ที่มา มติชน
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน
ถึง วันสิ้นปีงบประมาณ 30 กันยายน และย่างเข้าสู่วันเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ 1 ตุลาคมแล้ว โดยระบบราชการไทยนั้น ถือเป็นวันเริ่มต้นตำแหน่งหน้าที่ใหม่สำหรับผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้าย ในวาระประจำปี
สำหรับข้าราชการที่ครบอายุ 60 ปี วันนี้ถือกันว่าเป็นวันกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน
หลัก ของการแต่งตั้งโยกย้ายนั้น เริ่มต้นจากการที่มีข้าราชการเกษียณอายุ ทำให้เกิดตำแหน่งว่าง จึงต้องมีการแต่งตั้งคนไปทดแทน จากนั้นก็มีคนอื่นเลื่อนตามขึ้นมาเป็นลูกระนาด
พร้อมๆ กันก็จะมีการปรับย้ายในกลุ่มคนที่ยังไม่ครบเกษียณ แต่อาจครบวาระในเก้าอี้นั้น หรือย้ายเพื่อความเหมาะสม
ดังนั้น กันยายน-ตุลาคมของทุกปี จึงเป็นช่วงที่เรียกว่าฤดูแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ
ขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ชนะเลือกตั้งเมื่อ 3 กรกฎาคม กว่าจะจัดรัฐบาล กว่าจะได้รับโปรดเกล้าฯ กว่าจะแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา
เริ่มมีอำนาจหน้าที่เริ่มทำงานได้จริงๆ ก็สิ้นเดือนสิงหาคม
เข้าสู่ฤดูแต่งตั้งโยกย้ายพอดี
แต่พอเริ่มลงมือโยกย้ายข้าราชการ ก็โดนถล่มแหลกลาญด้วยข้อหาใช้อำนาจการเมืองล้างแค้นข้าราชการ
ทั้งที่การใช้อำนาจอย่างผิดๆ นั้น ต้องมองอย่างแยกแยะเป็นรายบุคคล
ขณะที่รวมๆ เป็นช่วงแห่งการโยกย้ายที่ต้องเป็นไป
แล้วเอาเข้าจริงๆ ขณะนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังลงมือโยกย้ายข้าราชการไปแค่จิ๊บๆ เท่านั้น
อย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พูดกันไปพูดกันมา ด่าพี่เมียญาติโกโหติกาจนหูอื้อ สุดท้ายยังไม่โยกย้ายเลยแม้แต่ตำแหน่งเดียว
แม้แต่ ผบ.ตร. ที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เล่นบทสุภาพบุรุษลุกจากเก้าอี้ให้
วันนี้ พล.ต.อ.วิเชียรได้แค่ไปจ่อเลขาธิการ สมช. ส่วน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ได้แค่จ่อ ผบ.ตร.
แต่เก้าอี้เลขาฯ สมช.นั้นว่างลงแน่นอนแล้ว เหลือรอขั้นตอนทางกฎหมาย จึงจะโอนย้าย พล.ต.อ.วิเชียรข้ามหน่วยราชการไปนั่งได้
แล้วนั่น ก.ต.ช.จึงจะแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์เป็นผู้นำตำรวจ
เพียงแต่ในทางปฏิบัติ ทุกคนยอมรับแล้วว่า พล.ต.อ.วิเชียรกำลังจะป็นผู้นำ สมช.คนใหม่ และ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์เสมือนเป็น ผบ.ตร.ไปแล้ว
รวมๆ แล้วคาดกันว่า ตลอดเดือนตุลาคมคงเป็นฤดูโยกย้ายตำรวจระดับนายพลทั้งหมด ซึ่งถือว่าล่าช้ากว่าปกติ
ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี เอาเข้าจริงๆ ก็ล่าช้า
แม้ว่า 3 เหล่าทัพเร่งจัดทำบัญชีจนเสร็จสิ้นผ่านสภากลาโหมก่อนรัฐบาลใหม่จะเข้ามาทำหน้าที่ด้วยซ้ำ
แถมมีคำสำทับด้วยว่า เมื่อเป็นมติออกมาแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มีกฎหมายคุ้มครองอยู่
เล่นเอาเกือบยุ่ง เพราะฝ่ายการเมืองรู้สึกว่ากองทัพไม่ควรเป็นหน่วยราชการอิสระ
อีกทั้งรัฐบาลถือว่าแรงสนับสนุนประชาชนกว่า 15 ล้านเสียงนั้น เป็นหลักประกันให้รัฐบาลน่าจะเข้าไปแตะต้องบัญชีทหารได้
แถมยังมีแรงผลักดันจากม็อบเสื้อแดง ที่มีภาพคนตายด้วยกระสุนเจ้าหน้าที่รัฐเป็นสิ่งเร่งเร้า
สุดท้ายผู้นำเหล่าทัพยอมปรับเปลี่ยนชื่อปลัดกระทรวงกลาโหมตามคำขอ
บัญชีทหารจึงจบลงด้วยการรอมชอม
ท่ามกลางเสียงบ่นพึมของเสื้อแดงที่ไม่มีการเปลี่ยนตัวเสนาธิการทหารบก