการและเหตุผลเพราะตรงนี้ยังไม่มีการตกผลึก เพียงแต่เมื่อตนเริ่มต้นกระบวนการต้องเปิดกว้างพอสมควร ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าตนยอมรับที่จะเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะยังไม่ทราบว่า จะไปเจรจาเรื่องใด เนื่องจากสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณมีปัญหาคือเรื่องคดีอาญา และนึกไม่ออกว่ากรอบ การเจรจาคืออะไร อย่างไรก็ตามตนจะเจรจากับคนที่เรียกร้องอยู่ในกรอบ ไม่ใช้ความรุนแรงและไม่ยุยงส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง
ให้ส.ส.หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
ต่อข้อถามว่าการเปิดประชุมรัฐสภาใน วันที่ 22-23 เม.ย. เพื่อเสนอหาทางออกลดความขัดแย้งเป้าหมายคืออะไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในการไปร่วมประชุมส.ส.พรรคประชา ธิปัตย์ตนจะขอให้ ส.ส.ของพรรคหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เวทีนี้เป็นเวทีที่สร้างความขัดแย้ง แต่ความ ตั้งใจของตนคือ 1.ให้มีการนำเสนอ ตรวจสอบความคลางแคลงใจต่าง ๆ เพื่อรัฐบาลจะได้ชี้แจง 2.ทุกฝ่ายช่วยกันหาทางออกเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง เมื่อถามถึงการยกเลิกการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้เมื่อใด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้เหลือในเรื่องการคลี่คลายบางคดี รวมทั้งการใช้กลไกบางอย่างที่จะไปพูดคุย เพื่อไม่ให้เกิด เหตุการณ์ซ้ำรอย ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านนี้ขอเวลาคิดว่าคงอีกไม่นาน ผู้สื่อข่าวถามว่ากังวล หรือไม่ที่พรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นเรื่องให้ดีเอสไอ ตรวจสอบกรณีการดำเนินการสลายการชุมนุม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่กังวล เพราะการตรวจสอบสามารถทำได้ แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นอำนาจของดีเอสไอหรือไม่
กำชับโฆษกให้ระวังคำพูด
เมื่อถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ต่อการที่ พ.ต.ท. ทักษิณยังนำเรื่องทหารยิงประชาชนระหว่างการชุมนุมไปขยายความในต่างประเทศ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เคยเห็นว่านำรูปไปแสดง ซึ่งรัฐบาลก็ชี้แจงแล้วและคิดว่าขณะนี้ต่างประเทศก็มีความ เข้าใจดีระดับหนึ่งแต่เราจะมีการชี้แจงต่อเนื่อง เมื่อถามว่าตัวนายกฯแสดงออกที่อยากให้มีความสมานฉันท์ ขณะที่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงพูดยั่วยุอยู่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนได้พูดคุยกับโฆษกฯทางโทรศัพท์แล้ว ว่าให้ระมัดระวังในการให้สัมภาษณ์ และในการประชุม ส.ส.ของพรรควันนี้ก็จะพูดกันอีกครั้ง
“โสภณ”ชี้ขสมก.สูญ30ล้าน
นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมเตรียมการรายงานตัวเลขความเสียหายเบื้องต้นจากกรณีที่กลุ่มม็อบเสื้อแดงได้เผาทำลายรถเมล์ของ ขสมก. ได้รับความเสียหาย 32 คัน มูลค่าเบื้องต้น 30 ล้านบาทให้ ครม. รับทราบในวันที่ 21 เม.ย. ส่วน รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ ส่วนกรณีรถร่วม ขสมก. ได้รับผลเสียหายจากการถูกเผาด้วยนั้น หากต้องการความช่วยเหลือให้เอกชนทำเรื่องเสนอมาที่ ขสมก. ส่วนจะได้รับการชดเชยหรือไม่นั้น ไม่สามารถระบุได้ เพราะต้องไปพิจารณาข้อกฎหมายก่อน นอกจากนี้จะนำเสนอผลกระทบทางอ้อม เช่น การรถไฟฯ เส้นทางสายเหนือถูกปิดจนไม่สามารถเดินรถได้ประมาณ 70 ขบวน รวมทั้ง กรณีที่บริษัท ขนส่ง จำกัด ได้จัดรถขนคนที่มาร่วมชุมนุมกลับภูมิลำเนาด้วย ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านบาท
