WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, July 3, 2009

ไชยันต์ รัชชกูล:‘24 มิถุนา’ หนังเรื่องThe Empire Strikes back

ที่มา Thai E-News

โดย รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล สถาบันศาสนาวัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ
3 กรกฎาคม 2552

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่ปี 2475 คือ “The Empire Strikes back” เป็นความพยายามที่ชิงอำนาจกลับไป.. โครงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากปี 2475 เป็นต้นมา คือการชักกะเย่อกันไปกันมา ระหว่างฝ่ายเพื่ออำนาจของราษฎร กับฝ่ายที่ครองอำนาจเดิมก่อนปี 2475

เมื่อวันที่ 8 เมษาฯที่ผ่านมานี้ พรรคพวกเพื่อนฝูงบอกว่า อย่าไปชุมนุมกับเขาเลย ผมก็บอกว่า ไม่เป็นไร ผมมีของดีประจำตัว ก็หลวงพ่อโกยไง หลังวันที่ 14 เมษาฯ มีคำถามว่า ฝ่ายคนเสื้อแดงแพ้ใช่ไหม ผมไม่รู้ว่าแพ้หรือเปล่า แต่ยังสู้ไม่ได้ เปรียบเทียบกับเกมไพ่ โปกเกอร์ หรือ เผ หรือเก้าเก ก็ได้ มันเหมือนกับ เรายอมเกลงไปขอดูไพ่ในมือคู่ต่อสู้ว่ามีอะไรบ้าง ฝ่ายโน้นหงายออกมาหมดเลย ตัวใหญ่ๆทั้งนั้น



หมายเหตุไทยอีนิวส์:ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดกิจกรรม ”วันชาติ” และสืบทอดประวัติศาสตร์เพื่อประชาธิปไตยขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา และจัดเสวนาเรื่อง" วิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตประชาธิปไตย :อนาคตสังคมไทย"( ดูรายละเอียดที่นี่ )วิทยากรท่านหนึ่งคือรศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล ได้กล่าวอภิปรายไว้อย่างแหลมคมน่าสนใจ จึงนำมานำเสนอดังต่อไปนี้


ผมฟังคุณชำนาญ จันทร์เรือง อ่านคำประกาศ คณะราษฎรแล้วรู้สึกกินใจในเนื้อความนั้น ถึงแม้ว่าน้ำเสียงจะราบเรียบ น่าเสียดายที่เราไม่มีการบันทึกเสียงในวันที่ ’24 มิถุนา’ ไว้ การประกาศการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นอ่านตรงลานพระบรมรูปทรงม้า อย่าว่าแต่จะออกอากาศไปไกลๆเลย ไมโครโฟนมีหรือเปล่าก็ไม่รู้ แค่อ่านให้ผู้ที่อยู่แถวนั้นได้ฟัง คนบางเขนยังไม่รู้ ไม่ต้องไปพูดถึงคนเชียงใหม่ เพียงข้ามไปตลิ่งชัน ก็ยังไม่รู้ทันทีเลย สมมุติว่าเราอยากจะเปลี่ยนมูลฐานของรัฐในสมัยนี้ ด้วยรูปแบบนั้น ก็คงอ่านให้คนขายผลไม้รถเข็นฟัง

77 ปีให้หลัง ความพยายามเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยเป็นอย่างไร?

ไม่ใช่เพียงรู้กันว่าใครเลือดสีอะไรเท่านั้น การรับรู้และความต้องการอยู่ในระดับหมู่บ้านทั่วประเทศเลย ไม่ใช่เฉพาะจุดอย่างแต่ก่อน ยกตัวอย่าง กรณี ‘14 ตุลา’ คนที่เกี่ยวข้องอยู่แถวไหนกันบ้าง? แถวท่าพระจันทร์ แถวบางเขน แถวสามย่าน

คนชัยนาทไม่ได้เกี่ยวข้องหรอก คนในเชียงใหม่มีส่วนนิดหน่อย โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัย ส่วนที่ขอนแก่นไม่ทราบเรื่องนี้นัก กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ ‘14 ตุลา’ เป็นนักคึกษา

เรื่องนี้คงจะไม่เป็นประเด็นขึ้นมาเลย ถ้าไม่ได้มาเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่สนใจและเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองตอนนี้ ความรู้ ความสนใจเกี่ยวกับการบ้าน การเมืองบ้างใน พ.ศ.2552 เป็นอย่างไร เมื่อเปรียบกับปี 2475 และ ปี 2516

77 ปี ผ่านไป ทุกกลุ่มคน ทุกพื้นที่ ทั่วทุกหย่อมหญ้าเปลี่ยนแปลงความสำนึกทางการเมืองไปอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ขอตั้งคำถามกับพวกนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่ชอบพูดว่าการเปลี่ยนแปลงปี 2475 เร็วเกินไป คนยังไม่พร้อม แล้วตอนนี้ล่ะยังเร็วไปไหม?

สังคมไทยยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตยหรือ?

77 ปี ผ่านไป พวกนี้ยังดูถูกชาวบ้านเหมือนเดิม แต่ด้วยศัพท์แสงที่เปลี่ยนไป เช่น แทนที่จะว่าประชาชนยังไม่มีการศึกษา ก็ว่าไม่ได้รับรู้ข้อมูลรอบด้านบ้าง ตกอยู่ใต้อิทธิพลของนักการเมืองบ้าง ขายสิทธิขายเสียงบ้าง

พวกผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้ก็ยังพูดกันอยู่ว่า ยังไม่พร้อม หรือมาด้วยศัพท์ ฟังดูหรูว่า ไม่สอดคล้องวัฒนธรรมไทย แล้วคนสกลนครล่ะ? ยังถูกกล่าวหาว่า ขายเสียงกันหรือเปล่า

พวกเสนาขี้ข้าอำมาตย์ พูดขาวเป็นดำ ซึ่งก็มีมาตั้งแต่สมัย 2475 เรื่อยมา พวกปราชญ์ประจำแผ่นดินพวกนี้ปราดเปรื่องนักหรือ? ตะแบงตั้งคำถามตั้งแต่ทักษิณยังอยู่ แถมมีพวกฝ่ายซ้ายที่เคยเข้าป่าชูธงแดง ทำไมสวนกระแสมหาประชาชน พวกเอ็นจีโอบางกลุ่มก็พาลพาโลไปกับเขาด้วย ใช้หลักคิดอะไรไม่ทราบ ช่วยให้วิทยาทานหน่อย

ลองย้อนกลับไปดู สมัย ‘14 ตุลา’ ตอนนั้นผู้นำนักศึกษายิ่งใหญ่มาก แต่ตอนนี้ผมไม่เกรงใจคนเหล่านี้ที่ผมเคยนับถือแล้ว มึงกับกูขาดกันแล้ว พวกนี้บางคนไปประเทศฝรั่งเศส แล้วไปเถียงกับอาจารย์ปรีดีว่า ไอ้ 2475 ไม่ใช่การปฏิวัติ (ผมไม่ได้อยู่ในที่นั้น ได้มารับการบอกเล่าภายหลัง) เพราะไม่มีมวลชนเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้เปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิต ไปโน่น

พวกนี้คิดว่าเขาติดอาวุธทางปัญญา แต่ระดับไหนไม่ทราบ? เขาคิดว่าเขาอิงความคิดกับศาสดาใหญ่ แต่ความจริงเป็นพวกครึ่งๆกลางๆ รู้หรือไม่ว่าศาสดาที่เขาน่าจะนำมาคิดต่อน่ะเคยว่าไว้อย่างไร ปรมาจารย์ใหญ่เลยเคยให้ข้อคิดว่า “เวลาต่อสู้ ต้องปรับยุทธวิธีให้เหมาะกับพละกำลังที่เรามี”

อย่างคณะราษฎรจะไปตั้งเวทีอภิปรายสนามหลวงหรือ? อาจารย์ปรีดีเขียนบันทึกไว้ว่า แผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังบอกภรรยาไม่ได้ ต้องเก็บความลับไว้อย่างยิ่งยวด การวางแผนมีการเปลี่ยนวันหลายครั้ง คิดจะไปให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือ? สติดีหรือเปล่า?

