WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, February 17, 2009

ปูดทหาร1หมื่น ลุยม็อบเสื้อแดง

ที่มา ข่าวสด

พท.แฉอีก คำสั่งลับ! 24กพ.ระอุ



"มาร์ค"ชูปฏิรูปการเมืองสู้พ.ร.บ.ปรองดองของฝ่ายค้าน มั่นใจพรรคร่วมเสียงไม่แตก เชื่อยังคุยกันรู้เรื่อง แนะฝ่ายค้านมาร่วมตั้งกรรมการปฏิรูปการเมืองเพื่อผลักดันกฎหมายสมานฉันท์ดีกว่า "เทือก"รับลูกระบุไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไรก็คือการช่วยคนทำผิดให้พ้นโทษ มีแต่สร้างความแตกแยก "ชวรัตน์"กลับลำอ้างไม่เคยพูดว่าเห็นด้วย เพียงแต่สนับสนุนถ้าช่วยอดีตกรรมการบริหารที่ถูกยุบพรรค โดยไม่เกี่ยวกับผู้ทำผิดกฎหมาย "ปู่ชัย"ข้องใจเพื่อไทยเผยแพร่ร่างพ.ร.บ. ก่อนยื่นญัตติ วิปรัฐบาลประชุมสรุปยังไม่ถึงเวลากฎหมายฉบับนี้ ชี้รัฐบาลยังมีงานเร่งด่วนต้องทำอีกมาก "อภิวันท์"โยนสมาชิก 111 ไทยรักไทยเป็นคนเสนอกฎหมายดังกล่าว เห็นควรชะลอไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน เพื่อไทยประชุมพรรคมีมติยื่นซักฟอก"มาร์ค"และครม.ในสมัยประชุมนี้ ส่วนกำหนดวันยื่นญัตติและเสนอชื่อใครเป็นนายกฯนัดประชุมกันอีกครั้ง กกต.นัดตัดสินวันนี้"เนวิน"ร่วมตั้งรัฐบาล

"มาร์ค"ชูปฏิรูปสู้พ.ร.บ.ปรองดอง

เมื่อเวลา 12.15 น.วันที่ 16 ก.พ.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ วันที่ 18 ก.พ.นี้ว่า รัฐบาลจะไม่เสนอร่างกฎหมายประกบร่างของฝ่ายค้าน รัฐบาลไม่มีความคิดเสนอกฎหมายลักษณะดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าพรรคร่วมสนับสนุนฝ่ายค้าน รัฐบาลจะทำอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ฝ่ายนิติบัญ ญัติ พรรคการเมือง และส.ส. มีสิทธิเสนอกฎหมายได้ แต่รัฐบาลคงไม่เสนอ เมื่อถามว่าจะทำความเข้าใจกับพรรคร่วมอย่างไร เพราะขณะนี้บางพรรคเห็นด้วยกับฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่มีปัญหาอะไร ฝ่ายนิติบัญญัติมีสิทธิเสนอ แต่รัฐบาลมีจุดยืนของตัวเอง เมื่อถามว่าถ้าพรรคร่วมเสนอออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะเปลี่ยนจุดยืนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องยึดตามนโยบายรัฐบาลคือการปฏิรูปการเมือง แต่ถ้าในสภาจะเสนอในนามของพรรคการ เมือง ก็ขึ้นกับดุลพินิจของแต่ละพรรค แต่ไม่ใช่กฎ หมายของรัฐบาล และการดำเนินการของสภาต้องมาจบลงที่วิปรัฐบาล

มั่นใจคุยพรรคร่วมรู้เรื่อง

เมื่อถามว่ามั่นใจเสียงไม่แตกใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มั่นใจว่าจะพูดคุยกันรู้เรื่อง ตนยืนยันและยังเชื่อมั่นว่าทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลขณะนี้รู้ว่าเป้าหมายสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดินคือการฟื้นเศรษฐกิจ ไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง เมื่อถามว่าตอนพรรคประชาธิปัตย์เชิญพรรคร่วมเข้าร่วม ไม่มีเงื่อนเรื่องนิรโทษกรรมใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ไม่มี มีแต่พูดถึงปฏิรูปการเมือง และเขียนไว้ในนโยบายรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว เมื่อถามว่าประชาชนจะสับสนกับความเห็นที่แตกต่างกันหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องดูที่ผล บทบาทของแต่ละฝ่าย รัฐบาลไม่มีสิทธิห้ามส.ส. แต่ต้องสามารถบริหารราชการแผ่นดินและคุมสภาพเสียงข้างมากในสภาได้

ต่อข้อถามว่าถึงวันหนึ่งหากไม่สามารถคุมเสียงข้างมากได้จะทำอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า วันนี้ยังไม่เกิดขึ้นแต่มั่นใจว่าจะคุมเสียงได้ เชื่อว่าพรรคร่วมแต่ละพรรคได้พูดคุยกับสมาชิกของตน ส่วนนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เห็นด้วยกับฝ่ายค้านนั้นก็เพียงแต่บอกว่าข้อเสนอของฝ่ายค้านมีเหตุผลในตัว อยากฟังเหตุผลของคนที่ไม่เห็นด้วย ก็พูดคุยกันได้ ไม่มีปัญหา

พยายามดึงฝ่ายค้านสมานฉันท์

ส่วนความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะกรรมการสมาน ฉันท์แห่งชาติตามแนวคิดของนายกฯนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามและปรึกษากับฝ่ายค้านอยู่ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบจากฝ่ายค้าน เพียงแต่เมื่อตนพบกับฝ่ายค้านที่มีบทบาท ก็พยายามพูดคุยเพราะไม่อยากเดินฝ่ายเดียว

"ถ้าผมจะตั้งวันนี้ก็ตั้งได้ แต่ถ้าตั้งวันนี้แล้ว ปรากฏมีคนบอกว่าไม่อยากได้รูปแบบนี้ มันก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร ฉะนั้นผมจึงต้องพยายาม ต้องใช้เวลาสักนิด ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้กระบวนการเริ่มต้นและเป็นที่ยอมรับ จะเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า" นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่าถ้าฝ่ายค้านดึงเวลาต่อไปเรื่อยๆ จะเกิดผลกระทบอะไรหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถึงจุดหนึ่งตนต้องตัดสินใจว่าเขามีปัญหาเรื่องอะไร แต่ถ้าคิดว่าในที่สุดต้องเดินหน้าไป มั่นใจว่ามีเหตุผลเพียงพอ ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ แต่จริงๆ แล้วไม่อยากทำเช่นนั้น อยากให้ฝ่ายค้านเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อถามว่าจะใช้เวลาตัดสินใจนานถึง 6 เดือนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คงไม่ทอดเวลาออกไปถึง 6 เดือน แต่ต้องยอมรับว่าความเร่งด่วนเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ยังไม่ชัดเจนว่าถ้าไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ จะเกิดความเสียหาย เพราะขณะนี้ดูที่ภาพรวมนโยบายการสร้างบรรยากาศของเสถียรภาพในบ้านเมือง และจำกัดวงของความขัดแย้ง ที่สำคัญคงไม่มีประโยชน์หากจะรีบทำแล้วในที่สุดไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

เตรียมแถลงความคืบหน้าคดีต่างๆ

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้สถานการณ์อยู่ในเกณฑ์สงบเรียบร้อย เพียงแต่มีความเคลื่อนไหวของประชาชน หรือกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ก็สั่งดูแลไม่ให้ละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน หรือทำผิดกฎหมาย ส่วนตัวคิดว่าแม้จะมีคณะกรรมการอะไรก็ตาม ไม่เชื่อว่าการเคลื่อนไหวต่างๆ จะยุติ แต่เงื่อนไขอะไรที่จะต้องได้รับความมั่นใจมากขึ้นว่าดำเนินการชำระสะสางแล้ว รัฐบาลจะเร่งดำเนินการ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งรัด เช่น คดีความต่างๆ โดยช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้พูดคุยกับตน และจะสรุปความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีความต่างๆ เพื่อรายงานให้ทราบต่อไป การสรุปครั้งนี้จะได้เห็นความคืบหน้าเพื่อรายงานประชาชนและสังคม รวมถึงทุกๆ ฝ่ายได้รับทราบ

