ที่มา Thai E-News
แฟน คลับอาจารย์สมศักดิ์ เจียมฯ ต่างกลับมาคึกคักกันอีกครั้ง เมื่ออาจารย์กลับคืนมาสู่โลกเฟสบุค พร้อมกับข้อเขียน มุมมอง และข้อคิดเห็นที่สุขุม นุ่มลึกยิ่งกว่าเดิม ทั้งนี้อาจารย์ได้ตั้งกระทู้และข้อคิดเห็นมากมายเกี่ยวกับเคเบิลร่วม 3,000 ฉบับที่รั่วจากสถานฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่โยงมาจากบทความที่เขียนโดย Andrew MacGregor Marshall อดีตหัวหน้าสำนักงานข่าวรอยเตอร์ประจำประเทศไทยที่ถึงกับยอมเอาตำแหน่ง หน้าที่การงาน 17 ปี แลกกับอิสระภาพ ที่จะต้องเผยข้อมูลเหล่านี้ให้กับคนไทยได้รับทราบ จนเป็นที่ฮือฮาในโลกอินเทอร์เนตมาแล้วเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2554 และเขาได้ปล่อยข้อมูลชุดที่สองตามมาแล้วในวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมาเช่นกัน
แม้ว่าสื่อกระแสหลักในเมืองไทยจะปิดปาก เงียบกับเรื่องบทความและข้อมูลการรั่วครั้งใหญ่นี้ แต่สื่อนอกหลายสำนักกลับนำเสนอข่าวเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา
ใน ระหว่างที่รอการปล่อยข้อมูลชุดที่ 3 และชุดที่ 4 ของแอนดรูว์ เรามาตามดูว่าอาจารย์สมศักดิ์ มีข้อคิดเห็นและมุมมองอย่างไรบ้างการลีกส์ครั้งนี้
โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ที่มาเฟสบุค สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล on Saturday, 25 June 2011 at 07:55
หลาย คนอาจจะจำได้ว่า ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2550 คือ 4 เดือนหลังรัฐประหาร 19 กันยา ทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Time ของสหรัฐ หนึ่งในคำถามของ Time คือ ในเมื่อทักษิณอ้างว่า เขาและพรรคไทยรักไทยได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชน เหตุใดจึงแทบไม่มีเสียงต่อต้านการรัฐประหารจากประชาชนเท่าไรนัก (hardly any public outcry against the coup) คำตอบของทักษิณ ซึ่งพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ได้ถูกฝ่ายพันธมิตร ในขณะนั้นนำมาโจมตีว่า เป็นการจาบจ้วง ไม่บังควร
ในโทรเลขวิกิลีกส์ ฉบับลงวันที่ 28 เมษายน 2551 ที่เป็นหนึ่งในโทรเลขวิกิลีกส์ ที่ แอนดรู มาร์แชล อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ นำออกเผยแพร่เมื่อไม่กี่วันนี้ ทูกอเมริกัน ได้แสดงความเห็นในเรื่องเดียวกัน ภายใต้หัวข้อ "ทำไมจึงมีการต่อต้านรัฐประหารในระดับที่เฉื่อยเนือย ไม่มากมายใหญ่โตอะไร" (Why such tepid opposition to the coup?) ทูตอเมริกัน ได้ให้คำอธิบายต่อคำถามนี้ แบบเดียวกับทักษิณเลย (ผมเซ็นเซอร์บางคำออก): "We believe signals ..... played an important role in promoting the public's acceptance of the coup" ("เราเชื่อว่าการส่งสัญญาณ . . . มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการยอมรับของสาธารณะต่อการรัฐประหาร") แน่นอน ทูตได้พูดต่อว่า มีปัจจัยสำคัญอื่นอยู่ด้วย แต่ในหัวข้อนี้ เขาได้อธิบายประเด็นที่เห็นว่าเป็น "ปัจจัยสำคัญ" ดังกล่าวมากกว่าเรื่องอื่น
(สำหรับใครที่จะรีบบอกว่า "เพราะทูตอเมริกันเชียร์ทักษิณ เลยคิดเหมือนกัน" หรือกระทั่ง "สงสัยทักษิณซื้อทูตอเมริกันไปแล้ว" อะไรประเภทนั้น ขอแนะให้อ่านโทรเลขวิกิลีกส์ โดยเฉพาะในช่วงที่ทักษิณเป็นนายกฯ จะเห็นว่า ทูตอเมริกัน มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณหนักมาก คำอธิบายที่เขาเสนอในที่นี้ ไม่เกียวกับเรือ่งทัศนะที่เขามีต่อทักษิณเลย)
ก่อน อื่น ผมอยากชี้ให้เห็นว่า เรื่องนี้ เป็นประเด็นตัวอย่างที่ดี เกี่ยวกับคำถามที่มีหลายคนถามว่า โทรเลขวิกิลีกส์ "เชื่อถือได้แค่ไหน?" ซึ่งผมจะตอบเสมอว่า ขึ้นอยู่กับ "เรื่องอะไรล่ะที่ว่า เชื่อถือได้แค่ไหน?" คือ ถ้าถามว่า "เขื่อถือได้ไหม" ว่าทูตอเมริกันแสดงความเห็นดังกล่าวจริง ก็ตอบได้ง่ายมากว่า เชื่อถือได้ว่า ทูตอเมริกันได้แสดงความเห็นดังกล่าวจริงๆ เพราะนี่เป็นบันทึกของเขาเองที่ส่งให้ทางวอชิงตัน แต่ประเด็นคือ การตั้งคำถามเช่นนี้ ผิด แต่ต้น ในกรณีตัวอย่างนี้ เพราะในกรณีนี้ ประเด็นไมใช่เรื่อง "เชื่อถือได้แค่ไหน?" แต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องของการแสดงความเห็น ประเมินสถานการณ์ของทูตอเมริกัน ซึ่งแน่นอน คนอ่านย่อมมีสิทธิ์จะตัดสินได้ว่า เป็นความเห็นที่ถูกต้องหรือไม่ เห็นด้วยกับความเห็นนั้นหรือไม่ เช่นเดียวกับกรณีคำตอบของทักษิณ ต่อ Time ที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เห็นว่าทักษิณประเมินหรืออธิบายถูกต้องหรือไม่ ก็ย่อมได้
ปัญหา ก็คือ ในกรณีที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กับการเมืองนั้น ปัจจุบัน เราได้มาถึงจุดที่ว่า การอภิปรายแสดงความคิดเห็นใดๆ แทบจะเป็นเรื่องที่ "ต้องห้าม" โดยสิ้นเชิง ไม่ว่า ความเห็นดังกล่าว จะมีข้อมูลหรือเหตุผลสนับสนุน (argument) เพียงใดหรือไม่ (ผมจะกลับมาพูดถึงประเด็นนี้อีกในไม่กี่วันข้างหน้า โดยยกตัวอย่างสำคัญในอดีตบางกรณี) ขอให้สังเกตด้วยว่า เรากำลังพูดถึงเรื่องที่ไม่ใช่เรื่อง "ส่วนพระองค์" แต่เป็นเรื่องสาธารณะที่สำคัญยิ่ง (บทบาท/สถานะ ของสถาบันกษัตริย์ทางการเมือง)
ทีน่า "แปลก" คือ บรรดาผู้ที่อ้างความ "จงรักภักดี" กลับรู้สึกว่า "ความจงรักภักดี" แม้แต่ในประเด็นที่เป็นเรื่องสาธารณะระดับนี้ ไม่สามารถสร้างขึ้นได้ ด้วยการเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นและข้อมูลมาถกเถียงกัน และให้สิทธิต่อสังคมและบุคคลแต่ละคน ที่จะเลือกเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับข้อมูลและเหตุผลที่มีคนเสนอออกมา แต่กลับคิดว่า "ความจงรักภักดี" นั้น จะต้องสร้างขึ้นด้วยการบังคับให้ ทุกคนต้องพูด ราวกับการท่อง "อาขยาน" แบบนกแก้วนกขุนทองของเด็กอนุบาลหรือประถมว่า "สาบันกษัตริย์/พระราชวงศ์ อยู่เหนือการเมือง" ใครพูดเป็นอย่างอื่น มีโอกาสโดนติดคุก 15 ปีได้
ที่ว่า "แปลก" คือ ถ้าฝ่าย "ผู้จงรักภักดี" เชื่อมั่นอย่างเหลือเกินว่า ข้อมุลและเหตุผลเกี่ยวกับบทบาท/สถานะ ทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์/พระราชวงศ์ ของตน เป็นข้อมูลและเหตุผลที่หนักแน่น เป็นความจริงอย่างยิ่งยวด ก็ไม่เห็นจะต้องหวาดกลัวต่อการถกเถียงกับผู้ที่มีความเห็นทีแตกต่างเลย แล้วให้สิทธิแก่สังคมและบุคคลแต่ละคน จะชั่งน้ำหนัก ตัดสิน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเอง
"แปลก" ที่บรรดา "ผู้จงรักภักดี" รู้สึกว่า "ความจงรักภักดี" นั้น ต้องสร้างด้วยการบังคับสถานเดียว (ทั้งทางกฎหมาย และทางการอบรมบ่มเพาะ ประชาสัมพันธ์แบบด้านเดียว ที่มีกฎหมายคอยกำกับไม่ให้ตั้งคำถามได้) และต้องวางอยู่บนพื้นฐานการไม่กล้าถกเถียงกับข้อมูลและความเห็นที่แตกต่าง ไม่กล้าให้สังคมและแต่ละคนตัดสินใจด้วยตัวเอง
หมายเหตุ: ที่ผมกล่าวข้างบนว่า ในกรณีโทรเลขวิกิลีกส์ฉบับที่กำลังพูดถึงนี้ การถามว่า "เชื่อถือได้แค่ไหน?" เป็นการถามที่ผิด ผมไม่ได้หมายความว่า คำถามนี้ จะใช้ไม่ได้ หรือไม่ควรใช้เลย กับทุกข้อความทุกประโยคในโทรเลขวิกิลีกส์ทุกฉบับ ประเด็นคือ คำถามเช่นนี้ ที่ถามแบบคลุมทีเดียว เป็นการถามในลักษณะที่ผิด ที่ไม่เป็นประโยชน์ และไม่มีทางได้คำตอบอะไร ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป ในแต่ละฉบับ หรือแม้แต่ แต่ละย่อหน้า แต่ละประเด็น ของฉบับเดียวกันเอง ลักษณะการถามแบบนี้ จึงไม่เป็นประโยชน์อะไร และไม่มีทางได้คำตอบอะไร สิ่งสำคัญคือ การได้หลักฐานสำหรับการศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ที่เพิ่มขึ้นมา ส่วนใหญ่แล้วคนที่เอาแต่ถามแบบคลุมๆแบบนี้ แสดงว่า ไม่รู้จักแยกแยะ พิจารณาอะไร และขี้เกียจเกินกว่าจะคิด พิจารณาเป็นเรื่องๆไป ต้องการคำตอบง่ายๆ ที่ไม่มีประโยชน์ ที่จะใช้มาเป็นข้ออ้างแทนการใช้เหตุผล การคิด และพิจารณาเนื้อหาของโทรเลข)
------------
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นักข่าวรอยเตอร์ยอมลาออกเพื่อรายงาน "ความลับ" ในการเมืองไทย