ที่มา ประชาไท
Wed, 2012-09-26 05:24
ประชุม
"สะท้อนย้อนคิด สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เชียงใหม่"
ที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ 21 ก.ย.
ในช่วงอภิปรายหัวข้อ "ความคิดทางสังคมศาสตร์กับทิศทางทฤษฎีไทย" โดย
(จากซ้ายไปขวา) จันทนี เจริญศรี, ไชยันต์ รัชชกูล, นพ.โกมาตร
จึงเสถียรทรัพย์ และจามะรี เชียงทอง ผู้ดำเนินรายการ
คลิปช่วงอภิปรายหัวข้อ "ความคิดทางสังคมศาสตร์กับทิศทางทฤษฎีไทย
ระหว่างวันที่ 21 - 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมใหญ่ คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มีการประชุมวิชาการประจำปี "สะท้อนย้อนคิด
สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เชียงใหม่"
จัดโดยภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน)
และสำนักพิมพ์คบไฟโดยในการประชุมวันแรก (21 ก.ย.) มีการอภิปรายหัวข้อ "ความคิดทางสังคมศาสตร์กับทิศทางทฤษฎีไทย" วิทยากรโดย รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) อ.ดร.จันทนี เจริญศรี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.จามะรี เชียงทอง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (เนื้อหาช่วงการอภิปรายของไชยันต์ รัชชกูล และ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์มาจาก สำนักข่าวประชาธรรม)
โดย ไชยันต์ รัชชกูล กล่าวว่า เริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ ว่า "จริงหรือที่สังคมวิทยาเป็นราชินีแห่งสังคมศาสตร์" (Is Sociology "The Queen of Social Sciences" still true?) โดยสมัยหนึ่งถูกมองว่าเป็นอย่างนั้นจริง แต่ถ้ามองในปัจจุบันถือว่าล้าสมัยไปแล้ว ฉะนั้นคำตอบคือ ไม่ เพราะประเด็นหลักสามประเด็น คือ หนึ่ง สังคมวิทยาที่เคยอ้างว่าเป็นแก่นหลักของสังคมศาสตร์นั้น ก็ไม่จริงเสมอไป เพราะมีสาขาวิชาอื่นที่พูดแบบนี้ในลักษณะที่แตกต่างออกไป ยกตัวอย่างเช่น ภูมิศาสตร์ (Geography) ก็อ้างว่าขอบเขตของศาสตร์ภูมิศาสตร์ก็อยู่ทั่วทุกที่
ไชยันต์ เล่าเรื่องตลกที่ว่า มีหนุ่มคนหนึ่งเขาไปในร้านหนังสือแล้วถามคนขายหนังสือว่า หนังสือเกี่ยวกับภูมิศาสตร์อยู่ตรงไหน คนขายหนังสือตอบว่า ปรัชญาอยู่ตรงนี้ รัฐศาสตร์อยู่ตรงนั้น ส่วนภูมิศาสตร์อยู่ทั่วทั้งร้าน
ด้านประวัติศาสตร์ ผมได้สนทนากับอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งท่านบอกว่า นักสังคมศาสตร์ถ้าไม่มีประวัติศาสตร์ก็ไปไม่ถูก ฉะนั้นประวัติศาสตร์ก็อ้างในสิ่งเดียวกับที่สังคมวิทยาอ้าง เศรษฐศาสตร์ก็อ้างแบบเดียวกัน รัฐศาสตร์ก็เช่นกัน มองว่า ทุกอย่างเป็นการเมืองหมด
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วสังคมวิทยาอ้างอะไร อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ prachatai.com/taxonomy/term/2672 ก็อ้างบ่อยๆว่า สังคมวิทยา คือการศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคม แต่สาขาอื่นๆก็ทำในแบบเดียวกัน เช่นรัฐศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ เพียงแต่ไม่ได้ใช้คำนี้ เช่นเศรษฐศาสตร์มักอ้างอุปสงค์ อุปทานเสมอ ไม่ว่าจะศึกษาเรื่องการขนส่ง การวางผังเมืองหรือเรื่องอื่นๆ ทำนองเดียวกันรัฐศาสตร์ก็มักจะพูดถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงกับ ชาย คนชั้นหนึ่งกับคนอีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อสาขาอื่นๆ ต้องศึกษาสิ่งนี้ เราก็ไม่สามารถอ้างได้ว่าจุดเด่นของสังคมวิทยาคือศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ ทางสังคม
