ที่มา มติชน
ภายหลังจากออก "แถลงการณ์ 4 ข้อเสนอ" เนื่องในวาระครบรอบ 5 ปี รัฐประหาร 19 กันยาฯ
โดยประเด็นที่ถูกสื่อเน้นเป็นพิเศษ คือ การลบผลพวงของรัฐประหารดังกล่าว
กระทั่งโดน "จัดหนัก" ว่า "รับงาน" จาก "ทักษิณ"
นักวิชาการ "คณะนิติราษฎร์" จึงต้องตั้งโต๊ะชี้แจงแถลงการณ์
และหลักการทำงานของพวกตนอย่างละเอียด เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา
หลังจากนั้น เริ่มมีนักวิชาการ-นักกฎหมายบางส่วน
ได้ออกมาแสดงความเห็นโต้แย้งแถลงการณ์ของ "นิติราษฎร์" ผ่านทางพื้นที่สาธารณะ
"สมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดีธรรมศาสตร์
ฝากคำถาม 15 ข้อถึง "นิติราษฎร์" ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว
ก่อนที่จะได้รับคำตอบอย่างฉับพลันทันที
เพียงแต่คำตอบดังกล่าว มิได้มาจากนักวิชาการ "คณะนิติราษฎร์"
ทว่ามาจาก "พนัส ทัศนียานนท์" อดีตคณบดีนิติฯ มธ., ส.ส.ร.2540 และ ส.ว.เลือกตั้งชุดแรก
มติชนสุดสัปดาห์
ขออนุญาตเรียบเรียงคำถาม-คำตอบ บางส่วนของ "สมคิด" และ "พนัส" มานำเสนอดังนี้
สมคิด - เราสามารถยกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ เช่น การยกเลิก รธน.2549 ?
พนัส - นิติราษฎร์ไม่ได้เสนอให้ยกเลิก รธน. 2549 แต่ให้ถือว่าการนิรโทษกรรม
ให้แก่ผู้ทำรัฐประหารตามมาตรา 37 ไม่เกิดผลตามกฎหมาย
สมคิด - ถ้าตำรวจจับคนร้ายที่ทำผิดจริงมา แต่ไม่ได้สอบสวนโดยละเอียด
ต่อมาคนร้ายถูกฟ้องศาล มีการโต้แย้งว่ากระบวนการของตำรวจไม่ถูกต้อง
แต่ศาลเห็นว่าไม่เป็นไร ศาลก็พิพากษาไป ตกลงคำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่?
พนัส - ตาม ป.วิอาญา การสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อมมีผลทำให้การฟ้องคดีของอัยการไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย
ซึ่งโดยหลักการพิจารณาคดีก็ต้องถือว่าไม่ชอบทั้งหมด
แต่ศาลไทยบอกไม่เป็นไร หากพิจารณาว่าจำเลยกระทำผิดจริง ก็ลงโทษจำเลยได้
ซึ่งก็เหมือนกับการยอมรับว่าการรัฐประหาร (การกระทำความผิดฐานกบฏ)
เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหากทำสำเร็จนั่นเอง
สมคิด - ถ้ามีคนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในช่วง คมช. ไม่ถูกต้อง ก็ให้ดำเนินการใหม่
คนอีกกลุ่มเห็นว่าการตัดสินคดีซุกหุ้น ศาลตัดสินผิดโดยสิ้นเชิง
คนกลุ่มหลังจะขอให้ยกเลิก รธน.2540 ตั้งศาล รธน. ใหม่ แล้วพิพากษาคดีซุกหุ้นใหม่ จะได้หรือไม่?
พนัส - ศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินคดีซุกหุ้นของทักษิณ เกิดจาก รธน.2540
ที่มิได้มีที่มาจากการรัฐประหารเหมือน รธน.2550
หากมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าศาลตัดสินผิด ก็น่าจะมีการออกกฎหมายมาให้รื้อฟื้นคดีใหม่ได้
โดยไม่ต้องยกเลิก รธน.2540 ซึ่งมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำผิดกฎหมายฐานกบฏ (การทำรัฐประหาร)
สมคิด - ประชาชนจะลงมติแก้ รธน. ที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่?
พนัส - เป็นคำถามประเด็นเดียวกันกับคำถามที่ 1 คำตอบก็คือ
ไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไปแล้ว
แต่เป็นการยกเลิกเพิกถอนผลของการกระทำที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ
ที่เป็นผลพวงของการรัฐประหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สมคิด - รธน.2550 ได้รับการลงประชามติโดยประชาชน
ในทางกฎหมายเราจะพูดได้หรือไม่ว่า ประชาชนลงมติโดยไม่ถูกต้อง
หรือ รธน.2550 ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน?