มส.สั่งหาตัวพระร่วมชุมนุม
ดร.อำนาจ บัวศิริ ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ในการประชุมมหาเถรสมาคม ได้มีการหารือถึงกรณีที่มีพระสงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงถึงขึ้นเข้าไปร่วมทุบตีรถติดตามนายกรัฐมนตรีที่กระทรวงมหาดไทย โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานฯ กล่าวว่า จะมอบอำนาจให้เจ้าคณะผู้ปกครองในพื้นที่เกิดเหตุการณ์ ซึ่งเป็นกรุงเทพฯจึงเป็นหน้าที่ของ พระธรรมสุธี เจ้าคณะกรุงเทพฯฝ่ายมหานิกาย และพระพรหมมุนี เจ้าคณะกรุงเทพฯฝ่ายธรรมยุต ต้องตรวจสอบว่าพระที่เข้าไปร่วมชุมนุม เป็นพระจากวัดใด หรือหากผู้ใดมีหลักฐานทั้งภาพถ่ายและคลิปวิดีโอของพระที่เข้าไปร่วมชุมนุม ก็ให้ส่งมาที่ พศ. เพื่อจะหาทางดำเนินการต่อไป
“จตุพร”จี้จัดการคนเสื้อน้ำเงิน
ที่พรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน และแกนนำกลุ่ม นปช.ให้สัมภาษณ์ว่า อยากเรียกร้องให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์ สุวรรณ ผบ.ตร. ซึ่งจะชี้แจงเหตุการณ์สลายการชุมนุม และเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับคนเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ตนขอเรียกร้องให้ พล.ต.อ.พัชรวาทนำคนเสื้อสีน้ำเงินมาดำเนินคดีด้วย เพราะขณะนี้เป็นปัญหาของประเทศมากที่สุด โดยแอบอ้างกลไกของรัฐใส่เสื้อสีน้ำเงิน เขียนข้อความปกป้อง สถาบันมาทำร้ายประชาชน ซึ่งเหตุการณ์เกิดตั้งแต่ที่พัทยา ที่นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งเป็น บุคคลนอกรัฐธรรมนูญถูกตัดสิทธิทางการเมือง ไปปรากฏตัว
“คดีเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ไม่ต้องพูดเรื่องสองมาตรฐาน คดีของพันธมิตรฯ 106 คดี ไม่คืบ แต่ทุกคดีของ นปช. ทำได้รวดเร็วทุกคดี ต่างจากพันธมิตรฯโดยสิ้นเชิง วันที่ 3 ธ.ค. 51 ยุติการชุมนุมที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ปรากฏว่าวันนั้นพันธมิตรฯทุกคนได้กลับบ้านโดยไม่ต้องถูกคุมขัง ทั้งที่มีความผิดลักษณะเดียวกับคนเสื้อแดงจึงถาม พล.ต.อ.พัชรวาท นายอภิสิทธิ์ว่าถ้านี่ไม่เรียกว่าสองมาตรฐานจะเรียกว่าอะไร ทำไมคนเสื้อแดงต้องถูกไล่ล่าถูกคุมขัง ถามว่าความยุติธรรมอยู่ตรงไหน” นายจตุพร กล่าว
ตัวแทน“เนวิน”แจ้งจับแกนนำ
เมื่อเวลา 14.00 น. นายชนินทร์ แก่นหิรัญ รับมอบอำนาจจากนายเนวิน ชิดชอบ นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย และ นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ นำเอกสารหลักฐานเข้า แจ้งความร้องทุกข์กับ พ.ต.ท.เอกชัย ศรีระหงษ์ พงส. (สบ2) สน.ดุสิต เพื่อให้ดำเนินคดีกับ นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายอดิศร เพียงเกษ และนายสมคิด บรรณา รักษ์ ซึ่งได้พูดจาใส่ความ นายเนวิน ชิดชอบ และยุยงให้ผู้ร่วมชุมนุมตามฆ่านายเนวินเพราะเป็นตัวการผู้อยู่เบื้องหลังความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ทั้งหมด โดยมี พ.ต.ท.วีระชัย ภู่ตระกูล พงส. (สบ3) และ พ.ต.อ.จักรภพ สุคนธราช ผกก. ร่วมสอบสวน
