ที่มา ประชาไท
เป็นที่ถกเถียงกันในการประชุมสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ครั้งที่ 3/2554 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2554 เกี่ยวกับการเจรจาพูดคุยสันติภาพ (peace dialogue) ซึ่งเป็นการหยุดความรุนแรงทางตรง โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเจรจาระหว่างกับคู่ขัดแย้งในพื้นที่อย่าง สันติวิธี
นายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ คณะกรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ จากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการเจรจาพูดคุยสันติภาพว่า เป็นนโยบายหนึ่งของภาคประชาสังคม ซึ่งหวังให้การเจรจาพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดสันติสุขขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการเรียนรู้ประเทศที่เกิดความขัดแย้ง ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก
นายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ในอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย แคชเมียร์ ประเทศอินเดีย ประเทศปากีสถาน หรือแม้กระทั่งประเทศอังกฤษ ก็ยังมีกองกำลังไออาร์เอต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาลกลาง
สุดท้ายต่างก็จบลงด้วยการเจรจาทั้งสิ้น ความรุนแรงจังหวัดชายแดนใต้ก็เช่นกัน ถ้าไม่สนใจตั้งวงเจรจาสร้างสันติภาพ เหตุการณ์ก็จะรุนแรงจนหาข้อยุติไม่ได้
ที่ผ่านมา ถึงรัฐบาลจะไม่มีนโยบายที่จะเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่ก็มีการพูดคุยกันระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนมา แล้วหลายรอบ
สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สภาความมั่นคงแห่งชาติเปิดเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ปีนัง ประเทศมาแลเซีย และที่อินโดนีเซีย อย่างไม่เป็นทางการ
ล่าสุด ประมาณเดือนกันยายน 2554 ก็มีการพบปะกันอยู่ แต่ก็ยังเป็นการพูดคุยกันธรรมดา ที่ประเทศมาเลเซีย โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติเจ้าเดิม เนื่องเพราะรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะเปิดวงเจรจา การพูดคุยครั้งนี้จึงไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเช่นเคย
กระทั่งภายในหน่วยงานความมั่นคงเอง ก็ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะกำหนดนโยบายไปคนละทิศคนละทาง ขณะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไม่อยากให้มีการเจรจา เพราะมองว่าหากตั้งโต๊ะเจรจา เท่ากับเป็นการยกระดับฝ่ายขบวนการขึ้นมา จนนำไปสู่การร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติก็แอบไปตั้งวงพูดคุยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่เป็น ระยะ
ถ้าจะเลือกเส้นทางการเจรจา รัฐบาลจะต้องคุยกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และสภาความมั่นคงแห่งชาติก่อน เพราะในความเป็นจริงสองหน่วยงานนี้ มีอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงเหนือกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลไม่สามารถอะไรได้เลย ถ้ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกับสภาความมั่นคงแห่งชาติไม่ เห็นด้วย
ที่ผ่านมาสภาประชาสังคมชายแดนใต้ พยายามพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงบ้างแล้ว เห็นได้จากการประชุมร่วมระหว่างสภาประชาสังคมชายแดนใต้กับเจ้าหน้าที่หน่วย งานความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้
สำหรับประเด็นที่กังวลกันอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่รัฐจะเจรจาด้วย เป็นผู้นำตัวจริงหรือตัวปลอม นายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ มองว่า ประเด็นนี้ไม่เป็นปัญหา ต่างฝ่ายต่างรู้อยู่ว่าใครเป็นตัวจริง เนื่องจากสามารถสืบหาข้อมูลและที่มาของบุคคลเหล่านี้ได้
ภาคประชาชนมีพลังที่จะสร้างพื้นที่การเจรจาได้อย่างไร เป็นอีกหนึ่งคำถามในที่ประชุม ซึ่งนายอับดุลอาซิซ ตาเออินทร์ มองว่า องค์กรที่สามารถดึงเข้ามาอยู่ในส่วนกระบวนการเจรจาได้นั้น ต้องเป็นองค์กรที่ได้การยอมรับจากทั้งจากฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการ โดยต้องไปเจรจาในประเทศที่มีความเป็นกลางมากที่สุด เช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ประเทศมาเลเซีย หรือประเทศอินโดนีเซีย
ที่ผ่านมา บางประเทศต้องใช้ระยะเวลาถึงสิบปีในการเจรจา นั่นหมายถึงว่าภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งต้องจะเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องอดทนรอ ด้วยความเชื่อมั่นว่า ความขัดแย้งจะจบลงด้วยการเจรจาอย่างแน่นอน
ทั้งหมดนี้คือ เนื้อหาในการพูดคุยประเด็นการเจรจาสู่สันติภาพ ระหว่างรัฐไทยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในที่ประชุมคณะกรรมการการสภาประชาสังคมชายแดนภาคใต้ จากคำบอกเล่าของนายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์