ที่มา thaifreenews
แม้ว่าจะเป็นคำไทยที่บัญญัติใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ
แต่คำว่า "ไพร่" กลับมีการนำมาใช้เป็นวาทกรรมของคนเสื้อแดง โดยคนที่นำคำคำนี้มาใช้บนเวทีคนเสื้อแดงเป็นคนแรกคืออดีต "ดาวสภาโจ๊ก" ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
หลังจากที่เขาจุดพลุ "สงครามชนชั้น" โดยขมวดภาพคู่ต่อสู้ในเกมให้ชัดเจนสองมุมคือ "อำมาตย์" กับ "ไพร่"
น่าสนใจว่าชุดความคิดที่อยู่เบื้องหลังคำว่า "ไพร่" คืออะไร
ผมพูดเรื่องไพร่ เรื่องชนชั้นครั้งแรกที่เวที จ.นครราชสีมา เมื่อต้นเดือนมี.ค. 2552 ก่อนเดือนเม.ย.เลือด
พอวันรุ่งขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ (ชินวัตร) โทรศัพท์มาถามผมเฮ้ย ณัฐวุฒิ คุณพูดเรื่องอะไรไป
ผมก็บอกว่าเปล่านี่ครับ ก็ปราศรัยธรรมดา แต่พูดเรื่องชนชั้นนิดหน่อย
พ.ต.ท.ทักษิณ บอกว่าคุณรู้มั้ยว่าสิ่งที่คุณพูดมีนักวิชาการสำคัญอีเมลมาหาผม มันใช่มาก
ถ้า ณัฐวุฒิ พูดแบบนี้ คนเสื้อแดงจะเพิ่มขึ้นมหาศาล จากนั้นที่ จ.ระยอง ผมก็พูดอีก
ท่านทักษิณ ก็นั่งฟัง
พอไปที่ จ.อ่างทอง คราวนี้ผมยกเรื่องรามเกียรติ์มาเปรียบเทียบ ว่าทศกัณฐ์ ที่คนมองว่าเป็นฝ่ายอธรรม ต้องแพ้พระราม ที่อยู่ฝ่ายธรรมะนั้นจริงๆ แล้วไม่ใช่ เหตุผลที่ทศกัณฐ์พ่ายแพ้เพราะไปสู้รบกับชนชั้นสูงจึงถูกกลุ้มรุมทำร้ายในที่สุด
สิ่งที่ทำให้คิด คำว่า "ไพร่-อำมาตย์"
เริ่มต้นมาจากผมพิจารณาปรากฏการณ์การต่อสู้ครั้งนี้แล้วพบว่าเราไม่ได้กำลังต่อสู้กับรัฐบาล
มันไม่ใช่เรื่อง "ทักษิณ" "อภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ประชาธิปัตย์ หรือ ไทยรักไทย แต่คำถามใหญ่ของสังคมไทยคือใครควรจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในสังคมไทย
ก่อนการรัฐประหารมีหลายคน หลายอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่ทหารกลุ่มเดียว มีกลุ่มพันธมิตรฯ ทำทาง พล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์) เดินสายใส่เครื่องแบบบรรยาย มีองค์กรอิสระทำงานให้ ศาลตุลาการทำอะไรแปลกๆ เราก็ตกใจว่าทำไมรัฐบาลพรรคเดียวที่มี 377 เสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์
แต่เหมือนตกอยู่ในวงล้อมของอะไรสักอย่าง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ไม่น่าจะมีอะไรล้มรัฐบาลได้
ยิ่งผมมาอยู่ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยิ่งรู้ว่ารัฐบาลขับเคลื่อนกลไกของรัฐไม่ได้เลย ง่อยเปลี้ยเสียขา เป็นอัมพาตไปหมด พอมาเป็นเสื้อแดง
ผมพูดเรื่อง "อำมาตยา" ชัดเจนที่สุด ต้นเดือนมี.ค. ที่เวที จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนช่วงเดือนเม.ย.เลือด
ทำให้เป้าอยู่ที่ "พล.อ.เปรม" วาทกรรมอำมาตยาก็เริ่มเคลื่อนตัวมา
