ที่มา ข่าวสด
การ ที่สภาผู้แทนราษฎรโหวตผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ 2554 วงเงินกว่า 2 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนนเสียง 253 ต่อ 178 เสียง งดออกเสียง 14 ไม่ลงคะแนน 21
เป็นตัวเลขที่แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังยอมรับว่าฉลุยเกินคาด
เนื่องจากก่อนหน้านี้เกิดความหวาดระแวงกันเองภายในรัฐบาล ว่าบางพรรคร่วมอาจฉวยโอกาสดัดหลังพรรคแกนนำ เพื่อแก้แค้นที่โดน"ทุบหม้อข้าว"โครงการเช่ารถเมล์
แต่ตัวเลขเสียงโหวตที่ออกมาก็เป็นเครื่องหมายยืนยันว่ารัฐบาลยังเป็นปึกแผ่นเหนียวแน่น
ความเพลิดเพลินในการจับจ่ายงบประมาณอาจช่วยให้ปัญหาขัดแย้งภายในรัฐบาลสงบลงชั่วคราว
จากนี้ไปถือเป็นภาระหน้าที่ของประชาชนในสังคมต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจะนำงบ ประมาณซึ่งเป็นเงินภาษีประชาชนไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพโปร่งใสทุกบาททุก สตางค์
ตามที่นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้คำมั่นสัญญาไว้กับสภาจริงหรือไม่
อย่างไรก็ตามถึงพ.ร.บ.งบประมาณฯ จะผ่านสภาผู้แทนฯ ด้วยเสียงท่วมท้น
แต่การจะบอกว่าด้วยเสียงโหวตขนาดนี้อยู่ไปอีก 5 ปีก็ยังได้อย่างที่ประธานสภาชัย ชิดชอบ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนนั้น อาจเป็นการด่วนสรุปเร็วเกินไป
ก่อนสภาจะอภิปรายหลายคนคาดการณ์อยู่แล้วว่าถึงอย่างไรร่างงบประมาณฉบับนี้ก็ ต้องผ่าน เนื่องจากเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของนักการเมือง ส่วนผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นแค่เหตุผลบังหน้าเท่านั้น
การที่ร่างงบประมาณผ่านสภาจึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย
อย่าว่าแต่ยังมีอีกหลายปัจจัยทั้งเก่าและใหม่ ที่ส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลไม่น้อยกว่าเรื่องของงบประมาณ เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น การโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ เป็นต้น
โดยเฉพาะผลพวงจากเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค. ที่มีคนตายถึง 91 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน
ที่นับวันยิ่งส่งผลสะเทือนต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในสายตาของคนไทยและคนต่างประเทศที่มีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์
หลังเหตุการณ์ผ่านไป 3 เดือน
ความจริงเกี่ยวกับเดือนพ.ค.53 เริ่มไหลทะลักเหมือนเขื่อนแตก ทำให้รัฐบาลไม่สามารถสกัดกั้นความจริงเหล่านั้นไว้ได้หมด
นอกจากนี้ความพยายามปกปิดสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการบิดเบือนข้อมูลข้อเท็จ จริง รวมถึงการโยนความผิดไปให้ฝ่ายตรงข้าม ยังนำไปสู่ความผิดพลาดซ้ำสอง
ตัวอย่างความผิดพลาดที่ชัดเจนคือกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เร่งชงสำนวนถึงอัยการสั่งฟ้องแกนนำคนเสื้อแดง 25 คนในข้อหาก่อการร้ายและเป็นต้นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค.จำนวนมาก