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า หากฝ่ายค้านเห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปการเมืองของรัฐบาล ก็จะเดินหน้าต่อไป แต่ถ้าคิดว่ามีทางเลือกอื่น ก็มาร่วมพิจารณาด้วยกัน ขณะนี้ทั้งหมดอยู่ที่กระบวนการเพราะเรื่องปฏิรูปการเมือง ตนไม่อยากมีธงไปจากรัฐบาลว่าต้องทำอย่างนั้น หรือไม่ทำอย่างนี้ เพราะถ้าทำก็เสี่ยงที่จะเป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง จึงเอากระบวนการที่เป็นที่ยอมรับ และสาระต่างๆ ไปว่าตามกระบวนการ ทั้งนี้การใช้สถาบันพระปกเกล้าเป็นเจ้าภาพเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ขณะนี้มีความคิดเพิ่มเติมเข้ามา อยู่ระหว่างพิจารณา เช่นเดียวกับเรื่องการสร้างความปรองดองที่จะต้องดูแลเรื่องความเป็นธรรม คดีความ หรือกฎหมายต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะแทรกแซง เพียงแต่มีกลไกเอื้ออำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจมากขึ้นว่าการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายคำนึงถึงความเป็นธรรมในภาพรวม

"เทือก"ขวางลำพ.ร.บ.ปรองดอง

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติว่า ไม่ว่าจะเรียกชื่ออะไร แต่ฟังดูเนื้อหาคือต้องการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ถูกพิพากษาตัดสิทธิ์ทางการเมือง ตนยังไม่ได้ประชุมกันในพรรคประชาธิปัตย์ แต่โดยจุดยืนแล้วจะไม่สร้างกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เราจะทำกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ กรณีที่เห็นว่าต้องการให้การเมืองดีขึ้นต้องมีคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองก่อน แล้วจึงค่อยดำเนินการตรงนั้น ถ้าเขียนกฎหมายมาเพื่อช่วยเหลือพวกเดียวกันประชาชนคงไม่พอใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะทำความเข้าใจกับแกนนำพรรคภูมิใจไทยที่ออกมาสนับสนุนอย่างไร นายสุเทพกล่าวว่า ทุกพรรคต้องคุยกันในพรรคของตัวเอง ซึ่งสมาชิกพรรคส่วนใหญ่คงเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อถามว่าหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยพูดผ่านสื่ออย่างชัดเจนว่าสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว นายสุเทพกล่าวว่า คงต้องการฟังเสียงประชาชนดูว่าเป็นอย่างไร

โต้ดองเรื่อง-ดันกก.ปฏิรูปการเมือง

เมื่อถามว่ารัฐบาลยังไม่ได้ริเริ่มดำเนินการอะไรที่ทำให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ นายสุเทพกล่าวว่า ที่จริงเราก็ทำ แต่ไม่ได้พูด นายกฯ พูดกับแกนนำฝ่ายค้านทั้งประธานวิปและประธานส.ส.เพื่อให้มาร่วมมือปฏิรูปการเมือง ประเด็นที่นายกฯ เสนอคือจะร่วมกันพิจารณาหาคนกลางที่ฝ่ายค้านก็รับได้มาเป็นเจ้าภาพ ชักชวนฝ่ายต่างๆ มาระดมสมองปฏิรูปการเมือง ถ้าตัวบุคคลยังคิดไม่ออกหรือยอมรับกันไม่ได้ก็ใช้สถาบัน ส่วนของส.ส.แต่ละพรรคคิดว่าอาจตั้งคณะกรรมาธิการของสภาขึ้นมาศึกษาแนวทางการปฏิรูปการเมือง เพื่อเร่งดำเนินการในเรื่องนี้อีกทางหนึ่ง ซึ่งดูอยู่ว่าแนวทางใดจะเริ่มได้ก่อนกัน ทั้งนี้การปฏิรูปการเมืองต้องใช้เวลาพิจารณาและทุกฝ่ายต้องเห็นชอบร่วมกันก่อน ซึ่งจะไม่เน้นเรื่องความปรองดอง แต่ต้องคิดในทุกมิติเพื่อวางรากฐานที่ดีให้กับระบบการเมืองของไทย ส่วนชื่อบุคคลหรือสถาบันที่จะเข้ามาดำเนินการนั้น ขอเวลาให้ฝ่ายค้านและรัฐบาลพิจารณาร่วมกันก่อน

ต่อข้อถามว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องสร้างความสมานฉันท์ปรองดองน้อยลงหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ได้ลดน้อยลง แต่เราไม่ได้พูดทุกวัน แต่ดำเนินการอยู่ โดยพยายามให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจสถานภาพที่แท้จริงของบ้านเมือง และตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกัน เพื่อให้เกิดความสามัคคี เมื่อถามว่าการนำเรื่องนี้ไปผูกโยงกับเรื่องปฏิรูปการเมืองที่ไม่มีกำหนดเวลาชัดเจน เหมือนเข้าทางพรรคประชาธิปัตย์ที่จะดองเรื่องไว้ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ใช่ พรรคไม่จำเป็นต้องดองเรื่องหรือยื้อเวลา ส่วนที่รัฐบาลจะต้องทำโดยไม่ต้องรอใครนั้นเราทำทุกวัน ส่วนการปฏิรูปการ เมืองนั้นรัฐบาลทำข้างเดียวไม่ได้ ต้องทำด้วยกันหลายฝ่าย เมื่อถามว่าแสดงว่าไม่เชื่อข้ออ้างของฝ่ายค้านที่ระบุร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะช่วยลดความขัดแย้งทางสังคมได้ใช่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ตนจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่การออกกฎหมายนี้ผิดหลักการ และต่อไปใครปฏิวัติรัฐประหารอย่าไปออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้

คุยรัฐบาลไม่หรี่ตาเข้าข้างสีไหน

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะยิ่งสร้างปัญหาในสังคมหรือไม่ เพราะอีกฝ่ายประกาศเคลื่อนไหวเต็มที่ นายสุเทพกล่าวว่า การชุมนุมต่อต้านเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าคนทำผิดกฎหมายแล้วออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ ต่อไปใครทำผิดกฎหมายมีสิทธิ์มีเสียงหรือมีพวกอยู่ในสภาก็มาออกกฎหมายยกเว้นให้ อย่างนั้นไม่ใช่หลักการปกครองด้วยกฎหมาย เมื่อถามว่าจะคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ เพราะความเห็นยังต่างกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาล นายสุเทพกล่าวว่า คิดว่าแต่ละพรรคต้องไปคิดเอง เดี๋ยวจะรู้

เมื่อถามว่าขณะนี้สังคมแตกออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจนรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร นายสุเทพกล่าวว่า คิดว่าสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้แตกแยก มีแต่เฉพาะกลุ่มที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยพรรคและนักการเมืองเท่านั้นที่เคลื่อนไหวอยู่ เมื่อถามว่ากลุ่มพันธมิตรยังเคลื่อนไหวจัดคอนเสิร์ตการเมือง แต่รัฐบาลห้ามไม่ให้กลุ่มเสื้อแดงเคลื่อนไหว สังคมสงสัยการทำหน้าที่ของรัฐบาล นายสุเทพกล่าวว่า รัฐบาลไม่หรี่ตา ไม่เข้าข้างเสื้อสีไหน แต่ละกลุ่มมีแนวทางของตัวเอง ไม่ลดละ รัฐบาลคอยดูแลให้การชุมนุมอยู่ภายใต้กฎหมาย และยืนยันว่าถ้าใครทำผิดกฎหมายจะดำเนินคดีกับทุกฝ่าย โดย 1-2 วันนี้ตนจะนำผบ.ตร.และผบช.ภาคต่างๆ แถลงความคืบหน้าเรื่องคดีความของทุกฝ่ายที่ตำรวจดำเนินการอยู่ เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าไม่มีการละเลยหรือยกเว้นให้ฝ่ายใด โดยจะรวมถึงคดีบุกยึดสนามบินด้วย ซึ่งตนเร่งตำรวจทำทุกคดีโดยเร็ว แต่คดีที่อยู่ในขั้นตอนของศาลนั้นไม่มีใครเร่งได้ ต้องว่ากันตามกระบวนการยุติธรรม ในส่วนของตำรวจได้เร่งให้ทำสำนวนให้เสร็จโดยเร็ว