นายชนินทร์ เปิดเผยว่า ได้แจ้งความ ร้องทุกข์กับ 4 แกนนำ แยกเป็นกลุ่มแรกมี นายอดิศร และ นายสมคิด ในข้อหาก่อให้บุคคลทั่วไปกระทำความผิด โดยการยุยง โฆษณา ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ นายจตุพร และ นายณัฐวุฒิ ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา โดยในช่วง ที่มีการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล นายอดิศร และนายสมคิด ได้กล่าวใส่ร้ายนายเนวินต่าง ๆ นานา ให้เกลียดชังนายเนวิน และยังชักชวนให้ไล่ล่าและทำร้ายนายเนวินและครอบครัว ส่วนนายจตุพร และนายณัฐวุฒิ กล่าวให้ร้ายนาย เนวินว่าเป็นตัวการอยู่เบื้องหลังเหตุวุ่นวายต่าง ๆ เช่น การยึดรถเมล์, เผารถเมล์ และการบุกมัสยิด ภายในซอยเพชรบุรี ซอย 7 ทำให้ประชาชน เข้าใจผิดและเกลียดชังในตัว นายเนวินและครอบครัว
แจ้งจับ“ขวัญชัย”ที่ขอนแก่น
ที่ จ.ขอนแก่น เมื่อเวลา 10.00 น. นายตุล ประเสริฐศีล ประธานเครือข่ายประชาชน ต่อต้านคอร์รัปชั่นขอนแก่น พร้อมสมาชิก 30 คนเดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.พัฒนี ศิริวัฒนี ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น ยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ นายขวัญชัย สาระคำ หรือ ขวัญชัย ไพรพนา กับพวกที่ชุมนุมปิดถนนหน้าเอ็นบีทีขอนแก่น ใช้เครื่องขยายเสียงที่ถนนศูนย์ราชการ ปลุกระดมประชาชนให้ต่อต้านรัฐบาลโดยผิด กฎหมาย ซึ่ง พล.ต.ต.พัฒนี กล่าวว่า ได้ดำเนินการสอบพยานไปแล้ว 22 ราย ในคดีดังกล่าว เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะได้ส่งสำนวนให้ ผบช.ภ.4 ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เพื่อส่งฟ้องต่อศาลโดยเร็ว
ที่ จ.สุรินทร์ กลุ่มพันธมิตรสุรินทร์ 30 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายวิเชียร ชวลิต ผวจ. อ้างว่าในนามของชาวสุรินทร์ ผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ขอให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนบุคคลผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคง และความปลอดภัยของประชาชนให้มีความเหมาะสม
ส.ส.มอบพระให้“อภิสิทธิ์”
ที่พรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุม ส.ส.พรรค โดยมี นายชุมพล กาญจนะ ส.ส. สุราษฎร์ธานี เป็นประธานในที่ประชุม โดยมีแกนนำพรรคเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรค นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ซึ่งก่อนเริ่มประชุมได้มี นายขยัน วิพรหมชัย ส.ส.ลำพูน ได้นำพระรอด จ.ลำพูน มาแจกจ่ายให้กับสมาชิกพรรค และมอบพระบูชาครูศรีวิชัยให้กับ นายอภิสิทธิ์ เพื่อให้แคล้วคลาดจากภยันตรายด้วย อย่างไรก็ตามก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายอภิสิทธิ์ ได้เล่าถึงเหตุการณ์การชุมนุมประท้วง และการถูกกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงรุมทำร้ายให้กับ ส.ส. ในพรรคได้รับทราบด้วย
“จักรภพ” โผล่นอกลั่นโค่น รบ.
