ที่มา โลกวันนี้
เรื่องจากปก |
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข |
ปีที่ 6 ฉบับที่ 288 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 3 ธันวาคม 2010 |
โดย ทีมข่าวรายวัน |
“แม้ ว่าต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2553 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมครั้งที่ 43/2553 เห็นชอบให้ผู้ร้องในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 93 กระบวนการดังกล่าวข้างต้นเป็นการตรวจสอบภายในองค์กร และเป็นเพียงการยืนยันการปรับบทบังคับใช้กฎ หมายให้ชัดเจนภายในองค์กรที่ยังคงต้องอยู่ภายในบังคับตามระยะเวลาที่ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 93 วรรค 2 กำหนดว่าต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากในการพิจารณารายงาน ของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติแต่งตั้งนาย อิสระ หลิมศิริวงศ์ เป็นประธานในครั้งแรก และถือว่าเป็นวันที่ความปรากฏต่อผู้ร้องในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองด้วย
เมื่อ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 26 เมษายน 2553 จึงพ้นระยะเวลา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคของผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องในประเด็นอื่นอีกต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2 ว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในกรณีอื่นอีกต่อไป ให้ยกคำร้อง”
ทันที ที่มีคำวินิจฉัยของตุลาการศาลธรรมนูญก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ในแง่มุมต่างๆ เพราะคดียุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีใช้เงินกองทุน 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ถือเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะอาจทำให้กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ 2 ชุดต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ข้อกฎหมายกับข้อเท็จจริง
แม้ตามหลักกฎหมาย สากลการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ผิดที่ พิจารณากระบวนการอันได้มาซึ่งข้อเท็จจริง การสอบสวนและการยื่นคำร้องว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อวินิจฉัยแล้วเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและยกคำร้องจึงไม่มีการวินิจฉัยใน แง่ของข้อเท็จจริง
แต่นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ยืนยันว่าไม่ได้ละเลยเรื่องกำหนดเวลาแต่อย่างใด แต่มีการตีความเรื่องหมดอายุความ โดยเห็นว่านายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ที่ออกความเห็นในการประชุมครั้งแรกให้ยกคำร้องในคดีดังกล่าวนั้น ที่ประชุมได้สอบถามว่าเป็นความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งนายอภิชาตยืนยันว่าเป็นการออกความเห็นในฐานะประธาน กกต. จึงให้ตั้งคณะกรรมการสอบเพิ่มในกรณีนี้ และใช้เวลาในการสอบ 3 เดือน จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2553 จึงสอบเสร็จและเสนอกลับมาว่าสมควรฟ้องร้องให้มีการยุบพรรค ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญจึงเสนอให้มีการลงมติร่วม กันของ กกต.
