ที่มา มติชน
เมื่อวันที่ 28 กันยายน นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะแกนนำคณะนิติราษฎร์ ให้สัมภาษณ์ "มติชน" กรณีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาวิจารณ์ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่า คงไม่จำเป็นต้องตอบคำถามนายสมคิด เพราะขณะนี้มีคนตอบชี้แจงแทนคณะนิติราษฎร์อยู่แล้ว และคำถามของนายสมคิดโดยส่วนตัวเห็นว่ามีเพียงข้อแรกเท่านั้นที่เกี่ยวกับ ประเด็นกฎหมายที่ถามว่า จะสามารถยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2549 ที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ นายสมคิดยังอ่านข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ไม่แตกชัดและยังไม่เข้าใจ เพราะข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ไม่ได้ให้ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2549 แต่เสนอให้ประกาศให้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 มาตรา 36 และมาตรา 37 เสียเปล่าให้ถือว่าโมฆะไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมายไม่ได้ให้ยก เลิกรัฐธรรมนูญ 2549 แต่อย่างใด
"มาตรา 37 ยังเป็นผลต่อเนื่องมาถึงมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และยังเป็นฐานรับรองให้บรรดาการกระทำใดๆ ของคณะรัฐประหารพ้นผิดยังคงอยู่ มาตรา 37 ยังไม่ได้สิ้นผลไปในระบบกฎหมาย ที่ผ่านมาศาลเคยยกฟ้องคดีที่ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร เคยฟ้องคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นกบฏ แต่เนื่องจากมาตรา 37 รองรับให้นิรโทษกรรม คมช.ไว้ซึ่งโยงมาถึงมาตรา 309 ด้วย ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ต้องการให้ฆ่าแค่ มาตรา 37 กับมาตรา 309 ไม่ได้ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ" นายวรเจตน์กล่าว
นายวรเจตน์กล่าวว่า ส่วนใหญ่คนที่เดือดร้อนกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เป็นผู้ที่เคยเกี่ยวข้อง การรัฐประหาร 2549 ทำไมคนเหล่านี้ต้องเดือดร้อน ถามว่าคนเหล่านี้จะมีสิทธิพูดได้อีกหรือไม่ ส่วนที่มีการพาดพิงว่าตนจะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้น ตนไม่เคยพูดว่าจะเป็น ส.ส.ร. แม้จะมีคนถามเยอะ แต่เคยบอกเพียงว่า ถ้าเป็น ส.ส.ร.แล้วสามารถผลักดันความคิดของคณะนิติราษฎร์ได้ทำไมตนต้องไม่เป็น ส.ส.ร. ส่วนจะได้เป็นหรือไม่ ทำไมหลายคนจะต้องกลัวด้วย หากจะเป็น ส.ส.ร. ทั้งนี้ ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ไม่ได้สุดโต่ง แต่เสนอไปโดยคำนึงถึงประโยชน์สุจริต มีข้อเสนออยู่แล้วหากสามารถผลักดันได้ เพราะสุดท้ายจะต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่แล้ว และจะบัญญัติว่าประเด็นใดควรลบล้างประเด็นใดไม่ควรลบล้างไม่ได้สุดโต่ง โดยประชาชนจะต้องลงประชามติในท้ายที่สุด
นายวรเจตน์กล่าวว่า ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ต้องการให้ประกาศการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำใดๆ ที่มาจากประกาศ คปค.ตั้งแต่วันที่ 19-30 กันยายน 2549 ไม่เคยเกิดขึ้นหรือไม่มีผลทางกฎหมาย จึงไม่ได้เป็นเหตุให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ 2550 เสียไปด้วย ข้อเสนอไม่ได้สุดโต่ง ไม่ได้ต้องการให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกฎหมายต่างๆ แล้วเสียเปล่า ขณะนี้คณะนิติราษฎร์คงยังไม่มีประเด็นใดที่จะชี้แจงอีก แต่ต้องรอให้สังคมโต้เถียงกันก่อน เพราะข้อเสนอนี้เป็นเรื่องใหม่ยังไม่เคยเกิดมาก่อน ความคิดนี้จะเสนอสู่สังคม สุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ชี้ว่าเห็นด้วยกับฝ่ายใด
ขณะที่นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอดีต ส.ส.ร.2540 ตอบคำถาม 15 ประเด็นของนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ อาทิ กรณีจะสามารถยกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ เช่นการยกเลิก รัฐธรรมนูญ 2549 ตอบว่า คณะนิติราษฎร์ไม่ได้เสนอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2549 แต่ให้ถือว่าการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ทำรัฐประหารตามมาตรา 37 ไม่เกิดผลตามกฎหมาย ส่วนประชาชนจะลงมติแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ ตอบว่าข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่เป็นการยกเลิกเพิกถอนผลของการกระทำที่เกิดจากรัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงของ การรัฐประหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย