ที่มา ประชาไท อีกเสียงจากนักคิดคนหนึ่ง ที่ไม่ประสงค์จะออกนาม โดยใช้นามปากกาว่า ‘ประชาชนคนหนึ่ง’ เสนอให้ ‘ถอยทางยุทธวิธี’ เพราะการถอยในบางสถานการณ์หมายถึงชัยชนะที่มั่นคงในระยะต่อไป หากมองจากเวทีมวลชนคนเสื้อแดงซึ่งมีเนื้อหาเป็นการให้การศึกษาประชาชน ดูเหมือนสถานการณ์ไม่น่ากลัวนัก มีนักร้องศิลปินจำนวนไม่น้อยมาเข้าร่วมให้ความบันเทิงผ่อนคลาย ประชาชนในกรุงเทพฯ เข้ามาร่วมเพิ่มมากขึ้น ส.ส.มากมายมาอยู่ด้วย มีคนสำคัญมาเยี่ยมเยียน ประกาศตัวสนับสนุน ฯลฯ แต่หากดูข้อมูลจากสื่อในฝ่ายอำมาตยาธิปไตย เรื่องราวจะเป็นอีกแบบหนึ่ง พวกเขาเสนอคำอธิบายว่า เสื้อแดงเป็น “ม็อบรับจ้าง” “สร้างความรุนแรง” สร้างความเดือดร้อนให้คนกรุงเทพฯและสังคม และคนกรุงเทพฯ รำคาญที่รัฐบาลไม่สลายม็อบเสียที ดังนั้น จึงต้องปราบ (ฟังล่าสุดเมื่อ 25 มี.ค.53 จากวิทยุที่จัดโดยนักวิเคราห์หุ้นคนหนึ่งที่ขวาจัด) น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ สายเหยี่ยวตัวหลักอีกคน เคยให้สัมภาษณ์ยาวทาง ASTV ก่อนหน้าการชุมนุมของคนเสื้อแดงครั้งนี้ว่า ถึงจุดหนึ่ง รัฐบาลจะต้องพร้อมที่จะนำประชาชนมาทำสงครามประชาชนกับคนเสื้อแดง ประชาชนจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องสถาบันกษัตริย์ (ตามตรรกะที่แกนนำพันธมิตรฯบอกประชาชน เสื้อแดงต้องการสร้างระบอบสาธารณรัฐ) ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยคิดอย่างไร? จะยุบสภาไหม? จะเจรจาโดยสันติไหม? มองจากยุทธศาสตร์หลักซึ่งไม่เคยมีข้อมูลชี้ไปในทางเปลี่ยนแปลงเลย และดูจากข้อมูลการข่าวการก่อวินาศกรรมถี่ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และเชียงใหม่ การปิดกั้นสื่อ ผู้เขียนสรุปได้ว่า ไม่ต้องพูดถึงการยุบสภา ทางเลือกอันดับต้นๆ อำมาตยาธิปไตยคิดถึงการใช้วิธีรุนแรงกับเสื้อแดงอย่างแน่นอน เวลาใดที่เหมาะ? จากมุมของอำมาตยาธิปไตย “เร็วที่สุด เท่าที่จะเร็วได้” เหตุผลง่ายๆ เพราะยิ่งปล่อยเวลาเนิ่นนานไป ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยยิ่งเพลี่ยงพล้ำ ตกเป็นฝ่ายตั้งรับมากยิ่งขึ้น ประชาชนจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่กลุ่มเสื้อแดงมาเปิดเผย เปิดโปง ทำวันไหน เวลาไหน? คิดจากวันอาทิตย์ที่แล้ว (21 มีนาคม 2553 ) ขนาดมีคนออกมามากในกรุงเทพฯ วันเสาร์ที่ 20 แต่ข่าวที่ปรากฏตามสื่อไม่น้อย บางช่องเกือบทุกระยะทั้งวัน คือข่าวการก่อวินาศกรรม จนทำให้ ณ เวลานั้น ประเมินได้ว่าสถานการณ์การปราบ อาจเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 22 หรือ 23 ก็เป็นไปได้ แต่เรื่องดูซาไป จนคล้ายความเป็นไปได้ในการปราบปรามจะน้อยลงหรือไม่มี ใครคิดว่าอำมาตย์ยึดถือหลักการสลายฝูงชนตามแบบประเทศประชาธิปไตย ให้ระลึกถึงเหตุการณ์เมษาปีที่แล้ว ใครคิดอำมาตย์น่าจะปรับกลยุทธ์ใหม่ ให้คิดถึงผลประโยชน์ในกองทัพที่มากมายมหาศาลที่จะสูญไป ใครคิดว่าอำมาตย์จะกลับใจ ให้คิดถึงการที่เขาไม่ยอมรับข้อเท็จจริงว่า ไม่มีนายกรัฐมนตรีอยู่ในรถคันที่ถูกทหารปลอมตัวเป็นเสื้อแดงไปทุบ สำหรับฝ่ายเสื้อแดงเอง การชุมนุมครั้งนี้นับว่าได้บรรลุเป้าหมายสำคัญมากแล้ว กล่าวได้ว่า สิ่งที่มีคุณประโยชน์สูงสุดเท่าที่ควรจะได้ นับว่าได้มาแล้ว คนเสื้อแดงสามารถก่อกระแสการเคลื่อนไหวและผลสะเทือนขนานใหญ่อย่างสงบ สันติ พูดง่ายๆ สมมุติแม้กระทั่งถ้าไม่มีการชุมนุมวันที่ 27 ก็ไม่ได้ทำให้เสียหายเลยแต่อย่างใด การที่รัฐบาลไม่ยอมยุบสภา แต่การชุมนุมยุติไปเองเพื่อรักษาชีวิตผู้คน ถนอมกำลังขบวนการต่อสู้ ไม่ถือว่าพ่ายแพ้ นี่เป็นประเด็นที่อาจต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน การต่อสู้แบบสันติวิธีมีลักษณะสำคัญคือ ต้องใช้เวลา ไม่มีทางที่ผู้ที่กุมสถานภาพเดิมที่เป็นอยู่จะยอมแพ้อย่างง่ายๆ เขาดิ้นรนทำมาหลายปีมานี้ เรื่องอะไรเขาจะมาเปลี่ยนใจง่ายๆ ต่อให้ประชาชนครึ่งค่อนประเทศออกมา เขาก็มองว่า “พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไม่มีความคิด เดี๋ยวดึงพวกนี้ให้เปลี่ยนใจได้” แกนนำฝ่ายเสื้อแดงต้องให้การศึกษาประชาชนมากขึ้นเกี่ยวกับสันติวิธี หัวใจสำคัญหนึ่งของสันติวิธีคือ การสามารถสื่อสารความคิด เหตุผลต่างๆ ไปยังประชาชนที่เหลืออีกมากในสังคม ซึ่งประเมินได้ว่า เวลานี้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้ว แต่ก็เช่นกัน ยังมีประชาชนอีกบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจความจริง คำถามคือ จะทำอย่างไร? จำเป็นไหมที่จะสู้ยืดเยื้อที่ราชดำเนิน การต่อสู้อาจต้องพลิกแพลงไปที่อื่นไหม? ถ้าแกนนำฝ่ายเสื้อแดงเห็นว่า สิ่งที่มีคุณประโยชน์สูงสุดเท่าที่ควรจะได้ นับว่าได้มาแล้ว ก็สมควรยอมถอยชั่วคราวภายหลังการชุมนุม 27 มีนาคม อาจเป็นอย่างช้าสุดครบรอบเหตุการณ์สงกรานต์เลือด การถอยในทางยุทธวิธีไม่ได้หมายความว่าแพ้ การถอยในบางสถานการณ์หมายถึงชัยชนะที่มั่นคงในระยะต่อไป
อำมาตย์-อำมหิต
สถานการณ์เฉพาะหน้าเข้าข้างคนเสื้อแดงตรงวันที่ 27 มีนา มีการประชุมรัฐสภาโลก ความเป็นไปได้ที่อำมาตย์จะปราบ จำต้องกระทำภายหลังจากนั้น หลังจากปูพรมการสร้างสถานการณ์ไปช่วงหนึ่ง ถ้าพวกเขาจะเข้ามาสลาย จะเป็นเวลาเช้ามืด ตีสามค่อนตีสี่ เวลาที่คนอ่อนเพลียหรือกำลังหลับลึก (เหมือนการล้อมปราบที่ธรรมศาสตร์เช้ามืดวันที่ 6 ตุลา 19 การปราบที่สามเหลี่ยมดินแดงเมื่อ 13 เมษา 52) วิธีคิดของอำมาตย์ชี้นำโดยคนที่อำมหิตผิดมนุษย์สามัญ คนที่เชื่อมั่นในการใช้กำลังแบบเด็ดขาด มองประชาชนเป็นศัตรูคู่สงคราม คนที่ไม่เชื่อในกระบวนการประนีประนอม สันติ หรือกล้าแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผลตรงไปตรงมา แต่เชื่อว่าเขาเท่านั้นที่จะเป็นผู้ชนะฝ่ายเดียว อำมาตย์ไม่ใช่คิดแบบ ”พิราบ” (สันติ) พวกเขาคิดแบบ”เหยี่ยว” (ความรุนแรง) แต่ต้องกล่าวว่า ถึงอำมาตย์จะยึดแนวทางเหยี่ยว แต่พวกเขามีความเจ้าเล่ห์เพทุบายอย่างล้นหลาม