ที่มา ประชาไท
เมื่อสอง-สามวันที่แล้วผมไปเจอคำว่า “มรรคง่าย” อันเป็นธรรมประดิษฐ์ชิ้นใหม่ของ ว.วชิรเมธี ในหนังชุดสือธรรมะจาก “พระดีร่วมสมัย” อ่านดูคร่าวๆ ก็พอจะเข้าใจว่าผู้ประดิษฐ์คำนี้ต้องการสื่ออะไร ทำให้ผมนึกถึงพระเซ็นรูปหนึ่งคือ ติช นัท ฮันห์ ท่านอธิบายให้เห็นความเป็นอนัตตาของสรรพสิ่งที่เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตาว่า เวลาเรามองดูกระดาษแผ่นหนึ่งเราจะเห็นเยื่อไม้ที่เขานำมาทำกระดาษ เห็นต้นไม้ ใบไม้ ดิน น้ำ ปุ๋ย เห็นแสงอาทิตย์ เมฆ ฝนที่หล่อเลี้ยงต้นไม้ เห็นโรงงานทำกระดาษ เห็นคนงานที่เหน็ดเหนื่อย และทุกสรรพสิ่งอันรวมเป็นเหตุปัจจัยก่อเกิดกระดาษแผ่นนี้ หรือเวลาที่เรารับประทานส้มเราจะเห็นสรรพสิ่งที่ก่อให้เกิดผลส้ม เห็นผลส้มในเรา เห็นเราในผลส้ม อะไรประมาณนี้
ผมกำลังจะบอกว่าติช นัท ฮันห์ ไม่ได้กำลังอธิบายศัพท์ธรรมะ ไม่ได้เสนอ “คำประดิษฐ์” แต่ชวนผู้คนให้มองลึกลงไปที่ความเป็นจริงของโลก ชวนเราไตร่ตรองถึงความเป็นไปของสรรพสิ่ง แน่นอนว่าเบื้องหลังชีวิตของติช นัท ฮันห์ ท่านเคยผ่านการต่อสู้ร่วมกับกลุ่มเยาวชนหนุ่มสาวในช่วงสงครามเวียดนาม และหนีตายออกไปต่างประเทศอย่างทุลักทุเล เคยมีประสบการณ์และซึมซับบาดแผล ความเจ็บปวดของเพื่อนร่วมชาติ
เช่นเดียวกันเวลาเราอ่านงานของพระทิเบต เช่นทะไลลามะ ตรุงปะ รินโปเช เป็นต้น เราจะเห็นความเคลื่อนไหวของชีวิต อารมณ์ความรู้สึก ความรัก ความโศกเศร้า ความพลิกแพลงซับซ้อนของอัตตาตัวตนของเราและความเป็นไปของโลกและชีวิต เราเห็นภาษาที่พูดถึงชีวิตและโลกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ดัดจริต มากกว่าที่จะเห็นคำประดิษฐ์เท่ห์ๆ หรือศัพท์แสงธรรมะหรูๆ ซึงเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไรกันแน่ เกี่ยวข้องอย่างไรกับชีวิตและโลกแห่งความเป็นจริง
การสอนพุทธศาสนาในบ้านเรานั้นเน้นการถ่ายทอด “ตัวบท” หรือชุดคำสอนสำเร็จรูปมากกว่าที่จะชวนให้เรามองชีวิตและโลกตามความเป็นจริง ผ่าน concept ของหลักคิดหรือโลกทัศน์ ชีวทัศน์ทางพุทธศาสนา และการสอนแนวนี้ก็สอนจากสมมุติฐานที่ว่า ธรรมะเป็นของที่เข้าใจยาก (เพราะถ่ายทอดมาจากภาษาคัมภีร์ที่ต้องอาศัยผู้รู้เฉพาะทาง) ชาวบ้านไม่มีความรู้ธรรมะ คนรุ่นใหม่ห่างไกลวัด ห่างไกลศาสนา จึงต้องหาทางสอนให้คนเข้าใจง่ายๆ เช่น ประดิษฐ์คำอย่าง “มรรคง่าย” เป็นต้น หรือทำให้กิจกรรมการสอนธรรมะให้เป็น “กิจกรรมบันเทิง” ตลกขบขันอย่างที่นิยมทำกัน