ส่วนที่ว่าอะไรเป็นตัวชี้วัดว่าใครเป็น "ไพร่" ใครเป็น "อำมาตย์" นั่นคือรูปการณ์จิตสำนึก จิตสำนึกของไพร่ต้องยอมรับในความเสมอภาคและเท่าเทียม ไม่ดำรงชีวิตแบบอภิสิทธิ์ชน ไม่ใช้โอกาสที่ดีกว่าไปเบียดบังคนอื่นที่ด้อยกว่า ไพร่คือประชาชนธรรมดาที่เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
อาจจะถามว่า คุณทักษิณ ก็เคยเข้าหา รสช. ที่มาจากรัฐประหาร
และได้ทำให้ "ทักษิณ" ได้สัมปทานธุรกิจดาวเทียมก็เป็นจิตสำนึกอำมาตย์
แต่ผมคิดว่า ในวันนั้น "ทักษิณ" เป็นนักธุรกิจ สิ่งที่คิดผลกำไร เมื่อเห็นคณะปฏิวัติ จึงเข้าไปหาในสายตาผมจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ผมไม่ใช่นักอุดมคติแต่เป็นนักมองความจริง
เพราะธุรกิจก็ทำแบบนี้ ไม่ใช่แค่ทักษิณ นายทุนใหญ่ๆ ก็ยืนข้างคนมีอำนาจทั้งนั้น
แต่สิ่งที่เราดูคือคุณทักษิณ ในวันที่เป็นนักการเมืองเขาทำอย่างไรมากกว่า ทำไมสังคมไม่ตั้งคำถามบ้างว่าทำไมนายอภิสิทธิ์ ถึงต้องเอาดอกไม้ไปให้นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้สมรู้ร่วมคิดในการยึดอำนาจ
ขณะที่วันที่คุณทักษิณ เป็นนักการเมืองก็เข้าพบ พล.อ.เปรม จะเป็นส่วนหนึ่งของรูปการณ์จิตสำนึกอำมาตย์ใช่หรือไม่ ผมคิดว่า แรกๆ ก็จริง แต่สุดท้ายเมื่อพบว่าไม่ใช่ เขาก็ปฏิเสธ และเลือกที่จะหันมาสร้างความแข็งแรงเติบโตให้แก่ประชาชน เส้นทางชีวิตของคนตอนเป็นสิ่งหนึ่งทำอะไร และตอนเป็นอีกสิ่งหนึ่งทำอะไร
ที่ถามว่าถ้าทักษิณ ไม่ขัดแย้งกับ พล.อ.เปรม ก็คงไม่มาเป็นไพร่ในแบบที่คนเสื้อแดงกำลังพูดถึง
ผมเห็นว่า สิ่งที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กับ พล.อ.เปรม ขัดแย้งกันไม่ใช่ตัวตนของทั้งสองฝ่าย
แต่สิ่งที่ "ทักษิณ" ทำกับสิ่งที่ พล.อ.เปรม อยากให้เป็นมันไปด้วยกันไม่ได้
"ทักษิณ" ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน และใช้อำนาจการบริหารที่เขาได้มาสร้างความเติบโตให้ชาวบ้านอย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่ชนชั้นสูงมองว่าถ้าปล่อยให้ "ทักษิณ" ทำไปเรื่อยๆ ชนชั้นสูงกับชนชั้นล่างแคบลงๆ ต้องการให้มีคนจนไว้เพื่อให้เขาได้มีคนรวย ต้องการมีคนต่ำต้อยเอาไว้เพื่อให้เขาเป็นคนยิ่งใหญ่
ขณะที่ในประวัติศาสตร์กรณีคล้าย "ทักษิณ" ก็เคยมี ปรีดี พนมยงค์ ก็เป็นผลผลิตแห่งไพร่
ที่ต้องการให้ไพร่ด้วยกันเติบโต มีเค้าโครงเศรษฐกิจ แต่ชนชั้นสูงไม่เอาด้วยก็ต้องไป
เพราะบังอาจจะทำให้ไพร่เติบโต ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ก็ต้องไป
ไหนจะ จิตร ภูมิศักดิ์ เปลือง วรรณศรี กุหลาบ สายประดิษฐ์ อัศนี พลจันทร์ สังคมไทยสูญเสียคนเหล่านี้ไป
เพราะความคิดของคนเหล่านี้ต้องการจะผลักดันเพื่อนร่วมชนชั้นให้เติบโตขึ้น
ส่วนที่ถามว่า "ทักษิณ" เป็นเศรษฐี มีชีวิตหรูหราเป็นอำมาตย์ด้วยหรือไม่
ผมเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นไพร่ แต่เป็นไพร่ที่มีพลังในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แล้วต้องการทำให้ไพร่ด้วยกันลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ แถมมีสมอง มีความฉลาดก็ร่ำรวยขึ้นมา
แต่ไม่ได้ลืมความเป็นไพร่ มันถึงอยู่ไม่ได้ ความ "รวย" ความ "จน" ไม่ได้เป็นตัวชี้ขาดว่า
ใครเป็น "อำมาตย์" หรือเป็นไพร่ คนจนอย่างคุณชวน หลีกภัย สร้างภาพเป็นคนจน แต่ภูมิใจที่ได้ไปอยู่ในร่มเงาของอำนาจอำมาตย์ คนอย่างนี้ไม่ศรัทธาในอำนาจของประชาชน
คนจนจริงๆ จะไม่มีทางเป็น "อำมาตย์" ได้
ตีแผ่"อำมาตย์"ในความคิด"เสื้อแดง"
ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชำแหละเจตนาของการนำคำว่า "อำมาตย์" และ "ไพร่" มาปลุกผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ว่า แท้ที่จริงแล้วผู้พูดต้องการสื่อถึงอะไร
ประวัติศาสตร์ความหมายของคำว่า "ไพร่" จะปรากฏในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ซึ่งความตอนหนึ่งระบุว่า ราษฎรของกษัตริย์ ถือเป็นว่าทาส โดยเรียกว่า 'ไพร่' 'ข้า' ไม่คิดว่าเป็นมนุษย์ ประกาศฉบับนั้นใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้างรุนแรงมาก และมีการใช้คำเรียกพระเจ้าแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 7 ว่า
"กษัตริย์" ไม่ได้ใช้คำว่า "พระมหากษัตริย์"
ขณะที่สถานการณ์ในช่วงหลัง ถ้าดูนักวิชาการที่ติดตามตัว "ทักษิณ" โดยเฉพาะ นายจักรภพ เพ็ญแข หรือแม้แต่นักวิชาการอิสระในมหาวิทยาลัย พูดถึงว่า การปฏิวัติเมื่อสมัยปี 2475 ยังไม่ได้เสร็จสิ้น จึงมีความพยายามจะทำให้ปฏิวัติเมื่อปี 2475 สมบูรณ์ ซึ่งผมคิดว่าคนกลุ่มนี้จะทำให้สมบูรณ์ในปี 2553 เพราะฉะนั้น คือเหตุผลที่หยิบคำว่า "ไพร่" ขึ้นมาอีกครั้ง แล้วตราหน้าผู้ที่มาชุมนุมว่า "ไพร่"
มูลทางภาษา และมิติทางประวัติศาสตร์ คำว่า "ไพร่" ปรากฏอยู่ในเอกสารลายลักษณ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่เป็นภาษาไทย ก็คือในศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยพ่อขุนรามคำแหง
แต่ไม่ได้ใช้คำว่าไพร่ตัวเดียว ใช้คำว่า "ไพร่ฝ้า" ซึ่งคำว่า "ฝ้า" สอดคล้องกับคำว่า "ฟ้า" เพราะฉะนั้นไพร่ฝ้าก็คือไพร่ฟ้า
สมัยอยุธยา มีระบบ "มูลนาย" "ไพร่" คือประชาชน แต่ "ไพร่" นั้นต้องสังกัด "มูลนาย"
แล้วจะต้องโดนเกณฑ์แรงงาน ไม่ใช่อิสรชน และ "ไพร่" จะเป็นกำลังสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจ
และการเมืองให้แก่ชนชั้นมูลนาย
โดยชนชั้นมูลนายประกอบด้วย เจ้าและขุนนางชั้นสูง ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ก็คือ อำมาตย์ และ เสนาบดี
ซึ่ง "อำมาตย์" คือกลุ่มข้าราชการพลเรือน ส่วน "เสนาบดี" คือ ขุนนางฝ่ายทหาร