พนัส - พูดได้ เพราะมีการหลอกลวงขู่เข็ญบังคับให้ประชาชนลงมติ
จึงเป็นการลงประชามติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สมคิด - คตส. ตั้งโดย คมช.
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ตั้งโดย คมช. ใช่หรือไม่?
พนัส - คตส. ตั้งโดย คมช. แน่นอน
ส่วนศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองก็เกิดจาก รธน.2550
ซึ่ง คมช. เป็นผู้ให้กำเนิดเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อการกระทำรัฐประหารของ คมช. เป็นการกระทำ
ที่ละเมิดบทบัญญัติมาตรา 63 แห่ง รธน.2540
และเป็นความผิดฐานกบฏตาม ป.อาญามาตรา 113
ทั้ง คตส. และศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง
จึงเป็นองค์กรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยกันทั้งคู่
สมคิด - การดำเนินการตามแนวคิดของนิติราษฎร์
ไม่มีผลทางกฎหมายต่อนายกทักษิณเลยใช่หรือไม่?
พนัส - ตามที่นิติราษฎร์แถลง มีผลโดยตรงแน่นอน คือ
ต้องพิจารณาคดีใหม่โดยกระบวนการยุติธรรม ที่ชอบด้วยหลักนิติธรรม
ถ้ากระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหาก็ต้องถูกลงโทษ
สมคิด - ความเห็นของนักกฎหมายที่เห็นไม่ตรงกับนิติราษฎร์
แต่ดีกว่านิติราษฎร์ รัฐบาลนี้จะรับไปใช่หรือไม่?
พนัส - ช่วยเสนอให้หน่อยว่าความเห็นของท่านที่ดีกว่าของนิติราษฎร์ คือ
อย่างไร ถ้าดีกว่าจริงจะขอสนับสนุนเต็มที่เลย ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายด้วยกัน
สมคิด - ศาล รธน. ช่วยนายกฯ ทักษิณ คดีซุกหุ้นถือว่าใช้ได้
แต่ไม่ช่วยคดียึดทรัพย์ถือว่าใช้ไม่ได้ เป็นตุลาการภิวัตน์ใช่หรือไม่?
พนัส - ตุลาการภิวัตน์ คือตุลาการที่ยอมตนเป็นเครื่องมือและอาวุธ
ให้แก่ผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ใช้เพื่อประหัตประหาร
และทำลายล้างศัตรูของตน
ตุลาการศาลทั้งในคดีซุกหุ้นและคดียึดทรัพย์ทักษิณ จึงเป็นตุลาการภิวัตน์ด้วยกันทั้งสิ้น
เพียงแต่ว่าในคดีซุกหุ้นตุลาการภิวัตน์เป็นฝ่ายแพ้
สมคิด - บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนตาม รธน.2550
แย่กว่า รธน.2540, 2475 ที่นิติราษฎร์จะนำมาใช้ใช่หรือไม่?
พนัส - บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพตาม รธน.2550
และฉบับอื่นทุกฉบับ ไม่มีความหมายอะไรเลย ไม่มีฉบับใดดีกว่ากัน
ตราบใดที่ตุลาการไทยยังยอมรับว่ารัฏฐาธิปัตย์คือ
ผู้ที่ได้อำนาจอธิปไตยมาโดยรถถังและปืน และอำนาจอธิปไตยไม่ใช่อำนาจของประชาชน
สมคิด - คมช. เลว ส.ส.ร. ที่มาจาก คมช. ก็เลว รธน.2550 ที่มาจาก ส.ส.ร. ก็เลว
แต่รัฐบาลที่มาจาก รธน. เลว เป็นรัฐบาลดีใช่หรือไม่
ส.ส.ร. ที่มาจากรัฐบาลชุดนี้ และที่ อ.วรเจตน์ จะเข้าร่วม ก็เป็น ส.ส.ร. ที่ดีใช่หรือไม่?
พนัส - ไม่ใช่เรื่องใครดีใครเลว
แต่เป็นเรื่องของหลักการในทางนิติศาสตร์
ที่จะต้องมีการยืนยันว่าระหว่างอำนาจรัฐกับเสรีภาพของประชาชน
และระหว่างระบอบเผด็จการกับระบอบประชาธิปไตย
นักกฎหมายควรจะยืนอยู่ข้างใดมากกว่า