การนับอายุความจึงไม่ใช่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 อย่างที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้ง กกต. ยึดบรรทัดฐานจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้คำวินิจฉัยที่ 18-19 และ 22/2550 เรื่องยุบพรรคธัมมาธิปไตย พลังธรรม และพรรคธรรมชาติ เรื่องการใช้เงินกองทุนสนับสนุนพรรคการเมืองผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งศาลวินิจฉัยประเด็น 15 วันตามมาตรา 65 วรรค 2 พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2541 ที่ว่าคำว่า “ความปรากฏต่อนายทะเบียน” หมายถึงอะไ
เช่นเดียวกับนาย ธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ยืนยันว่า กกต. ยึดหลักข้อกฎหมายและคำวินิจฉัยที่ผ่านมา 3 ครั้งของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าความผิดปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองคือ วันที่ 12 เมษายน 2553 นายทะเบียนจึงมีความเห็นและลงมติให้ยื่นคำร้องต่อศาล
“เรื่อง เงื่อนไข 15 วันเรารู้มาโดยตลอด ไม่ใช่ไม่รู้ อีกทั้งยังได้ยึดหลักคำวินิจฉัยของศาลเป็นแนวทางมาโดยตลอด และคดีนี้ถือว่ายังไม่ขาดอายุความถ้าตามแนวปฏิบัติเดิมที่ศาลเคยวินิจฉัยไว้ อีกทั้งเรื่องนี้มีเพียงตุลาการท่านเดียวที่เห็นว่าคดีหมดอายุความเกินเวลา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนตุลาการอีก 3 คนเห็นในประเด็นอื่นที่เราถือว่ายอมรับได้ ยืนยันว่าทำอย่างถูกต้อง รอบคอบ และเต็มที่ ไม่รู้สึกถอดใจหรือหมดกำลังใจ”
อ่านคำวินิจฉัยส่วนตัว
ด้าน นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กลับไม่ต้องการโต้แย้งกับ กกต. เรื่องอายุความ เพราะถือว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ทำคำวินิจฉัยไปแล้ว และจะเป็นการตอบโต้กันไม่รู้จักจบ แต่จะเปิดโอกาสให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ได้ ในฐานะเป็นคนตัดสินคดีจำเป็นต้องรับฟังและนำไปวิเคราะห์วิจัยกันต่อไป ไม่ใช่ออกมาโต้เถียงกันทุกเรื่อง แต่หากข้อมูลคลาดเคลื่อนก็จำเป็นจะต้องออกมาชี้แจง
นายจรัญระบุว่า หากสังคมต้องการฟังความคิดเห็นขององค์คณะอยากแนะนำให้ไปอ่านในคำวินิจฉัย ส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะข้อมูลที่ออกมาคลาดเคลื่อนมาก คณะตุลาการทั้ง 6 คนทำการบ้านมาทุกประเด็น ไม่มีใครรู้ธงคำตอบของตุลาการแต่ละคนมาก่อนล่วงหน้า เมื่อลงมติทีละประเด็น และเมื่อประเด็นข้อกฎหมายไม่ผ่าน การลงมติในข้ออื่นๆจึงไม่ทำ
กองทัพหนุน
อย่าง ไรก็ตาม นักวิชาการและนักกฎหมายตั้งข้อสงสัยเรื่องอายุความคล้ายกันว่า หากคำร้องตกไปเพราะยื่นเกินกำหนด 15 วัน ทำไมศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ชี้ขาดเรื่องนี้ตั้งแต่แรก ทำไมปล่อยให้มีการต่อสู้คดีและนำสืบนานนับปี
ขณะที่สำนักข่าวบีบีซี วิเคราะห์ทำนองเดียวกันว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการยื่นคำร้องไม่ถูกต้องแล้วทำไมต้องมีการไต่สวน คดีนานหลายเดือน ประเด็นนี้จึงอาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลโกรธแค้นได้
ด้าน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า คำตัดสินดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายเคลือบแคลงใจ โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่เชื่อว่ามี 2 มาตรฐาน แต่มีบางฝ่ายเชื่อว่าคนในกองทัพที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์คงไม่ยอมให้มี การยุบพรรคแน่นอน
ส่วนสำนักข่าวเอพีเห็นว่า แม้พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะรอดพ้นจากวิบากกรรมครั้งนี้ แต่จะนำไปสู่แรงกดดันต่อศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น โดยเฉพาะคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท เช่นเดียวกับสำนักข่าวรอยเตอร์วิเคราะห์ว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีกองทัพสนับสนุน แม้จะมีปัญหาด้านเสถียรภาพก็ตาม
