ที่มา ประชาไท ความเห็นตรงไปตรงมาของ ‘สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี’ เสื้อแดงยังไม่เข้มแข็งพอที่จะเผด็จศึกได้ในคราวเดียว ความจริงการมาครั้งนี้ ควรจะได้ตกลงกันตั้งแต่ต้นว่า มันไม่ใช่ “สงครามครั้งสุดท้าย” แต่ควรเป็นการเข้ามาเพื่อหยั่งกำลังข้าศึกมากกว่า เพราะคนเสื้อแดงควรจะได้เข้าใจสถานการณ์ของตัวเองว่า กองทัพที่เพิ่งจะก่อตัวขึ้นมาครั้งใหม่หลังจากถูกตีแพ้ราบคาบไปเมื่อสงกรานต์ปีกลายนั้น ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะเผด็จศึกได้ในคราวเดียว ผู้นำทัพที่ดีควรจะรู้จักถอยในทางยุทธวิธี (technical retreat) เพื่อทนุถนอมกำลังพล และปรับสภาพกำลังรบหลังจากที่มองเห็นจุดอ่อนจุดแข็งของศัตรูพอประมาณแล้ว การเคลื่อนทัพแดงคราวนี้ ยังไม่ได้ทำให้ศัตรูเพลี่ยงพล้ำ แต่ก็ทำให้ฝ่ายแดงได้บทเรียนสำคัญอยู่หลายบท ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับการทำสงครามชนชั้นเพื่อโค่นล้มอมาตยธิปไตย อย่างที่ได้ตั้งใจไว้ (เว้นเสียแต่ว่า แกนนำจะพูดเรื่องนี้ออกมาแบบด้นๆ เดาๆ โดยไม่สำนึกว่า กำลังพูดอะไรอยู่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ต้องอ่านต่อ จบแค่นี้) สิ่งที่สามารถเก็บรับเป็นบทเรียนสำหรับการเคลื่อนไหวคือ เริ่มมีคนมองเห็นแล้วว่า การตื่นตัวของชนชั้นล่างอันเป็นผลมาจากความอยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวจริงๆ สังเกตได้จากอาการทุรนทุรายของ ชนชั้นสูงในสังคม ที่ได้เที่ยวพากันออกมาปฏิเสธ เรื่องไพร่ เรื่องอมาตย์กันยกใหญ่ รัฐบาลและสื่อมวลชนที่เป็นกระบอกเสียงรัฐบาลได้พากันออกมาหาคำอธิบายเพื่อกลบเกลื่อน โครงสร้างสังคมแบบเจ้าขุนมูลนายกันจ้าละหวั่น บางรายเป็นเอามากขนาดเปิดพจนานุกรมอธิบายศัพท์กันเลยเพราะไม่รู้จะอธิบายมันอย่างไร นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งชั่วชีวิตของเขาไม่มีทางแยกแยะความแตกต่างระหว่างต้นข้าวกับต้นหญ้าได้ ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเขาได้แสดงความตื้นเขินของความรู้เกี่ยวกับชนชั้นในสังคมไทยออกมาอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อเขาพยายามตอบโต้ว่า พวกไพร่แดงมาต่อสู้เพื่ออมาตย์ทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งน่าจะมีความเป็นอมาตย์มากกว่าตัวเขาเองเสียด้วยซ้ำ ในทางการเมืองแล้ว สิ่งที่เสื้อแดงนำเสนอนั้น กระทบจริตของชนชั้นสูงเข้าอย่างจัง แต่ปัญหาใหญ่ของฝ่ายเสื้อแดงเองคือ ไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า ข้อเสนอเรื่องการยุบสภาของเขานั้น แก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอมาตย์กับไพร่ได้อย่างไร อันที่จริงวาทกรรม “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” นั้น ชัดเจนเพียงพอ และมันช่วยขจัด “อมาตย์” ออกไปจากสังคมการเมืองได้ สิ่งที่คนเสื้อแดงควรจะชี้ให้สังคมเห็นคือ สิทธิของพวกเขาในการเลือกผู้นำทางการเมืองควรจะมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันกับชนชั้นสูงในสังคม หมายความว่า เมื่อประชาชนเลือกใครให้ชนะการเลือกตั้ง คนนั้นไม่ว่าจะดีหรือเลว ควรจะได้รับสิทธิในการบริหารประเทศไปจนสิ้นระยะเวลาตามที่ได้ตกลงกันไว้ การใช้อำนาจทางทหารก็ดี อำนาจทางกฎหมายที่มิชอบก็ดี มาบิดเบือนอาณัติทางการเมือง (political mandate) ที่ประชาชนมอบให้นักการเมืองของเขาผ่านการเลือกตั้งมานั้น เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เรื่องพวกนี้อธิบายให้เห็นจริงได้ แต่น่าเสียดาย แกนนำบนเวที พูดจาเปะปะ เสียเวลาไปกับการด่าทอ แทนที่จะสรรหานักพูดเก่งๆ มาตีโต้ วาทกรรม “คนดี” (a few good men) ที่พวกอมาตย์เสนอกรอกหูคนอยู่ทุกวัน ยิ่งพูดเรื่องนี้ได้ชัดเจนเท่าไหร่ ก็จะได้ผลดีทางอ้อมด้วย เพราะมันจะช่วยให้การจัดความสัมพันธ์กับทักษิณได้ดีขึ้น ก็ไม่มีใครปฏิเสธหรอกว่า คนเสื้อแดงกับทักษิณนั้นแทบจะเป็นคอหอยกับลูกกระเดือกกัน แต่ปัญหาคือทักษิณนั้น ถ้าคิดแบบบัญชีก็เป็นหนี้สิน (liability) มากพอๆ กับเป็นทรัพย์สิน (asset) การพูดเรื่องหลักการมากๆ จะทำให้ฝั่งที่เป็นหนี้สินของทักษิณน้อยลง (หวังว่าแกนนำจะเข้าใจและพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง) ประการต่อมา เรื่อง สองมาตรฐาน (double standard) เป็นสิ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กินใจชนชั้นกลางอย่างมาก และถ้าหากจะสามัคคีชนชั้นกลางแล้วไซร้ ใยไม่อภิปรายเรื่องนี้เพิ่มเติมให้เห็นประจักษ์และสิ้นสงสัยกันไปเลย กรณีเขายายเที่ยงของพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ อมาตย์ใหญ่นั้น เป็นประเด็นที่ทำให้เสื้อแดงได้รับความเห็นอกเห็นใจจากคนทั่วโลกมาแล้ว ในประเทศไทยยังมีประเด็นแบบนี้อีกเป็นพะเรอเกวียน ใยไม่หยิบขึ้นมาพูดบนเวที การพูดเรื่องนี้ให้ประจักษ์จะทำให้ชนชั้นกลางในเมืองหลวงได้อายว่า พวกเขาถูกชนชั้นสูงหลอกหลวงมานานแสนนาน และพวกเขากำลังสนับสนุนสิ่งที่ผิด ประการที่สาม มาคราวนี้ กองทัพแดงทำได้ดี (หวังว่าคงไม่ดีแตก) ในเรื่องมาตรฐานศีลธรรมของการเคลื่อนไหวมวลชน การไม่ไปเที่ยวปิดล้อมที่โน่นที่นี่ หรือยึดสถานที่นั่นนี่โน่น ได้ช่วยทำให้มาตรฐานทางศีลธรรมสูงกว่าอีกพวกหนึ่งอย่างมโหฬาร การไม่ไปยึดอะไรเลย ไม่เพียงทำให้ไม่มีคดีติดตัวเท่านั้น ยังช่วยทำให้มีแต้มต่อทางการเมืองได้อีกด้วย เพราะยิ่งรัฐบาลแสดงอาการ โอเวอรีแอก (over react) เท่าใด ฝ่ายแดงก็สร้างคะแนนทางการเมืองได้มาก แน่นอนเรื่องนี้อาจจะไม่ถูกใจแดงสายเหยี่ยว แต่ช่วยไม่ได้ เพราะต้องเข้าใจว่า การเมืองสมัยใหม่ เขาสู้กันเพื่อให้ได้พื้นที่ทางการเมืองในความรับรู้ของสาธารณะ (political space in public perception) เรามีบทเรียนกันมามากแล้วจากคณะก่อนที่ได้เที่ยวไปยึดพื้นทางกายภาพที่นั่นที่นี่วุ่นวายไปหมด แต่เสียพื้นที่ทางการเมืองไปจม จนเท่าทุกวันนี้ บางคนได้เป็นถึงรัฐมนตรี เจอฝรั่งถามยังตอบคำถามไม่ได้เลยว่า ปิดสนามบินแล้วประชาธิปไตยไทยพัฒนาไปมากแค่ไหน และอีกอย่างเสื้อแดงจะไปเอาอย่างคณะนั้นก็ไม่ได้ เพราะไม่มีคนคอยแก้ต่างให้ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่ว่ามาข้างต้นถึงจะเป็นแต้มต่อ แต่ก็ไม่สามารถทำให้เสื้อแดงเผด็จศึกได้ด้วยการชุมนุมเพียงคราวเดียว เพราะต้องเข้าใจว่า ในการเมืองที่เป็นจริงนั้น คนที่จะทำให้รัฐบาลปัจจุบันนี้พังได้มีแค่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มพี่ห้อย พี่หาร และ กลุ่มพี่ป้อม พี่ป๊อก ถ้าพวกเขายังอยู่กันดีหรือยังดีกันอยู่ พี่มาร์กของเราก็อยู่ได้จนหมดวาระของสภาชุดนี้แน่นอน วิธีโง่งมของพวกสายเหยี่ยวที่จะใช้กำลังเข้าชิงเอานั้น นอกจากจะไม่สำเร็จแล้ว ยังจะเป็นการฆ่าตัวตายอีกด้วย เมื่อมาอยู่ได้ถึง 2 สัปดาห์แล้ว ไม่สามารถรุกคืบไปได้อีก ใยกองทัพแดงไม่พิจารณาการถอยทางยุทธวีธีเพื่อปรับปรุง และขัดเกลาอาวุธสองสามประการดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นให้แหลมคมขึ้นบ้างเล่า พูดกันแบบไม่เกรงใจ เสื้อแดงคราวนี้ เตรียมกำลังมาดีอย่างเดียว พื้นฐานอย่างอื่นแย่หมด (ดูเหมือนไม่ได้เตรียมมาเลยด้วยซ้ำ) ไม่ว่าจะเป็นทั้งในแง่ยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ในแง่ยุทธศาสตร์นั้น คนเสื้อแดงก็ไม่ได้วางเอาไว้ว่า “การล้มอมาตย์” นั้นจะมีเส้นทางยาวไกลเพียงใด ต้องผ่านขั้นตอนใดบ้าง ไม่มีใครตอบได้สักคนว่า ข้อเสนอเรื่องการยุบสภานั้น มันจะล้มอมาตย์ได้อย่างไรและทำไมต้องยุบสภาตอนนี้ ความแตกต่างระหว่างการยุบสภาตอนนี้กับการปล่อยให้อภิสิทธิอยู่ในอำนาจไปอีกปีกว่าๆ มีมากน้อยเพียงใด