ที่มา Thai E-News
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
23 มีนาคม 2553นักวิชาการ นักศึกษา ภาคประชาชนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ออกมาจัดกิจกรรมเสวนาสถานการณ์การเมือง โดยมีทิศทางสนับสนุนความเคลื่อนไหวกลุ่มคนเสื้อแดงว่าการยุบสภาเป็นทางออกจากวิกฤต แต่อำมาตย์ไม่ยอมเพราะเสียหน้า เท่ากับยอมรับว่ารัฐประหาร19กันยาฯกับผลพวงล้มเหลว ขณะที่ได้เรียกร้องให้นักสิทธิมนุษยชน-เสื้อขาวเลิกดัดจริตเรียกร้องเฉพาะคนเสื้อแดงไม่ให้รุนแรง เพราะแท้จริงสื่อเป็นตัวเสี้ยมและรัฐเป็นผู้ก่อความรุนแรงตลอด ทำไมไม่ไปเรียกร้องสื่อกับรัฐซะที
มช.เสวนายุบสภา:ทางออกวิกฤติการเมืองไทย ?
เมื่อวานนี้(22 มีนาคม 2553)เวลา 13.30 น. ที่ ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดเสวนาเรื่อง ยุบสภา:ทางออกวิกฤติการเมืองไทย ? จัดโดย กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 40 เชียงใหม่ สำนักกระจายอำนาจและปกครองตนเอง และชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง โดยมีวิทยากรเข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ คือ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล นักวิชาการจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อ.ณัฐกร วิทิตานนท์ จากสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, อ.ชำนาญ จันทรเรือง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ยุบสภา เบี้ยเล็ก แต่มากมูลค่า
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล กล่าวว่า หากมองโดยทั่วไปแล้วการยุบสภาถือเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้โดยปกติ ประเทศใดในโลกก็มีการกระทำดังกล่าวนี้โดยเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในกรณีการเมืองไทยครั้งนี้การเรียกร้องให้มีการยุบสภานับเป็นสิ่งที่ยุ่งยากนัก เนื่องจากว่า หากทางรัฐบาลประกาศยุบสภา นั่นหมายความว่าทางรัฐบาลเองต้องเป็นฝ่ายสูญเสียเครดิต อันจะส่งผลกระทบทั้งตัวนายก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเอง กลุ่มพันธมิตรของรัฐบาล และกลุ่มพันธมิตรประชาชานเพื่อประชาธิปไตย ตลอดจนเป็นการตอกย้ำว่าการที่ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะ ไม่สามารถที่จะดันนาย อภิสิทธิ์ และพรรคร่วมให้เป็นรัฐบาลได้ตลอดรอดฝั่ง
นอกจากนี้ยังเป็นการมอบเครดิตให้แก่ทางด้าน พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร และฝ่ายพลังประชาชน และเป็นการสร้างมาตรฐานหรือการอ้างอิงที่ว่า ควรใช้อำนาจประชาชนที่ได้จากการเลือกตั้งเป็นตัวตัดสินความเป็นไปของประเทศ มิใช่ใช้อำนาจอื่นใดแทนอำนาจดังกล่าว
ว่าด้วยชัยชนะมิใช่หลักการ
นอกจากนี้ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การยุบสภาครั้งนี้ มิได้เป็นเรื่องของหลักการ หรือการขัดกันของเหตุผล แต่หากเป็นเรื่องของการแสดงพลังที่จะนำมาต่อสู้ ว่าฝ่ายใดมีกำลังเหนือกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นกำลังในส่วนความคิดการวางแผนการดำเนินการ กำลังทางด้านทหารหรือตำรวจ กำลังในด้านเงินทุน หรือแม้แต่กำลังในด้านประชาชน ซึ่งในตอนนี้ทางด้านเสื้อแดง มีแรงสนับสนุนทางด้านความรู้สึก ความโกรธและความมุ่งมั่นสูงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน
ส่วนทางด้านรัฐบาลตอนนี้เปรียบเหมือนฝ่ายที่คอยตั้งรับเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เป็นฝ่ายคุมเกม หมากที่จะใช้เดินของรัฐบาลน้อยเต็มที อีกทั้งยังต้องนำขุนออกทำศึกด้วย
