ที่มา ประชาไท
คำถามเรื่องการต่อสู้นอกระบบกฎหมายเพื่อเอาอำนาจรัฐคืนจาก "สมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อ่านย้อนหลัง)
ใจ อึ๊งภากรณ์ขอตอบ....
ถาม: ถ้านาย ก.ทำรัฐประหารและได้อำนาจรัฐมา. เราจะต่อสู้นอกระบบกฏหมายเพื่อเอาอำนาจรัฐกลับคืนมาได้หรือไม่?
ตอบ: ต้องดูว่ากฏหมายมาจากไหนและมีความเป็นธรรมและส่งเสริมประชาธิปไตยหรือไม่ ในระบบประชาธิปไตยการต่อสู้นอกรัฐสภา เช่นการนัดหยุดงานหรือการประท้วงมีความชอบธรรมเต็มที่ และนอกจากนี้กลุ่มนิติราษฏร์กำลังสู้ในกรอบกฏหมาย
ถาม: ถ้านาย ข. ได้อำนาจรัฐมาโดยถูกต้อง แต่ต่อมานาย ข.เป็นเผด็จการ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไม่มีหนทางตามกฏหมายจะเอานาย ข. ออกจากตำแหน่งได้ เราจะต่อสู้นอกระบบกฏหมายเพื่อเอาอำนาจรัฐกลับคืนมาได้หรือไม่"?
ตอบ: เราจะใช้ทุกวิธีทางในกรอบอุดมการณ์ประชาธิปไตย เช่นรณรงค์ไม่เลือกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป การเดินขบวน และการนัดหยุดงาน โดยเป้าหมายคือประชาธิปไตย แต่การทำรัฐประหารเป็นเรื่องอื่น เพราะไม่ได้สร้างประชาธิปไตย ตรงข้ามกัน
ในกรณีทักษิณ คนที่ไม่เห็นด้วยสามารถรณรงค์ตามกรอบประชาธิปไตยได้ แต่ปรากฏว่าพวกนักวิชาการเสื้อเหลืองมองว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกไทยรัก ไทย "โง่" "เข้าไม่ถึงข้อมูล" และ "ถูกจูงเหมือนควาย" ซึ่งเป็นการป้ายร้ายประชาชนไทย และมันนำไปสู่ความคิดว่าควรลดเสียงประชาชนตามสูตรพันพธมิตรฯ หรือการแต่งตั้ง สว. ครึ่งหนึ่งโดยทหาร
สมคิด เลิศไพฑูรย์ กำลังขยันแก้ตัวสำหรับการทำรัฐประหาร 19 กันยา และคัดค้านข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฏร์
000
เบื้องหลังพวกเสื้อเหลืองที่คัดค้านข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฏร์
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
กลุ่มพลังหลักที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ประกอบไปด้วย กลุ่มที่ไม่พอใจกับประชาธิปไตย โดยเฉพาะในกองทัพ เครือข่ายองค์มนตรี หมู่ข้าราชการชั้นสูง นักธุรกิจที่โกรธทักษิณ และปัญญาชนกับนักการเมืองเสรีนิยม กลุ่มพลังที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหารมีจุดร่วมในการดูถูกและเกลียดชังคนจน สำหรับเขา การมีประชาธิปไตย “มากไป” ให้อำนาจ“มากเกินไป”กับคนจน ที่ลงคะแนนเสียงและส่งเสริมให้รัฐบาลใช้เงินอย่าง “ไม่ระมัดระวัง” ในการให้สวัสดิการ สำหรับคนเหล่านี้ที่สนับสนุนรัฐประหาร ประเทศไทยแบ่งแยกระหว่าง “ชนชั้นกลางที่มีจิตสำนึกประชาธิปไตย” และ “คนจนในชนบทและเมืองที่โง่และขาดความรู้” แต่ความจริงตรงกันข้าม คนจนเข้าใจและสนับสนุนประชาธิปไตย ในขณะที่คนที่ใครๆ เรียกว่าเป็นคนชั้นกลางใช้ทุกวิถีทางที่จะปกป้องอภิสิทธิ์ของตนเอง พวกที่เรียกหารัฐประหารหลงคิดว่าตัวเองคือ “ชาติ” โดยดูถูกและหันหลังให้พลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ
สิ่งที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมนี้ไม่พอใจคือ การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของไทยรักไทย ได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง โดยที่ไทยรักไทยทำสัญญาทางสังคมกับประชาชนว่าจะมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับ ประชาชนเป็นรูปธรรม เช่นนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” นโยบาย “กองทุนหมู่บ้าน” และนโยบายที่พักหนี้เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลไทยรักไทยนำมาทำจริงๆ หลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง เป้าหมายของไทยรักไทยคือการพัฒนาเศรษฐกิจกับสังคมไทย เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่มองว่าคนจนควรจะเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา” โดยไม่มองว่าคนจนเป็น “ภาระ” หรือเป็น “คนโง่” สรุปแล้ว ไทยรักไทย สามารถทำแนวร่วมประชาธิปไตยกับประชาชนส่วนใหญ่ และครองใจประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน อย่างไรก็ตาม พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม เพราะเป็นพรรคของนายทุนใหญ่ และเป็นพรรคที่มองว่าทุนนิยมไทยจะได้ประโยชน์จากการดึงประชาชนส่วนใหญ่เข้า มามีส่วนร่วมมากขึ้นทางเศรษฐกิจ