นายสุเทพกล่าวถึงกรณีกลุ่มเสื้อแดงประกาศชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลวันที่ 24 ก.พ.นี้ โดยจะชุมนุมยืดเยื้อแต่ไม่บุกเข้าทำเนียบว่า ตนมีหน้าที่ดูแลจะพยายามดูแลให้เรียบร้อย ต้องไม่กระทำอะไรที่ผิดกฎหมาย เมื่อถามว่าการประกาศปิดล้อมแต่ไม่บุกเข้ามารัฐบาลจะจัดการอย่างไร นายสุเทพกล่าวว่า เดี๋ยวดูกันต่อไป

วิปรบ.สรุปยังไม่ถึงเวลากม.ปรองดอง

เมื่อเวลา 13.10 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล แถลงหลังประชุมวิป รัฐบาลว่า วิปรัฐบาลเห็นตรงกันยังไม่ถึงเวลาเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เนื่องจากขณะนี้ประเทศยังถูกถาโถมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ มีปัญหาการว่างงาน ประชาชนได้รับผลกระทบ ส่งผลเรื่องปากท้อง อยากให้รัฐบาลสนใจการบริหารประเทศให้ออกจากวิกฤตนี้ก่อนมากกว่า นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในเนื้อหาสาระเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจน ที่จะทำให้เกิดความ ปรองดองในชาติได้จริงอย่างที่มีการระบุไว้ก่อนหน้านี้ วิปจึงอยากเสนอว่าถ้าอยากให้แก้ปัญหาและสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ควรตั้งคณะกรรมการปฏิรูปทางการเมือง โดยมีองค์ประกอบมาจากหลายส่วนทั้งนักวิชาการ ที่สำคัญต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงาน เพื่อวางระบบการบริหารประเทศ ให้เกิดผลที่สอดคล้องกับนโยบายปรองดองอย่างแท้จริง

นายชินวรณ์กล่าวอีกว่า หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายและพ.ร.บ.งบประมาณผ่านสภา กระทรวงต่างๆ ควรรีบประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลการทำงาน ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของประเทศ เช่น การอุดหนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การเรียนฟรีให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด เมื่อถามว่ามติที่ระบุควรชะลอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองไว้ก่อน สมาชิกเห็นชอบทั้งหมดหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า สมาชิกจากทุกพรรคยืนยันชัดเจนให้รัฐบาลควรแก้ปัญหาอย่างอื่นก่อน ส่วนปัญหาที่มาจากความล้มเหลวทางการเมืองควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ไม่ควรนำความคิดเห็นเรื่องของกฎหมายมาเป็นประเด็นทำให้สังคมเกิดความแตกแยก และที่สำคัญรัฐบาลขอย้ำจุดยืนว่าหากจะดำเนินงานใดๆ จะขอความเห็นจากประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่

"ชวรัตน์"กลับลำไม่เคยบอกเห็นด้วย

ที่กระทรวงมหาดไทย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติว่า ตนไม่เคยบอกว่าเห็นด้วยกับการเสนอพ.ร.บ. ปองดองแห่งชาติ เพราะขณะนั้นยังไม่มีการเสนอร่างดังกล่าวเลย ที่ผ่านมาให้ความเห็นส่วนตัวเรื่องการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองว่าตนเห็นด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯระบุว่ายังไม่จำเป็น เพราะเรื่องเศรษฐกิจสำคัญกว่า นายชวรัตน์กล่าวว่า ใช่ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้อง และความสามัคคีของคนในชาติ ถ้าชะลอการออกพ.ร.บ.นี้ก็ไม่ขัดข้อง

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยระบุเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะถ้าออกได้เท่ากับสร้างความสมานฉันท์ในประเทศ รมว.มหาดไทยกล่าวว่า เป็นคนละเรื่อง เพราะพ.ร.บ.ปรองดอง รวมถึงผู้ต้องหาคดีแพ่งและอาญาทั่วประเทศ ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด หากเป็นเช่นนั้นจะเกิดปัญหาวุ่นวายตามมามาก ส่วนตัวต้องการให้นิรโทษกรรมเฉพาะนักการเมือง ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 111 และ 109 คนเท่านั้น อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียดอีกว่า ใครควรได้หรือไม่ได้รับการนิรโทษกรรม

ด้านนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย กล่าวว่า ไม่ใช่พรรคภูมิใจไทยสนับสนุนพ.ร.บ.ปรองดอง เพราะเรื่องนี้ต้องหารือในที่ประชุมพรรคก่อน เพราะการเสนอกฎหมายใดที่อาจเสี่ยงก่อให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมือง ทำให้ประชาชนจำนวนมากคัดค้าน ดังนั้นเรื่องนี้ต้องพูดในที่ประชุมให้เกิดความชัดเจน และออกมาเป็นมติของพรรควันที่ 17 ก.พ.นี้ ว่าพรรคจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ขณะนี้ยังไม่ได้เห็นเนื้อหาของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จึงยังไม่รู้ว่าถ้าออกมาแล้ว จะเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดความแตกแยกหรือไม่

ภูมิใจไทยแจงวุ่นไม่ได้ถูกกดดัน

นายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย รองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยเห็นตรงกับที่วิปรัฐบาลเสนอว่าควรหยิบยกปัญหาของประเทศขึ้นมาเป็นปัญหาที่มีความสำคัญเร่งด่วน แม้ว่าก่อนหน้านี้นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาแสดงความเห็นด้วยกับการเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณาร่วมกันภายในพรรคแล้ว เห็นตรงกันว่าควรแก้ปัญหาปากท้องเป็นลำดับแรก

เมื่อถามว่าสาเหตุที่พรรคภูมิใจไทยเปลี่ยนท่าทีเพราะถูกกดดันจากรัฐบาลหรือไม่ นายปัญญากล่าวว่า ยืนยันพรรคไม่ได้ถูกกดดันและภายในพรรคยังมีความเป็นเอกภาพ เพราะสมาชิกได้พูดคุยและหารือกันอยู่เป็นระยะ จึงยืนยันว่าภายในพรรคมีความมั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ปธ.วุฒิฯชี้ประชาชนต้องรับได้ด้วย

ต่อมาเวลา 13.30 น.ที่รัฐสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงเข้าพบนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนฯ ว่า เป็นการไปประชุมร่วมกันเรื่องของรัฐสภา แต่ยังไม่ได้พูดคุยกันกรณีส.ส.พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เพราะยังไม่มีเวลา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เห็นเนื้อหา จึงยังวิจารณ์ไม่ได้ แต่เข้าใจว่าเป็นเพียงการโยนหินถามทางของฝ่ายการเมือง คงไม่มีใครคิดอะไรจริงจัง ส่วนตัวเห็นว่าความปรองดองในชาติจะสร้างกฎหมายมาบังคับไม่ได้ แต่ต้องเกิดจากความรู้สึก ความเห็นพ้องต้องกันของคนในชาติ ไม่มีประเทศไหนใช้กฎหมายบังคับให้คนสมานฉันท์ แต่หากฝ่ายการเมืองต้องการคงเป็นสิทธิ์ที่จะเสนอได้