2 มาตรฐาน
นาย ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้จะยังสงสัยเรื่องนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องเรื่องนี้เกินเวลา 15 วัน แต่ยังขาดคำอธิบายว่าทำไมถึงนับแบบนี้ และมีผลให้คำร้องตกไปยิ่งต้องอธิบาย อย่างไรก็ตาม เห็นว่าข้อบกพร่องในกระบวนการไม่น่าจะส่งผลให้เรื่องเป็นโมฆะหรือตกไปทุก เรื่อง
เช่นเดียวกับนายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า กรณีคดีมหาชน คดีปกครอง คดีศาลรัฐธรรมนูญ และคดีการเมือง หากเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนไม่ควรเคร่งครัดหรือนำมาบังคับใช้เรื่องอายุความ เหมือนกรณีศาลปกครองรับคดีที่ชาวบ้านฟ้องจำนวนมาก ซึ่งพ้นอายุความแล้ว แต่เพื่อประโยชน์ของสังคมและสาธารณชนศาลก็รับฟ้อง
นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงเรื่อง 15 วันไม่ชัดเจนก็เหมือนกับการเลี่ยงเนื้อหา และทำให้เกิดคำถามตามมาว่าทำไมกรณีนี้ไม่ผิด ทำไมกรณีนี้เลินเล่อได้ แล้วทำไมตอนพิจารณาคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่เป็นแบบนี้ ทำให้มีการนำไปเทียบกับพรรคอื่นๆก่อนหน้านี้ที่ถูกตัดสินยุบพรรค ซึ่งล้วนพิจารณาโดยเนื้อหาทั้งหมด
นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ กลับรู้สึกกลัวนักกฎหมาย เพราะสามารถหาทางออกได้แทบทุกประเด็น ขนาดยังไม่ได้พิจารณาเลยว่าถูกหรือผิด แต่กลับหาช่องทางและวินิจฉัยได้เก่ง จึงต้องดูว่าต่อไปสังคมจะมองอย่างไร
คำวินิจฉัยโมฆะ
แต่ที่ น่าสนใจคือความเห็นของนายจุมพล ณ สงขลา อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลือเพียง 6 คนนั้นตัดสินคดีนี้ไม่ได้ เพราะการตัดสินต้องมีเสียงชี้ขาด เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์คณะมี 15 คน หรือ 9 คน เพื่อให้องค์คณะตัดสินเป็นเอกฉันท์ หาเสียงข้างมากได้
“รู้ได้อย่างไร ยังไม่ฟังคำแถลงการณ์ ยังไม่พิจารณาคดี คุณหาเสียงข้างมากได้อย่างไร ขอย้ำว่าองค์คณะตุลาการต้องมีเสียงชี้ขาดเด็ดขาด”
นายจุมพลฟันธงว่า ถ้าพิจารณาในแง่กฎหมายจริงๆ การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องถือเป็นโมฆะ ใช้ไม่ได้
เพื่อไทยยื่นถอดถอน
การ วินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงไม่เพียงสร้างความเคลือบแคลง สงสัยให้แก่ประชาชนทั่วไป ยังอาจทำให้เห็นว่าสังคมไทยทำอะไรผิดแต่ไม่ถูกลงโทษ หากสามารถนำเทคนิคทางกฎหมายมาใช้ ถ้าเป็นความผิดทั่วไปไม่อาจปฏิเสธว่ามีเรื่องอำนาจและการวิ่งเต้นที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมายมากมาย แต่ไม่ควรเกิดกับคดีที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบ้านเมือง คดีปกครอง หรือคดีการเมือง
ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เห็นว่าการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถือว่าทำผิดอย่างมาก เพราะต้องชี้ประเด็นสาระของเนื้อหาว่าผิดหรือไม่ผิดแล้วค่อยยกฟ้องเนื่องจาก คดีหมดอายุความ เพื่อทำให้ประชาชนไม่มีข้อกังขา ยิ่งมีคลิปวิดีโอแพร่ออกมายิ่งทำให้มีคนเชื่อว่าศาลยืนข้างพรรคประชาธิปัตย์ แต่มีอคติกับพรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นไปอีก