ข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงการสร้างการเมืองแบบอมาตยาธิปไตยเป็นอย่างไร เห็นทีเรื่องนี้ คนเสื้อแดงต้องกลับไปทำการบ้านมาใหม่ และยุทธศาสตร์เพื่อการเอาชนะอมาตย์เป็นอย่างไร ต้องสามัคคีกับใครบ้าง ใครเป็นมิตร ใครเป็นศัตรู ในแง่ยุทธวิธีนั้น จับไต๋ได้เลยว่า อับจนกันเอามากๆ เพราะด้นสดกันไปวันๆ เท่านั้นเอง การดูดเลือดไปเททิ้ง ทำไปทำไม การเดินขบวนทั่วกรุงตอบคำถามอะไรในทางยุทธศาสตร์ ขอบคุณคนกรุงด้วยการรบกวนชีวิตประจำวันเขานั้น จะได้คะแนนจากพวกเขาได้อย่างไรกัน โกนหัวกันไปทำไม ประชดใคร บนเวทีในแต่ละวัน หาประเด็นใหม่ไม่ได้เลย จตุพร พรมพันธ์ ณัฐวุฒิ ใสเกื้อ วีระ มุสิกพงศ์ ขึ้นเวทีคืนละหลายรอบ เพื่อพูดเรื่องเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมาทำไม หรือว่า ไม่มีใครแล้ว ทำไมไม่คิดถึงการสร้างความหลากหลายของการแสดงบนเวทีบ้าง ต้องเห็นใจมวลชนบ้าง จะให้พวกเขาทนนั่งดู นั่งฟัง เรื่องซ้ำๆ ทั้งวันทั้งคืน ไปนานสักเท่าใด นักร้องลูกทุ่ง ศิลปินพื้นบ้าน นั่นดีแล้ว (เพราะไม่ดัดจริตเหมือนพวกเพื่อชีวิต) แต่ต้องมากกว่านี้ ทั่วประเทศไทยมีตั้งมากตั้งมาย ทำไมไม่ไปหามาเล่น มีอยู่คืนหนึ่งทำได้ดีมาก คือคืนที่ ดาว บ้านดอน ขึ้นเวที ร้องเพลงคนขี่หลังควายนั้น มันประชันกับฝั่งรัฐบาลได้อย่างดีเลย เพราะเวลาเดียวกันนั้น ช่อง 11 เขาพูดเรื่องการลดทอนความยากจนพอดี เห็นได้ชัดว่า เพลงคนขี่หลังควายเพลงเดียว กินใจกว่าคำอภิปรายเรื่องชุมชนพอเพียงของนายกอภิสิทธิอย่างมาก แต่ก็น่าเสียดาย ที่ทำกันได้แค่นั้น เรื่องพวกนี้ เป็นยุทธวิธี แต่ก็ต้องคิดอย่างเป็นยุทธศาสตร์ด้วย ไม่ใช่เล่นแค่สนุกๆ ข้อเสนอ ถ้าเป็นไปได้ การเดินขบวนวันเสาร์ที่ 27 มีนาคมที่จะถึงนี้ ควรเป็นการบอกลาและขอบคุณคนเมืองหลวง ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ส่วนใหญ่ก็คนบ้านเดียวกันทั้งนั้นแหละ (ไม่ว่าอ้ายทิดเคนจะเข้ามาขับแท็กซี่นานแค่ไหน แกก็เป็นคนร้อยเอ็ดอยู่ดี) แล้วกลับไปทบทวนแนวทางการต่อสู้ใหม่ ปรับปรุงยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ใช้โมเมนตัมจากการสะสมในคราวนี้มานำเสนอใหม่ กลับมาใหม่หลังสงกรานต์ แล้วสร้างนวตกรรมใหม่ในการต่อสู้บนท้องถนนให้ลือชื่อไปเลยจะดีกว่า เชื่อเถอะ อยู่อย่างนี้ต่อไป ไม่ชนะหรอก ------------------------- ปล. พอกันทีกับการละเมอหาอำนาจพิเศษจากสรวงสวรรค์ ไม่เวิร์ก ได้ไม่คุ้มเสีย คณะก่อนทำแบบนี้แหละ พาบ้านเมืองถอยหลังเข้าคลองจนทุกวันนี้ ยังไม่เห็นกันอีกหรือ