สอง หมายความว่า ศาสตร์ในแต่ละสาขาเป็นศิลปะที่ส่องทางให้แก่กันและกัน เช่น Economic Anthropology คือ ผสมผสานการใช้ระหว่างแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์กับมานุษยวิทยา หรือในทางกฎหมายก็มีการพูดถึงเรื่องกฎหมายที่เป็น Positivism and Naturalism แต่ที่พูดถึงกันน้อย คือ Sociology of Laws ที่หมายถึงว่า เวลากฎหมายถูกนำไปใช้มันมีผลในทางสังคมอย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงนั้น เป็นคนละเรื่องกับ Positivism and Naturalism เลย ดังนั้นศาสตร์สองศาสตร์ก็สามารถที่จะส่องทางให้แก่กันและกันได้ นอกจากนี้ยังมีศาสตร์อื่นๆที่ผสมผสานระหว่างกัน อาทิ Politic of Sociology Social history และอื่นๆ
สาม อยากลองนำเสนอการมองแนวคิดแบบใหม่ คือ Semiology of Concept (สัญวิทยาแนวคิด) อย่างที่ทราบกันว่าในทางภาษาศาสตร์เดิมที คำหนึ่งคำเหมือนจะสื่อตรงต่อ Object (วัตถุ) เช่น รูปร่างแบบนี้เรียกว่านาฬิกา แบบนี้เรียกว่าแว่นตา เป็นต้น แต่ทางด้านสัญวิทยากลับมองว่า ไม่ใช่คำที่ไปสอดคล้องกับวัตถุ แต่มันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกัน เมื่อลองนำแนวคิดนี้มาใช้กับ Concept (แนวคิด) ทางสังคมวิทยา ก็เกิดคำถามว่า แนวคิดมันสอดคล้องกับความเป็นจริง หรือว่า แนวคิดถูกใช้ในความหมายหรือสัมพันธ์กับแนวคิดอื่น ที่มันอาจจะไม่ได้ไปสอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะฉะนั้น "A concept is in relation to other concepts" (แนวคิดหนึ่งจึงสัมพันธ์กับแนวคิดอื่นมากกว่า) ซึ่งแนวคิดนี้ได้มาจากการการสนทนาเรื่องการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์กับ อาจารย์ชาญวิทย์ที่เมื่อต้องการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ต้องค้นหาข้อมูล ที่กระจัดกระจายมาร้อยเรียงหรือสนับสนุนสิ่งกำลังศึกษาเพื่อให้เห็น Pattern (รูปแบบ) และ Movement (การเคลื่อนไหว) เดียวกัน เช่น เมื่อต้องการศึกษาการก่อตัวของรูปรัฐ ก็ต้องไปนำข้อมูลจากหอจดหมายเหตุ และจากที่ต่างๆ มาร้อยเรียงกัน เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ ในบทที่หนึ่งก็พูดถึง Value (ค่านิยม) Labour (แรงงาน) Commodity (สินค้า) ฯลฯ ซึ่งคำเหล่านี้ เราอาจเข้าใจความหมายเฉพาะคำ แต่เราไม่ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างกัน จนเมื่อมันถูกโยงต่อๆกันให้เป็นภาพใหญ่จนกลายเป็น Capitalism (ทุนนิยม) หรือแนวคิดของแมกซ์ เวเบอร์ (Max weber) ที่รัฐศาสตร์มักสอนกันว่า ความชอบธรรม (Legitimacy) คืออะไร อำนาจ (authority)คืออะไร การครอบงำ (Domination) คืออะไร แต่ตนมองว่าน่าจะผิดประเด็น เพราะว่าการพูดเรื่องอำนาจ (Authority) มันต้องเริ่มต้นจากการพูดถึงเรื่องการครอบงำ ก่อนว่ามีแบบไหนบ้าง เมื่อเข้าใจอันนี้มันถึงมีอำนาจ เมื่อมีอำนาจจึงมีความชอบธรรม เป็นต้น ความสับสนที่เกิดขึ้นจากแนวคิด มีอยู่ให้เห็นบ่อย เนื่องจากหลายแนวคิดมีลักษณะที่คล้ายกัน คำต่างๆที่ใช้อาจจะไม่เหมือนกัน แต่มันเหมือนกันในลักษณะของเนื้อหาเช่น คำว่า Social fact หรือ Ruling Order หรือ Normative Order ในขณะเดียวกันก็มีคำที่ใช้เหมือนกันแต่ความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่น ชนชั้น (Class) ในนิยามของคาร์ล มาร์กซ์ กับนิยามของแมกซ์ เวเบอร์ เป็นต้น
ตอนท้าย ไชยันต์สรุปว่าสังคมวิทยาที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นราชินีของสังคม ศาสตร์ แต่มงกุฎนี้ได้ถูกแย่งชิงไปแล้ว คำถามคือ มันไม่ว่างเปล่าหรือ ที่จะยืน มีปัญหาอะไรบ้างที่ควรต้องกังวล จะยุบสาขานี้เลยดีไหม หรือว่าสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาจะอยู่ยงคงกระพัน สุดท้าย ในอนาคตสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาควรจะเป็นอย่างไร (Then, what should sociology to be in the future?)
ด้าน นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ กล่าวว่า ทฎษฎี มาจากคำว่า "Theory" ภาษาอังกฤษที่มีรากศัพท์ว่ามุมมองของพระเจ้า หมายความว่ามนุษย์ในสมัยก่อนถูกห้ามไม่ให้คิดหรืออธิบายตัวเองและโลก เพราะโลกจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่นั้นขึนอยู่กับบัญญัติหรือบัญชาของพระเจ้า ทุกวันนี้เรามาสร้างทฤษฎีกันก็คล้ายๆ ว่าเราทำตัวเป็นพระเจ้า ในอีกแง่หนึ่งทฤษฎีเป็นภาษาสันสกฤต ถ้าเราเทียบเคียงภาษาบาลี ทฤษฎีก็คือทิฐิ ซึ่งไม่ได้มีไว้ให้เรายึดติด แต่มีไว้ให้เราปลดเปลื้อง จึงไม่แน่ใจว่าการดิ้นรนหาทฤษฎีใหม่มันคือการดิ้นรนในการมองแบบพระผู้เป็น เจ้า หรือ แต่ถ้าจะมองหาตัวทฤษฎีคิดว่าก็สมควรที่จะมามองหา ณ สำนักเชียงใหม่ เพราะเป็นสำนักที่แข็งแรง มีนักคิด นักเขียน ครูบาอาจารย์ที่มารวมตัวกันเยอะ
แล้วทิศทางของทฤษฎีที่นี่เป็นอย่างไร ผมก็ไม่แน่ใจว่าเราสามารถที่จะรู้ตัวได้ หรือมองไปข้างหน้าได้หรือไม่ หรือว่าจะรู้ตัวว่ามันไปไหนก็ต่อเมื่อเรามองย้อยหลังกลับไปเท่านั้น อย่างไรก็ดีคิดว่าเป็นเรื่องดีที่ได้มาสะท้อนคิดกัน เคยอ่านบทสัมภาษณ์หนึ่งของมิเชล ฟูโก ซึ่งมีคนไปถามเรื่องวาทกรรม และสิ่งที่นักวิชาการทำ ฟูโกก็ตอบในทำนองที่ว่า งานของนักวิชาการที่เขียนขึ้นมาก็เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมที่อาจจะรับ ใช้อำนาจบางอย่าง แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังรับใช้วาทกรรมหรือความสัมพันธ์ เชิงอำนาจชุดไหน คนก็ถามฟูโกต่อไปว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นหมายความว่านักวิชาการไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่หรือ? ฟูโกก็ตอบว่า They know what they do but they don"t know what they do do. ซึ่งก็น่าสนใจว่าเราสร้างทฤษฎีของเราไปแต่สิ่งที่ทำมันสร้างอะไรอีกเราก็ไม่ รู้ได้ อย่างไรก็ดีการมาทบทวนก็ดีกว่าไม่ทำอะไร
กระบวนการส่งต่อความคิดทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไม่ได้อยู่ในห้อง เรียน หรือพื้นที่ของงานวิจัย แต่บางทีมันมาจากกิจกรรม การพยายามจะหาคำอธิบายใหม่หรือคำอธิบายที่ใช้การ ได้ คิดว่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่เราจะไปให้พ้นจากวิธีคิด หรือการครอบงำอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ หากเราไม่ตระหนักเรื่องนี้เราก็อาจเป็น คนค้าความคิดมือสอง Secondhand dealer of ideas
