ที่มา ประชาไท
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้จัดให้มีการมอบเหรียญเจริญ วัดอักษร ให้แก่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีการกล่าวเปิดงาน “พลังและความหมายของคนตัวเล็กๆ”โดยคุณกรอุมา พงษ์น้อย ภรรยาของคุณเจริญ วัดอักษร ผู้ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกปองร้ายด้วยเหตุของการเป็นแกนนำในการต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าที่ราชบุรีจนประสบความสำเร็จ
ต่อจากนั้นคุณจิตรา คชเดช ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์แสดงปาฐกถา “บทเรียนและการต่อสู้ของสหภาพแรงงานกับรัฐและทุนข้ามชาติ” แล้วมีการอภิปราย เรื่องทางเลือกทางรอดของขบวนการแรงงานในยุคเสรีนิยมใหม่” โดย รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ และ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ ซึ่งได้ปรากฏในรายงานข่าวตามสื่อมวลชนในวันถัดมาอย่างแพร่หลาย แต่น่าเสียดายที่ประเด็นในเหตุที่มีการมอบเหรียญเจริญ วัดอักษรในวันนั้นมีการพูดถึงในสื่อกระแสหลักน้อยมาก สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2523 ได้ผ่านการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) จำกัด มาอย่างต่อเนื่อง เรื่องค่าจ้างและสวัสดิการเรื่องสิทธิเสรีภาพของคนงาน เช่น การลางาน เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในปี 2524 มีการยื่นข้อเรียกร้องให้นายจ้างเยอรมันหยุดกิริยาเหยียดหยามคนไทย และมีผลงานติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 29 ปีของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์เป็นเวลาที่ต้องต่อสู้ตลอดนับตั้งแต่วันเริ่มต้นที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ กว่าจะมีองค์กรได้ ก็ต้องเริ่มต้นปกป้อง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ปากท้อง ความเป็นอยู่ที่ดีของคนงานต่อนายทุน ต่อรัฐบาล ไม่เคยมีสักครั้งที่ทุกอย่างจะได้มาโดยง่ายดายแต่ พวกเขายังได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ถึงจะยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่มันเกิดจากการ “รวมตัวกัน” ของคนงานจึงทำให้พวกเขามีอำนาจและพลังที่จะสามารถต่อรองได้ จนล่าสุดเมื่อ 29 มิถุนายน 2552 บริษัทได้ประกาศเลิกจ้างคนงานทั้งหมด 1,959 คน โดยการเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการมุ่งหวังที่จะทำลายสหภาพแรงงาน หาแหล่งค่าจ้างราคาถูก เตรียมใช้ระบบจ้างงานซับคอนแทค ที่นายทุนไม่ต้องรับผิดชอบสวัสดิการหรือการเรียกร้องจากสหภาพแรงงาน จึงเป็นเหตุให้กิดการชุมนุมประท้วงครั้งที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหลายๆไม่เข้าใจหรือไม่พยายามที่จะเข้าใจโดยคิดแต่เพียงว่าในเมื่อนายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแล้วก็น่าจะจบกัน มาเรียกร้องอะไรกันอีก โดยลืมไปว่ากฎหมายที่ว่านั้นมันเป็นธรรมแล้วล่ะหรือ แน่นอนว่ากฎหมายที่ออกโดยชนชั้นใด ก็ย่อมที่จะเอื้อต่อชนชั้นนั้น เมื่อชนชั้นแรงงานไม่มีโอกาสในการร่างกฎหมายก็ย่อมยากจะหาความยุติธรรมแก่ชนชั้นแรงงานได้ ที่สำคัญคือนายทุนหรือผู้ร่างกฎหมายมองเขาเหล่านั้นเป็นเพียงสินค้าหรือวัตถุ มิได้มองว่าเขาเหล่านั้นก็เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกเดียวกันที่ยังมีหลายปากท้องที่ต้องรอคอยอยู่ข้างหลัง แต่ต้องกลับมาถูกเลิกจ้างด้วยเหตุเพียงเพราะหลักการกำไรสูงสุดของลัทธิทุนนิยมนั่นเอง ผมจึงขอนำเอาคำประกาศของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่กำลังต่อสู้เพื่อความถูกต้องหรือกำลังถูกกดขี่ข่มเหงจากระบอบทุนนิยมสามานย์ ดังนี้ คำประกาศเนื่องในโอกาสการมอบเหรียญเจริญ วัดอักษร ประจำปี 2552 แก่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์
สหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้ใช้แรงงานตัวเล็กๆ ในการปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนในการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นที่อยู่ร่วมสังคม ในการปกป้องสิทธิของตนจากการแสวงหาประโยชน์ทั้งจากบรรดานักลงทุนไม่ว่าจะเป็นคนไทยด้วยกันหรือต่างชาติ และจากทางภาครัฐที่มักมองเห็นความสำคัญของตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าชีวิตและความกินดีอยู่ดีของผู้ใช้แรงงาน
ด้วยบทบาทในการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงาน ทำให้สหภาพแรงงานมักถูกมองไปในด้านลบหรือถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ตระหนักถึงประโยชน์หรือความเจริญของส่วนรวม สหภาพแรงงานจึงมักไม่ได้รับการสนับสนุนจากสังคมมากเท่าใดในการดำเนินบทบาทเพื่อปกป้องคุณค่าและความหมายของผู้ใช้แรงงาน
อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกในห้วงเวลาปัจจุบันมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อระบบการจ้างงาน ระบบเสรีนิยมใหม่ที่เปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนย้ายทุนอย่างเสรี การแข่งขันในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ เป็นผลให้สหภาพแรงงานต้องตกอยู่ในสถานะที่ยากลำบากมากขึ้น
สหภาพแรงงานไทรอัมพ์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะต้องได้รับในฐานะของผู้ใช้แรงงาน อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคอย่างมากทั้งจากภายในและภายนอกโรงงาน แม้จะเผชิญกับปัญหาอย่างมากมายแต่การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันของคนตัวเล็กๆ อย่างแข็งขัน
ความสำเร็จของสหภาพแรงงานแห่งนี้อาจไม่ได้หมายถึงเฉพาะชัยชนะในการต่อรองกับทางฝ่ายนายจ้างเท่านั้น บทเรียนที่เกิดขึ้นในระหว่างการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในความพยายามกำหนดชะตาชีวิตของกลุ่มร่วมกันในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับอุ้งมือที่มองไม่เห็นขนาดใหญ่ นับเป็นคุณูปการที่จะมอบให้ทั้งกับผู้ใช้แรงงานและกับสังคมไทยที่จะได้มองเห็นถึงบทเรียน ข้อจำกัด รวมถึงการสร้างทางเลือกที่จะเป็นทางรอดให้กับคนตัวเล็กๆ ในสังคมไทยกลุ่มอื่นได้เรียนรู้ต่อไปในอนาคต
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอมอบเหรียญเจริญ วัดอักษร ประจำปี 2552 ให้กับทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์
เราจะเห็นได้ว่าการต่อสู้ของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ซึ่งเป็นคนตัวเล็กๆ ในสังคมนั้นมิได้ไร้ค่าเสียทีเดียว เพราะถึงแม้ว่าสภาพการณ์ในปัจจุบันนี้สหภาพแรงงานถูกแยกสลาย ถูกเบี่ยงเบนความสนใจจากสื่อกระแสหลักและจากภาครัฐก็ตาม หรือแม้แต่ในตัวของสหภาพแรงงานเองหลายๆ สหภาพก็ตามก็ถูกเบี่ยงเบนวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองของบางพวกบางฝ่ายไปแล้ว และมิหนำซ้ำตัวผู้นำของสหภาพแรงงานหลายๆ คนได้ถูกแปรสภาพกลายเป็น “ขุนนางกรรมกร” ไปทั้งเครื่องแต่งกาย (ชุดสูทหรือปกติขาว) และจิตใจ ด้วยการเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการไตรภาคีหรือแม้แต่การไปเป็นผู้พิพากษาสมทบจนลืมพวกพ้องและรากเหง้าของตนเอง
---------------------------