ที่มา ประชาไท
5 ต.ค.55 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค “วันนี้เมื่อ 36 ปีก่อน” โดยนำรูปปกหนังสือพิมพ์เก่าฉบับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ดาวสยาม บ้านเมือง ไทยรัฐ บางกอกโพสต์ ประชาชาติ เปรียบเทียบการพาดหัวข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมใหญ่ของประชาชนและนักศึกษาใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 1, 2, 3, 4, 5 ตุลาคม 2519 ก่อนจะเกิดเหตุการณ์กวาดล้างนักศึกษาและประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
สำหรับ ในวันนี้ ( 5 ต.ค.) เมื่อ 36 ปีที่แล้ว สมศักดิ์ ได้วิเคราะห์ข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ไว้ว่า ชนวนของการจุดประเด็นเรื่องละครแขวนคอ อันเป็นเหตุให้ฝ่ายขวาลุกฮือและมีการกวาดล้างผู้ชุมนุมอย่างโหดเหี้ยมนั้น ถูกจุดขึ้นจากประเด็นเพียงเล็กน้อยและด้วยเวลาอันรวดเร็วเพียงใด ทั้งที่สื่อมวลชนเกือบทั้งหมด รวมทั้งดาวสยามเองนำเสนอข่าวการแสดงละครนี้ในวันที่ 5 ต.ค. เป็นเพียงข่าวเล็กๆ ที่แทบไม่ได้รับความสนใจ
รายละเอียดมีดังนี้
วันนี้ เมื่อ 36 ปีก่อน: 5 ตุลาคม 2519
...............
ทั้งพาดหัวและรายงานข่าวของ นสพ.ทุกฉบับ ที่วางตลาดในเช้าวันอังคารที่ 5 ตุลาคม 2519 ไม่มีวี่แวว หรืออะไรแม้แต่นิดเดียว ที่จะส่อให้เห็นว่า จะเกิดอะไรขึ้น ภายใน 24 ชม.ข้างหน้า
ทุกฉบับรายงานการ "ยกระดับ" การต่อต้านถนอม ที่นำโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในเย็นวันก่อนหน้านั้น (จันทร์ที่ 4) คือ มีการจัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวงเป็นครั้งแรก แล้วการชุมนุม ได้ "ยืดเยื้อ" คือ ไม่สลาย แต่ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนเข้ามาใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ชุมนุม ข้ามคืน "ยืดเยื้อ" ต่อ
แต่จะว่าไปแล้ว นี่ก็เป็นอะไรที่ "คาดเดาได้" เพราะสมัยนั้น ถ้ามีเรื่องประท้วงใหญ่มากๆ ก็จะลงเอยในลักษณะนี้ คือ นักศึกษาจัดชุมนุมยืดเยื้อในธรรมศาสตร์
ก่อนหน้านั้น เพียงเดือนเศษ ก็มีกรณีลักษณะนี้ เมื่อ ประภาส จารุเสถียร ลักลอบกลับเข้ามาในประเทศไทย
ความ แตกต่าง คือ ครั้งถนอมนี้ การชุมนุมในลักษณะนี้ เริ่มช้ากว่า คือ เริ่มหลังจากถนอมเข้ามาแล้ว 2 สัปดาห์ ไมใช่ เริ่มทันที เหมือนครั้งประภาส
ราย ละเอียดที่ต่างกันออกไปบ้างอีกอย่างหนึ่ง คือ การชุมนุมยืดเยื้อในธรรมศาสตร์ เพื่อประท้วงถนอม ที่เริ่มขึ้นในเย็นวันที่ 4 ตุลาคม นี้ มีขึ้นพร้อมกับการเริ่มฤดูการสอบไล่ของนักศึกษาพอดี หมายความว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์ ต้องงดการสอบไปโดยปริยาย
