ที่มา ประชาไท
คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 จัดแถลงข่าว วอนทุกฝ่ายช่วยศึกษาข้อเสนอแก้ไข ม.112 ของคณะนิติราษฎร์ให้เข้าใจ พร้อมถกเถียงแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผล แต่ถ้าหากยังโจมตีกันด้วยอารมณ์และส่วนตัว ความแตกแยกอาจยิ่งรุนแรงและสังคมจะไม่อาจเดินหน้าได้
5 ก.พ. 55 – คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) จัดแถลงข่าวและตอบคำถามแก่สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจทั่วไป ต่อประเด็นการรณรงค์แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกิจกรรมในอนาคตของ ครก.112 วอนสื่อมวลชนช่วยนำเสนอข้อเสนอการแก้ไขมาตรา 112 ของนิติราษฎร์ในทางสาระควบคู่กันด้วย มิเช่นนั้นสังคมอาจยิ่งแตกแยกรุนแรง
การแถลงข่าวของครก. 112 มีขึ้นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในวันนี้ราว 11 นาฬิกา โดยมีตัวแทนจากหลายกลุ่มร่วมแถลงตอบคำถาม อาทิ สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยุกติ มุกดาวิจิตร กลุ่มสันติประชาธรรม-นักวิชาการคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม .ธรรมศาสตร์ และพรชัย ยวนยี ตัวแทนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย โดยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก
ทางกลุ่มครก. 112 ชี้แจงว่า ภายหลังจากการเปิดตัวกลุ่มและข้อเสนอในการแก้ไขประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ในวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ก็มีผลสะท้อนกลับมาจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เห็นด้วย ก็มิได้โต้แย้งในข้อเสนอหรือเนื้อหาสาระ แต่ส่วนใหญ่เป็นการใช้อารมณ์และโจมตีในทางส่วนบุคคลมากกว่า
คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 จึงขอเรียกร้องให้สังคม โดยเฉพาะสื่อมวลชน ต้องศึกษาข้อเสนอของกลุ่มให้ละเอียดเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มได้ย้ำด้วยว่า การดำเนินการเพื่อรวบรวมรายชื่อและแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถทำได้ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญทุกประการ
“อยากจะตอบไว้ก่อนว่า มีการพูดถึงความเป็นห่วงที่จะทำให้สังคมแตกแยก เป็นการราดน้ำมันเข้ากองเพลิง แต่ขอตอบว่า น้ำมันถูกราดเข้ากองเพลิงไปแล้วตั้งแต่การตัดสินจำคุกอากง 20 ปีที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่ถูกต้อง สังคมต้องมีความกล้าหาญที่จะพูดถึงเรื่องที่อาจจะอ่อนไหว แต่มันเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งและเป็นปัญหาจริงๆ ...และมันเป็นปัญหามานานมากแล้ว” วาด รวี คณะนักเขียนแสดงสำนึก หนึ่งในคณะครก. 112 กล่าว
สำหรับแผนกิจกรรมในอนาคตของคณะรณรงค์ฯ ทางกลุ่มกล่าวว่า กิจกรรมจะยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ จนครบ 112 วัน โดยจะรวบรวมรายชื่อให้ได้อย่างน้อย 10,000 ชื่อ และจัดเวทีรณรงค์เพื่อความเข้าใจในต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ราชบุรี
ต่อคำถามว่าหวังจะให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านรัฐสภาหรือไม่ อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อาจจะมีความเป็นไปได้ แต่นั่นเป็นจุดประสงค์ที่รองลงมา เนื่องจากเป้าหมายที่สำคัญของคณะรณรงค์ฯ คือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมเกี่ยวกับ ปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112
ตัวแทนกลุ่มระบุว่า เมื่อข้อเสนอดังกล่าวสามารถผลักดันเข้าสู่สภาได้สำเร็จแล้ว รัฐสภาก็จำเป็นต้องรับเรื่องดังกล่าวไปอภิปราย ในฐานะที่เป็นผู้ที่มีอำนาจรับผิดชอบโดยตรงในการพิจารณาร่างกฎหมาย โดยเฉพาะเป็นร่างที่มาจากการผลักดันของภาคประชาสังคมในการพยายามแก้ไขปัญหา ทางการเมือง