ที่มา ประชาไท
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องการทรมาน เผยแพร่ในวันต่อต้านการทรมานสากล 26 มิถุนายน 2554
คดี ยุทธศาสตร์คดีหนึ่งของเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่เรียกกันติด ปากว่า “คดีนักศึกษายะลา” เป็นคดีที่นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวและทรมานให้รับสารภาพ เนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในจังหวัดชาย แดนภาคใต้ โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เหตุควบคุมตัวและการทรมานดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2551 ที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 11 จังหวัดยะลา และค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี
ที่เรียกว่า “คดีนักศึกษายะลา” ก็เพราะว่าผู้ถูกควบคุมตัวและทรมานให้รับสารภาพทั้งหมดรวม 7 คน ยังเป็นนักศึกษาและบางส่วนทำกิจกรรมกับชุมชนและชาวบ้าน โดยเป็นสมาชิกของ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ โดยหวังว่าการทำกิจกรรมของตนจะ เป็นส่วนหนึ่งในการคลี่คลายปัญหาความไม่สงบลงบ้าง แต่บทบาทดังกล่าวกลับเป็น ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ถูกควบคุมตัว
ปัญหาการใช้อำนาจตามพระราช บัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือที่เรียกกันว่ากฎหมายพิเศษ ทำให้ประชาชนตกเป็นผู้ต้องสงสัยและถูกควบคุม ตัว ตลอดจนต้องเข้าสู่ขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมโดยไม่จำเป็น สร้างภาระและความ เดือดร้อนให้ประชาชนอย่างมาก ภายใต้มายาคติว่าชาวไทยมุสลิมเป็นผู้ก่อความ ไม่สงบ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนอกจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบได้แล้ว ยัง นำมาสู่ปัญหาการทรมานประชาชนโดยเจ้าหน้าที่เพื่อให้รับสารภาพอีกด้วย
คดี นักศึกษายะลาเป็นหนึ่งในคดีที่มีการควบคุมตัวโดยมิชอบและทรมานให้รับ สารภาพจำนวนมากที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การควบคุมตัวบุคคลโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกฯ ทำได้โดยง่าย เพียงเป็น “ผู้ต้องสงสัย” เจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ได้นาน 7 วัน เมื่อครบกำหนด และเจ้าหน้าที่ประสงค์จะควบคุมตัวต่อไป ให้ขออนุญาตต่อ ศาลเพื่อออกหมายจับและควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีก 30 วัน หากพบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่สามารถฝากขังตาม กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้อีกไม่เกิน 84 วัน และตลอดระยะเวลานับแต่ถูกควบคุมตัวจนกระทั่งการพิจารณาคดีในชั้นศาล ผู้ต้อง สงสัย ผู้ต้องหาหรือจำเลยมักไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพราะความผิด เกี่ยวกับการก่อการร้ายหรือความมั่นคงมีโทษหนัก
จะเห็นได้ว่าการ บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวข้างต้น เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ ใช้อำนาจและดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง การควบคุมตัวโดยไม่ชอบและการทรมานให้รับสารภาพตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายของ เจ้าหน้าที่โดยไม่ชอบจึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุเพียงว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาค ใต้อยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบจำต้องให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่เพื่อความสะดวกใน การปฏิบัติการ
การควบคุมตัวโดยไม่ชอบและ/หรือการทรมานอาจเกิด ขึ้นได้กับประชาชนทุก คน ตัวเราและตัวท่านเองก็อาจตกเป็นเหยื่อการทรมานได้ หากต้องสัมพันธ์กับการ ใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ผลกระทบร้ายแรง 2 ประการที่เกิดจากการทรมาน
ประการแรกคือผลกระทบต่อประชาชนที่ตก เป็นเหยื่อการทรมาน ส่งผลต่อการ ดำเนินชีวิตในอนาคต สภาพร่างกายและจิตใจภายหลังการถูกทรมานเป็นเรื่องที่ ต้องใช้ระยะเวลาในการเยียวยายาวนาน หลายกรณีที่ประชาชนถูกทรมานให้รับสารภาพ และต้องสูญเสียเสรีภาพไปกับการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามระบบกระบวนการ ยุติธรรม โดยจำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยใน ท้ายที่สุดหลังจากเวลาผ่านไปหลายปี ทั้งหมดคือชีวิตที่ไม่สามารถถามหาความรับผิดชอบจากใครหรือหน่วยงานใดได้ อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีผลในทางสังคม เช่น คดีนี้นักศึกษาถูกควบคุมตัวและเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่ สงบ ย่อมจะส่งผลต่ออนาคตการทำงานหรือการรับราชการในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ ได้ เป็นต้น
