ที่มา มติชน
นาย จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงที่โรงแรมเรดิสัน วันที่ 30 พฤศจิกายนถึงคำตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า กรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการยื่นฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะ ยื่นฟ้องหลังจากที่ความปรากฎต่อนายนายทะเบียนพรรคการเมืองเกิน 15 วันนั้น ในอดีตเคยมีกรณีที่เหมือนกันคือ กกต.ในฐานะผู้ร้องให้ยุบพรรคการเมืองพรรคหนึ่งได้ระบุว่า วันที่ความปรากฎต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองคือวันที่ผู้ร้องได้พิจารณาและ เห็นชอบให้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในขณะนั้นผู้ร้องคือนายทะเบียนพรรคการเมือง คือนายอภิชาต สุขัคคานนท์ แต่กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า วันที่ความปรากฎต่อนายทะเบียนคือ 17 ธันวาคม 2552 แต่ข้อเท็จจริงคือ ในช่วงนั้นกกต.ยังไม่มีมติให้ยื่นร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ และยังถกเถียงกันอยู่ รวมทั้งนายอภิชาตเองก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องด้วย ดังนั้นจะนับจากวันที่ 17 ธันวาคม 2552 จึงไม่ถูกต้อง แต่ต้องนับในวันที่ 21 เมษายน 2553 ที่กกต.ทั้งคณะเห็นชอบให้ฟ้องตามมาตรา 93 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สรุปคือการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยที่เคยยุบพรรคการเมืองอื่นๆ มาแล้ว สามารถเห็นความเป็น 2 มาตรฐานได้จากกรณีนี้
ทั้งนี้ศาลรัฐ ธรรมนูญชี้ว่าเป็นความบกพร่องของประธานกกต.และกกต.ทั้งคณะ นั้น แต่ตนคิดว่าจะไปโทษกกต.ก็ไม่น่าจะถูก แต่น่าจะเป็นปัญหาที่การวินิจฉัยมากกว่า เรื่องนี้ผลที่จะตามมามีอย่างมากมายแน่นอน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงได้ไม่ดีก็จะเกิดเป็นวิกฤตต่อความน่าเชื่อของศาลรัฐ ธรรมนูญเพิ่มมากขึ้น ผลที่ออกมาอาจจะบอกเจตนาที่จะรักษาพรรคประชาธิปัตย์ไว้ในระบบ แต่มันก็อาจจะทำให้กระทบกระเทือนต่อระบบมากกว่าที่จะตัดสินให้ยุบพรรคประชา ธิปัตย์เสียอีก และยังเป็นการทิ้งปมปัญหาไว้กับกกต.ด้วย ทำให้เกิดความสงสัยในความน่าเชื่อถือของกกต. ตนคิดว่าจากนี้ไปผู้คนไม่น้อยอาจจะไม่หวังพึ่งระบบของประเทศอีกต่อไป อาจเกิดเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองอย่างรุนแรง เกิดความขัดแย้งวุ่นวายมากขึ้น
“ส่วนตัวแล้วขอย้ำว่า หากในระยะยาวจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ควรจะแก้เรื่องที่มาของตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญให้ถูกต้องกว่านี้ และสามารถตรวจสอบได้มากกว่าปัจจุบัน วันนี้คงไม่มีใครคิดใช้ความรุนแรงต่อศาล หรือทำร้ายศาล ซึ่งผมเองก็ไม่เห็นด้วย แต่ต้องเปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และโต้แย้งทางความคิด ส่วนกรณีคดีเงินบริจาคของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)จำนวน 258 ล้านบาทนั้น เป็นคนละกรณีกับคดีเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองจำนวน 29 ล้านบาท เพราะกรณี 258 ล้านบาทนั้นเป็นคดีที่ต้องส่งให้อัยการตามมาตรา 95 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และอัยการต้องทำให้เสร็จภายใน 30 วัน โดยที่ไม่ได้ระบุขั้นตอนว่ากกต.จะต้องยื่นร้องขอให้ยุบพรรคภายในกี่วัน”