เพราะฉะนั้น ต้องจัดยุทธวิธีให้เหมาะสมกับกำลังของเรา พร้อมๆกับคิดถึงกำลังของฝ่ายตรงข้าม การเปลี่ยนแปลงปี 2475 ไม่ได้เกี่ยวกับมวลชน ไม่มีการนองเลือด ไม่มีความปั่นป่วนนั้นรู้กันดีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าไม่มีองค์ประกอบเหล่านี้แล้ว ไม่เข้าคำนิยามการปฏิวัติ

ความสำคัญอยู่ที่ ’24 มิถุนายน 2475’ เป็นการเปลี่ยนมูลฐานของรัฐอย่างสำคัญจริงๆ แม้ว่า ชื่อประเทศไทย จะไม่ได้เปลี่ยนไป เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความนิยม มีหลายกรณีที่ชื่อประเทศระบุลักษณะและรูปแบบของรัฐ เช่น ประเทศอิหร่านที่กำลังวุ่นวายตอนนี้มีชื่อว่า Islamic Republic of Iran ซึ่งนอกจากจะหมายถึงการปกครองที่ไม่ใช่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างที่เคยเป็นในสมัยพระเจ้าชาห์แล้ว ยังประกาศเจตนารมณ์อีกด้วยว่า ระบบกฎหมายยึดถือหลักคำสอนของอิสลาม

แต่ยังไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่นำชื่อประเทศตัวเองว่า Buddhist Republic ตัวอย่างอื่นๆก็เช่น จีน ลาว ใช้ชื่อทางการว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาชนลาว มาเลเซียเรียกตัวเองว่า สหพันธ์รัฐมาเลเซีย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ชื่อประเทศจะบอกถึงสถานะของรัฐเสมอไป ของเราก็เรียกว่า Kingdom of Siam, Kingdom of Thailand กันเรื่อยมา

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่ปี 2475 คือ “The Empire Strikes back” เป็นความพยายามที่ชิงอำนาจกลับไป หนังสือเกี่ยวกับการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2475 เขียนโดยนักรัฐศาสตร์บ้าง นักประวัติศาสตร์บ้าง ชอบยกข้อมูลว่าประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญกี่ฉบับ มีรัฐประหารกี่ครั้ง มีนายกรัฐมนตรีกี่คน ใครบ้าง ฯลฯ แถมบางคนยังทำเป็นสถิติให้ดูอีกว่ามีค่าเฉลี่ยเท่าไร อ่านแล้วเวียนหัว ไม่รู้ว่าจะบอกว่าอะไร ผมว่าเอาง่ายๆดีกว่า โครงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากปี 2475 เป็นต้นมา คือการชักกะเย่อกันไปกันมา ระหว่างฝ่ายเพื่ออำนาจของราษฎร กับฝ่ายที่ครองอำนาจเดิมก่อนปี 2475


ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ฝ่ายที่ครองอำนาจเดิมรู้ว่าเสียท่าไป ก็พยายามเอาอำนาจคืน ซึ่งก็สามารถตีกลับได้ทันทีตั้งแต่ปี 2476 แต่ฝ่ายเพื่ออำนาจของราษฎรก็ชิงกลับมาได้บ้าง ต้องยอมราข้อบ้าง รุกบ้าง รับบ้าง ฝ่ายที่ครองอำนาจเดิมก็พยายามสะสมกำลัง หาพวกเพิ่ม คอยเตะตัดขาอีกฝ่ายหนึ่ง จนได้คืนกลับไปในปี 2500 สมัยสฤษดิ์ สืบต่อตามด้วยถนอม/ประภาส แนวเรื่อง ช่วงเวลา ตัวละคร ผู้เล่น อาจจะผันแปรไปบ้าง แต่ภาพรวมไม่เปลี่ยน ถ้าเปรียบกับดูหนัง ต่อให้ไปเข้าห้องน้ำ กลับมาก็ยังตามเรื่องได้

เรื่องนี้คือเรื่อง The Empire Strikes Back ซึ่งเห็นชัดเจนมากในช่วงปี 2516- 2519 เพราะเป็นช่วงสั้นๆ พลังที่จะเสริมอำนาจราษฎรอยู่เพียง 3 ปี ก็ถูกอำนาจตามประเพณีแย่งกลับไปอีก การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสมัยร่วมสมัยของเรา สำหรับคนที่อยู่ในห้องประชุมนี้ก็รับทราบกันดี ในส่วนเฉพาะดำเนินไปตามโครงเรื่องใหญ่นี้ อาจจะเปลี่ยนผู้แสดงบ้าง พระเอกกลายเป็นตัวโกงบ้าง ตัวโกงกลับมาเป็นพระเอกบ้าง บางครั้งผู้คนที่อยู่ในยุทธหัตถีเองก็ตะลุมบอนจนไม่รู้ตัวเองว่าใครอยู่ข้างไหนบ้าง สลับข้างไปมาบ้าง ฯลฯ แต่เหล่านี้เป็นรายละเอียดทำนองเดียวกับที่เรียกในภาษาดนตรีว่า Variations on a theme