นี่คือสาเหตุที่ไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง และยังชนะจนถึงทุกวันนี้ภายใต้ชื่อพรรคเพื่อไทย การครองใจประชาชนด้วยนโยบายตามกระบวนการประชาธิปไตยนี้ คือสิ่งที่พวกนักวิชาการชนชั้นกลาง พวกเอ็นจีโอ พวกทหาร พวกข้าราชการชั้นสูง พวกนายทุนหัวเก่า และพรรคประชาธิปัตย์รับไม่ได้ ความไม่พอใจของแนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม ไม่สามารถนำไปสู่การคัดค้าน ไทยรักไทย ด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นสำเร็จ พวกนี้จะต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาที่เสนอประโยชน์กับคนจนมากกว่าที่ ไทยรักไทย เคยเสนออีก คือต้องเสนอให้เพิ่มสวัสดิการและเร่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ด้วยการเพิ่มงบประมาณรัฐและการเก็บภาษีจากคนรวย แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมนี้ เคยชินมานานกับการมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านเครือข่าย “ผู้มีอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ” เช่นทหาร องค์มนตรี เจ้าพ่อ และนายทุนใหญ่ หรือผ่านระบบการเลือกตั้งที่ใช้เงินซื้อเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเสนอนโยบายอะไรเป็นรูปธรรม และไม่มีการให้ความสนใจกับคนจนแต่อย่างใด
วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชั้นปกครองไทย คือ “วัฒนธรรมคอกหมู” ที่มีการร่วมกันหรือพลัดกันกินผลประโยชน์ที่มาจากการขยันทำงานของประชาชน ชั้นล่างล้านๆ คน เวลาอำมาตย์ คนชั้นกลาง หรือพันธมิตรฯ พูดถึง “การคอร์รับชั่น” “การผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์” “การมีผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “การใช้อำนาจเกินหน้าที่” ของทักษิณ เขาไม่ได้พูดถึงการเอารัดเอาเปรียบประชาชนธรรมดาที่มีมานาน หรือการที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมเท่าที่ควร หรือการโกงกินของนักการเมืองทุกพรรค หรือของทหาร เขาหมายถึงปัญหาเฉพาะหน้าของพวกอภิสิทธิ์ชนที่เริ่มถูกเขี่ยออกจากผล ประโยชน์ในคอกหมูมากกว่า นี่คือสาเหตุที่เขาทำรัฐประหาร แล้วแก้รัฐธรรมนูญจากที่เคยเป็น เพื่อลดอำนาจของรัฐบาลและพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมาก เขาอยากหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุค “ประชาธิปไตยคอกหมู”
ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนสนับสนุนทักษิณหรือไทยรักไทย เพราะรัฐบาลทักษิณนอกจากจะไม่ยอมกระจายรายได้สู่คนส่วนใหญ่เท่าที่ควร ผ่านระบบรัฐสวัสดิการและการเก็บภาษีจากคนรวยแล้ว ยังเป็นรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรง และละเมิดสิทธิมนุษยชน ในภาคใต้และสงครามยาเสพติด แต่การทำลายประชาธิปไตยของพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยาและผลพวงทั้งหมดที่ตามมา ทำให้เราไม่สามารถกำจัดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคอร์รับชั่นในสังคมไทยไป อีกนาน ทำให้ประชาชนเสื้อแดงถูกฆ่าตายอย่างเลือดเย็นเมื่อเรียกร้องประชาธิปไตย อย่างสันติ และเป็นการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคมืดแห่งเผด็จการและอิทธิพลของโจรในกองทัพ