แต่เมื่อนำธรรมะประดิษฐ์แนวอินเทรนด์ หรือธรรมะบันเทิงที่กำลังนิยมกันนี้ไปเปรียบเทียบกับรายการแสดงธรรมทางสถานี วิทยุ โทรทัศน์ หรือตามวัดทั่วๆ ไปที่แสนน่าเบื่อ ธรรมะอินเทรนด์ หรือธรรมะบันเทิงก็ดูจะเร้าใจกว่า โดนใจ “ชนชั้นกลางวัฒนธรรม” มากกว่า จึงไม่แปลกที่ ว.วชิรเมธี จะได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระนักคิด” แห่งยุคสมัย เนาววัตน์ พงษ์ไพบูลย์ถึงขนาดยกย่องให้เป็น “ปราชญ์สายฟ้า” (คงแปลตามฉายา “วชิรเมธี”)
กระนั้นก็ตาม การสอนธรรมะที่เน้นการถ่ายทอดตัวบท หรือคำสอนสำเร็จรูปให้คนจำและนำไปปฏิบัติ ในแง่หนึ่งมันเป็นการสร้าง “วัฒนธรรมนกแก้วนกขุนทอง” หรือวัฒนธรรมพึ่งพานักสอนธรรมที่ทำตัวเป็นผู้คิดแทน มากกว่าที่จะท้าทายให้คนคิด และที่คิดกันก็เน้นไปที่การคิดเรื่องตัวบทหรือตัวหลักคำสอนสำเร็จรูปเป็น ข้อๆ เป็นชุดๆ เพื่อผลิตธรรมะ how to สู่ผู้บริโภค มากกว่าที่จะทำความเข้าใจโลกทัศน์ชีวทัศน์แบบพุทธ แล้วใช้โลกทัศน์และชีวทัศน์นั้นมามีปฏิสัมพันธ์กับโลกที่เป็นจริงอย่างสร้าง สรรค์ หรือมีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นในเชิงเนื้อหาสาระ จริงๆ
จะว่าไปแล้วการสอนพุทธศาสนาในบ้านเราก็ไม่ต่างอะไรกับการสอนประวัติ ศาสตร์แบบทางการนั่นแหละ เวลามีคนตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กสมัยนี้คิดไม่เป็น มันก็ต้องย้อนถามว่าระบบการศึกษาของบ้านเรามีอะไรท้าทายให้เด็กคิดบ้าง การเรียนรู้สังคมการเมืองภายใต้ “ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม” ท้าทายให้ผู้เรียนตั้งคำถามอย่างรอบด้านไหมว่า ทำไมประวัติศาสตร์จึงมีแต่เรื่องราวของ “วีรกษัตริย์” ไพร่และทาสมีบทบาทในการสร้างบ้านแปงเมืองอย่างไรบ้าง มีวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ชวนอภิปรายถกเถียงอย่างรอบด้านไหมว่าทำไมจึงเกิด ปฏิวัติ 2475 ทำไมจึงเกิดรัฐประหาร 2490 ให้ถกเถียงเกี่ยวกับ “ความจริงของปัญหา” 14 ตุลา 6 ตุลา อย่างถึงรากหรือไม่ แล้วประวัติศาสตร์พฤษภา 53 จะให้ลูกหลานจดจำว่าอย่างไร เป็นต้น
เมื่อพลเมืองเติบโตมาภายใต้ระบบการศึกษาและวัฒนธรรมการปลูกฝังทางศาสนา ที่ไม่ท้าทายให้คนคิดเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่จะมีคนที่มีการศึกษาดี มีสถานะทางสังคมดี เป็นถึงสื่อมวลชนมืออาชีพในยุคสมัยของเราตั้งคำถามทำนองว่า “พระองค์ท่านไปทำอะไรให้พวกมึง?” ซึ่งคำถามทำนองนี้ น่าจะเป็นคำถามก่อนยุคปฏิวัติฝรั่งเศสหรืออังกฤษมากกว่า
สิ่งที่เราต้องการได้จากประวัติศาสตร์คือความจริง (แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็ควรใกล้เคียงมากที่สุด) บทเรียนและแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ขึ้น ธรรมะก็เป็นเรื่องของความจริงของโลกและชีวิตที่ทำให้เราเกิดการเรียนรู้เข้า ใจ มีความคิดเห็นถูกต้อง และดำเนินชีวิตอย่างมีค่า แต่จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเพียงแต่เรียนรู้แค่ตัวบทหรือคำสอนสำเร็จรูป แล้วจะทำให้คนมีคุณธรรมจริยธรรม วิธีนี้อย่างมากก็ไปถึงแค่ธรรมประดิษฐ์คำ การท่องจำซาบซึ้งแบบนกแก้วนกขุนทอง