ปราชัย มิได้หมายความว่าสูญเปล่า
ประเด็นต่อมาที่ รศ.ดร.ไชยันต์ ได้กล่าวถึงคือเรื่อง บทสรุปของเหตุการณ์ดังกล่าวว่า แม้ทางรัฐบาลไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องในเรื่องการยุบสภา หรือมีวิธีการอื่นใดอันเป็นบทสรุปของเหตุการณ์ดังกล่าวในครั้งนี้ ในความเห็นของรศ.ดร.ไชยันต์ ก็ไม่ถือว่าฝ่ายที่เรียกร้องให้ยุบสภาได้รับความปราชัย แต่อย่างใด เนื่องจากการกระทำทั้งหลายที่ผ่านมาในช่วง 2-3 ปี ถือได้ว่าเป็นการสั่งสมรากฐานอันยิ่งใหญ่ และถือเป็นความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย
สังคมวิกฤติ เพราะคนถูกพลักอยู่นอกสังคม
ทางด้าน รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ กล่าวว่า สังคมเกิดวิกฤติ เพราะเราไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหา และหาทางออกไม่ได้ ทางด้านรัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ ที่มาของการเกิดวิกฤตินี้เกิดขึ้นเพราะความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้ ได้ก่อให้เกิดคนกลุ่มใหม่ที่อยู่นอกโครงสร้างทางสังคม สังคมไพร่ อำมาตย์ ยังดำรงอยู่ สังคมชาวนาไม่ค่อยมี ไม่มีหนทางที่จะนำคนเหล่านี้เข้ามาได้นอกจากการเลือกตั้ง การปฏิเสธประชาธิปไตย เท่ากับปฏิเสธการนำคนกลุ่มนี้เข้ามา ทางออกคือการยุบสภา ไม่มีทางออกทางอื่น เราต้องแข่งกันด้วยอุดมการณ์ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน
นอกจากนี้ทาง รศ.ดร.อรรถจักร ในนามของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้เสนอหลักการเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
ประการแรก รัฐบาลต้องประกาศการยุบสภาภายในระยะเวลา 3 เดือน
ประการที่สอง รัฐสภาต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เป็นปัญหาเฉพาะ หน้าให้แล้วเสร็จภายในห้วงระยะเวลานี้ เพื่อให้เกิดกติกาของการเลือกตั้งซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ในระหว่างนักการเมือง ด้วยกัน
ประการที่สาม พรรคการเมืองต้องเจรจาเพื่อให้เกิดการยอมรับวิถีทางพื้นฐานของการเลือก ตั้ง เปิดโอกาสให้มีการหาเสียงของทุกพรรคการเมืองได้อย่างกว้างขวางในทุกพื้นที่
ประการที่สี่ ภายหลังการเลือกตั้งต้องยอมรับการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นไปภายใต้ระบบของ ประชาธิปไตย ไม่มีการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบ
ความขัดแย้งในเรื่องประชาธิปไตย
อ.ณัฐกร วิทิตานนท์ มีความเห็นว่า วิกฤติที่มีในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งระหว่างพวกเอา กับไม่เอาประชาธิปไตย ถึงแม้ชาวบ้านจะเข้าใจประชาธิปไตยอย่างผิวเผิน แต่ชาวบ้าน ก็ไม่เคยปฏิเสธหรือทำลายประชาธิปไตย ฝ่ายที่ไม่เอาประชาธิปไตยไม่ใช่ชาวบ้าน หากแต่เป็นพวกคนมีอำนาจ พวกชนชั้นสูง กองทัพ และ ศาล
ดังนั้นทางออกทางเดียวของวิกฤติดังกล่าวคือการยุบสภา เพราะการยุบสภาจะไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง แต่ทั้งนี้การเลือกตั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากยุบสภานั้น จะต้องมีการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมต่างๆที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งเป็นไปโดยยุติธรรมด้วย อาทิเช่นรัฐธรรมนูญ 50 ที่ไม่เอื้อต่อการตั้งนโยบายของพรรคต่างๆ กองทัพทหารที่จำต้องลดอำนาจลงเพื่อมิให้เอื้อต่อการปฏิวัติ คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ต้องมาจากประชาชน มิใช่มาจากการสอบคัดเลือก ฯลฯ