และเรื่อง นี้เอง ที่นำไปสู่เหตุการณ์เล็กๆ ที่ไม่ได้มีใครสนใจหรือให้ความสำคัญมาก คือ การจัดชุมนุมภายในของนักศึกษาธรรมศาสตร์เอง ซึงส่วนใหญ่คือ นักศึกษาชั้นปี 1 ที่ทำกิจกรรม ที่ลานโพธิ์ ในตอนเที่ยงของวันเดียวกันนั้น เพื่อชักชวนให้นักศึกษาปี 1 ที่ต้องมาสอบทุกคน งดสอบ (ไม่ค่อยได้ผลนัก นักศึกษาธรรมดา ที่ไมใช่เด็กกิจกรรม ยังเข้าสอบต่อไป) มีการจัดแสดง "ละคร" หรือ "ฉาก" สั้นๆ ไม่กีนาที ประกอบ เพื่อเรียกร้องความสนใจ โดยหยิบเอาเหตุกาณณ์ ฆ่าแขวนคอ ช่างไฟฟ้า ที่นครปฐม 2 คน มาแสดง สลับกับการ "ไฮด์ปาร์ค" ย่อยๆ ด้วยเครื่องเสียงเล็กๆ
การจัดชุมนุมภายในของนัก ศึกษาธรรมศาสตร์ที่ว่านี้ เป็นเรือ่งกิจกรรมภายใน ที่นักกิจกรรมในธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะปี 1 "ทำกันเอง" ไม่ได้เป็นมติของ - หรือเกี่ยวข้องกับ - ศูนย์นิสิต
แน่นอนว่า นสพ.ทุกฉบับ ก็มาทำข่าว ถ่ายภาพกัน แต่ก็ไม่มีฉบับไหนให้ความสำคัญมาก
ไทย รัฐ ฉบับเช้าวันต่อมา (ดังทีแสดงให้เห็นในภาพ) ลงรูป ดร.ป๋วย มาห้ามปราม ให้เลิกชุมนุม หลังการชุมนุมดำเนินไป จนเรียกว่า เกือบจบแล้ว คือ หมดเวลาพักเที่ยง กำลังจะเริ่มการสอบ ตอนบ่ายโมงแล้ว ดร.ป๋วย ต้องการให้เลิก เพื่อไม่ให้รบกวนการสอบ (ถ้า ดร.ป๋วย ไม่มาห้ามปราม พวกเราเอง ก็คงอยู่กันต่ออีกไม่นาน ปล่อยให้นักศึกษา ที่สอบ สอบกันไป) แต่ละครเล็กๆ ที่ว่า ไทยรัฐ ก็ไม่รู้สึกน่าสนใจพอจะลง (จริงๆ ที่ลงรูปการชุมนุมนี้ ในหน้า 1 ก็คงเพราะมี ดร.ป๋วย มา "ปะทะนักศึกษา" ตามคำโปรยหัว ที่ออกจะ "เว่อร์" ของไทยรัฐ นันแหละ ลำพัง การชุมนุมเล็กๆแบบนี้ คงไม่เป็นข่าวอะไร)
นสพ. "ประชาชาติ" ลงรูป "ละคร" ที่แสดงเพื่อเรียกความสนใจที่วา เป็นรูปเล็กๆ แทบจะดูไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร เพราะไม่มีการบรรยายไว้ด้วยว่าเป็นรูปอะไร (นอกจากว่า "ส่วนภาพเล็ก เป็นการประท้วงของ นศ.ที่ลานโพธิ์" ใครที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เอง ก็ยากจะดูรู้เรื่องว่า ในภาพ เป็นอะไร) และก็ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไร
ทีสำคัญ นสพ. ขวาจัด 2 ฉบับ ในขณะนั้น คือ ดาวสยาม กับ บ้านเมือง ไม่ให้ความสำคัญเลย จะเห็นว่า ไม่มีแม้แต่รูปอะไรเกี่ยวกับการชุมนุมของ นักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่ลานโพธิ์ และ "ละคร" ที่ว่าเลย
แต่ด้วยความบังเอิญ นสพ.ภาษาอังกฤษ Bangkok Post คงเห็นว่า ภาพ "ละคร" หรือ "ฉาก" ทีแสดงเรียกความสนใจนักศึกษาที่กำลังเข้าสอบทีว่า ออกมาแล้ว ดูเด่นดี เลยนำมาตีพิมพ์ในหน้า 1 และเป็น นสพ. ฉบับเดียวในเช้าวันอังคารที่ 5 ที่ลงภาพและเรื่องการแสดง "ละคร" ที่ว่านี้อย่างชัดเจน (ถ้าไม่นับ ประชาชาติ ที่ลงแต่รูปเล็กนิดเดียว แทบจะดูไม่ออก ดังกล่าว The Nation มีภาพละคร เช่นกัน แต่ถ่ายจากด้านข้าง)
และ Post ดูจะเป็นฉบับเดียว ที่ รู้สึกว่า "ละคร" นี้ แสดง "ได้ผล" หรือมี ผลสะเทือนต่อคนทีได้ดู ("It was just a mock hanging, but the effect was such that it created an eerie atmosphere at the Thammasat University campus...")