ถ้าเราจะหาทฤษฎีที่เวิร์คกว่าที่ผ่านมา ผมก็คิดถึงสิ่งที่ อ.อานันท์ กาญจนพันธุ์ พยายามสร้างข้อถกเถียงจำนวนมากว่าทฤษฎีเป็นเรื่องของวิธีคิด ตัวช่วยคิด หรือเป็นกระบวนการที่ใช้มองตัวโลกซึ่งผ่านเครื่องมือ และวิธีการอันหลากหลาย (พหุนิยม) ส่วน อ.ชยันต์ วรรธนะภูติ ซึ่งบอกว่าทฤษฎีหรือความคิด อาจจะเป็นภาพตัวแทนของสิ่งที่เรากำลังพูดถึงก็ได้ หรือเป็นการประกอบสร้างชุดความสัมพันธ์ของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ผมก็มีความคิดอย่างนั้นว่าเวลาเราพูดถึงทฤษฎีมันคล้ายๆ กับว่าเราดึงองค์ประกอบย่อยๆ หลายองค์ประกอบมาปะติดปะต่อกัน สามารถที่จะเข้าใจ ผมรู้สึกว่าถ้าหากอ.อานันท์บอกว่าทฤษฎีคือวิธีคิด ผมคิดว่ามันอาจจะมีระบบวิธีคิดที่ดึงเอาส่วนต่างๆ มาประกอบกัน โดยเรื่องของระบบเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ในสมัยหนึ่งมีวิธีคิดเกี่ยวกับระบบว่า เราสามารถสร้างตัวแทนของระบบขึ้นมาได้ เช่น ระบบสุริยะ เราก็วาดรูปวงโคจร แต่หลังจากนั้นก็มีการแย้งว่า สิ่งที่เขียนขึ้นมาแทนระบบนั้นมีข้อจำกัด เพราะการเขียนระบบสามารถเขียนได้หลายแบบ สิ่งต่างๆ มันมาประกอบสร้างกันได้หลากหลายรูปแบบ
เช่น ร่างกายของคนหนึ่งคนประกอบด้วยระบบที่แยกย่อยได้จำนวนมาก หรือ ระบบสังคมก็สามารถแบ่งเป็นระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ระบบวัฒนธรรม เมื่อแบ่งได้หลายระบบมากจึงมีคำขวัญในหมู่นักคิดเรื่องระบบว่า "All systems are wrong but some are useful" กล่าวคือไม่มีระบบไหนถูกต้องหรือสมบูรณ์ที่สามารถแทนความจริงได้แต่มี บางอย่างที่เป็นประโยชน์ ซึ่งในกรณีของทฤษฎีผมก็สงสัยว่าเราจะพูดได้หรือไม่ว่า "All theory are wrong but some are useful" ซึ่งอ่านงานของอ.อานันท์ก็มีความรู้สึกอย่างนั้น แต่คำถามมีต่อไปว่ามันเป็นประโยชน์สำหรับใคร
ซึ่งตรงนี้ก็ได้เรียนรู้จากสำนักเชียงใหม่ว่าเป็นการประโยชน์ต่อคนชายขอบ คนไร้อำนาจทั้งหลาย ซึ่งถ้าเราจะภูมิใจต่อการมีสำนักเชียงใหม่ คือการภูมิใจว่าแนวคิด ทฤษฎีทั้งหลายที่พยายามคิดขึ้นไปเพื่อการต่อสู้ร่วมกับคนที่ไร้อำนาจ ต่อสู้ให้กับคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งมันก็อาจจะป่วยการที่ทุ่มเถียงกันว่าทฤษฎีมันถูกหรือผิด แต่ทฤษฎีมันเอาไปใช้ได้กับพื้นที่อันไหน
ภาพตัวแทนที่เราสร้างขึนมาเพื่ออธิบายโลก ทฤษฎีก็เป็นภาพตัวแทนชนิดหนึ่ง ซึ่งก็ไม่สามารถแทนอะไรได้สมบูรณ์ ส่วนทิศทางของทฤษฎีไทยในอนาคต ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน พวกที่ศึกษาเกี่ยวกับระบบแห่งความซับซ้อนก็จะมักจะบอกว่าเวลาดูเรื่องระบบ สังคม การคลี่คลายตัวของระบบเศรษฐกิจสังคม การเมือง และระบบความรู้ เราเดามันไม่ถูก unpredictable events in a predictable pattern ซึ่งนักมานุษยวิทยาชำนาญในการมองรูปแบบความสัมพันธ์ ซึ่งจะทำให้เจอระบบ ซึ่งทำให้เราสร้าง (construct) ขึ้นมาได้ ซึ่งมันจะเหมือนจริงหรือไม่ก็ยากที่จะพูดได้