นายจักรภพ เพ็ญแข หนึ่งในแกนนำกลุ่ม นปช. ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ต่อสำนักข่าวเอเอฟพีในกรุงเทพฯ เมื่อวันเดียวกันว่า ขณะนี้ได้หลบหนีออกนอกประเทศไทยแล้ว โดยอยู่ในที่ปลอดภัยที่ไม่ขอเปิดเผย และจะเดินหน้ารณรงค์เพื่อโค่นล้ม นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อไป โดยได้ตั้งสำนักงานในต่างแดน เพื่อดำเนินการดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ทีมงานได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์บางส่วนแล้ว แต่ต้องใช้เวลาวิเคราะห์สถานการณ์สักระยะ นายจักรภพ เผยอีกว่า ตนได้มีการติดต่อกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่ตลอด แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้สั่งการสิ่งที่พวกตนกำลังดำเนินการ และว่า ช่วง 3 สัปดาห์ที่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น ทราบมาว่าเกิดการไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระหว่างแกนนำ เกี่ยวกับการตัดสินใจยกเลิกการชุมนุม ซึ่งตอนนั้นตนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์
“พัชรวาท” แจงการปฏิบัติม็อบ
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ได้ออกทีวีตอบข้อซักถาม ชี้แจงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อการชุมนุมของพันธมิตรฯกลุ่มคนเสื้อเหลือง และ นปช.กลุ่มคนเสื้อแดง ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าปฏิบัติ 2 มาตรฐาน โดย พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. กล่าวโดยสรุปว่า ตำรวจจะเลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มใด หรือสีเสื้อใด ไม่ได้ โดยเฉพาะด้านอำนวยความยุติธรรมในทางอาญา เนื่องจากมีกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับในการปฏิบัติที่ชัดเจน ส่วนการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ผู้มีอำนาจออกประกาศ ต้องมี ข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการปฏิบัติให้ครบถ้วนก่อน เช่นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสอบสวน สถานที่ควบคุม ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ เรือนจำ หรือทัณฑสถาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถดำเนินการได้ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.ก. แต่การออกประกาศ พ.ร.ก.ครั้งก่อน ไม่มีการออกประกาศข้อกำหนดให้ครบถ้วน จึงมีความแตกต่างกันในทางปฏิบัติ
ส่วนการจับกุมสถานีดีสเตชั่น แต่ไม่จับเอเอสทีวี เพราะมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 147-148/2549 ลงวันที่ 24 เม.ย. 49 คุ้มครองอยู่ สำหรับความคืบหน้าการดำเนินคดีกับแกนนำคนเสื้อเหลืองที่บุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ การสอบสวนเสร็จสิ้นไปร้อยละ 95 แล้ว ซึ่งเพียงพอยืนยันความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว คงเหลือพยานความเสียหายด้านเศรษฐกิจ ส่วนการควบคุมฝูงชน ตำรวจผู้ปฏิบัติทุกระดับชั้นต้องยึดนโยบายไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชนอย่างเคร่งครัด ซึ่งการชุมนุมที่โรงแรมรอยัลคลิฟ บีชฯ ที่พัทยานั้น จากเหตุการณ์ 7 ต.ค. 2551 ตำรวจที่ปะทะกับผู้ชุมนุม และตำรวจหลายนายถูก ป.ป.ช. ชี้มูลอยู่ในข่ายต้องแจ้งข้อกล่าวหา ทำให้ตำรวจขาดความมั่นใจในการปฏิบัติงาน
พล.ต.อ.พัชรวาท ได้กล่าวในตอนท้ายว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนตระหนักดีว่า การชุม นุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ ภายใต้กรอบอย่างสงบ และปราศจากอาวุธ เจ้าหน้าที่ตำรวจสนับสนุนให้ความสะดวก และความปลอดภัย หากประชาชนจะใช้สิทธิดังกล่าว แต่ขออย่าได้ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือชุมนุมเรียกร้องสิทธิประการอื่นใด.