ลองเปรียบเทียบการทำรัฐประหารล้มชาติชาย กับล้มทักษิณ ถ้าเป็นนิยายมันเหมือนผู้ประพันธ์เอาเรื่องเก่ามาทำรีไซเคิล สำนวน “บุ๊ฟเฟ่ต์ คาบิเนต” มาเป็น “ทักษิณ โกงกิน ขายชาติ” มันเพียงเปลี่ยนชื่อตัวละคร ผมไม่ได้หมายความว่าไม่มีการทุจริต ตรงกันข้าม ผมขอเสนอเป็นสโลแกนประจำราชอาณาจักรไทยเลยก็ได้ว่า “ที่ใดมีการจัดซื้อจัดจ้าง ที่นั่นมีการฉ้อราษฎรบังหลวง” โดยเฉพาะหน่วยงานราชการที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำรัฐประหารนั้น ไม่ได้น้อยหน้าใครในเรื่องนี้

แน่นอนที่เขาไม่สามารถกำหนดให้การปกครองเป็นแบบก่อน 2475 ได้อย่างสมบูรณ์ เขาก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามกาลสมัยและกระแส ทั้งจะลบชัยชนะของฝ่ายราษฎรให้สูญไปหมดก็ไม่ได้ ฝ่ายอำนาจตามประเพณีพยายามรุกชิงแนวรบด้านความคิด ความเชื่อ และแทรกซึมไปยังวงการต่างๆ

ยิ่งที่ที่เคยเป็นป้อมปราการเพื่อราษฎรยิ่งต้องเข้าไปยึดครอง เช่น ตอนนี้ใครเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์? อธิการบดีสีอะไร? ความจริงก็ไม่ใช่เฉพาะธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยไหนๆก็คล้ายๆกัน ช่วง ‘14 ตุลา’ – ‘6 ตุลา’ Hope อยู่ในมหาวิทยาลัย แต่สมัยนี้ Hopeless

เมื่อเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ผมโหวตให้พรรคพลังประชาชนซึ่งตอนนั้นสมัคร เป็นหัวหน้าพรรค พวกนักวิชาการแถวนี้เห็นว่าผมหลงทักษิณจนไม่เข้าใจจริยธรรมทางการเมือง ผมว่า ถ้าอย่างนั้น ความหมายของจริยธรรมของมึงกับของกู มันไม่เหมือนกันแล้ว ผมไม่ใช่แฟนทักษิณ ขอนอกเรื่องหน่อย ผมว่าทักษิณควรลาออก ในกรณีกรือเซะ และตากใบ ยิ่งมาถึงตอนนี้ทักษิณไม่ใช่ประเด็นหลัก ประเด็นหัวใจอยู่ที่พลังประชาธิปไตยต้องดึงกลับมา เหมือนกับสมัย ‘14 ตุลา’ เหมือนกับคณะราษฎรที่ได้ทำให้เกิดขึ้น


เปรียบการเมืองกับการเล่นไพ่

เมื่อวันที่ 8 เมษาฯนี้ พรรคพวกเพื่อนฝูงบอกว่าอย่าไปชุมนุมกับเขาเลย ผมก็บอกว่า ไม่เป็นไร ผมมีของดีประจำตัว ก็หลวงพ่อโกยไง หลังวันที่ 14 เมษาฯ มีคำถามว่า ฝ่ายคนเสื้อแดงแพ้ใช่ไหม ผมไม่รู้ว่าแพ้หรือเปล่า แต่ยังสู้ไม่ได้ เปรียบเทียบกับเกมไพ่ โปกเกอร์ หรือ เผ หรือเก้าเก ก็ได้ มันเหมือนกับ เรายอมเกลงไปขอดูไพ่ในมือคู่ต่อสู้ว่ามีอะไรบ้าง ฝ่ายโน้นหงายออกมาหมดเลย ตัวใหญ่ๆทั้งนั้น ถามว่าสู้ได้ไหม ก็ยังสู้ไม่ได้

