ที่มา ข่าวสด
เหล็กใน
มันฯ มือเสือ
น่าจะเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ไปอีกพักใหญ่
กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 4 ต่อ 2 ยกคำร้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์
ด้วย เหตุผลที่ว่ากระบวนการยื่นคำร้อง จากจุดเริ่มต้นคือนายทะเบียนพรรคการเมือง กว่าจะกระดืบๆ ถึงมือศาลรัฐธรรมนูญนั้น กินเวลาเกิน 15 วัน
คดีจึงขาดอายุความไปโดยปริยาย
ก่อนหน้าการวินิจฉัยของศาลฯ แวดวงคอการ เมืองวิเคราะห์คาดเดากันไปต่างๆ นานาถึงแนวทางคำวินิจฉัยว่าจะออกมาอย่างไร
เท่าที่ได้ยินมีอยู่หลายแนว
เช่น ยุบพรรค-ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ยุบพรรค-ตัดสิทธิ์บางคน ยุบพรรคแต่ไม่ตัดสิทธิ์ใครเลย หรือไม่ยุบพรรค-ไม่ตัดสิทธิ์ เป็นต้น
ไม่มีใครเอะใจเรื่อง 'อายุความ' ตามที่ตุลาการหยิบ ยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการยกคำร้องภายหลังเลยแม้แต่น้อย
ด้วยเหตุที่หลายคนเข้าใจว่าเรื่องของคดีจะขาดหรือไม่ขาดอายุความนั้น
คือปัญหาเบื้องต้นที่ศาลฯ ต้องวินิจฉัยก่อนเข้าสู่การวินิจฉัยเนื้อหาของคดี
ทีนี้เมื่อศาลฯ ปล่อยให้ทั้งสองฝ่ายสืบพยานต่อสู้หักล้างกันมานานหลายเดือนแล้วจู่ๆ เกิดยกคำร้อง หักมุมจบแบบดื้อๆ
เลยทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอื้ออึง
บางคนเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นการตัดสินแบบไม่ตัดสิน
ทั้งยังเป็นการเสียโอกาสที่สังคมจะได้รับรู้ร่วมกันถึงเนื้อหาข้างในของคดีว่า แท้จริงแล้วพรรคประชาธิปัตย์กระทำผิดกฎหมายหรือไม่
บางคนใช้คำว่าประชาธิปัตย์ชนะฟาวล์บ้าง กกต.แพ้ฟาวล์บ้าง ความหมายเดียวกันแล้วแต่ใครจะมองในมุมไหน
แต่ในส่วนที่บอกว่ากกต.แพ้ฟาวล์นั้น ก็มีปมให้เก็บเอาไปคิดต่อได้ว่า
เป็นการแกล้งแพ้หรือแพ้จริง
นักวิชาการด้านกฎหมายอย่าง นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ไว้น่าสนใจ
"การ ที่คำวินิจฉัยออกมาแบบนี้ แต่เดิมภาระรับผิดชอบทั้งหมดอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้กลับเป็นการแบ่งภาระมาที่กกต.ด้วยว่า เป็นเพราะกกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง ทำให้คดีนี้ตกไป"
ซึ่งตีความไปได้ 2 แบบ
แบบแรกคือ กกต. โดยเฉพาะประธานกกต.ที่สวมหมวกอีกใบเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง มีส่วนรู้เห็นเรื่องขาดอายุความนี้มาตั้งแต่ต้น
แบบที่สอง คือกกต.ไม่รู้จริงๆ
แต่ถูกลากมาช่วยแบ่งเบาภาระศาลรัฐธรรมนูญในภายหลัง