(ผมเดา ว่า ส่วนหนึงที่ Post ให้ความสำคัญ กับ "ละคร" เพราะต้องการ "เล่น" ข่าว ที่ ศรีสุข อธิบดีกรมตำรวจ ออกมายอมรับว่า การ ฆาแขวนคอ ช่างไฟฟ้า 2 คน เป็นฝีมือตำรวจ - ดูพาดหัวตัวโต ของ Post ตามภาพ)
และก็ด้วยความ บังเอิญ เช่นกัน ในเช้าวันอังคารที่ 5 นี้ กลุ่มฝ่ายขวา ทีแทบไม่มีใครสนใจ หรือรุ้จัก ที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มผู้รักชาติและชมรมแม่บ้าน" ไม่กี่ร้อยคน ที่ไม่พอใจ กับเรื่องที สมัคร สุนทรเวช และ สมบุญ ศิริธร "ปีกขวา" ประชาธิปัตย์ กำลังถูกกีดกันออกจาก ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ ที่เป็นข่าวต่อเนือ่งมาหลายวัน (ดูกระทู้ก่อนๆในซีรีส์นี้ ตาม links ข้างล่าง)
ได้พากันมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนถึงประมาณหลังเที่ยงวันเล็กน้อย ใกล้จะเลิกชุมนุมอยู่แล้ว ก็บังเอิญ มีบางคนในหมุ่คนเหล่านี้ "เห็น" ขึ้นมาว่า ภาพในหน้า 1 Bangkok Post ดังกล่าว เป็นภาพอย่างอื่นที่ไมใช่เรื่องสะท้อนการแขวนคอช่างไฟฟ้าทีนครปฐม
ภาย ในไม่กีชัวโมง ในช่วงบ่ายถึงค่ำวันอังคารที่ 5 ตุลาคม 2519 ข่าวลือ เรือ่ง "นักศึกษา แขวนคอ หุ่น เหมือน ..." (นี่คือเนื้อหาของข่าวลือตอนแรก) ก็แพร่สะพัด ในหมู่พวกกำลังขวาจัดในขณะนั้น ราวกับไฟลามทุ่ง โดยมี นสพ. ดาวสยาม (ทีตอนแรก ไม่รู้สึกว่า ละคร ดังกล่าว มีอะไร พอจะรายงานในเช้าวันนั้น ด้วยซ้ำ) และ วิทยุ ยานเกราะ เป็นตัว จุดไฟ และช่วยกระพือ
ภายในไม่กี่ชัวโมง กำลังที่อยู่ในการควบคุมของพวกขวาจัด ได้รับการระดมกันขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งประเภทมวลชนจัดตั้ง (ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล) .. แต่ทีสำคัญ คือการเคลื่อนกำลังติดอาวุธ โดยเฉพาะในแวดวงตำรวจ และ ทีสำคัญทีสุด คือ ตำรวจ "พลร่ม" ตระเวนชายแดน ที่ถูกเคลื่อนกำลังเข้ามาจากหัวหินในกลางดึก (ตี 2) ของคืนวันอังคารที่ 5 ต่อเนื่องวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2519
เป้าหมายของการโจมตี คือ ธรรมศาสตร์ .....
อ่านรายละเอียดในวันที่ 1-4 ตุลาคม 2519 ได้ที่
"วันนี้ เมื่อ 36 ปีก่อน: 1 ตุลาคม 2519" http://goo.gl/4wknz
"วันนี้ เมื่อ 36 ปีก่อน: 2 ตุลาคม 2519" http://goo.gl/T3E9W
"วันนี้ เมื่อ 36 ปีก่อน: 3 ตุลาคม 2519" http://goo.gl/OkrRa
"วันนี้ เมื่อ 36 ปีก่อน: 4 ตุลาคม 2519" http://goo.gl/hekC