ขณะที่พรรคเพื่อไทยเตรียมหารือ กันจะฟ้องร้องเพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญทั้ง 6 คน เช่นเดียวกลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตยประกาศจะเข้าแจ้งความกับกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับ กกต. ตามมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเตรียมรวบรวมรายชื่อประชาชน 20,000 รายชื่อเพื่อยื่นถอดถอน กกต. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เห็นว่า คำวินิจฉัยทำให้กระทบกระเทือนต่อระบบมากกว่าคำตัดสินยุบพรรคประชาธิปัตย์ เสียอีก และยังเป็นการทิ้งปมปัญหาให้กับ กกต. เรื่องความน่าเชื่อถืออีกด้วย จึงคิดว่าจากนี้ไปผู้คนจำนวนไม่น้อยอาจจะไม่หวังพึ่งระบบของประเทศอีก และอาจเกิดวิกฤตทางการเมืองอย่างรุนแรง เกิดความขัดแย้งวุ่นวายมากขึ้น
ขณะ เดียวกันสังคมต้องออกมาเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ เนื่องจากไม่มีความชอบธรรมในการพิจารณาคดี 258 ล้านบาท หรือคดีอื่นๆอีกแม้แต่น้อย ศาลรัฐธรรมนูญมีผลต่อการล้มรัฐบาล ปลดนายกรัฐมนตรีโดยการเปิดพจนานุกรมยุบพรรคการเมือง ทั้งยังมีกรณีคลิปฉาวที่คนในสังคมยังเคลือบแคลงสงสัยอีก
“ขอย้ำว่า หากในระยะยาวจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรแก้เรื่องที่มาของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องกว่านี้ และสามารถตรวจสอบได้มากกว่าปัจจุบัน วันนี้คงไม่มีใครคิดใช้ความรุนแรงต่อศาล หรือทำร้ายศาล ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วย แต่ต้องเปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และโต้แย้งทางความคิด”
ยุคมืดองค์กรอิสระ
กรณี ศาลรัฐธรรมนูญและ กกต. จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีผลกระทบต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ เพราะองค์กรอิสระถือเป็นองค์กรของรัฐที่มีสถานะพิเศษ ซึ่งได้รับหลักประกันให้สามารถปฏิบัติภารกิจหน้าที่ได้โดยอิสระ ปลอดพ้นจากการแทรกแซงขององค์กรรัฐอื่น หรือสถาบันการเมืองอื่น รวมทั้งอยู่เหนือกระแสและการกดดันใดๆที่เกิดขึ้นภายในสังคมในช่วงเวลาใดเวลา หนึ่ง
องค์กรอิสระจึงเป็นองค์กรตรวจสอบสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ผู้เข้ามาสู่อำนาจจึงต้องไม่ฝักใฝ่ทางการเมืองฝ่ายใด ไม่มีอคติ ไม่ลำเอียงเพราะรัก โลภ โกรธ หลง กลัว ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรมและชอบธรรม
ปรากฏว่านับตั้งแต่มี การตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 2540 องค์กรอิสระหลายองค์กรถูกวิพากษ์ วิจารณ์ว่าถูกแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจทางการเมืองและผู้มีอำนาจรัฐ โดยเฉพาะองค์กรอิสระที่มีอำนาจ เช่น กกต. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งยังมีปัญหาการทุจริตต่อหน้าที่จนศาลตัดสินลงโทษ เช่น ป.ป.ช. และ กกต. บางชุด
การแทรกแซงองค์กรอิสระจึงมีตั้งแต่กระบวนการสรรหาผู้จะเข้า สู่อำนาจ ซึ่งพรรคการเมืองและกลุ่มอำนาจต่างๆจะส่งคนของตนเข้ามา หลังจากนั้นจะมีการล็อบบี้กรรมการสรรหาจนถึงขั้นตอนของวุฒิสภา เมื่อได้เป็นกรรมการหรือตุลาการในองค์กรอิสระแล้วก็ใช้อำนาจเงินและอำนาจรัฐ ให้วินิจฉัยตามที่ต้องการโดยการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างๆ
ในสมัย รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร องค์กรอิสระถูกกล่าวหาว่ารัฐบาลใช้อำนาจรัฐแทรกแซงและไม่มีความยุติธรรม จนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นหนึ่งในข้ออ้างการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