แต่ทางเดินข้างหน้าของทฤษฎีนั้น เป็นการเดินทางภายใต้ความตึงแย้ง (tension) ซึ่งความกดดันชุดนี้น่าจะเป็นตัวแบบรูปแบบ ความตึงแย้งอย่างแรก คือ To represent or to not represent มันเป็นการต่อสู้บนความไม่พอเพียงของ representation กับความจำเป็นต้องมี representation ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งการจะตอบเรื่องนี้นั้นผมยังไม่รู้ ประเด็นที่สอง ในเรื่องพื้นที่ความรู้ของ อ.อานันท์ ผมมีความเห็นว่ามันเป็นพื้นที่ที่มีความทับซ้อนพอๆ กับตัวความรู้ แนวคิด ทำให้ความจริงมันดำรงอยู่โดยมีการต่อสู้กันในพื้นที่ต่างๆ กันไป การผลิตความรู้หรือทฤษฎีต่างๆ ในอนาคต มันจะสัมพัทธ์กับพื้นที่ด้วย
ดังนั้นคำถามคือว่าหากว่ามันมีย้อนแย้ง ทับซ้อน ซับซ้อน พื้นที่แบบไหนต้องการความรู้แบบไหน อาจเป็นสิ่งที่ต้องคิดกันต่อไป
ความตึงแย้งประการที่สาม คือ วิธีการที่เราทำมาในอดีต เขียนเองอ่านกันเอง สำนักเชียงใหม่ ไม่ได้อยู่ในลักษณะเขียนเองอ่านกันเอง มันมีคนนอก มีนักพัฒนาเอกชน กลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เพียงผู้เข้ามาร่วมเคลื่อนไหว หรือผู้ถูกศึกษา แต่มีการนำพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มาเรียนเป็นนักมานุษยวิทยา เพราะฉะนั้นมันน่าสนใจว่ามันจะคลีคลายอย่างไรต่อไปในอนาคต
ประเด็นที่สี่คือ ความตึงแย้งระหว่างทุนภายในกับทุนภายนอก ซึ่งมีพลวัตสำคัญ ว่าทุนภายในอย่างสกว. สสส. มันจะมากำกับให้เราทำเรื่องอะไร มากน้อยแค่ไหน และมันดีหรือแย่กว่าเดิมที่เคยถูกกำกับโดยทุนต่างประเทศ หรือเราจะรักษาสมดุลได้อย่างไร
ประการสุดท้าย คิดว่า มันมีความตึงแย้งระหว่างการรักษา Autonomy กับความพยายามที่จัดการอำนาจจากภายนอก ที่เราเรียกว่า Globalization แต่ความจริงมันเป็น Neoliberalization ยกตัวอย่าง มคอ. หรือ กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (Thai Qualifications Framework for Higher Education) เป็นร่างปรากฏของเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเราจะสู้กับมันอย่างไร เพราะเราจะไม่มีเสรีภาพ หรือไม่รับรู้เดินหน้าผลิตงานวิชาการ อย่างน้อยแรงที่ต้องเสียไปกับพลังงานที่จะมาลดทอนพลังของวิชาการ ซึ่งก็ไม่ต่างกับองค์กรอื่นๆ ซึ่งผมขอเรียกว่าองค์กรปรนัย และมีคำขวัญให้มันไว้คือ เดินตามช่อง มองแค่ที่เห็น เน้นตัวชี้วัด วิสัยทัศน์เอาไว้ท่องจำ งานที่ทำไม่มีความหมายอะไรเลย
นพ.โกมาตร กล่าวทิ้งท้ายว่า หากจะมีการทบทวนสำนักเชียงใหม่ให้ชัด ต้องทบทวนในกรอบช่วงเวลาหลัง 19 กันยายน 2549 เข้าไปด้วยซึ่งจะเห็นวิวัฒนาการของสำนักเชียงใหม่ได้ชัดเจน และสัมพัทธ์กับสำนักอื่นๆ ในกรุงเทพมหานคร