นอกจากนี้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จากสถิติการยุบสภา ทั้ง หมด 12 ครั้งในประเทศไทย มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่เกิดจากปัจจัยภายนอก คือเมื่อครั้งนายกทักษิณ ชิณวัตร เมื่อวันที่ 24 กุมภา 2549 นอกจากนั้นการยุบสภาเกิดจากความขัดแย้งภายในทั้งสิ้น ดังนั้นอ.ณัฐกรจึงมีความเห็นว่าการยุบสภาในครั้งนี้อาจเป็นไปได้ยากยิ่ง
การเปลี่ยนแปลง
ทางด้าน รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้มีความเห็นเกี่ยวกับวิกฤติการเมืองครั้งนี้ว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีการเมืองค่อนข้างล้าหลัง เต็มไปด้วยปัจจัยที่สลับซับซ้อน แต่ถกเถียงกันเพียงเรื่องไม่กี่เรื่อง การกระจายอำนาจไม่มี การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ก็ไม่มี การปกครองท้องถิ่นก็ต้องรอคอยคำสั่ง มหาวิทยาลัยมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในด้านการทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ และด้านเวทีให้ความรู้ อีกทั้งยังเกรงกลัวเรื่องการแทรกแซงจากองค์กรต่างๆ
ดังนั้นประเทศไทยควรที่จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่หากการเปลี่ยนแปลงนั้นควรที่จะค่อยๆเปลี่ยนแปลง ค่อยๆแก้ไขไปทีละนิด แม้การยุบสภาเป็นเรื่องง่ายแต่ความสลับซับซ้อนมีมาก ปัจจัยที่ส่งเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวมีมาก ทุกท่านต้องเปิดใจกว้าง ฟังความหลายๆฝ่าย หากผ่านตรงนี้ไดประเทศไทยจะพัฒนาทางด้านการเมืองได้อีกมากมาย
ม.อุบลฯ:สำนึกไพร่ปะทะอำมาตย์ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้?
เมื่อบ่ายวันที่ 22 มีนาคม ณ ห้องประชุมคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กลุ่มชาวอุบลผู้รักความเป็นธรรม ประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักศึกษา ตัวแทนองค์กรอิสระและประชาชนผู้สนใจประมาณ 50 คน ได้จัดการเสวนาสถานการณ์ทางการเมืองในหัวข้อ “ สำนึกไพร่ปะทะอำมาตย์ สังคมไทยกับการเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้? ” เพื่อทำความเข้าใจและประเมินสถานการณ์การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในขณะนี้
วงเสวนาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นความตื่นตัวของประชาชนอย่างกว้างขวาง การเคลื่อนไหวคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯได้รับการตอบรับจากชาวกรุงเทพฯอย่างน่าพอใจ แต่รัฐบาลกลับยังไม่ยอมรับความจริงหากยังดึงดันที่จะไม่ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน อีกทั้งยังมีความพยายามสร้างสถานการณ์ความรุนแรง และเพิ่มกองกำลังทหาร ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม
ในส่วนของสื่อมวลชนที่อยู่ในควบคุมของรัฐนั้น ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงของกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างตรงไปตรงมา หากมีก็บิดเบือนและเป็นพื้นที่เพียงน้อยนิด คำถามคือ เราจะมีวิธีการอย่างไรให้สื่อนำเสนอเรื่องราวของคนเสื้อแดงอย่างมีจรรยาบรรณของสื่อ ท่ามกลางสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานที่รัฐบาลมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงเช่นนี้ กลุ่มนักสันติวิธี หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมองทำอะไรกันอยู่ ทำไมไม่ตั้งคำถามหรือเรียกร้องกับรัฐและกับสื่อบ้าง
“ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นล่างกับกลุ่มอำมาตย์เป็นการต่อสู้อันยาวนาน กลุ่มอำมาตย์ได้บั่นทอนเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การต่อสู้ของคนเสื้อแดงในเวลานี้ ถือเป็นการต่อสู้ในขั้นเผชิญหน้าและประชิตตัว ระหว่างผู้ถูกกดขี่กับผู้กดขี่ เป้าหมายของคนเสื้อแดงคือการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม ประเทศนี้อำนาจต้องเป็นของประชาชน”
กลุ่มชาวอุบลผู้รักความเป็นธรรม จึงมีความเห็นและขอเรียกร้องต่อสังคมดังนี้
1.ขอประณามการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่บิดเบือนให้ร้ายการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงขอให้ประชาชนผู้รักความเป็นธรรมร่วมสังเกตการณ์การบิดเบือนการนำเสนอข่าวของสื่อที่อยู่ในการครอบงำของรัฐ และร่วมกันหาช่องทางในการเสนอข้อมูลข่าวที่เป็นจริงให้หลากหลายที่สุด
2.ขอให้ประชาชนผู้รักความเป็นธรรม ร่วมกันจับตาการสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดความรุนแรงโดยรัฐ ตลอดจนร่วมกันเรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา
3.ขอเรียกร้องให้กลุ่มนักสันติวิธี ออกมาตรวจสอบการกระทำของรัฐ และสื่อมวลชน ที่บิดเบือนความจริง สร้างสถานการณ์ และยั่วยุ เพื่อปูทางไปสู่การปราบปรามคนเสื้อแดง แทนที่จะมาเรียกร้องสันติวิธีจากคนเสื้อแดงแต่ฝ่ายเดียว
4.ขอเรียกร้องให้นักศึกษา ปัญญาชน และประชาชนผู้รักความเป็นธรรมทุกหมู่เหล่า ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองร่วมกับพี่น้องประชาชนรากหญ้าที่ถูกลิดรอนศักดิ์ศรีของความเป็นคนให้เร็วที่สุด
ด้วยศรัทธาพลังของไพร่
กลุ่มชาวอุบลผู้รักความเป็นธรรม
22 มีนาคม 2553
ลงนามโดยพรเวศ คนล่ำ สถาบันเพื่อการพัฒนาเยาวชนแห่งประเทศไทย(สยท.)
สุมาลี เกตรัตนัง สถาบันเพื่อการพัฒนาเยาวชนแห่งประเทศไทย(สยท.)
วรเมศ คุณสมบัติ สถาบันเพื่อการพัฒนาเยาวชนแห่งประเทศไทย(สยท.)
ดารารัตน์ กันทวงค์ กลุ่มนักพัฒนารุ่นใหม่ จ.สุรินทร์
สุธาทิพย์ ชูกำแพง กลุ่มนักพัฒนารุ่นใหม่ จ.สุรินทร์
วีระ ทนงค์ นักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบล
มนัส ทองชื่น นักศึกษา คณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบล
พงศธร วงศ์พิทักษ์ นักศึกษา คณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบล
ธานี นามวงศ์เนาว์ กลุ่มคนหนุ่มสาวกะเลิง ม.อุบล
นิรัตติสัย ขันทอง กลุ่มเยาวชนลุ่มน้ำโขง
ธีระพล โททัดสะ กลุ่มนักศึกษาอิสระ ม.อุบล
นพรัตน์ เหล่าชัย กลุ่มนักศึกษาอิสระ ม.อุบล
วิมล สามสี กลุ่มคนรุ่นใหม่ยโสธร
วิทยา ใจคำ กลุ่มนักศึกษาลาวดำ ม.อุบล
ศุภกร บุญขาว กลุ่มเยาวธาร ม.อุบล
ธนวัฒน์ ศรีลาชัย กลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิต ม.อุบล
นักวิชาการม.ขอนแก่นเสวนา : “อำมาตยาธิปไตยกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน”
วันนี้( 23 มีนาคม )ที่ห้องประชุมสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น16.00 - 16.30 ลงทะเบียน
6.30 – 19.00 เสวนา “อำมาตยาธิปไตยกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน
- รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
-อ. มานะ นาคำ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- รศ.น.พ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
-นายอิทธิพล โคตรมี นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม (อยู่ระหว่างการติดต่อ)
ดำเนินรายการโดย นายอนิวัฒน์ บัวผาย นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น