ที่มา ประชาไท
Tue, 2012-09-25 19:16
วิธีการคิดเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์เชิงประชากรศาสตร์ ดูว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของเราเป็นวัยไหน เพศใด อายุเท่าไหร่ รายได้ประมาณไหน อยู่เขตที่อาศัยจุดไหนบนประเทศไทย เมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้ (ซึ่งก็มีทั้งที่คิดเอาเองและซื้อข้อมูลจากบรรดาแหล่งวิจัยต่าง ๆ) มาก็จะทำการออกแบบรายการ เช่น รูปแบบการเสนอควรเป็นแบบใด มีพิธีกรกี่คนดี ออกอากาศช่วงไหนจะเข้าเป้ากับกลุ่มเป้าหมาย ไม่เวลาออกอากาศไม่ตรงกัน เช่น เอารายการวัยรุ่นไปออกอากาศช่วงกลางวันของวันธรรมดา เด็กก็ไม่มีทางได้ดูแน่เพราต้องไปเรียน อะไรทำนองนี้ ได้รูปแบบการนำเสนอแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ต้องคิดว่าเราจะนำเสนอเนื้อหาอะไรบ้าง ก็ต้องมาดูแก่นแกนความคิดว่าภาพรวมจะนำเสนอเรื่องอะไร แบ่งเป็นกี่ช่วงและแต่ละช่วงจะพูดถึงเนื้อหาอะไรบ้าง
หลัก ๆ จุดเริ่มต้นก็ประมาณนี้
ทว่าเริ่มมีการให้ความสำคัญกับวิธีคิดอื่น ๆ คือเริ่มมีการสนใจถึงพฤติกรรมและรสนิยมต่าง ๆ ของกลุ่มคนดูมากขึ้น มีการเจาะกลุ่มเป้าหมายด้วยลักษณะของพฤติกรรมการเสพ รสนิยมความชอบเป็นสำคัญแทนการมองเพียงกลุ่มกว้าง ๆ ที่แบ่งแยกด้วย เพศ วัย การศึกษา รายได้ และเขตพื้นที่อาศัย
ยิ่งทุกวันนี้สถานีโทรทัศน์มิได้จำกัดอยู่แต่เพียงฟรีทีวีหกช่องอีกต่อไป แล้ว เรามีรายการเคเบิลทีวีนับร้อย ๆ ช่อง ซึ่งหลาย ๆ ช่องก็นำรายการของตนไปอัพโหลดในเวบไซต์ยูทูบ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาษาพลาซ่า ทางเพลย์ ชาแนล หรือ เทยเที่ยวไทย ทางช่องแบง ชาแนล
เคเบิลทีวีและยูทูบได้ทลายกำแพงวิธีคิดเก่า ๆ ไปมาก อย่างเช่น เรื่องเวลาในการชมที่ในอดีตนั้นต้องคำนึงเสมอว่าเวลาที่เราจะออกอากาศนั้น วิธีชีวิตของกลุ่มเป้าหมายเรากำลังทำอะไรอยู่ เนื่องจากการออกอากาศแบบเดิมโดยเฉพาะในฟรีทีวีคือออกแล้วออกเลย พลาดแล้วไม่สามารถดูซ้ำย้อนหลังได้ยกเว้นจะรอนำมาฉายซ้ำในเวลาอีกห้าปีต่อมา ตอนจบของละครหลายเรื่องจึงเป็นวันที่คนดูไม่น้อยประกาศตนว่าฉันต้องไม่พลาด เพราะถ้าพลาดแล้วเท่ากับว่าไม่รู้จะมีโอกาสได้ชมอีกเมื่อไหร่
ทว่าปัญหาเหล่านี้กลับหมดไปเมื่อลักษณะของการจัดผังเคเบิลทีวีจะมีการนำ รายการมารีรันเสมอ หากพลาดจากเวลาออกอากาศจริงก็สามารถที่จะเลือกชมในการรีรันช่วงเวลาอื่นได้ (บางทีรีรันกันอีกวันเลยด้วยซ้ำ) แน่นอนว่าแฟน ๆ รายการย่อมมีสิทธิและโอกาสแก้ตัวชมอีกครั้ง ยิ่งบางรายการที่นำไปอัพโหลดให้ได้ชมทางอินเตอร์เนต แฟนคลับยิ่งไม่ต้องสนใจเลยว่าจะชมเมื่อไหร่ เพราะพวกเขาสามารถชมได้ทุกเมื่อ ทุกเวลาที่ต้องการ พรมแดนเรื่องเวลาจึงมิใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไปแล้วในโลกของโทรทัศน์
นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งตัวอย่างที่เปลี่ยนไปในโลกยุคเคเบิลทีวีและอินเตอร์เนตมีอิทธิพลไม่ต่างจากฟรีทีวี
วิธีคิดสำคัญที่คนทำรายการทีวีคิดกันทุกวันนี้ก็คือ ประกาศแรก การประกาศตัวอย่างชัดเจนว่ารายการของเรานั้นมีจุดเด่นจุดขายอะไรที่ไม่ เหมือนคนอื่น เพราะคนดูพร้อมยอมรับสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่ซ้ำใคร เราไม่จำเป็นต้องรู้ด้วยซ้ำว่ากลุ่มคนดูของเราคือใครหรือคิดว่าจะทำให้กลุ่ม ไหนดูเป็นพิเศษ ขอเพียงทำรายการออกมาที่มีลักษณะ uniqueness มีความเฉพาะเจาะจงสูง คนดูรู้ได้ทันทีว่าจะได้เจออะไรในรายการ อาทิ เทยเที่ยวไทยย่อมต้องเจอกะเทยไปเที่ยวจังหวัดต่าง ๆ กันมันส์ ๆ หลุด ๆ รายการแบบนี้มีลักษณะคนดูที่หลากหลายไม่จำกัดเพศวัย สิ่งเดียวที่มีเหมือนกันคือเขาประทับใจในความ uniqueness ของรายการที่ไม่สามารถดูได้จากที่ไหนอีก (ลองนึกถึงในยุคหนึ่งที่รายการวัยรุ่นพยายามจะเป็น Teen Talk กันเสียหมด วิธีคิดแบบนั้นแบบใช้ไม่ได้แล้วในทุกวันนี้)
เหมือนกับว่ากระบวนทัศน์เปลี่ยน จากเดิมที่เราต้องคอยเดาใจคนดูว่าเนื้อหาเราจะเข้าเป้าคนดูมากน้อยขนาดไหน ตอนนี้หลาย ๆ รายการเริ่มลดความสนใจกับเรื่องนี้ไปมาก พวกเขาให้ความสนใจกับการสร้างสรรค์รายการให้ออกมามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้ง รูปแบบและเนื้อหามากที่สุด แล้วคนดูต่างหากที่จะเข้ามาชมรายการเอง เพราะพฤติกรรมและรสนิยมของคนเป็นสิ่งที่เดายาก ดังนั้นจงเป็นตัวของตัวเอง ถ้าของ ๆ เรามีคุณภาพและไม่ซ้ำใคร
นี่เป็นสิ่งแรก ๆ ที่เริ่มเปลี่ยนในวิธีคิดคนทำงานสื่อ สำหรับคราวหน้ามาว่ากันอีกว่ามีอะไรเปลี่ยนไปอีกบ้าง