เมื่อสมัยหลัง ‘6 ตุลา’ มีการชูคำขวัญจากฝ่ายซ้ายว่า เป็นการต่อสู้ทุกรูปแบบ แต่จริงๆแล้วหมายความว่าอย่างไร มันหมายถึง การต่อสู้ทางอาวุธเท่านั้นเอง ขอโทษ ผมไม่ได้ตั้งใจข้ามคนล้ม แต่ยกขึ้นมาเพื่อถกเถียงให้เห็นประเด็น

ผมเคยอ่านพบในเว็บไซด์ว่า มีบางคนเสนอจะสู้ทางอาวุธ ผมว่าอย่าเอาเรื่องนี้มาพูดเป็นเล่น ไม่มีประเทศใดๆที่ต่อให้เป็นประชาธิปไตยขนาดไหน ก็จะยอมให้ฝ่ายค้านมีอาวุธได้ เขายอมให้ต่อสู้ได้ในทุกแนวรบ ยกเว้นการใช้กำลัง ประเทศที่ยึดถือหลักการประชาธิปไตย ให้มีองค์กรรวมตัวกันได้ ให้มีวิทยุ โทรทัศน์หนังสือพิมพ์ของตัวเองได้ ให้สิทธิ เสรีภาพมากมาย ยกเว้นอย่างเดียวคือจะให้มีกำลังทหารได้ ดังนั้น Option ที่ให้มีประชาธิปไตยด้วยการต่อสู้ทางอาวุธไม่มีครับ และก็ไม่ควรให้เป็นแบบนั้น

แต่ก่อน ผมไม่ค่อยชอบที่แปล bureaucratic polity ว่าระบอบอำมาตยาธิปไตย แต่ตอนนี้ชอบมาก เจ๋ง ขอคารวะผู้แปล bureaucratic polity เป็นระบบในประเทศด้อยพัฒนาหลายประเทศ สำหรับของไทยในช่วงหลังมานี้เป็นประเภทหนึ่งโดยเฉพาะ ใช้คำว่าอำมาตยาธิปไตยนี้ก็ดี และก็เข้าใจกันกว้างขวาง ระบอบนี้ต่อสู้ทุกรูปแบบจริงๆ รวมๆหลายแนวรบแล้วทางฝ่ายราษฎรและแนวร่วมของราษฎรจะสู้ได้หรือ? ทางการบริหารราชการแผ่นดินสู้เขาได้หรือ? ทางเศรษฐกิจสู้เขาได้หรือ?

ฝ่ายโน้นสู้ทุกแนวรบ ทางรัฐสภาเขาก็มีพรรคการเมืองเก่าแก่คอยสนับสนุน ทางมวลชนเขาก็มี ก่อนหน้าจะใช้พวกเสื้อเหลือง เขาเคยมีลูกเสือชาวบ้าน นวพล ทางสื่อก็เห็นๆกันอยู่ ใส่หูใส่ตากันทุกวัน จอมปลวกก็กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิไปได้ ทางกฎหมายลายลักษณ์เขาก็ได้เปรียบ พวกตีความกฎหมายก็พวกเขาอีก พวกตัดสินตามกฎหมายยิ่งประจำท้องพระโรงเลย ทางทหารไม่ต้องพูดถึง เป็นกำลังชี้ขาดในการต่อสู้ ไม่ใช่เพียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับฝ่ายอำมาตย์เท่านั้น แต่เป็นแกนหนึ่งเลย ระบอบอำมาตยาธิปไตยนี้แข็งแรงมาก เมื่อก่อนฝ่ายนี้ยกทักษิณให้ เป็นระบอบไปด้วย ให้เกียรติมาก แต่ตอนนี้แค่ passport ก็เกือบไม่มี

คนที่บ่นว่า สังคมไทยมีสองมาตรฐาน ขอโทษ มึงไม่รู้เหรอ เป็นอย่างนี้มานานแล้ว สังคมไทยมีสองมาตรฐาน คนเป็นไพร่ก็ต้องเป็นไพร่อยู่วันยังค่ำ มีศัพท์คำว่าชนชั้นกลางใหม่ ผมว่าทะแม่งๆ ชนชั้นกลางในสังคมไทยเป็นชนชั้นใหม่ทั้งชนชั้น ที่น่าสนใจกว่าคือ เราน่าจะยังถือว่าเราเป็นไพร่อยู่ น่าจะเรียกได้ว่า ‘ไพร่ใหม่’ นี่เป็นความเป็นจริงในราชอาณาจักรนี้


ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นเช่นนี้ และมันถือว่าเป็นธรรมดาของสังคมไทย อยากจะให้สังคมไทยมีมาตรฐานที่ไม่ลักหลั่น เสมอหน้า และเสมอต้นเสมอปลาย ก็ต้องเปลี่ยนเงื่อนไขที่ทำให้สังคมไทยเป็นอย่างนี้ อย่างที่คณะราษฎรได้พยายามเริ่มไว้ คนรุ่นหลังก็ต้องรับไม้ผลัดมาวิ่งกันต่อไป

ขอสารภาพว่าผมเองจิตตกตั้งแต่ เดือนเมษาฯ เซ็งกับชีวิต จนเลือกตั้งที่สกลนคร เจ๋ง ผมจึงหายเซ็ง เมื่ออาทิตย์นี้เอง สมัยที่ผมทำงานองค์กรกลาง และร่วมงานกับอาสาสมัครที่สกลนคร ผมว่าเขาไม่น่าเซ่อ แล้วก็เป็นจริง ดังนั้น แล้วหวังว่าคงจะชื่นใจ ที่ศรีษะเกษ และอื่นๆ ซึ่งตั้งแต่เดือนเมษาฯ ผมถามใครต่อใครว่า สีแดงแพ้ไหม ผมไปถามแท็กซี่ หลายคนเขาพูดว่า มันขึ้นอยู่กับใจ ถามคนแถวๆบ้าน คำตอบก็คือ สีแดงเขาไม่ยอมกัน

ที่นี้ผมถามตัวเองว่า สีแดงแพ้ไหม ถ้าดูตั้งแต่ ‘24 มิถุนา’ เป็นต้นมา ทางราษฎรก็ชิงพื้นที่มาได้เยอะ ถ้าคนยุค 24 มิถุนา กลับชาติมาเกิด พระยาพหลฯ ปรีดี คงพูดว่า สถานการณ์อย่างนี้ ความตื่นตัวของคนตามถนนรนแคม ตามท้องไร่ท้องนา อย่างนี้แหละที่เราต้องการ เงื่อนไขอย่างนี้ ก้าวไปไกลมาก จากวันนั้นถึงวันนี้ แต่ถามว่าชนะไหม ตอบได้ไม่เต็มปากเต็มคำ ต้องเปลี่ยนคำถามใหม่ คือมีการเปลี่ยนแปลงในทางบวกไหม?


ไม่ต้องไปพึ่งสวนดุสิตโพลล์หรอก ใครๆก็คาดได้ว่า ถ้าเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยจะชนะ แสดงว่าในแนวรบรัฐสภา พอฟัดพอเหวี่ยงใช้ได้ แต่แนวรบอื่นๆ เขาได้เปรียบ ไม่ต้องไปพูดเรื่องการต่อสู้ทางอาวุธหรอก สู้กันเมื่อไรก็ต้องใช้ก้านกล้วยหลังบ้านเท่านั้นเอง เมื่อเปรียบเทียบพลังกันอย่างนี้แล้ว ก็เป็นคำถามกับเราทุกคนเลย ถ้าผมตอบ ก็อาจจะมาจากความเศร้าหมองของผมเอง คือสงสัยว่าจะชนะง่ายๆเหรอ ถึงแม้จะไม่แพ้ คือ พูดอย่างแบไต๋ ผมว่า มันคงชนะไม่ง่าย ถึงไม่แพ้แต่คงชนะไม่ง่าย

ประวัติศาสตร์จากวันชาติ

โลกเปลี่ยนไป คนที่เคยเป็นสหายกัน มายืนคนละข้างของฝั่งรบ เราต่างเข้าใจและให้ความหมายต่อเหตุการณ์ต่างกัน แม้ว่าประวัติศาสตร์จะลบไม่ได้ แต่ความหมายที่เราให้ต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไม่คงที่ วันนี้เรามอง ‘24 มิถุนา’ แตกต่างไปจากเมื่อสิบปีก่อน ในอนาคตเราอาจจะมอง ‘24 มิถุนา’ ในมุมมองใหม่ขึ้นอีก

