ที่มา ประชาไท
14 ธ.ค.54 เอฟทีเอ ว็อทช์ เตือนรัฐบาลเพื่อไทยอย่าเดินรอยตามรัฐบาลประชาธิปัตย์ดองผลการรับฟังความคิดเห็นประชาชน
จากการที่นายคาเรล เดอ กุช (Karel De Gucht) คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า (EU Trade Commissioner) ได้แถลง ณ กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยมว่า จะหารือประเด็นการเจรจาเอฟทีเอระหว่างสหภาพ ยุโรปกับประเทศไทย กับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในโอกาสการประชุมองค์การการค้าโลกที่จะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (15 ธ.ค.)
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ออกแถลงการณ์ระบุว่า ในปัจจุบัน รัฐบาลไทยเองยังประสบปัญหาในการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ และกระบวนการต่างๆ ตามมาตรา 190 โดยที่ผลการรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่ดำเนินการตามมติ ครม เมื่อปี พ.ศ. 2553ยังไม่ได้มีการรายงานกลับไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้ประกอบการยกร่างกรอบการเจรจา ซึ่งที่ผ่านมา ผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวยังค้างอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ในสมัยของนางพรทิวา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีว่าการ ขณะเดียวกัน นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยในขณะนั้น กลับนำร่างกรอบเจรจาเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการเอฟทีเอโดยยังไม่เคยนำออกไปรับฟังความคิดเห็นประชาชน
“ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า ร่างกรอบการเจรจาที่ดำเนินการจัดทำไปเองแล้วโดยกระทรวงพานิชย์มิได้มีการให้ความสำคัญต่อสินค้าที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอลซึ่งมีความละเอียดอ่อนและจะส่งผลกระทบด้านสุขภาพและสังคมอย่างกว้างขวางแต่อย่างใด ทั้งนี้เป็นที่ทราบดีว่าสินค้าประเภทนี้จะนำมาซึ่งผลประโยชน์มหาศาลให้กับสหภาพยุโรปหากสามารถขยายการบริโภคในประเทศไทยได้ แต่ผลการรับฟังความคิดเห็นประชาชนจากทุกภูมิภาคกลับระบุชัดว่าจะต้องไม่นำสินค้าประเภทเหล้า สุรา มาเจรจาเปิดเสรี
นอกจากนี้ ทราบมาว่า ในร่างกรอบฯยังเปิดโอกาสให้สามารถใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในประเด็นที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ ซึ่งตรงกันข้ามกับผลการรับฟังความคิดเห็น” นายจักรชัย โฉมทองดี ตัวแทนกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์กล่าว
กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องเรียกร้องให้รัฐบาลนำผลการรับฟังความคิดเห็นประชาชนมาพิจารณาเพื่อกำหนดแนวทางการยกร่างกรอบการเจรจาอย่างเร่งด่วนที่สุด และเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 รัฐบาลจะต้องนำร่างกรอบการเจรจามาจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อนการเสนอต่อรัฐสภาต่อไป
สำหรับข้อห่วงใยในเบื้องต้นต่อการเจรจากับสหภาพยุโรปนั้น อาทิ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา และสิ่งมีชีวิต การเปิดเสรีการบริการ การเปิดเสรีสินค้าภาคเกษตร การลดภาษีเหล้า และการคุ้มครองการลงทุนที่จะมีผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะในอนาคต