ที่มา ประชาไท
สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ กับสิ่งที่ไม่อาจจะเห็นจากสื่อ ไม่สำคัญหรอกว่า การเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไหม เมื่อไร แต่คนไทยเปลี่ยนไปแล้ว
ไป ร่วมการชุมนุม ‘4 ปีรัฐประหาร 4 เดือนพฤษภาอำมหิต’ มา นักข่าวสนามหลายคนในพื้นที่ประเมินตัวเลขร่วมกันว่า คนเสื้อแดงที่มาร่วมรำลึกนั้นมีราวอย่างน้อยก็หมื่นคน
แต่ตัวเลขประมาณนี้ไม่ได้มีผลกดดันรัฐบาลอีกต่อไปในยุคที่ประชาชนไร้ซึ่งอำนาจ และต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน
แน่ นอน นอกจากความคิดต่าง และความขัดแย้งที่ถูกกด ย่อมไม่ได้มีสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเกิดขึ้นจริง แต่ในเมื่อกฎหมายบอกว่า มันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน เราในฐานะพลเมืองที่เคารพกฎหมาย แม้มันจะถูกนำมาใช้อย่างไม่เป็นธรรมเพียงใด ภายใต้ข้อเท็จจริงที่มีการล้อมปราบจนผู้คนตายไป 91 ราย บาดเจ็บอีกเกือบสองพัน ก็ได้แต่ต้องยอมรับมัน
ความขมขื่นระดับยากที่ จะรับ อาจทำให้หลายคนหลบลี้หนีหน้าจากการเมืองไปนานกว่า 4 เดือน แต่บรรยากาศที่แยกราชประสงค์วันนั้น เราอาจจะเรียกมันได้ว่า คือการฟื้นตื่นของคนระทมทุกข์ และต้องการเวลาสำหรับการอุ่นร่างกายอีกเล็กน้อย
คุณเห็นอะไรจากสื่อ เห็นภาพประชาชนคนเรือนหมื่นจากมุมสูงไหม
หากไม่เห็น ผมจะบอกว่า ใช่! คนที่อัดแน่นจากแยกราชประสงค์ไปจนถึงแยกประตูน้ำ ในช่วงพีคของกิจกรรม คือภาพที่เกิดขึ้นจริงในวันนั้น
คุณ อาจจะเห็นภาพของ ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ จากสื่อ แต่ภายใต้ข้อจำกัดของสื่อ ที่มองภาพการชุมนุมในแบบเดิมที่ต้องมีแกนนำ จึงจำเป็นต้องหาภาพบุคคลที่เป็นตัวแทนของกิจกรรม สื่อจึงเข้าไม่ถึง ไม่อยากเข้าถึง หรือไม่อยากสนใจ แกนนำที่เป็นแกนนอน (คำที่ บก.ลายจุด เรียก) อีกมากมายที่มารวมกันอยู่ในวันนั้น
มีกลุ่มคนเล่นละครถนนที่กลางแยกราชประสงค์ มีกลุ่มชุดประจำชาติทั่วโลก ที่เขียนป้าย “แดง” จากประเทศต่างๆ มีกลุ่มเต้นรำ และอื่นๆ
มีป้ายที่เขียนว่า “เราคือลำโพง” ทุกคนทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงความจริงที่ตัวเองเห็น
คุณ เห็นอะไรจากสื่อ เห็นภาพการปล่อยลูกโป่งในฐานะสัญลักษณ์หนึ่งที่มีขึ้นเพื่อ “เขียนจดหมายถึงฟ้า” แต่คุณย่อมไม่เห็นเนื้อความที่ผูกติดไปกับลูกโป่ง
คุณ อาจจะเห็นภาพผ้าแดงผูกติดอยู่ตามที่ต่างๆ บริเวณแยก นั่นคือกิจกรรมหนึ่ง แต่คุณอาจจะไม่เห็น ภาพที่เกิดขึ้นซึ่งน่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่แท้จริงของกิจกรรมรำลึกในวันนั้น นั่นคือ ผ้าแดงที่ผูกร้อยโยงใยเป็นตาข่าย พาดเฉียงจากรถไฟฟ้า ลงมาที่มุมเสาไฟฟ้าด้านล่างบ้าง ลงมาที่ราวรั้วบาทวิถีบ้าง คลุมสี่แยกราชประสงค์ที่มีเส้นผ้าศูนย์กลางนับร้อยเมตรไว้ทั้งหมด
มันเกิดขึ้นเอง จากมือทีละมือ ของคนเสื้อแดงที่มาร่วมในวันนั้น
และ ต่อให้ภาพทั้งหมดที่เกิดขึ้น ถูกรายงานผ่านสื่ออย่างเที่ยงตรง อย่างมากคุณก็จะเห็นภาพไกลๆ ที่ไม่อาจจะซูมเข้าไปใกล้ๆ เพื่อให้คุณได้เห็นถึงวรรณกรรมที่เขียนขึ้นอยู่ในสื่อสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งที่พื้น ที่ผ้าแดง ที่กระดาษ และอาจจะรวมถึงที่แนบไปกับ “จดหมายถึงฟ้า”
ข้อความจำนวนมากที่ไม่อาจจะสื่อออกมาได้ เพราะเท่ากับการเผยแพร่ซ้ำซึ่งข้อความอันเสี่ยงต่อความผิดตามมาตรา 112
คุณนึกออกแล้วใช่ไหม ... น่าสนใจว่า ทำไมคุณจึงคิดออก ทำไมจึงคาดได้ว่า ผมกำลังหมายถึงข้อความชนิดไหน
น่า สนใจกว่านั้นก็คือ ท่ามกลางการรายล้อมด้วยวรรณกรรม ม.112 ในขณะที่คาราวานของ นปช. เดินทางสู่เชียงใหม่ในชื่อว่า “ตาสว่างทั้งแผ่นดิน” ส่วนที่ราชประสงค์ เสียงที่ตะโกนขึ้น จากจุดใดจุดหนึ่งแล้วจึงค่อยๆ กระจายออกจนกระหึ่มก้องออกจากปากคนเรือนหมื่นอย่างพร้อมพรักอยู่กลางราช ประสงค์ว่า “ที่นี่มีคนตาย ที่นี่มีคนตาย ที่นี่มีคนตาย”
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.สนธิ บุญยกลิน สนธิ ลิ้มทองกุล แม้กระทั่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ฯลฯ กลับรอด
แทบ จะหาข้อเขียนสักชิ้นที่เรียกร้อง ประณาม กล่าวหา หรือฟันธง ถึงความเกี่ยวข้องการกับการเสียชีวิตของผู้คนในเหตุการณ์ เมษา-พฤษภาคม เมื่อ 4-5 เดือนที่แล้วไม่ได้เลย มีแต่วรรณกรรม 112
ผมไม่อาจบอกได้ หรอกว่า การ “รอด” จากความเกลียดชังรวมหมู่จากคนทุกสารทิศนี้ เป็นสิ่งที่พวกเขาควรได้รับหรือไม่ในผลงานที่ทำให้เกิดการสังหารกันบนถนน เมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา
แต่อย่าลืมว่า คนเหล่านี้ล้วนอ้างความจงรักภักดีทั้งนั้น และกลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้พวกเขาได้เถลิงอำนาจ
ผลงานของเขาเหล่านี้เป็นความจงรักภักดีชนิดไหน ผมเองก็ไม่ทราบจริงๆ เพราะสื่อก็ไม่ได้รายงาน
แต่ป่านนี้...จดหมายคงถึงฟ้าแล้ว