นายประสพสุขกล่าวว่า กรณีนี้ระบุให้ชัดเจนว่าจะยกเลิกโทษสำหรับการกระทำแบบใดบ้าง ช่วงเวลาเท่าใดให้ชัดเจน แต่ต้องขึ้นกับว่าประชาชนจะยอมรับหรือไม่ เท่าที่ฟังเสียงจากสังคม หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย แม้แต่กลุ่มพันธมิตร รัฐบาล หรือในพรรคฝ่ายค้านเอง ยังเห็นแตกต่างกันอยู่ หากจะทำจริงๆ ควรให้คนกลางอย่างสถาบันพระปกเกล้าดำเนินการ ส่วนข่าวที่ว่าจะให้ตนและนายชัยเป็นตัวกลางหารือความเป็นไปได้ของกฎหมายฉบับนี้ ก็ได้ ไม่เป็นไร หากทำให้สังคมสมานฉันท์ได้จริงๆ แต่ตนยังกลัวว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกิดสมานฉันท์ไม่ได้

"เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องค่อยๆ ทำ ฝ่ายการเมืองจะเขียนให้ทุกอย่างเจ๊ากันหมดก็ได้ แต่ต้องถามประชาชนว่าจะเอาหรือไม่กับการทำความผิดแล้วไม่ต้องรับโทษเลย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอหน้าเป็นหลักที่ต้องยึดเพราะประเทศเป็นนิติรัฐ เท่าที่ดูรัฐบาลนี้พยายามรื้อคดีสำคัญต่างๆ ที่สังคมกังขาในอดีตอยู่แล้ว เช่น คดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีฆ่าชิปปิ้งหมู เป็นแนวทางที่ถูกต้องอยู่แล้ว ทราบว่ามีบางพรรคจะเสนอเป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า ผมว่าไปทำแบบนั้นก็ดี ส่วนที่นายกฯ ระบุว่าควรทำในลักษณะการปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ ท่านพูดว่า ต้องคิดกันให้ดี ไม่ใช่พยายามเร่งทำกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำภายใน 6 เดือน เพราะปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่ามาก" นายประสพสุข กล่าว

เมื่อถามว่าหลายฝ่ายมองว่ากฎหมายฉบับนี้อาจขัดรัฐธรรมนูญ นายประสพสุขกล่าวว่า มองกันหลายทาง บางฝ่ายเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 รับรองการกระทำขององค์กรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบ หลังจาก 19 ก.ย.2549 สุดท้ายเรื่องนี้ถ้ามีการผลักดันศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตัดสิน

"ปู่ชัย"ข้องใจเนื้อหาแพร่ก่อนญัตติ

ที่รัฐสภา นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ยังไม่เห็นญัตติร่างพ.ร.บ.ความปรองดองแห่งชาติของส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงเนื้อหาสาระของร่างจากการนำเสนอของสื่อมวล ชนว่า หลักการและเหตุผลเกินกว่าความจำเป็นของเงื่อนไขการสร้างความสมานฉันท์ในประเทศหรือสร้างความปรองดองในสังคม เพราะหลักการที่แท้จริงที่จะสร้างความสามัคคีได้อยู่ที่สำนึกในจิตใจของแต่ละบุคคลมากกว่าออกเป็นกฎหมาย สาระสำคัญของกฎหมายลักษณะความปรองดองเช่นนี้ยังไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน ทั้งนี้ตนตั้งคำถามถึงความเหมาะสมที่มีการเผยแพร่เนื้อหาสาระให้สื่อมวลชนก่อนนำเสนอญัตติมีนัยอะไร หรือมีความจำเป็นอะไรที่จะเล่นเกมนอกสภา

นายชัยกล่าวถึงวาระการประชุมร่วมรัฐสภา เวลา 13.30 น. วันที่ 17 ก.พ. เพื่อพิจารณากรอบอาเซียนว่า เชื่อมั่นว่าสมาชิกรัฐสภาจะให้ความร่วมมือและลงมติเห็นชอบตามที่ครม.นำเสนอ เพื่อนำไปพิจารณาในการประชุมอาเซียนปลายเดือนก.พ.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 09.30 น. นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เข้าพบนายชัยเพื่อหารือถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.ความปรองดองแห่งชาติ ขณะที่มีความกังวลจากหลายฝ่ายว่าจะทำให้ความแตกแยกขึ้นในบ้านเมืองบานปลายออกไปอีก

"ปริญญา"ชี้รัฐบาลมีสิทธิ์แตกคอ

ที่โรงแรมเดอะกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จ.นคร ราชสีมา นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ความปรองดองแห่งชาติว่า แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างหนักแต่หากทำสำเร็จ กฎหมายผ่านไปได้ พรรคเพื่อไทยก็ได้ประ โยชน์ โดยเฉพาะประโยชน์กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แต่ยังมีปัญหาตามมาคือการยุบพรรคเกิดมาจากการได้ใบแดง ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายอาญา หากกฎหมายดังกล่าวผ่านทุกอย่างจะหลุดไปด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมือง หากพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ร่วมด้วยก็จะเกิดปัญหาภายในรัฐบาลเอง แล้วพรรคประชาธิปัตย์จะรู้สึกอย่างไร หากการเลือกตั้งครั้งหน้าหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยชื่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นี่คือการเมือง เชื่อว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้รัฐบาลแตกคอกันได้ โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา และสุดท้ายอาจถึงขั้นยุบสภา

ด้านพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนฯ คนที่สอง กล่าวว่า การที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.ความปรองดองแห่งชาติ ไม่ได้เกี่ยวกับส.ส.ในพรรค แต่เป็นความคิดข้อเสนอของนายสิทธิชัย กิตติธเนศวร อดีตส.ส.นครนายก เป็นผู้เสนอ เพราะเสียประโยชน์ ยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบจากคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองที่นายกฯตั้งขึ้น

รธน.ดึงศาลมายุ่งการเมือง

ต่อมาในการสัมมนาของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกับสื่อมวลชนประจำรัฐสภา วันที่สอง มีเสวนาเรื่อง "ความคาดหวังในอนาคตกับรัฐธรรมนูญใหม่" โดยนายสุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตกล่าวว่า ทางออกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนขอเสนอ 5 ทางคือ 1.อย่าโยนหน้าที่ซึ่งกันและกัน แต่ต้องคิดว่าเป็นหน้าที่ อย่าคิดแต่ว่าหากรัฐบาลออกหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะทำให้เสียฐานเสียง 2.ต้องฟังเสียงประชาชน รวมถึงนักวิชาการ สื่อมวลชน 3.ตั้งคณะกรรมการศึกษาผลดี ผลเสีย อย่ากลัวว่าจะเสียหน้าหรือเข้าทางคนนั้นคนนี้ 4.อย่าตั้งธงไว้ก่อนในแง่ผลประโยชน์ ว่าทำแบบนี้แล้วจะเอื้อผลประโยชน์ต่อพ.ต.ท.ทักษิณ หรือแก้แล้วจะเป็นการนิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยและยังพ่วงอีกหลายคนหลายพรรค และ 5.อย่าแก้เพื่อเอาหน้ารอดหรือแก้เพียงเฉพาะกิจเท่านั้น