จันทนี เจริญศรี กล่าวว่า เท่าที่อ่าน ถกสังคมศาสตร์ไทย ของอานันท์ กาญจนพันธุ์ มีคำสองที่ผุดมาบ่อยคือ หนึ่ง ทะลุกรอบคิด มองว่าคล้ายๆ ทฤษฎีนี้เป็นกรอบปิดกั้นฝั่งภาคปฏิบัติการในโลกของผู้คนจริงๆ ที่มีความสลับซับซ้อนหลากหลาย และทฤษฎีจะเกิดเมื่อมีการทะลุกรอบคิด
อีกคำหนึ่งที่เจอบ่อยคือ อ่านตำราฝรั่งโดยตัวเนื้อหาเอาไม่ได้เพราะเป็นการตอบโจทย์เฉพาะของมัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเอามาได้คือวิธีคิด เลยสงสัยว่าตกลงทฤษฎีพึงเอาไว้ทำอะไร ซึ่งตัวเองจะเข้าใจว่าทฤษฎีคล้ายกับเป็น spcae (พื้นที่) เป็นที่ยืนที่ทำให้เราแยกตัวเองออกมาจากประสบการณ์ที่เราอาจพบเจอในการทำงาน สนาม และเอามาใคร่ครวญ ในอีกแง่หนึ่งรู้สึกว่าทฤษฎีคือการโยงใยประสบการณ์กับความคิด หรือไอเดียที่มีอยู่แล้ว รวมถึง Second order thinking ซึ่งหลายๆ ครั้งสวนทางประสบการณ์
ดูเหมือนว่าประสบการณ์กับทฤษฎี มีความสัมพันธ์กันในแง่การเปิดพื้นที่ และให้กลับมาทบทวน และขณะเดียวกันเป็นวงจรที่เดินไปเรื่อยๆ หยุดไม่ได้ เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าประสบการณ์มันเยอะ ซับซ้อนกว่าที่จะเข้าใจจากทฤษฎีนั้นก็ต้องเปลี่ยนทฤษฎี ก็เลยคิดว่าสิ่งนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของทฤษฎี
ช่วงท้าย จันทนีเปรียบเทียบที่ทางของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในไทยกับของประเทศอื่นๆ โดยที่จันทนีอภิปรายว่าสังคมวิทยาในสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นโตในบริบทของมหาวิทยาลัยและผูกกับความเป็นวิชาการ ส่วนสังคมวิทยาอังกฤษ ผูกกับนโยบายทางสังคมและไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาส่วนบุคคล กล่าวคือทั้ง 2 ประเทศ สังคมวิทยามีที่ยืน ส่วนในประเทศไทย สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยอยู่ในชายขอบทั้ง 2 ทาง ในทางวิชาการ นักศึกษาบอกว่าไม่รู้จะกลับไปบอกพ่อแม่ว่าเรียนอะไร ทำงานอะไร ในขณะที่นโยบายทางสังคม ก็ได้ยินนักวิจัยที่ทำงานสนาม ทำงานกับชาวบ้าน บอกว่าผู้กำหนดนโยบายอยากได้ยินสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยินอยู่แล้ว สองเรื่องนี้ที่อาจทำให้เห็นที่ยืนหลักๆ ของสังคมวิทยาไทยว่าสังคมวิทยาไทยอยู่ชายขอบทั้ง และเรื่องนี้เป็นตัวอธิบายว่าทำไมต้องเห็นความจำเป็นว่าจะต้องเผยแพร่งาน ด้านสังคมวิทยา
หมายเหตุ: เนื้อหาช่วงการอภิปรายของไชยันต์ รัชชกูล และ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์มาจาก สำนักข่าวประชาธรรม