ที่มา ประชาไท
เวลา 9.00 น. ห้องพิจารณาคดี 904 ศาลอาญารัชดา นายพรหมาศ ภู่แส และองค์คณะขึ้นนั่งอ่านคำตัดสินคดีที่ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ถูกอัยการฟ้องเป็นจำเลยในความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี) จากการปราศรัยที่สนามหลวง 3 ครั้ง คือวันที 7 และ 13 มิถุนายน 2551 และ วันที่ 18-19 กรกฎาคม 2551
ศาลตัดสินว่า จากพยานหลักฐาน จำเลยกระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา โดยจำเลยได้กระทำผิด 3 กรรม จากการปราศรัยที่สนามหลวง 3 ครั้ง ตัดสินจำคุกกรรมละ 6 ปี รวม 18 ปี
"นี่คือยุคของการต่อสู้ทางความคิด" ดารณีกล่าวหลังรับฟังคำพิพากษา
นายประเวศ ประภานุกูล ทนายจำเลยระบุว่าจะเตรียมการยื่นอุทธรณ์ต่อไปหลังได้สำเนาคำพิพากษา สำหรับบรรยากาศการฟังคำตัดสินวันนี้ มีประชาชนผู้สนใจและผู้ที่ต้องการมาให้กำลังใจ น.ส.ดารณี ประมาณ 30 คน
ถัดจากการพิจารณาคดี 112 นางสารดารณี ได้เข้ารับฟังการพิจารณาคดีที่ห้องพิจารณา 908 ต่อทันทีในคดีที่ถูก พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร ฟ้องหมิ่นประมาท โดยวันนี้มีการสืบพยานจำเลย และศาลนัดพิพากษาคดีในวันที่ 16 ก.ย.นี้
ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้แจกเอกสารแก่ประชาชนและผู้สื่อข่าวเป็นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่า การสั่งพิจารณาคดีดังกล่าวเป็นการปิดลับซึ่งศาลอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 117 มีคำสั่งตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก เป็นการละเมิดสิทธิของจำเลย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
ฝ่ายจำเลยระบุว่าการที่ศาลสั่งพิจารณาคดีลับดังกล่าว ห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปเข้าฟังการพิจารณานั้นเป็นการใช้บทบัญัติกฎหมายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตราที่ 40 (2) ซึ่งระบุว่าสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริง และการตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้งและพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษาหรือคำสั่ง
และรัฐธรรมนูญมาตรา 29 บัญญัติว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิดได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
ฝ่ายจำเลยเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 117 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ศาลอาศัยอำนาจสั่งให้การพิจารณาคดีลับนั้นขัดและแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีการวินิจฉัยเรื่องนี้ จึงขอให้ศาลส่งความเห็นของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญํติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 211 โดยขอให้ศาลอาญารอการพิพากษาคดีนี้ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องดังกล่าวให้ศาลอาญาพิจารณาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. โดยร้องให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา อย่างไรก็ตาม ศาลยกคำร้องดังกล่าว โดยระบุว่าการพิจารณาไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เนื่องจากจำเลยมีทนายแก้ต่าง และสามารถนำพยานหลักฐานมายังศาลได้อย่างครบถ้วน
ทนายจำเลย จึงได้ทำการยื่นคำร้องด้วยตัวเองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 27 ส.ค. โดยศาลรัฐธรรมนูญลงประทับรับคำร้องดังกล่าว