ด้านนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวในหัวข้อความคาดหวังในอนาคตกับรัฐธรรมนูญใหม่ ตอนหนึ่งว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยล้มเหลวในระบอบประชาธิปไตยมาจากคนไทยไม่ศรัทธาในระบอบ เข้าไม่ถึงรัฐธรรมนูญ แทนที่จะปล่อยทุกอย่างดำเนินไปตามกติกา แต่กลับล้มกระดานด้วยการรัฐประหาร ขณะเดียวกันระบอบประชาธิปไตยของไทยมีปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเผด็จการรัฐสภา และปัญหาการแก่งแย่งอำนาจโดยอ้างเรื่องโควตาต่อรองให้หมดไปได้ รัฐธรรมนูญปี 2540 เข้าใจปัญหาเหล่านี้ดีแต่กลับแก้ปัญหาผิด ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 แก้ปัญหาแบบเดินผิดทางโดยสิ้นเชิง เพราะยังไม่ได้แก้ปัญหาหรือแยกการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติออกจากฝ่ายบริหารได้อย่างแท้จริง และไม่สามารถแก้ปัญหาระบบโควตาออกไปได้ แต่กลับดึงศาลลงมายุ่งกับการเมืองจนทำให้ความเชื่อถือต่อศาลลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายปริญญากล่าวว่า แนวทางปฏิรูปการเมืองต้องทำให้ศาลกลับไปมีอำนาจตุลาการเพียงอย่างเดียว และทำให้สภาเป็นอิสระจากรัฐบาล เพื่อให้สามอำนาจเป็นอิสระซึ่งกันและกัน ให้คานอำนาจและตรวจสอบซึ่งกันและกันได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ควรทบทวนประเด็นบังคับให้ส.ส.ต้องสังกัดพรรค เนื่องจากจะทำให้ส.ส. กลายเป็นตัวแทนพรรคมากกว่าตัวแทนของประชาชน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการบังคับส.ส.สังกัดพรรคไม่ได้แก้ปัญหาส.ส.ขายตัวได้ แต่ทำให้ขายตัวมากขึ้น ทั้งนี้เป้าหมายที่จะทำให้การปฏิรูปการเมืองประสบความสำเร็จคือ ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ดีโดยมีมาตราน้อยที่สุด วางกรอบแก้ปัญหาพื้นฐานของระบบรัฐสภา โดยใช้ความรู้และมีการส่วนร่วมของทุกฝ่ายให้สมดุลกัน และแก้กติกาให้เป็นกติกาของคนในชาติอย่างแท้จริง อย่าเขียนแต่เรื่องส่วนตัว ทั้งนี้จะสำเร็จได้รัฐบาลต้องเป็นผู้เริ่ม ส่วนกรณีข้อเสนอร่างพ.ร.บ.ความปรองดองแห่งชาตินั้น ตนเห็นว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่ต้องการให้ทุกอย่างเจ๊ากันไปเพื่อทำความผิดใหม่อีกครั้งเท่านั้น แต่ควรแก้ไขที่กติกาให้เป็นกติกาของทุกคน

ควรสานเสวนาตั้งกก.ปฏิรูปการเมือง

ส่วนนายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรม นูญทั้งปี 2540 และ 2550 เกิดจากสมมติฐานความไม่วางใจนักการเมือง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะเน้นที่ระบบเลือกตั้ง ความเข้มแข็งของภาคการเมืองและที่มาขององค์กรอิสระเท่านั้น การที่รัฐบาลประกาศจะมีกรรม การปฏิรูปการเมือง ตนเห็นว่าคนที่จะมาเป็นคณะกรรมการควรศึกษาและดูองค์ความรู้ของสังคมไทยและมองการณ์ไกลไปข้างหน้าว่า สังคมไทยอยากได้อะไร ไม่ใช่ลอกเลียนแบบรัฐธรรมนูญที่เป็นข้อดีจากต่างประเทศมาใส่รวมไว้โดยไม่ดูสถานการณ์และความพร้อมของประเทศ สำหรับการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองนั้น ส่วนตัวมองว่าควรมีการสานเสวนาขึ้นมา โดยรัฐบาลควรคิดวิธีการดังกล่าว เพื่อให้ได้ความคิดหลายแง่มุมที่มาจากบุคคลหลายกลุ่ม

ขณะที่พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย กล่าวว่า ปัญหาของรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะปี 2540 ร่างขึ้นมาโดยมีอคติ นักการเมืองเลวร้าย ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดีต้องปราศจากอคติ ทั้งด้านความรัก ความหลง และความกลัว ถึงจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงต้องรอคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองที่นายกฯมีแนวคิดแต่งตั้งกำหนดกรอบแก้ไข รวมถึงออกร่างพ.ร.บ.ความปรอง ดองแห่งชาติด้วย

"ไพบูลย์"แนะ3มิติสู่ทางออก

ที่ศูนย์คุณธรรม นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ศูนย์คุณธรรม อดีตรองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอร่างกฎหมายปรองดองแห่งชาติว่า ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่กฎหมายปรองดอง แต่อยู่ที่ว่าจะฟื้นฟูสร้างสรรค์ความปรองดอง สมานสามัคคีในชาติอย่างไร ตนคิดว่าต้องพูดจากันหลายฝ่าย จากกลุ่มเล็กขยับไปสู่วงใหญ่ขึ้น คุยกันก่อนว่าจะสร้างความปรองดองด้วยวิธีใดและใช้เครื่องมืออะไร ส่วนกฎหมายนำมาทีหลัง ตนเคยเสนอมาแล้วว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ต้องอาศัย 3 มิติ คือ ทัศนคติ กระบวนการ และสาระ โดยทัศนคติต้องเอื้ออำนวยให้พูดคุยกันง่ายขึ้น ไม่ใช่เอาคนโกรธกันหน้าดำหน้าแดงมาคุยกัน ก็ทะเลาะกันแน่ ถ้าแก้ปัญหา แบบโดดไปสู่สาระโดยไม่มีกระบวนการ ทัศนคติเป็นปฏิปักษ์กันก็ยากจะได้ข้อสรุป ยิ่งแตกแยกมากขึ้น

นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า ตนอยู่ในแวดวงกลุ่มสันติวิธี สานเสวนา เจรจาต่อรอง เสนอแนะมาทุกรัฐบาลให้ใช้วิธีเหล่านี้แก้ปัญหาความขัดแย้ง รัฐบาลต้องเล่นบทตรงนี้ให้มาก พูดแต่คำว่าสมานฉันท์หรือจะตั้งใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องเร่งทำให้เกิดขึ้นจริงด้วยตาม 3 ประการที่บอกไปจะแก้ได้ไม่ยาก

นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ต้องถามว่าพ.ร.บ.ดังกล่าวสร้างปรองดองจริงหรือไม่ หรือมีอะไรซ่อนเร้นอยู่ นักการเมืองทุกวันนี้ไม่ได้ฉลาดจะเอาอะไรก็เอาดื้อๆ ตนขอตั้งข้อสังเกตการออกกฎหมาย 2 ประการว่า 1.การออกกฎหมาย จะมุ่งออกเฉพาะตัวหรือเฉพาะบุคคลไม่ได้ 2.หากทำเช่นนั้นจริง ถ้ามีอะไรไม่พอใจก็ออกกฎหมายมาเลิก ซึ่งเป็นการทำลายหลักนิติธรรมและระบบยุติธรรม ไม่ว่าองค์กรใดถ้าออกกฎหมายทำลายหลักยุติธรรม ยิ่งกว่าการทำรัฐประหารเสียอีก การออกพ.ร.บ.ปรองดองถือว่าอันตรายมาก พอมีอะไรก็ใช้เสียงข้างมาก ไม่ใช่ว่าใครมีเสียงข้างมากก็ทำได้โดยไม่มีหลักการ

พรรคเติ้งขอดูเนื้อหาก่อนพิจารณา

เมื่อเวลา 14.30 น. ที่พรรคชาติไทยพัฒนา นายชุม พล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นประ ธานประชุมส.ส.พรรค เพื่อกำชับส.ส.เข้าประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณากรอบข้อตกลงสิทธิมนุษยชนในกรอบอาเซียนอย่างเคร่งครัด โดยนายชุมพลกล่าวว่า ในที่ประชุมพรรคหารือเรื่องประชุมสภาระหว่างวันที่ 17-19 ก.พ. และพูดคุยกรณีหาสมาชิกพรรคให้ครบ 5,000 คน จัดตั้งสาขาพรรคให้ครบ ก่อนประชุมใหญ่สามัญอีกครั้งเดือนมี.ค.นี้ อย่างไรก็ตามที่ประชุมไม่ได้หารือกรณีพรรคเพื่อไทยจะเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ

นายชุมพลกล่าวถึงพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติว่า จุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนาคือต้องเห็นเนื้อหาสาระก่อนว่าเป็นอย่างไร ตอนนี้มีแค่ข่าว ไม่รู้ว่าใช่ของจริงหรือไม่ และในพรรคยังไม่หารือกัน เมื่อถามว่าในที่ประชุมครม.วันที่ 17 ก.พ. นายกฯจะยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือกับรมต.พรรคร่วมรัฐบาล นายชุมพลกล่าวว่า เข้าใจว่านายกฯคงไม่หารือเรื่องพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว แต่จะพูดคุยถึงการปฏิรูปการเมือง ซึ่งหารือมาตั้งแต่ตอนตั้งรัฐบาล

เมื่อถามว่ามีบางฝ่ายมองว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นการเมืองเพื่อเล่นเกมนอกสภา นายชุมพลกล่าวว่าต้องระวังกันหน่อย และต้องนำมาหารือกัน เพราะกลัวว่าจะทำให้เสถียรภาพรัฐบาลไม่มั่นคง ตนเป็นห่วงอย่างนั้นมากกว่า สิ่งใดทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ พรรคเอาด้วยหมด ตอนนี้ใครจะเสนออะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นรูปธรรม และจะพิจารณากัน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญมีปัญหาต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน

"เรายังไม่ได้เห็นเรื่อง จึงไม่รู้จะไปถาม ไปหารืออะไร ผมพยายามถามหาตัวเนื้อร่างก็ยังไม่มีใครให้ได้ว่าร่างที่แท้จริงเป็นอย่างไร ประเด็นใหญ่ที่มีปัญหามากคือเรื่องรัฐธรรมนูญ เช่น หลายฝ่ายต้องการแก้ที่มาของส.ส.เป็นแบบเขตละคน ระบบบัญชีรายชื่อเป็นทั้งประเทศ ที่มาส.ว.อยากให้มาจากเลือกตั้งเหมือนเดิม อำนาจส.ส.มีมากเกินไป โดยเฉพาะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ลงคะแนนให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ ซึ่งเหล่านี้ทำให้เสถียรภาพรัฐบาลไม่มั่นคง ดังนั้นเป็นประเด็นที่ต้องหยิบยกมาแก้ไข ส่วนตัวเห็นว่าควรเริ่มต้นจากการแก้รัฐธรรมนูญมากกว่า เชื่อว่าในพรรคร่วมรัฐบาลคงพูดคุยกันได้ ไม่มีปัญหา เพราะจะทำอะไรก็อย่าให้เป็นวิกฤตบ้านเมือง แต่เรื่องรัฐธรรมนูญควรนำมาหารือกันก่อนเพราะเป็นปัญหามาก" นายชุมพลกล่าว

แก้รธน.ก่อนปฏิรูปการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุผลที่เสนอพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เนื่องจากต้องการนักการเมืองที่อยู่บ้านเลขที่ 111 และเลขที่ 109 ควรออกมาพัฒนาบ้านเมืองอีกครั้ง ถือว่าเพียงพอหรือไม่ นายชุมพลกล่าวว่าเป็นสิ่งที่มีเหตุผล อาจเป็นการช่วยเหลือคนบางคน หรืออาจบอกว่าเวลานี้นักการเมืองขาดประสบการณ์ไปมากก็เป็นได้ เมื่อถามว่านิรโทษกรรมเพื่อให้เกิดความปรองดองในประเทศได้หรือไม่ นายชุมพลกล่าวว่าคงช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่คงไม่แก้ปัญหาทั้งหมด เพราะถ้ากฎหมายออกมาก็มีปัญหาแล้ว

เมื่อถามว่านายกฯเสนอว่าต้องปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ โดยหาคนกลางเข้ามา นายชุมพลกล่าวว่าไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องทำอย่างเป็นรูปธรรม เพราะการปฏิรูปการเมืองไม่ได้หมายถึงการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่ต้องปฏิรูปค่านิยมสังคม ปฏิรูปขนบประเพณี ปฏิรูปการศึกษา อยู่ในรูปแบบที่กว้างมาก แต่ต้องทำให้ครบวงจร ดังนั้นคำว่าปฏิรูปการเมืองมันใหญ่เกินไป ไม่เป็นรูปธรรม เวลานี้ควรแก้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูก กฎหมายองค์กรอิสระ ซึ่งประเด็นที่จะแก้ไขมีอยู่แล้ว ตามที่กรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 รวบรวมไว้แล้วที่วุฒิสภา ไม่ยากที่จะต่อยอด เพียงแค่มาตกลงประเด็นแก้ไขให้สังคมรับทราบเท่านั้น น่าจะพอแล้ว ควรเริ่มต้นตรงนี้

"เหลิม"ชี้ยื่นร่างพ.ร.บ.ตอนนี้ไม่สำเร็จ

ที่พรรคเพื่อไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติว่า ตนยังไม่เห็น เป็นหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของพรรคดำเนินการ กฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากแนวคิดของตนที่เคยเสนอในเรื่องนิรโทษกรรมให้กับผู้ได้ผลกระทบทางการเมืองจากเหตุการณ์ 19 ก.ย.49 ทั้งนี้ หากเสนอเรื่องดังกล่าวต้องทำในลักษณะการรณรงค์ให้ประชาชนมีประชามติล่วงหน้าว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากพรรคเพื่อไทยมีคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง น่าจะดำเนินการเรื่องนี้ได้ทันที หากเสนอพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะผ่านและประสบความสำเร็จ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยไม่ใช่ฝ่ายเสียงข้างมาก ขณะเดียวกันรัฐบาลและพรรคร่วมคงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

พท.ลงมติยื่นซักฟอกสมัยนี้

ต่อมาเวลา 16.30 น. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังประชุมพรรคว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยตั้งคณะดำเนินการ 2 ชุด ชุดที่ 1 ดูแลเนื้อหา สาระและหัวข้อ โดยมีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รับผิดชอบ ชุดที่ 2 ทำหน้าที่จัดบุคคลขึ้นอภิปราย โดยมีนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ดูแล ส่วนวันยื่นญัตติจะประชุมหารืออีกครั้งสัปดาห์หน้า คาดว่าทันสมัยประชุมนี้ ส่วนการเสนอชื่อบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ที่ประชุมมอบหมายกรรมการบริหารและแกนนำพรรคหารือส่วนนี้ คิดว่าส.ส.ทั้ง 187 คนของพรรคคงมีสักคนมีคุณสมบัติ ครบถ้วน

นายพร้อมพงศ์กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติว่า ไม่มีในระเบียบวาระประชุมวันนี้ แต่ถ้าหากเสนอเข้าที่ประชุมสัปดาห์หน้าถือเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. โดยมีนายสุรชัย เบ้าจรรยา และนายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน เป็นผู้ประสานงานระหว่างส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล

"ผู้ที่เสนอพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ น่าจะเป็นรัฐบาลมากกว่า แต่ถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่ทำอะไรให้เกิดความปรองดองเลย อีกทั้งยังไม่ดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรที่ยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบิน"โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว

กัดติดงบลับสลายม็อบเสื้อแดง

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. แถลงกรณีกองทัพปฏิเสธโครงการ 2 พันล้านบาทเพื่อสร้างความสมานฉันท์ไม่ได้หวังผลทางการเมือง แต่เป็นการสู้วิกฤตเศรษฐกิจด้วยเศรษฐกิจพอเพียงว่า เมื่อตนได้เอกสารชุดหนึ่งจากกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งสรุปแผนปฏิบัติในการประชุมของกองทัพภาคที่ 3 เมื่อวันที่ 2 ก.พ. พบข้อสังเกตสำคัญหลายประการ อาทิ รายงานดังกล่าวแบ่งพื้นที่รับผิดชอบของกองกำลังเป็น 3 ระดับ คือ พื้นที่เพ่งเล็ง พื้นที่สนใจ และพื้นที่ปกติ โดยจะนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแบ่งงบประมาณ น่าสงสัยว่ากองทัพมีหลักเกณฑ์กำหนดพื้นที่และหลักเกณฑ์ในการแบ่งระดับภาวะเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่อย่างไร กองทัพอ้างว่าแผนดังกล่าวให้ความรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เท่าที่ดูกิจกรรมบางอย่าง อาทิ จัดคอนเสิร์ตรักชาติหรือวงดุริยางค์ไม่ได้เกี่ยวกับการสู้วิกฤตเศรษฐกิจ จึงเชื่อไม่ได้ว่าภารกิจของกองทัพมีเป้าหมายตรงตามชื่อของโครงการ น่าจะเป็นภารกิจปลุกระดมความคิดมวลชนเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่า

นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ระบุว่าเป็นงบกอ.รมน. แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าตั้งแต่ปี 2543 ถึงรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่มีการจัดสรรงบส่วนนี้เลย กองทัพต้องชี้แจงด้วย เชื่อว่างบ 2 พันล้านเป็นการจับมือระหว่างรัฐบาลและกองทัพ โดยอ้างอิงเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเคลื่อนไหวจัดการมวลชนฝ่ายตรงข้าม หวังผลทางการเมือง เนื่อง จากรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เป็นรัฐบาลของประชาชน แต่เป็นหน่วยที่ขึ้นตรงกองทัพ ถือเป็นพฤติกรรมอำพราง ซ่อนเงื่อนและไม่ยุติธรรมต่อประชาชน

เสื้อแดงยันบุกทำเนียบ24ก.พ.

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สำหรับความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงยืนยันชุมนุมวันที่ 24 ก.พ. เวลา 09.00 น. ที่ท้องสนามหลวง เคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาลเวลา 10.00 น. แต่จะไม่ขัดขวางการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน แม้ในแผนอาจเคลื่อนขบวนไปกระทรวงการต่างประเทศด้วยก็ตาม

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมกำลังตำรวจทหารเพื่อสกัดกั้น นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ตอนมีคนบุกยึดสนามบินและทำเนียบ มีการเตรียมกำลังแค่ 1 กองร้อย แต่พอคนจะไปชุมนุมนอกทำเนียบ ไม่ได้บุกเข้าไป กลับใช้กำลังมากขนาดนั้น จะได้เห็นกันว่าเป็นอย่างไร กฎหมายต้องบังคับใช้กับทุกคน ถึงจะเรียกว่ากฎหมาย ถ้าใช้กับบางคนเรียก "กดหัว" สังคมไทยจะไม่มีใครยอมถูกกดหัวตลอดไป

ปูดเตรียมทหาร-ตร.1หมื่นลุยม็อบ

จากนั้นนายพร้อมพงศ์แถลงอีกว่า ได้รับแจ้งจากผู้หวังดีที่อยู่ฝ่ายความมั่นคง ว่ามีคำสั่งลับให้สนธิกำลังทหารและตำรวจ 1 หมื่นนายพร้อมอาวุธครบมือ เตรียมรับมือคนเสื้อแดงนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 24 ก.พ. ที่ท้องสนามหลวง ไม่รวมกองกำลังปกติ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นความจริง อยากถามว่าใครเป็นคนสั่งขอให้ชี้แจงสาธารณะรับทราบ

ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการโฟนอินของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ย้ำว่าจะกลับมาประเทศไทยเพื่อทวงคืนความยุติธรรมว่า คำพูดดังกล่าวทำให้ส.ส.พรรคเพื่อไทยฮึกเหิมที่จะเดินหน้าต่อสู้ทางการเมืองต่อไป ตอกย้ำว่าท่านกลับมาประเทศไทยอย่างแน่นอนในช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อต่อสู้ทางการเมือง เป็นนายกฯอีกครั้งตามที่ประชาชนเรียกร้อง เพียงแค่ส่งเสียงมายังทำเอารัฐบาลดิ้นพล่าน แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กองทัพ พรรคภูมิใจไทย และกลุ่มพันธมิตรแสดงอาการปากกล้าขาสั่น กลัวท่านกลับมา ตอนนี้ปล่อยรัฐบาลนี้โชว์ฝีมือแก้เศรษฐกิจและปัญหาของประเทศไปก่อน อย่าบริหารประเทศจนร่ำรวยเฉพาะพวกพ้อง แต่ประชาชนยากจน

นปช.นัดชุมนุมสนามหลวง19ก.พ.

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ส่วนที่กลุ่มพันธมิตรประกาศจะไปจัดกิจกรรมทางภาคเหนือ ที่จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และพะเยา นั้น ขอให้รีบไปเร็วๆ พวกเสื้อแดงรอรับมืออยู่แล้ว การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรทำให้สถานการณ์การเมืองร้อนแรงขึ้น อีกไม่นานจะต้องเกิดสงครามกลางเมืองแน่ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมซึ่งกันและกัน วิธีแก้ไขต้องมีกฎหมายความปรองดองแห่งชาติ ไม่เช่นนั้นสังคมไทยจะเดินหน้าไม่ได้ เรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องใจกว้าง รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์อย่ามีความคิดเห็นแก่ตัว กลัวหมดอำนาจ อย่ากลัวพ.ต.ท.ทักษิณ

ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ นายชินวัฒน์ หาบุญพาด แกนนำนปช. พร้อมด้วยน.พ.เหวง โตจิราการ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท นายจรัล ดิษฐาอภิชัย และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดทิศทางเคลื่อนไหว จากนั้นนายชินวัฒน์เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าวันที่ 19 ก.พ.เวลา 17.00-23.00 น.จะชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ภายใต้ชื่อ "รวมพลคนเดือดร้อน" เพื่อผลักดันข้อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนต่อรัฐบาล จึงขอเชิญชวนชาวเสื้อแดงผู้รักประชาธิปไตย และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม คนว่างงาน ผู้ยากไร้ เข้าร่วมชุมนุม

ผบ.ตร.พบ"เทือก"รับอาเซียนซัมมิต

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. กล่าวถึงการประชุมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เย็นวันเดียวกันนี้ว่า เพื่อหารือมาตรการรักษาความปลอดภัยการประชุมอาเซียนซัมมิตที่อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรี ขันธ์ ช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งตำรวจมีความพร้อม เนื่องจากตรียมการมานานตั้งแต่วางแผนจัดที่จ.เชียงใหม่ เพียงแต่ย้ายสถานที่ จึงไม่น่ามีปัญหา

ส่วนที่มีข่าวว่าจะหารือเรื่องดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.และกลุ่มพันธมิตรด้วยนั้น พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าวว่าคดีกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ คิดว่าจะประชุมภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งตำรวจมีข้อมูลพร้อมแล้ว เพียงติดตามความคืบหน้าแต่ละส่วน โดยจะเชิญผู้บัญชาการภาค 1, 3, 4, 5 และนครบาลร่วมชี้แจงรายละเอียดของคดี โดยจะแถลงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรที่ปิดสนามบิน ผบ.ตร.กล่าวว่าพนักงานสอบสวนบช.ภาค 1 สอบพยานอย่างต่อเนื่อง และไม่รู้สึกหนักใจกับแรงกดดันทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย ใครทำผิดก็ต้องถูกดำเนินคดี

กทม.พร้อมดูแลรถน้ำ-รถส้วม

ที่ศาลาว่าการกทม. นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกทม.ให้สัมภาษณ์กรณีนปช.เตรียมชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวงแล้วเคลื่อนมาทำเนียบรัฐบาลวันที่ 24 ก.พ.นี้ว่า ขณะนี้กทม.ประสานกับบช.น. รวมทั้งฝ่ายความมั่นคง สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวกและความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเฉพาะชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นอกจากนี้ กทม.จะดูแลอำนวยความสะดวกกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย ทั้งตู้น้ำดื่มและรถสุขา ขอยืนยันว่ากทม. จะดูแลทุกฝ่าย

นายพงศ์ศักติฐ์กล่าวต่อว่า กำชับผอ.ทั้ง 50 เขตให้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด กรณีที่เขตชั้นในมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ทั้งนี้การชุมนุมถือเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย เชื่อว่าสถานการณ์ไม่น่าจะรุน แรง คาดว่าพูดคุยกันได้ในระดับแกนนำหรือผู้ประสานงาน ส่วนจะต้องปิดโรงเรียนในเขตพื้นที่ชั้นในหรือไม่นั้น ขอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