ประการที่สองคือผลกระทบต่อระบบกระบวนการยุติธรรม หากเจ้าหน้าที่ใช้วิธี ทรมานแล้วไม่ถูกตรวจสอบหรือดำเนินคดี จะทำให้เกิดภาวะลอยนวลและทำซ้ำจนกลายเป็นวัฒนธรรมการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วย กฎหมาย ส่งผลต่อหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และทำให้กระบวนการ ยุติธรรมทั้งระบบบิดเบี้ยวเนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายบิดเบือน ความจริงจนไม่สามารถทำให้ความจริงปรากฏ ผู้กระทำความผิดตัวจริงไม่ได้รับการลงโทษและผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียว ยา
การควบคุมและทรมานนักศึกษาทั้งเจ็ดคนเมื่อเดือนมกราคม 2551 นั้น ญาติของนักศึกษาทั้ง 7 โดยความช่วยเหลือของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ยื่นคำร้องขอให้ศาล จังหวัดปัตตานีปล่อยตัวตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวโดยไม่ชอบ เพราะควบคุมตัวเกิน 7 วัน และพบว่ามีการทรมานผู้ถูกควบคุมตัว ศาลรับคำร้องและไต่สวนผู้ร้องฝ่าย เดียวและมีคำสั่งให้เรียกเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวมาศาลเพื่อไต่สวน แต่ปรากฏ ว่าก่อนถึงวันนัดไต่สวนของศาล เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดไป ศาล จึงไม่มีเหตุแห่งการวินิจฉัยเรื่องการควบคุมตัวโดยไม่ชอบและสั่งยกคำร้องดัง กล่าว
นอกจากการควบคุมตัวเมื่อเดือนมกราคม 2551 แล้ว ในเดือนสิงหาคม 2551 เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นและควบคุมตัวนักศึกษาอีก และนักศึกษาสองคนที่เป็นโจทก์ในคดีนี้ถูกควบคุมตัวเป็นครั้งที่ 2 เป็นเวลา 10 วัน แต่ไม่พบร่องรอยการทรมาน ข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนถึงปัญหาการบังคับใช้ กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้และปัญหาการควบคุมตัวซ้ำซาก และนำมาสู่คำ ถามต่องานการข่าวของหน่วยงานความมั่นคงว่าถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากน้อย เพียงใด
คดีนี้ นักศึกษา 2 คนจากทั้งหมด 7 คนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงกลาโหมและกองทัพบกเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งในเดือน มกราคม 2552 ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ให้รับผิดแทนเจ้าหน้าที่ทหารผู้ใต้บังคับบัญชา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารควบ คุมตัวโดยไม่ชอบและทรมานให้โจทก์ทั้งสองรับสารภาพ แต่ในระหว่างทรมานเจ้า หน้าที่ใช้ผ้าปิดตาผู้ถูกทรมาน การฟ้องเจ้าหน้าที่เป็นคดีอาญาจึงไม่สามารถ ทำได้ เพราะไม่สามารถระบุตัวเจ้าหน้าที่ที่ทรมานได้ จึงฟ้องเป็นคดีแพ่งเพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏและสามารถระบุตัวเจ้าหน้าที่ที่ เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่อไป เมื่อยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งแล้ว ต่อมา พนักงานอัยการซึ่งทำหน้าที่แก้ต่างให้จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้ จำหน่ายคดี เนื่องจากเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษไม่ใช่การใช้อำนาจ ตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจศาลปกครอง และศาลปกครองสงขลา มีความเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจศาลปกครอง ศาลแพ่งจึงได้โอนคดีไปยังศาล ปกครองสงขลาเมื่อเดือนเมษายน 2552 ปัจจุบันศาลปกครองสงขลามีคำสั่งสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง
เครือ ข่ายฯ ได้ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เลือกคดีการ ทรมานเป็นคดียุทธศาสตร์ เนื่องจากสิทธิในชีวิตร่างกายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นรากฐานที่สำคัญของ สิทธิเสรีภาพอื่นๆ ในชีวิต และเจ้าหน้าที่ยังคงใช้วิธีทรมานให้รับสารภาพ ไม่เฉพาะกรณีปัญหา ความไม่สงบเท่านั้น การปราบปรามยาเสพติดก็พบว่ามีการใช้การทรมานให้รับ สารภาพจำนวนมากเช่นกัน
