ที่มา ประชาไท
ผู้เขียนเคยนึกสงสัยว่าตนเองอุตส่าห์เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้น ป.5 จนจบปริญญาโทมาตั้ง 2 ใบ แต่ทำไมภาษาอังกฤษจึงไม่ยอมแข็งกับเขาเสียที เคยสรุปเอาเองว่าเป็นเพราะเราใช้มันน้อยไปกระมัง ซึ่งก็คงจะจริง เพราะในชีวิตประจำวัน คนไทย(ส่วนใหญ่)มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษกันน้อยมาก หรือแม้ยามที่โอกาสมาถึง ก็มักพยายามหลีกเลี่ยงมัน ดังหนังโฆษณาของสถาบันสอนภาษาที่ฉายภาพเด็กหนุ่มวิ่งหนีฝรั่งด้วยกลัวว่าจะ ต้องพูดภาษาอังกฤษกับเขา
เคยสงสัย(ต่อ)...ว่าทำไมคนไทยจึงกลัวที่จะต้องพูดกับฝรั่ง จำได้ว่ามีข่าวข้าราชการไทยไปร่วมประชุมระดับนานาชาติแล้วนั่งปิดปากเงียบ แม้องค์ประชุมจะไม่ใช่ฝรั่ง แต่เขาก็พูดอังกฤษกัน ได้แต่หวังว่าที่ประชุมคงมีระบบล่าม และไม่ทำให้ไทยเราเสียประโยชน์มากจนเกินไป
ข้อสงสัยมาได้รับการไขปริศนาเอาเมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ท่านนายก รัฐมนตรีว่าสำเนียงภาษาอังกฤษของท่านใช้ไม่ได้อะไรประมาณนี้ โดยปราชญ์ที่นัยว่าพูดภาษาอังกฤษเก่งมากท่านหนึ่ง การวิพากษ์นั้นจะเกิดเพราะความหวังดี หรือหวังดิสเครดิต ตามมุมมองของทั้งผู้ที่ “ชอบ” และ “ชัง”นั้น ผู้เขียนไม่ขอนำมาเป็นประเด็น เรื่องสำคัญคือ ตัวผู้เขียนเองได้ค้นพบด้วยความตื่นเต้นถึง “ทัศนคติ” อันเป็นต้นเหตุให้คนไทยอ่อนภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาอื่นใดก็ตามเถิด จากเหตุการณ์ครั้งนี้
ทัศนคติดังกล่าวก็คือ การชอบ “จับผิด”คู่สนทนาว่าสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีแค่ไหน มากกว่าที่จะฟังว่า เขาพูดว่าอย่างไร ดังที่มีการตั้งข้อสังเกตุเอากับท่านนายกฯในครั้งนี้ นั่นแหละครับ
เมื่อตั้งต้นจะจับผิดกันเสียแล้ว การสนทนาก็ย่อมกร่อยเป็นธรรมดา และนำไปสู่การพูดคุยกันอย่างจำกัด ที่พูดน้อยอยู่แล้วจึงน้อยหนักลงไปอีก เข้าทำนองทำน้อยจะได้ผิดน้อย อะไรเทือกนั้น
เป็นพฤติกรรมที่คนไทย discourage กันเอง ทำให้ในภาพรวมพวกเราไม่ค่อยมีความกล้า ( courage) ที่จะพูด ทักษะด้านนี้จึงหดหายลงเรื่อยๆ ทั้งที่แต่ละคนก็เรียนภาษาอังกฤษในชั้นเรียนอย่างเป็นทางการ (formal education) คนละ 10-12 ปีกันแทบทั้งนั้น (นับจาก ป.5 จนจบปริญญาตรี)
ตัดภาพไปที่พม่ากับบังกลาเทศที่ผู้เขียนเดินทางไปปฏิบัติภารกิจอยู่ เป็นประจำนั้น โดยเฉลี่ย ความสามารถในการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษของพวกเขาเหนือบ้านเรา หลักฐานก็คือ เราอาจพูดคุยกับพนักงานขับรถขององค์กร ไปจนถึง บุคลากรระดับปฏิบัติการและบริหารได้ด้วยภาษาอังกฤษอย่างค่อนข้างลื่นไหล สนทนากัน “รู้เรื่อง” แม้จะภายใต้สำเนียงที่แปร่งหูสุดๆ
“แขก”นั้นพูดลิ้นรัว ฟังไม่ง่าย แต่ถ้าจับทางได้ ก็ O.K. ซิกาแร็ต
ส่วน “พม่า” ก็มี accent แบบพม่า คือเสียงตัวสะกดไม่หนักหน่วง เหมือนที่ตลกคาเฟ่ชอบนำเอาไปล้อชาวเขา (นั่นปะไร)
ถ้าไปนั่งอยู่ฝั่งพวกเขา เขาคงคิดเหมือนกัน ว่าคนไทยก็มี accent แบบ...ไทยไทย !
แต่การติดต่อสื่อสารก็เป็นไปด้วยดี รู้เรื่องทุกคราวไป ไม่มีปัญหา
ใครเคยไปช้อปปิ้งที่สิงคโปร์ ย่อมทราบดีว่าคนสิงคโปร์ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกันโดยมีสำเนียงเป็นเอกลักษณ์ ชัดเจน จนมีผู้เรียกภาษาอังกฤษแบบนี้ว่า “Singlish” ซึ่งก็คงมาจากคำว่า “Singapore” สนธิกับคำว่า “English” อะไรประมาณนี้
คนสิงคโปร์เองก็ไม่ได้รู้สึกเสียหายอะไร กลับภูมิใจด้วยซ้ำในเอกลักษณ์ดังกล่าว และก็เพราะการใช้ภาษาอังกฤษกันโดยแพร่หลาย ไม่รู้สึกเขินอายจนเป็นอุปสรรค คนสิงคโปร์ทั่วประเทศก็พัฒนาภาษาอังกฤษของตนให้ดีขึ้นตามลำดับ (ด้วยว่าได้ฝึกทักษะกันทุกวัน) จนปัจจุบัน โครงสร้างประโยคดีขึ้นมาก และสำเนียงก็เพี้ยนน้อยลง ถ้าใครไม่เชื่อให้ลองฟังผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ช่อง Channel News Asia ของสิงคโปร์ดูเอาเองเองเถิด
ผู้เขียนใคร่เรียกร้องให้คนไทยหันมาใช้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น กระทรวงศึกษาธิการอาจต้องคิดหาอุบายที่จะสร้างโอกาสให้พวกเราใช้ภาษาอังกฤษ กันมากๆอย่างไรได้บ้าง อีกเพียง 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2558) อาเซียนก็จะรวมเป็นชุมชนเศรษฐกิจเดียวกัน (ASEAN Economic Community-AEC) แล้ว อย่าว่าแต่ต้องรีบพัฒนาขีดความสามารถในหลายๆด้านอย่างรวดเร็ว (ซึ่งก็มีการพูดถึงกันน้อยมาก ค่าที่มัวแต่ทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่) ขีดความสามารถด้านภาษาอังกฤษก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าด้านอื่น
กล่าวสำหรับในแง่ “ทัศนคติ” พวกเราควรเปลี่ยนการมองคนพูดภาษาอังกฤษเสียใหม่ จาก “พูดเก่งแค่ไหน” มาเป็น “สาระที่พูดคืออะไร” โดยเน้นที่การสื่อสารกันเป็นหลัก
และต้องมีเมตตาต่อกันให้มากๆ...ในการพูดภาษาที่พวกเราไม่ถนัดนี้