วาทะ"ชวน"เงิน"แม้ว"ยังน่ากลัว

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการโฟนอินของพ.ต.ท.ทักษิณว่า การโทรศัพท์เข้า-ออกไปต่างประเทศเป็นสิทธิทำได้ ไม่มีอะไรน่ากลัว แต่สิ่งที่ไม่ควรประมาทคือเงินของพ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อว่าเงินยังมีความหมายและมีอิทธิพลมาก เงินในระบบทักษิณซื้อคนเกือบทุกองค์กรได้ เพียงแต่ซื้อได้ไม่หมดทุกคน เราต้องช่วยกันประคับประคองให้กำลังใจองค์กรที่เป็นหลักของบ้านเมืองให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรง ไม่สยบต่ออิทธิพลการคุกคามหรือข่มขู่

"การใช้เงินยังไม่เปลี่ยนแปลง แม้ตัวบุคคลจะไม่ได้อยู่ในเมืองไทย รัฐบาลจะวีซ่าห้ามคนไม่ให้ไปที่ไหนได้ แต่ห้ามเงินไม่ได้ และเงินไปได้หลายวิธี ฉะนั้นเรื่องเงินของพ.ต.ท.ทักษิณอย่าประเมินของเขาน้อยไป อย่าประมาท เงินของเขายังมีความหมายมาก" นายชวนกล่าว

ส.ส.หญิงขอแจง250ล.ในสภา

น.ส.สุพัชรี ธรรมเพชร ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเงินบริจาค 250 ล้านบาทที่บริษัท ทีพีไอ โพลีน บริจาคให้พรรคประชาธิปัตย์ว่า ตนมีหลักฐานพร้อมให้ฝ่ายค้านตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเงินเข้าออกสมุดบัญชีทุกธนาคาร สามารถยืนยันได้ว่าไม่มีการบริจาคเงิน 250 ล้านบาทผ่านบัญชีตน นอกจากนี้นายชวนยังกำชับเตรียมเอกสารทุกอย่างให้พร้อม เพราะหากอภิปรายในสภาจะได้ชี้แจงข้อเท็จจริงทันที

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีหลักฐานพร้อม ทำไมถึงไม่เปิดเผยผ่านสื่อมวลชน น.ส.สุพัชรีกล่าวว่า ที่ไม่สามารถแถลงผ่านสื่อได้นั้น เนื่องจากผู้ใหญ่หลายคนกังวลว่าหากออกมาแถลงข่าวตอบโต้จะถือเป็นการเล่นตามเกมฝ่ายค้าน และอาจตกเป็นเป้าโจมตีได้ ทั้งนี้ตนขอพูดข้อเท็จจริงในที่ประชุมสภา แต่ระหว่างนี้ขอดูข้อมูลของฝ่ายค้านก่อน

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นำเรื่องนี้ไปตรวจสอบ น.ส.สุพัชรีกล่าวว่าไม่กังวล เพราะไม่ได้ถูกดีเอสไอเรียกตรวจสอบ เท่าที่ทราบดีเอสไอเรียกเพียงนายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส. สัดส่วน และนายประพร เอกอุรุ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ไปสอบถามข้อเท็จจริง

เวลา 14.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุม ส.ส. นายชุมพล กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ประธาน ส.ส.ของพรรค เป็นประธานในที่ประชุม มีส.ส.ร่วมประชุมบางตาเพราะปกติจะประชุมในวันอังคาร รวมถึงนายอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้เข้าร่วมด้วย เนื่องจากติดภารกิจประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ที่ก.พ. นนทบุรี

"พีระพันธุ์"ยันไม่เด้งอธิบดีดีเอสไอ

ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม กล่าวว่าการสอบสวนคดีดังกล่าวเป็นหน้าที่ของดีเอสไอและกกต. ตนในฐานะรมว.ยุติธรรมจะไม่แทรกแซง หน่วยงานใดมีหน้าที่อย่างไรให้ดำเนินการไป ยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่เคยทราบข้อมูลว่าดีเอสไอรับคดีบริษัททีพีไอเป็นคดีพิเศษ ส่วนที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่นั้น ตนคงทำไม่ได้ เพราะหากหยุดทำงานแล้วใครจะทำหน้าที่แทน ประเด็นปัญหาไม่ได้อยู่ที่หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ต้องดูที่เจตนา หากตนเป็นคนไม่ดีคงแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้ขึ้นกับคุณธรรมและจริยธรรม ยืนยันว่าจะไม่ทำเหมือนกับที่ฝ่ายค้านเคยทำในอดีต จึงไม่จำเป็นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

ผู้สื่อข่าวถามว่าคดีนี้มีส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เข้าไปเกี่ยวข้องอาจนำไปสู่การยุบพรรคได้ นายพีระพันธุ์กล่าวว่าหน้าที่ของตนคือทำงาน ทำทุกอย่างให้ตรงไปตรงมา และไม่เคยสนใจว่าจะถูกฝ่ายค้านโจมตี ส่วนรายละเอียดคดีดังกล่าวไม่มีอะไรหนักใจ ทุกอย่างว่ากันตามกฎหมาย ทุกหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมเริ่มชัดเจนมากขึ้น รวมถึงดีเอสไอที่ตนพอใจการทำงานที่มีกรอบและแนวทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจน ความรู้สึกไม่พึงพอใจเป็นเรื่องในอดีต ปัจจุบันทุกคนทำงานเต็มที่และมีผลงานชัดเจน ยืนยันว่าไม่มีความคิดโยกย้าย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ

เมื่อถามถึงข่าวผู้บริหารระดับสูงดีเอสไอเข้าพบอดีตแกนนำรัฐบาลที่โรงแรมเอสซีปาร์ค นายพีระพันธุ์กล่าวว่าตนไม่ทราบและไม่สนใจด้วย และจะไม่เรียกใครมาสอบถาม เพราะไม่จำเป็น

เผยพบหลักฐานนำมาสู่คดีพิเศษ

รายงานข่าวจากดีเอสไอเปิดเผยว่า คดีนี้ดีเอสไอได้รับร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณีบริษัททีพีไอ กระทำผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่พ.ค.2551 จากนั้นตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีของทีพีไอ พบข้อมูลจากกรมสรรพากรว่า มีการโอนเงิน 258 ล้านบาทไปให้บริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด เพื่อว่าจ้างทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ จากนั้นกรมสรรพากร ทำหนังสือเรียกเก็บภาษีไปยังบริษัท เมซไซอะ เพราะไม่พบข้อมูลชำระภาษีรายได้ 10% ตามการชี้แจงของบริษัททีพีไอฯ ระบุมีการจ่ายเงินค่าโฆษณาให้บริษัทดังกล่าว เมื่อพบความผิดปกติในข้อมูลทางบัญชี ดีเอสไอจึงเข้าตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างละเอียด และพบว่าเงินถูกโอนต่อไปเข้าบัญชีของบุคคล ซึ่งมีข้อมูลเชื่อมโยงว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ดีเอสไอจึงเสนอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งมีนายสมัคร สุนทรเวช ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ รับเป็นคดีพิเศษ

รายงานข่าวเปิดเผยอีกว่า การสอบสวนของดีเอสไอยังพบประเด็นน่าสงสัยหลายประเด็น เช่น ทีพีไอเป็นบริษัทใหญ่ เหตุใดจึงว่าจ้างบริษัท เมซไซอะทำประชาสัมพันธ์ เพราะบริษัทนี้ไม่มีประสบการณ์ด้าน โฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่ผ่านมาเคยรับจ้างงานแค่ทำใบปลิว แผ่นป้าย และคัตเอาต์ โฆษณา เพื่อใช้ประชา สัมพันธ์และรณรงค์เลือกตั้งให้กับพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นไม่เคยปรากฏว่าบริษัทนี้ทำงานด้านอื่นเลย