ระบบ "มูลนาย" "ไพร่" ล่มสลายในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี 2425 ทำให้ "ไพร่" ไม่ต้องสังกัด "มูลนาย" ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ไม่ต้องขึ้นกับใคร เพราะฉะนั้น ไพร่ก็เปรียบสถานภาพเป็นอิสรชนหรือประชาชนทั่วไปที่มีเสรีภาพในการทำมาหากิน
ดังนั้น คำว่า "ไพร่" ในความหมายระบบศักดินาจึงไม่มีมาตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ระบอบที่กษัตริย์ยังครองอำนาจยังคงดำรงอยู่เรื่อยมา
จนกระทั่งถึงปี 2475 ในความรู้สึกของคนโดยเฉพาะ "คณะราษฎร" รู้สึกว่าสังคมในขณะนั้นยังมีการแบ่งชนชั้นกันอยู่ ถึงแม้ "ไพร่" ไม่ได้เป็นคู่ตรงข้ามกับ "มูลนาย" แต่คณะราษฎร ยังคงเล่นกับคำว่า "ไพร่" อยู่
คำประกาศในคณะราษฎร ฉบับที่ 1 มีการใช้คำว่า "ไพร่" เล่นคู่ตรงข้ามกับ "กษัตริย์" หรือ "เจ้า" อาทิเช่น "รัฐบาลใช้ยึดทรัพย์ หรือถ้าไม่มีเงินก็ใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินสุข"
กลุ่มปัญญาชนที่เป็นพลังความคิดให้เสื้อแดง คิดที่จะสืบสานเจตนารมณ์คณะราษฎร
ที่จะทำให้การปฏิวัติในปี 2475 เสร็จสมบูรณ์แบบ จึงได้เลือกใช้คำว่า "ไพร่" ขึ้นมา
ผมคิดว่าไม่มีใครกล้าที่จะพูดขึ้นมาตรงๆ เมื่อไม่สามารถใช้คำว่า "เจ้า" ได้ จึงอำพรางไปใช้คำว่า "อำมาตย์"
การบิดเบือนความหมายคำว่า "อำมาตย์" มีความพยายามที่จะบอกว่าอำมาตย์นั้นคือประธานองคมนตรี ถ้าจะหมายถึงองคมนตรีจริงๆ ทำไมไม่ใช้คำว่า "องคมนตรี" เลย
ทำไมต้องไปหาคำอื่น แสดงว่า "อำมาตย์" ในความหมายกลุ่มคนเสื้อแดง ไม่ได้ใช้อำมาตย์ในความหมายดั้งเดิม แต่เป็นความหมายที่เลือกใช้รูปของคำนี้ เพื่อที่จะไปสื่อความหมายอีกคำหนึ่ง เนื่องจากไม่สามารถใช้รูปคำของความหมายอีกคำหนึ่งนั้นได้
โดยเฉพาะคำพูด "ทักษิณ" นั้น ชัดเจนในการกระทำและความคิด
โดยถ้าหากย้อนกลับไปดูเนื้อหาในการวีดิโอลิงค์
ข้อความตอนหนึ่งที่ "ทักษิณ" โฟนอินคุยกับคนเสื้อแดงว่า
"พี่น้องต้องลุกขึ้นสู้ อำมาตย์ไม่อยากเห็นคนหายจน ไม่อยากเห็นลูกหลานฉลาด เพราะอย่างนี้เราถึงต้องพึ่งพาอำมาตย์ตลอดชีวิต ถ้าประชาชนเป็นฝ่ายชนะ เป็นการปลดแอกตนเองให้พ้นจากอำมาตย์ทั้งหลายที่มาบังคับให้เราโง่บังคับให้เราจนต่อ"
นัยของความหมายไม่แตกต่างกันนัก ผมคิดว่าคุณทักษิณ ไม่ได้ทำงานคนเดียว มีกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงที่ร่วมทำงานของกระบวนการที่อยู่ในความคิดนี้ แล้วเป็นความคิดที่นำมาสู่การคิดที่ชัดเจนมากขึ้นถึงกระบวนการต่อสู้ทางชนชั้น
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/analysis/20100325/106816.html
เพื่อไทย
Thursday, March 25, 2010
ณัฐวุฒิ : ถอดรหัส "ไพร่ - อำมาตย์"
โดย Porsche
สัมภาษณ์พิเศษ - เสถียร วิริยะพรรณพงศา อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