ที่มา ประชาไท
21 เม.ย. 52 - คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพและการใช้ความรุนแรงทำร้ายสื่อมวลชน หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม 13 เมษายน 2552 โดยมีรายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) คัดค้านการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพและการใช้ความรุนแรงทำร้ายสื่อมวลชน หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม ๑๓ เมษายน ๒๕๕๒ ภายหลังที่รัฐบาลใช้กำลังทหารสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล และได้ใช้อำนาจรัฐในการสั่งปิดสถานีวิทยุขนาดเล็กหลายแห่งในภูมิภาค สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม รวมถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในท้องถิ่นและผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งบานปลายออกไปไม่สิ้นสุด อีกทั้งการปิดกั้นช่องทางการสื่อสารยิ่งเป็นการผลักดันให้ผู้เห็นต่างทางการเมืองต้องต่อสู้ในวิถีทางใต้ดิน การที่รัฐตรวจค้น จับกุม ยึดเครื่องมือสื่อสาร ปิดสถานีวิทยุชุมชนด้วยข้ออ้างว่าไม่มีใบอนุญาตนั้นเป็นสิ่งที่ขัดต่อนโยบายของรัฐ เนื่องจากมติ ครม. ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๘ และ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ได้ผ่อนผันให้วิทยุขนาดเล็กในท้องถิ่นเหล่านี้ดำเนินการได้ชั่วคราวจนกว่าจะมีกระบวนการให้ใบอนุญาต และขณะนี้อนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ซึ่งทำงานร่วมกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อออกใบอนุญาตชั่วคราวตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เนื่องเพราะในระยะหลายปีที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลใดผลักดันให้มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ ทุกอย่างจึงอยู่ในสภาวะสุญญากาศตลอดมา ดังนั้น การสั่งการให้ปิดสถานีวิทยุขนาดเล็กในท้องถิ่นบางแห่งด้วยเหตุผลทางการเมืองของรัฐ นอกจากจะขัดกับหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารแล้วยังเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะการมุ่งดำเนินคดีกับเครือข่ายวิทยุที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ย่อมนำไปสู่แรงต้านที่มากขึ้น ทั้งนี้การสร้างความสมานฉันท์ในสังคม รัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนับสนุนให้ประชาชนทุกกลุ่มได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเสมอภาคกัน คปส. เห็นว่าปัจจุบัน แนวโน้มการใช้อำนาจคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมืองกำลังไต่ระดับความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การปิดกั้นช่องทางการสื่อสาร การข่มขู่คุกคาม ให้ร้าย จนกระทั่งการลอบสังหารนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ดังเช่นกรณีการลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล ทั้งในฐานะเจ้าของกิจการสื่อมวลชนและหนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ย่อมเป็นเครื่องชี้วัดว่าการคุกคามได้ยกระดับความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากทุกฝ่าย ทั้งด้วยการใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจนอกวิถีประชาธิปไตย ซึ่งล้วนเป็นวิธีการใช้อำนาจที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและกระทบต่อความมั่นคงของชาติทั้งสิ้น คปส. จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังนี้ ๑. ขอให้รัฐบาลยุติมาตรการใด ๆ ก็ตามที่เป็นการปิดกั้นสื่อ โดยเฉพาะวิทยุชุมชน อินเทอร์เน็ต และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของประชาชนทุกกลุ่ม ในขณะเดียวกันรัฐควรสนับสนุนให้ประชาชนทุกกลุ่มได้มีโอกาสใช้สื่อของรัฐเพื่อถกเถียง แลกเปลี่ยนเพื่อแสวงหาจุดร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ๒. ขอให้อนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ได้ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และใช้อำนาจ กำกับดูแลวิทยุชุมชนอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ๓. ขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชน และประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง ขณะเดียวกันขอให้ทุกฝ่ายมีความอดทนอดกลั้นต่อกันและกันให้มากขึ้นในภาวะที่สังคมไทยอ่อนแออย่างมากในปัจจุบัน ๔. ขอให้สื่อสารมวลชนทุกแขนง รวมทั้ง วิทยุชุมชน และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เปิดพื้นที่ในการสื่อสารเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและความคิดเห็นที่หลากหลาย ร่วมกันลดอคติ ยุติการสร้างความเกลียดชัง และส่งเสริมแนวทางการแก้ปัญหาทางการเมืองโดยวิถีทางประชาธิปไตยและสันติวิธี ด้วยความสมานฉันท์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) ๒๑ เมษายน ๒๕๕๒ |