เวลาเผชิญวิกฤตของ บ้านเมืองจริงๆ ธรรมะแบบนี้อย่างมากก็ช่วยได้แค่ให้ “ทำใจ” ไม่ได้ช่วยให้คน “เข้าใจ” ปัญหาที่เป็นจริง บางครั้งยังไปซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายลงไปอีก เช่นธรรมประดิษฐ์อย่าง “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” เป็นต้น
พุทธศาสนาในบ้านเราเองก็มีการสร้างมายาคติอยู่หลายเรื่อง เช่น เราปฏิเสธเรื่อง “อัตตา” หรือ “ตัวกู-ของกู” แต่ดูเหมือนคนที่แสดงออกว่าเข้าใจเรื่องนี้ดี หรือเข้าถึง “ความเป็นอนัตตา” มักจะมีความโน้มอียงที่จะปลีกตัวจากความขัดแย้งของสังคม ปล่อยวางปัญหาสังคม หรือไม่ก็เมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม ก็เข้ามาในบทบาทของผู้ “ลอยตัว” เหนือปัญหา และผลิต “ธรรมะลอยนวล” (สำนวนของวิจักขณ์ พานิช) ประเภทอธิบายว่า ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายเป็นเรื่องของการยึดตัวกู พวกของกู เป็นเรื่องอคติ และความเกลียดชัง เป็นต้น
ต่างจากคนธรรมดาบางคนที่เขาไม่เคยพูดถึงเรื่องการละอัตตา หรือตัวกู-ของกู แต่การกระทำของเขาแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญทางจริยธรรม การปลดปล่อยอัตตา หรือการละลายตัวตนให้กลายเป็นเนื้อเดียวกับอุดมการณ์เพื่อเสรีภาพและความ เป็นธรรมของสังคม เช่น กรณี “คำ ผกา เปลือยกาย เปิดใจ ไม่เกลียดชัง” มีแต่คนที่เชื่อมั่นในความถูกต้อง ละลายตัวเองเพื่อให้เกิดความถูกต้องทางสังคม และไม่ให้ความสำคัญกับการมีตัวตนที่ต้องแบกรับคำเหยียดหยามประณามจากผู้คน ที่ไม่เข้าใจเท่านั้น ถึงจะกล้าแสดงออกเช่นนี้ได้
แน่นอน อาจมองอีกด้านได้ว่า นั่นเป็นการแสดงตัวตนหรืออีโก้ที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์ เชื่อมั่นในตนเองสูงจนไม่แคร์สายตาใคร แต่ถ้าตัวตนหรืออีโก้เช่นนี้สะท้อนมโนสำนึกที่รักความยุติธรรม และต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรมทางสังคม ก็ยังนับว่ามีคุณค่ากว่าความไม่มีตัวตนที่ลอยตัวเหนือโลก เหนือปัญหาอยู่ดี
แต่ไม่ว่าจะมองอย่างไรมันก็ไม่อาจมองได้ดังสื่อเครือผู้จัดการมอง เช่ นข้อความบนปกผู้จัดการข้างล่าง
เอามาให้ดู “คั่นรายการ” เพื่อให้เห็นว่าสื่อดังกล่าวป่วยหนักถึงขั้น “โค่ม่า” แล้ว เพราะความล้มเหลวของการปั่นเรื่อง “ล้มเจ้า” กว่า 5 ปี ที่ผ่านมา ข้อความบนปกแสดงให้เห็นว่าพวกเขาหลอกคนอื่นๆ และตนเองมานานจนตกอยู่ในสภาพ “หลอนตัวเอง” อย่างน่าตระหนก!