แต่จากนั้นไม่กี่วันก็เป็นดีเอสไอเช่นกัน ที่แถลงยอมรับยังไม่สามารถสรุปได้ว่าทั้ง 91 ศพใครเป็นคนฆ่า
ความมั่วซั่วอันเนื่องมาจากการมุ่งรับใช้ฝ่ายการเมืองเกินไป กลายเป็นช่องให้แกนนำเสื้อแดงเตรียมหยิบยกมาเป็นประเด็นเล่นงานกลับดีเอสไอ ข้อหาฟ้องเท็จ
อย่างไรก็ตามความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังเดือนพ.ค. เริ่มมีสัญญาณบางอย่างบ่งชี้ว่าไม่ใช่เรื่องที่จำกัดวงอยู่แต่เฉพาะรัฐบาล กับคนเสื้อแดงเท่านั้น
แต่เริ่มขยายวงออกไปนอกประเทศอีกด้วย
เนื่องจากในจำนวนเหยื่อ 91 ศพ มีนักข่าวต่างประเทศรวมอยู่ 2 ศพ คือ ฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพสื่อชาวอิตาลี และ ฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น
ความล่าช้าในการคลี่คลายสาเหตุการตาย ทำให้ญาตินักข่าวอิตาลีคับข้องใจถึงขนาดต้องบินมาสอบถามรัฐบาลไทยด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องผิดหวังกลับไปเพราะไม่มีอะไรคืบหน้า
ขณะเดียวกันภาพรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นบินมาวางดอกไม้ และยืนไว้อาลัยบนฟุตปาธสี่แยกคอกวัว จุดที่ช่างภาพชาวญี่ปุ่นถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ 10 เมษาฯ
นอกจากเป็นการสร้างแรงกดดันทางอ้อมถึงรัฐบาลไทยแล้ว
ยังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับชีวิตพลเมืองของตนเองแตกต่างจากรัฐบาลไทยอย่างไร
อีกตัวอย่างชัดๆ ของการเล่นเกมไล่ล่าทางการเมืองของรัฐบาล จนส่งผลลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านก็คือกรณีของกัมพูชา
ที่กว่าจะเคลียร์ได้ก็เกือบต้องฆ่ากันตาย
ล่าสุดยังเกิดกรณีของวิกเตอร์ บูท พ่อค้าอาวุธระดับโลกชาวรัสเซียซึ่งถูกจับกุมในไทย และจะส่งตัวให้ทางสหรัฐ
และมีข่าวลือการแอบไปตกลงผลประโยชน์กันแบบลับๆ ระหว่างรัฐบาลไทยกับมหาอำนาจสหรัฐ ซึ่งทำให้มหาอำนาจขั้วตรงข้ามคือรัสเซียไม่พอใจ
และที่เป็นเรื่องร้อนแทรกซ้อนขึ้นมาคือกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช. ลุกขึ้นแฉกลางสภาว่านายศิริโชค โสภา คนใกล้ชิดนายกฯ แอบไปเยี่ยมวิกเตอร์ บูท ถึงในคุก
เพื่อเจรจาต่อรองให้ความช่วยเหลือแลกกับการปรักปรำพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่ามีส่วนร่วมกับขบวนการขนอาวุธสงครามข้ามชาติ ซึ่งทางการไทยจับกุมได้ที่สนามบินดอนเมือง เมื่อปลายปี 2552
ซึ่งนายศิริโชค กึ่งยอมรับกึ่งปฏิเสธว่าเคยเข้าไปเยี่ยมวิกเตอร์ บูท จริงเมื่อเดือนเม.ย.เพื่อสอบถามข้อมูลบางอย่าง แต่ไม่เกี่ยวกับการต่อรองเรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ
ระหว่างนายจตุพรกับนายศิริโชค อาจต้องใช้เวลาอีกระยะที่จะพิสูจน์ว่าใครพูดจริง ใครโกหก
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนถึงการใช้อำนาจอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนล้อมรอบตัวนายกฯ
ซึ่งนั่นหมายความว่าตัวนายกฯ เองไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ด้วยเช่นกัน หากว่าพฤติกรรมของคนใกล้ชิดเป็นการชักศึกเข้าบ้าน
ที่ไม่เพียงทำให้รัฐบาลต้องเสียหาย แต่ประเทศไทยยังได้รับความเสียหายไปด้วย