ที่มา บางกอกทูเดย์
เลิกเอาหนังเสือมาคลุมร่างเสียที!!
วันนี้ รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังคงประกาศใช้ พระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างเหนียวแน่น
หากนับจากวันที่ 7 เมษายน 2553 มาถึงในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าคนไทยทั้งประเทศ และคนทั่วโลก
คุ้นเคยเป็นอย่างยิ่งแล้วกับ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินของไทย
เพราะเท่ากับใช้มากว่า 4 เดือน โดยในวันที่ 7 กันยายนนี้ก็จะครบ 5 เดือน หรือ 150 วันพอดิบพอดี
โดยเมื่อเวลา 18.15 น. ของวันที่ 7 เมษายน 2553 นายอภิสิทธิ์ ได้แถลงภายหลังการประชุม
คณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ว่า ครม.ได้มีมติให้ออกแถลงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มี
ความร้ายแรงในเขตท้องที่
กรุงเทพมหานคร นนทบุรี อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี อ.พระประแดง อ.พระสมุทรเจดีย์
อ.บาง บ่อ และ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ อ.ธัญบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว อ.สามโคก อ.ลำลูกกา และ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และ อ.วังน้อย อ.บางปะอิน อ.บางไทร และ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงประกาศอีก 6 ฉบับ
และได้มีคำสั่งที่ 2 คำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่อง การจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
คำสั่งที่ 3 คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่พิเศษ 2/2553 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน
หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจที่ของนายกรัฐมนตรี
ข้อกำหนด ออกตามในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
และ ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยการกระชับพื้นที่สี่แยกคอกวัวในวันที่ 10 เมษายน
และการสลายการขุมนุมที่สี่ทแยกราชประสงค์ในวันที่ 19 พฤษภาคม
จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่รวมแล้วมีคนตายกว่า 90 คน มีผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน
ถูกเรียกขานเป็น “พฤษภาอำมะหิต” เพราะรุนแรงยิ่งกว่า “พฤษภาทมิฬ” ในปี 2535 ไม่รู้จักกี่เท่า
ซึ่งมาถึงวันนี้
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของภาคธุรกิจที่อยากเห็นการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้หมดไปเสียที
เนื่องจากแม้ว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จะมีการทยอยยกเลิกไปบางพื้นที่แล้ว
แต่ก็ยังคงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกับพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของไทยอย่างเหนียบวแน่น
แม้ว่าจะถูกสะกิดเตือนจากนานาอารยะประเทศทั่วโลก
หรือถูกหลายๆ ประเทศมองไทยด้วยสายตาแปลกๆ ก็ตาม
เพราะในโลกประชาธิปไตยที่แท้จริงในซีกโลกตะวันตก นักคิดนักปรัชญาทางการเมืองต่างๆ
ล้วนมีมุมมองในหลักการที่ไม่แตกต่างกันว่า “ในรัฐที่ใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
ไม่พึงมองการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเรื่องปรกติ
ในทางตรงกันข้าม รัฐที่ใช้ระบอบเผด็จการมักประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นว่าเล่น
เพื่อประคองอำนาจของผู้ปกครองไว้
อย่างเช่น คาร์ล ชมิตต์ (Carl Schmitt) นักทฤษฎีการเมืองขาติเยอรมัน ได้ให้ความเห็นไว้ว่า
อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอำนาจโดยพื้นฐานของรัฐบาล
และการรู้ว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในท้องที่ใด ซึ่งจะบอกเราว่า
อำนาจที่แท้จริงในท้องที่นั้นอยู่ที่ใด
แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนไว้อีกอย่างหนึ่ง
ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่สายตาของต่างประเทศจะมองประเทศไทย ที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้
อย่างยาวนาน และไม่แปลกที่บุญเก่าทางภาคธุรกิจต่างๆ เริ่มจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ
ดังนั้นจริงๆ แล้ว การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้จะเป็นการสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของรัฐบาล
และทำให้ประเทศชาติเสียภาพลักษณ์ แต่ที่เป็นอันตรายจริงๆคือภาคธุรกิจ
ที่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยิ่งยาวนาน การติดต่อค้าขายกับต่างชาติก็ยิ่งลำบากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะต้องไม่ลืมว่า ข้อ 4 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
บัญญัติว่า รัฐภาคีแห่งกติการะหว่างประเทศนี้สามารถจำกัดสิทธิของพลเมืองที่รับรองไว้ในกติกา
ระหว่างประเทศดังกล่าวได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะ
แต่มาตรการในการจำกัดสิทธิดังกล่าวต้องเป็นไปโดยไม่เกินกว่าความ
จำเป็นรีบด่วนของสถานการณ์ฉุกเฉิน
และรัฐภาคีนั้นต้องรายงานต่อเลขาธิการสหประชาชาติด้วย
ก็ไม่รู้ว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างยาวนานเช่นนี้ นายอภิสิทธิ์ ซึ่งร่ำเรียนมาจาก
มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ของอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศต้นตำรับประชาธิปไตย
จะได้มีการทำตามข้อ 4 แห่งกติการะหว่างประเทศนี้หรือไม่
ที่ สำคัญระยะเวลาที่เนิ่นนานในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล, อย่างยาวนาน ได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามที่ล้วนแล้วแต่เป็นผลกระทบกับตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
และรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าเป็นห่วง
ว่าหรือนี่คือความพยายามในการที่จะยึดกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเอาไว้ให้นานที่สุด
เพราะตราบใดที่ยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เท่ากับว่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ยังคงมี
ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นมือเป็นเท้า
เป็นกลไกสำคัญในการประคับประคองรัฐบาลให้ดำรงอยู่ในอำนาจได้ต่อไปเรื่อยๆ
การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หมดสิ้นเมื่อใด การดำรงอยู่ของ ศอฉ.ก็จะต้องสิ้นสุดลงด้วยในทันที
ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม
แต่ความรู้สึกหรือมุมมองดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้ว และยังคงมีอยู่ในสังคมไทยอย่างเหนียวแน่น
เพราะทั้งๆ ที่กุมกลไกอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ มี ศอฉ. เป็นอาวุธฉกาจที่จะดำเนินการอะไรก็ได้
เพราะมีอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหนุนหลัง
แต่จนถึงวันนี้ ความกระจ่างชัดกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมกว่า 90 คน ได้มีขึ้นมาบ้างหรือยัง
จนถึงวันนี้ รัฐบาล และ ศอฉ. สามารถที่จะจับกุมผู้ก่อการร้ายที่ระบุมาตลอดว่า
มีแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริสุทธิ์ ได้บ้างสักคนหรือไม่?
รวมทั้งนักรบทมิฬเสื้อดำ ที่สามารถขึ้นพื้นที่ตึกสูง ขึ้นรางรถไฟฟ้ากลางเมือง
และปลิดชีวิตผู้ชุมนุมที่บริสุทธิ์ได้อย่างอำมะหิต ... วันนี้ยังคงลอยนวล
ทั้ง รัฐบาล ทั้ง ศอฉ. รู้อยู่แก่ใจว่า ที่ได้แต่แบ๊ะๆ ทุกวันนี้เพราะอะไร
แถม พอนายอภิสิทธิ์ ซึ่งไม่รู้ว่าเพราะความรู้ที่ได้รับจากออกซ์ฟอร์ดยังมีหลงเหลืออยู่บ้าง
หรือเพราะเล่นเกมเป็น ก็เลยมีการแสดงท่าทีว่า
อยากเห็นการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งหมดทุกพื้นที่ แล้วหันมาเดินหน้าในเรื่องปรองดองแทน
ปรากฏว่า
จะต้องมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นดักหน้าเป็นประจำ รวมกับไม่ต้องการให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ไม่ต้องการให้ ศอฉ.ยุติบทบาทไปกระนั้นแหละ
ล่าสุดก็คือ กรณีเหตุยิงระเบิด M79 บริเวณหน้าโรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ ในซอยรางน้ำ
ในช่วงดึกวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่า
ระเบิดการเมืองชัวร์???
เพราะในอดีตมีนักการเมืองที่กล้าขว้างระเบิดใส่บ้านตัวเอง ให้สังคมได้รับรู้กันมาแล้ว
วันนี้หากจะมีนักการเมือง จับมือกับทหารบางกลุ่ม หวังยึดกุมอำนาจ
หวังสานฝันในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง
ก็ไม่แปลกที่ระเบิดระว่อนกรุงเทพฯไม่หยุดหย่อน
ในลักษณะเป็นการเอื้อต่อการดำรงไว้ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
และเป้นการต่ออายุ ศอฉ.ออกไปเรื่อยๆ
เพราะล่าสุด นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และผอ. ศอฉ.
ก็ออกมาพูดถึงการที่กลุ่ม นปช.นัดรวมตัวเคลื่อนไหว
ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. และจะไปผูกผ้าแดงประท้วงที่สี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 19 ก.ย.
แม้ว่าจะยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ก็ตาม
ทำให้ยังคงต้องคอยติดตามควบคุมดูแลทุกอย่างแบบใกล้ชิด
ดังนั้นการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
แม้เป็นสิ่งที่เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องปฏิบัติตาม
แต่ก็ต้องพิจารณาตามหน้าที่ความรับผิดชอบ ด้วยความสุขุมรอบคอบ
ประเมินสถานการณ์ให้ชัดเจนเสียก่อน ถ้าเห็นว่าดำเนินการไปแล้ว ไม่เกิดความเสียหาย
หรือมีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายน้อย ก็ดำเนินการได้
แต่ถ้าดำเนินการแล้วเกิดความเสียหาย คงต้องรอให้สถานการณ์คลี่คลายก่อน
ยืนกรานว่าต้องระมัดระวังทุกฝีก้าวแบบนี้… หลายฝ่ายจึงฟันธงว่า
โอกาสที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะคงอยู่คู่กับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไปตลอด
จึงเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้สูง
และทำให้มีคนแอบกระแนะกระแหนว่า
สงสัยคำว่า พ.ร.ก. จะแปลว่า “พระราชกำหนดรักษาพวกกู” เสียแล้วกระมัง
เรื่องนี้ไม่มีใครตอบได้ดีเท่านายสุเทพ และนายอภิสิทธิ์ แน่นอน
ในความเป็นรัฐบาล สิ่งหนึ่งที่ต้องรีบทำโดยเร่งด่วนที่สุด คือ
การเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้เร็วที่สุด เพราะมันทำให้คนทั้งโลกเชื่อและปรามาสว่า.....
การทำอย่างนั้นคือ “ความขลาดกลัว” ที่ไม่กล้าสู้กับความจริง!!
เป็นการต่อสู้ที่ “มัดมือชก” ฝ่ายเดียว!!