ที่ น่าตกใจคือสังคมไทยยอมรับการทรมาน!! ทั้งที่ระบบกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ ของจำเลยได้พัฒนามาจนปัจจุบัน และชี้ให้เห็นแล้วว่าการทรมานไม่ได้ทำให้ความ จริงปรากฏ หลักการสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาล จะพิพากษาว่ามีความผิด และหลักเรื่องพยานหลักฐานจึงได้พัฒนามากขึ้นจน ปัจจุบัน แต่หลักการกับอารมณ์ความรู้สึกมักเป็นเรื่องที่สวนทางกันอยู่เสมอ ในสังคมไทย ประโยคที่มักได้ยินที่ว่า ถ้าไม่ทรมาน คนร้ายที่ไหนจะยอมรับว่าทำผิด หรือ เจ้าหน้าที่ก็รู้ว่าใครทำผิด แต่ไม่มีหลักฐาน ต้องทรมานจึงจะรับสารภาพว่า ทำผิด ดูจะเข้าใจง่ายและตรงใจผู้คนมากกว่าหลักการต่างๆ ที่สังคมยอมรับร่วมกันมานับศตวรรษ และหากถกถียงกันจนถึงระดับหนึ่ง ก็อาจมี การล้มกระดานคว่ำหลักการ เช่น จำเลยหรือผู้ร้ายไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น หรือในทางตัดพ้อต่อว่า เช่น จำเลยที่ฆ่าคนหรือโจรมีสิทธิดีกว่าผู้เสียหายเสียอีก เหล่านี้สะท้อน ให้เห็นแนวคิดกระแสหลักของคนในสังคมไทยที่ยึดถืออารมณ์ความรู้สึกมากกว่า หลักการเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน
กระบวนการยุติธรรมคือสถาบันหลักในสังคม เป็นผู้กำหนด พัฒนาระบบและหลักการ ต่างๆ เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน บุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมจึงต้องเป็น อิสระจากกระแสสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดกับเจ้าหน้าที่และประชาชนส่วนหนึ่งมา จากปัญหาการไม่ได้รับความเป็นธรรม การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ซึ่งเกิด ความบกพร่องผิดพลาด เกินสมควรกว่าเหตุ การฆ่านอกกฎหมาย การควบคุมตัวโดยไม่ ชอบ การทรมานเพื่อให้รับสารภาพ หรือแม้แต่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใดๆ ไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ถูกลงโทษหรือดำเนินคดี ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากถูกผลักเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และมีสถิติการยก ฟ้องในปี 2550-2551 ถึง 66% <1>
กระบวน การยุติธรรมท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวจึงมีหน้าที่ดำรงไว้ซึ่งความ เชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐ เมื่อประชาชนยอมจำกัดสิทธิเสรีภาพของตนเองและยอม รับการใช้อำนาจของรัฐเพื่อให้รัฐนำพาสังคมสู่ความสงบ แต่รัฐกลับเป็นผู้ ละเมิดสิทธิประชาชนเสียเอง และกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถถ่วงดุลหรือตรวจ สอบการใช้อำนาจรัฐได้ ประชาชนย่อมจะแสวงหาความยุติธรรมด้วยตนเอง และมาตรวัด ความยุติธรรมในเชิงสถาบันจะเสื่อมถอยลง กลายเป็นอัตวิสัยของแต่ละผู้คนไปใน ที่สุด
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 32 และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี จะบัญญัติห้ามการทรมานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลใดๆ ไม่ว่าในภาวะสงครามหรือสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์พิเศษใดๆ ก็ตาม นอกจากนี้ ยังให้อำนาจศาลในการกำหนดให้มีการเยียวยาผู้เสียหายจากการ ทรมานตามสมควรอีกด้วย แต่ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้กำหนดความผิดฐานนี้ไว้โดย ตรง และยังไม่มีกฎหมายลำดับรองออกมารับรองบทบัญญัติดังกล่าวทั้งในการห้าม ทรมานและการเยียวยา ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อป้องกันการทรมานโดยเจ้าหน้าที่ ด้วยเหตุนี้ คดีนักศึกษายะลา จึงเป็นคดีที่ท้าทายและเป็นบทพิสูจน์บทบาทและความก้าวหน้าของกระบวนการ ยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ผ่านมามีการทรมานเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ผู้เสียหายไม่กล้าดำเนินคดีกับ เจ้าหน้าที่ แต่ผู้เสียหายคดีนี้เป็นนักศึกษาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงมาตรฐาน การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักการมากขึ้น จึงประสงค์จะ ฟ้องคดีเพื่อให้เกิดบรรทัดฐาน และให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดต้องรับผิด ตามกระบวนการยุติธรรม และเป็นงานที่ท้าทายคณะทำงานคดีของเครือข่ายฯ ว่าจะสามารถนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงและหลักการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการทรมานเพื่อสร้างความเข้าใจให้กระบวนการยุติธรรมและ สังคมไทยได้มากน้อยเพียงใดด้วยเช่นกัน
ท้ายที่สุดผลคดีจะเป็น อย่างไรก็ตาม เครือข่ายฯ และองค์กรภาคีหวังว่าการทำงานในคดีนี้ จะมีผลทำให้กระทรวงกลาโหม กองทัพบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นจำเลยหรือผู้ถูกฟ้องคดีได้ทบทวนแนวนโยบาย การบังคับใช้กฎหมายและ/หรือการจัดการปัญหาความไม่สงบ ตลอดจนการปฏิบัติ หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเพื่อให้เป็นไปในทางคำนึงถึง สิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น
เพราะความมั่นคงในชีวิตประชาชนคือความมั่นคงของรัฐโดยสมบูรณ์
<1> http://south.isranews.org/scoop-and-documentary/scoop-news-documentary/197-40-60--21-.html