เมื่อ ‘14 ตุลา’ คงมีน้อยคนที่โยงเข้ากับ ‘24 มิถุนา’ แต่วันนี้ เราเห็นกันว่า ปัญหาปัจจุบันสืบมาจากงานที่คณะราษฎรทำไม่สำเร็จ เป็นงานค้างที่เราต้องช่วยกันทำให้สมบูรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว แต่อย่างน้อยสิ่งที่อยู่ในวิสัยของเราเฉพาะหน้า คือพยายามทำให้ ‘24 มิถุนา’ กลับมามีชีวิต กลับมาอยู่ในความสำนึกของมวลราษฎร ซึ่งฝ่ายอำมาตย์พยายามที่จะลบออกจากความทรงจำ


เช่น ไม่บรรจุ คำประกาศ ของคณะราษฎรไว้ในหนังสือเรียนของเยาวชน ชื่อปรีดีสมัยหนึ่งไม่มีใครเอ่ยถึงในที่สาธารณะ หรือไปเกี่ยวข้องกับเรื่องร้าย ชื่อพระยาพหลฯเป็นเพียงชื่อซอย ชื่อถนน แม้กระทั่งวันนี้ ’24 มิถุนา’ ก็ถูกลบหายไปในฐานะที่เป็นวันชาติ ความจริงเรื่องวันชาติ ก็ไม่ใช่ว่าจะมีกันทุกชาติ ทุกประเทศ อย่างญี่ปุ่น อังกฤษไม่มีวันชาติ การมีชาติกับการมีวันชาติไม่ได้สัมพันธ์กันโดยตรง แต่ถ้าจะมีก็ต้องเป็นวันที่มีความหมายต่อชาติจริงๆ วันเกิดของพลเอกเปรมก็สำคัญเฉพาะกับเขา ไม่มีความหมายอะไรกับเรา ยกเว้นว่า จะเอาขนมเค้กมาแบ่งกินกันบ้าง ถ้าอย่างนั้นก็จะช่วยกันร้องเพลง Happy Birthday ให้

ผมขอยกประเด็นหนึ่งให้มาช่วยกันคิด ฝ่ายอำมาตย์เขารู้ว่าฝ่ายเพื่อประชาธิปไตยนั้นแข็งแรงแค่ไหน และเขาก็เดินหมากรุกเป็น ซ้ำเก่งด้วย ขอลองยกที่ประชุมแห่งหนึ่งเป็นตัวอย่าง ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการชั้นนำของประเทศ บางคนเคยเป็นรัฐมนตรี มีข้อวิจารณ์การบ้านการเมืองว่า นโยบายต่างๆเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆเลย เมื่อเป็นอย่างนี้ บ้านเมืองจะพัฒนาได้อย่างไร สิ่งที่เขาต้องการ ก็คือให้ นโยบายของชาติให้คงอยู่ต่อไปเป็น 10 ปี 20 ปีหรือ กว่านั้น

ฟังดูก็ดีที่มีการวางแผนระยะยาว แต่คำถามก็คือ ถ้านโยบายของรัฐถูกกำหนดตายตัวเสียแล้ว เราจะเลือกตั้งไปทำไม ผมว่าดัชนีที่ชี้ความเจริญของชาติคือ การที่ส.ส.หญิงจากหนองหมาว้อเป็นรัฐมนตรีกลาโหมได้ นายพลคนไหนอวดโวหารว่ารัฐมนตรีต้องมาจากกองทัพ ก็ย้ายไปเป็นยามที่ช่องเม็กเสีย ผู้แทนราษฎรต้องสั่งการข้าราชการประจำได้ เพราะบอบอำมาตยาธิปไตยนั้นก็คือ ข้าราชการอยู่เหนือการบริหารงานของรัฐ หรือให้ใครที่ไม่ได้มาจากความเห็นชอบของราษฎรมีอำนาจเหนือกลไกของรัฐ เรามีศัพท์ ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ ไม่รู้ว่าเป็นการวิพากษ์หรือว่าสมควรจะเป็นเช่นนั้น ถ้าจะให้วัฒนธรรมไทยกำหนด เราก็ควรมี มหาวิทยาลัยแบบไทยๆ การศึกษาแบบไทยๆ การเงินการคลังแบบไทยๆ อย่างนั้นหรือ?