เข้าเรื่องต่อ มันจึงทำให้ต้องย้อนกลับไปถามว่า คุณค่าของ “ความไม่มีตัวตน” แบบพุทธอยู่ตรงไหน โอเคว่า “จินตภาพ” ของคนที่ปล่อยวางตัวตนในบริบทสังคมเกษตรกรรมแบบโบราณเมื่อกว่าสองพันปีที่ แล้ว อาจเป็นจินตภาพที่น่าชื่นชม แต่ในสังคมการเมืองปัจจุบันที่วิถีชีวิตของปัจเจกแต่ละคนมีความสัมพันธ์เกาะ เกี่ยวกับระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อุดมการณ์รัฐ วัฒนธรรมทางความคิดความเชื่ออย่างแยกไม่ออกเช่นนี้ จินตภาพของบุคคลผู้ปล่อยวางตัวตนที่ถูกโปรโมทว่า สูงส่งกว่าคนธรรมดาทั่วไป อาจเป็นจินตภาพที่ถูกตั้งคำถามได้ว่า ควรเป็นจินตภาพที่เป็นแบบอย่างเชิงอุดมคติในการพัฒนาคนในโลกปัจจุบันหรือ ไม่?
พูดอย่างเป็นรูปธรรมคือ หากบุคคลผู้ซึ่งปล่อยวางตัวตนเป็นบุคคลที่ชาวพุทธยกย่องว่ามีจิตใจสูงส่ง มีศีลธรรมสูงส่งกว่าคนธรรมดาทั่วไป เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนามากกว่าคนทั่วไป ทว่าบุคคลเช่นนี้มีความโน้มเอียงโดยธรรมชาติที่จะลอยตัวเหนือปัญหา ไม่เอาตัวเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันสังคมให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ ความมีเสรีภาพและมีความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องทางโลก เป็นเรื่องของคนมีกิเลส เป็นเรื่องของความยึดมั่นในตัวตน ถามว่า Character ของบุคคลผู้ปล่อยวางตัวตนเช่นนี้มีคุณค่าอะไรแก่สังคม ทำไมสังคมจึงควรยกย่องว่าคนเช่นนี้ดีเลิศกว่าคนธรรมดาทั่วไป เพียงแค่ดูจากผลงานที่คนผู้มี Character เช่นนี้ “ผลิตคำสอน” ให้คนในสังคมพยายามพัฒนาตนเองให้ก้าวไปสู่การมี Character แห่งความเป็นผู้ปล่อยวางตัวตนที่ลอยนวลเหนือปัญหาสังคมเหมือน “ตัวเขา” เท่านั้น
หรือหากจะพูดในทางกลับกัน การปล่อยวางตัวตนในความหมายดังกล่าวก็เป็นเพียงการสร้างตัวตนใหม่ที่เป็น มายาคติ คือ “ตัวตนของผู้ปล่อยวาง” ที่เชื่อว่าตนเองปล่อยวางทางโลก แต่กลับ “ยึดมั่นในความปล่อยวาง” นั้น
ยิ่งตัวตนของผู้ปล่อยวางพยายามสั่งสอนให้ชาวบ้านธรรมดาปล่อยวาง ตัวตนในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรมมากเท่าใด และผู้ปล่อยวางตัวตนนั้นไม่กล้าแตะปัญหาที่แท้จริงของโครงสร้างอันอยุติธรรม และรุนแรงมากเท่าใด จึงยิ่งทำให้เรามองเห็น “อัตตาใหญ่” ตัวตนใหญ่ของ “ผู้ปล่อยวางตัวตน” ลอยเด่นอยู่เหนือโลก หรืออยู่บนความมั่นคงของสถานะและชื่อเสียงเกียรติยศทางสังคมอย่างโดดเด่น เป็นสง่ามากเท่านั้น!