แต่องค์กร อิสระหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกมองว่าเป็นร่างทรงของเผด็จการหรือสืบทอดอำนาจเผด็จการ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเลวร้ายกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะมีการตั้งพวกพ้องเข้ามาคุม นอกจากนี้ยังใช้อำนาจคณะรัฐประหารกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งยาวนานกว่าปรกติ โดยอาศัยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 299 เช่น กกต. ให้ดำรงตำแหน่งไปอีก 5 ปี ป.ป.ช. ให้ดำรงตำแหน่งเกือบ 6 ปี
เปลี่ยนขาวเป็นดำได้
“ถ้า คนรู้กฎหมายจริงจะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าต้องไปช่วยคนอื่นแล้วไม่ถูก ซึ่งทำได้ กฎหมายสามารถทำให้ขาวเป็นดำ ดำเป็นขาวได้ ถ้าคนไม่มีคุณธรรม อันนี้ต้องระวัง”
คำพูดของนายอักขราทร จุฬารัตน อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นอันตรายอย่างไร หากศาลหรือตุลาการไม่สุจริตเที่ยงธรรม หรือถูกนำไปเป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายการเมืองและกลุ่มอำนาจต่างๆใช้ทำลาย ล้างฝ่ายตรงข้ามได้
อย่างคำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ที่ทำให้ศาลถูกดึงเข้ามาแก้ปัญหาการเมืองเพื่อทำให้สังคมเกิดความยุติธรรม และเสมอภาคกันอย่างแท้จริง แต่ที่ผ่านมากลับมีการนำกระบวนการยุติธรรมไปบิดเบือนเพื่อเป็นเครื่องมือของ ผู้มีอำนาจทางการเมือง จนเกิดวิกฤตศรัทธากับฝ่ายตุลาการอย่างร้ายแรง จน “ตุลาการภิวัฒน์” กลายเป็น “ตุลาการพิบัติ”
เหมือนกรณีศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำลังถูกท้าทายทั้งเรื่องของ “คลิปฉาว” และการวินิจฉัยคดีต่างๆ โดยเฉพาะคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกถามถึงจริยธรรม และคุณธรรม เพราะประชาชนชักไม่แน่ใจว่าอะไรขาว อะไรดำ อะไรผิด อะไรถูก อะไรดี อะไรชั่ว คำว่า “คนดี” ดีจริงหรือไม่ อย่างไร? หรือเป็น “คนดี” สำหรับใคร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือตุลาการไหนๆ ใครจะกล้ารับประกันว่าเป็น “คนดี” กว่าปุถุชนจริงหรือไม่?
แม้แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เองยังไม่มีคำตอบ มีแต่เหตุผลทางข้อกฎหมายที่คลุมเครือว่ายึดอะไรเป็นบรรทัดฐาน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยในประเด็นเดียวกันแต่กลับ วินิจฉัยอีกแบบหนึ่ง จนมีคำถามว่าเป็นการใช้เทคนิคทางกฎหมาย หรือใช้การวินิจฉัยอย่างสุจริตเที่ยงธรรมตามหลักกฎหมาย
เพราะ หากกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถตัดสินชี้ขาดได้ว่าใครเป็นคนดี ใครเป็นคนชั่ว ใครทำผิด ใครทำถูก ก็เท่ากับเป็นยุคมืดของบ้านเมือง เหมือนรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า อำนาจประชาธิปไตยเป็นของประชาชน แต่กลับถูกกลุ่มเผด็จการและนักการเมืองฉ้อฉลแย่งอำนาจไป แล้วอ้างอำนาจเผด็จการเป็นอำนาจที่ชอบธรรม ซึ่งเหมือนเป็นการดูถูกและตบหน้าประชาชน
แต่วันนี้ประชาชนไม่ได้กิน หญ้า จึงเริ่ม “ตาสว่าง” และรู้ดีว่าอะไรขาว อะไรดำ อะไรถูก อะไรผิด ใครเป็นคนดี ใครเป็นคนชั่ว ใครเป็นผู้บริสุทธิ์ ใครเป็นฆาตกร
ความจริงที่หนีไม่พ้นก็คือ ไม่มีผู้มีอำนาจใดหรือรัฐบาลใดอยู่ได้หากประชาชนไม่ต้องการ!
ไม่ใช่มีแต่ “คดี” เท่านั้นที่มีวันหมดอายุ!
“สรรพสิ่ง” ล้วนมีวันหมดอายุ...“คน” ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่ายากดีมีจนหรือชนชั้นใด...ล้วนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น
..เพียงแต่มิได้ระบุ “วันหมดอายุ” ล่วงหน้าไว้ข้างกล่อง (ใส่ศพ) เท่านั้น!!