ทุนนิยมสามานย์ และเกมการเดินหมากรุก

โดยข้อสังเกต ลักษณะความคิดชาตินิยม ผมขอท้าเอ็นจีโอบางกลุ่มที่ ด่าทักษิณว่า ทุนนิยมสามานย์ แล้วตอนนี้ทุนนิยมสามานย์ไหม? ทราบกันหรือเปล่าว่า มีผู้พิพากษาหนุ่มๆไปสมัครเป็นการ์ดพันธมิตร เห็นไหมว่า ฝ่ายเสื้อเหลืองเขาโยงใยกันขนาดไหน สิ่งที่ผมกลัวคือ เขาไม่ได้อยู่เฉยๆ เขามีหมากเต็มกระดาน และวางหมากทั้งรุกทั้งรับไว้

เหตุการณ์อย่าง ‘19 กันยา’ ใครบอกว่าเขาจะทำอีกไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และเวลา พูดไม่ได้หรอกว่าจะไม่มีรัฐประหารอีก ถ้าเราจำได้ว่าเมื่อ ‘พฤษภา 2535’ มีโปสเตอร์ใหญ่ว่าให้รัฐประหารครั้งสุดท้ายแล้ว ผมเคยพูดกับเพื่อนแบบทีเล่นทีจริงว่า ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายหรอก ตอนนี้มีใครพูดไหมว่า เป็นครั้งสุดท้าย อาจจะเกิดขึ้นอีก เขาเตรียมการณ์ เขามีแผน ถ้าเปรียบเทียบกับหมากรุก ฝ่ายเสื้อแดงเราก็มีหมาก แต่หมากเราเป็นเบี้ย นี่เป็นการมองโลกในแง่เศร้า ถ้าเบี้ยเรากระจายอยู่บนกระดานตรงนั้น ตรงนี้ มันไม่มีพลังหรอกครับ ยกเว้นเบี้ยผูกกัน ซึ่งทำให้เขาต้องคิดหนักว่าจะเอาเรือ เอาม้ามาแลกเบี้ยไหม เมื่อเบี้ยผูกกัน ก็กินฟรีๆไม่ได้

คลื่นใต้น้ำในการเมืองไทย

ประเด็นสุดท้าย ผมอยากมองโลกในแง่ร่าเริง คือ กระแสประวัติศาสตร์นั้นมีหลายระดับ ระดับหนึ่งคือ ระดับผิวน้ำ เวลามีคลื่น ถ้าใครคุ้นกับทะเล เขาจะบอกว่าเป็นทะเลหัวขาว คนออกเรือเขาก็จะรู้ว่า มีคลื่น แต่คลื่นแบบนี้อาจจะไม่น่ากลัวนัก เพราะว่ามันมาจากลมพัดผิวน้ำ แต่คลื่นที่น่ากลัวกว่า คือคลื่นที่ มาจากใต้น้ำ ประวัติศาสตร์ระดับนี้เป็นความปั่นป่วนอยู่ใต้ผิวน้ำ เป็น กระแสคลื่นใหญ่มาก

ลองนึกภาพสึนามิ การเคลื่อนตัวของน้ำปริมาณมหาศาล นั้นพลิกน้ำพลิกฟ้าได้ แต่อาจจะ ไม่ ปรากฏแก่สายตา ทั้งๆที่เป็นพลังที่กำหนดปรากฏการณ์ที่ระดับผิว ข้างบนอาจจะดูสงบราบเรียบก็ได้ ผมดีใจมาก ที่เรามาพูดเรื่อง ‘24 มิถุนา’ เพราะว่าเป็นการมองประวัติศาสตร์ช่วงยาวไม่ใช่เรื่องแต่ละวันตามรายงานหนังสือพิมพ์ จะบอกว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงนั้น เราได้เปรียบในแง่โครงสร้างระยะยาว

แต่ละช่วงเวลา เราจะเห็นว่า มีความก้าวหน้ามากในช่วงชีวิตเรา ประวัติศาสตร์ที่เราต้องใช้หน่วยเป็นศตวรรษ แม้ว่าเฉพาะหน้า วันต่อวัน สัปดาห์ เราอาจจะสู้ไม่ได้ แต่ถ้ามองในระยะยาวก็ยังมีความหวังสำหรับคนต่ำต้อย น้อยหน้า ราษฎรนั้นถูกเขาดูถูกเหยียดหยาม มานาน ถ้าเราอยาก ให้ราษฎรมีศักดิ์ศรี ยืนขึ้นมาทัดเทียมกับฝ่ายที่คิดว่ามี DNA ดีกว่า เราก็มีวิธีการต่อสู้เหมาะสมกับพละกำลังของเรา

และเชื่อได้ว่า เราอาจชนะในระยะยาว เราอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ ประวัติศาสตร์อยู่ข้างเรา