ที่มา Thai E-News
19 กย.53
นิติราษฏร์ ฉบับที่ ๑ (วรเจตน์ ภาคีรัตน์)
เมื่อสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มนิติราษฎร์ คิด การที่จะสร้างชุมชนทางวิชาการเล็กๆ ในทางนิติศาสตร์ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางกฎหมายที่ถูกต้อง เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย และเพื่อเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งนิติรัฐและความยุติธรรมให้เจริญงอกงามในสังคม ไทย เรื่องหนึ่งที่พวกเราคิดกันนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่กล่าวมาแล้วก็คือ เว็บไซต์ที่เราจะตั้งขึ้นนั้น ควรจะมีชื่อว่าอะไร มีชื่อที่เราคิดกันหลายชื่อ ในที่สุดเราก็ได้ชื่อที่อยู่หรือที่ตั้งของเว็บไซต์ว่า http://www.enlightened-jurists.com/
ทำไมต้อง enlightened jurists
ตลอด ระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วงชิงอำนาจ สร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจ ตลอดจนทำลายอำนาจ การช่วงชิง สร้างความชอบธรรม และทำลายล้างในนามของกฎหมายและความยุติธรรมนั้น ไม่เพียงแต่สร้างบาดแผลที่ลึกอย่างยิ่งให้กับวงการกฎหมายและวงวิชาการ นิติศาสตร์ไทยเท่านั้น แต่ยังมีผลสร้างความอยุติธรรมอย่างรุนแรงให้เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมโดยรวม ด้วย
เมื่อได้สนทนาแลกเปลี่ยนกัน เราเห็นตรงกันว่า เหตุที่ทำให้เกิดสภาพการณ์แบบนี้ขึ้นในสังคม ก็เนื่องจากผู้คนจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทชี้นำสังคม และนักกฎหมายที่เป็นชนชั้นนำ ปิดล้อมความคิดความอ่านของผู้คน ด้วยการยกเอาข้อธรรม ความเชื่อในทางจารีตประเพณี ตลอดจนบุคคลที่ถูกสร้างให้เป็นที่ยึดถือศรัทธาขึ้นเป็นกรงขังการใช้เหตุผล และสติปัญญาของผู้คน
เพื่อจะไปให้พ้นจากสภาวะเช่นนี้ เราเห็นว่าสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการกฎหมายและวงวิชาการนิติศาสตร์ จะต้องก้าวข้ามยุคมืดไปสู่ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญา หรือที่บางท่านเรียกว่า ยุคภูมิธรรมหรือ ยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment; les Lumières; Aufklärung) ดังที่ได้เคยเกิดมาแล้วในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุคภูมิธรรม หรือพุทธิปัญญาในช่วงศตวรรษที่ ๑๗ และ ๑๘ ซึ่งในที่สุดแล้วเป็นรากฐานสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมไป สู่ความเป็นประชาธิปไตย
ลักษณะสำคัญของ Enlightenment คือ การเกิดความเคลื่อนไหวทางความคิดในทุกแขนงวิชา โดยการเคลื่อนไหวทางความคิดดังกล่าว มีลักษณะเป็นการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ การสงสัยต่อสิ่งที่ยอมรับเด็ดขาดเป็นยุติ ห้ามโต้แย้ง ห้ามคิดต่าง เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือคำสอนทางศาสนา ทั้งนี้โดยที่ถือว่า “เหตุผล” มีคุณค่าเท่าเทียมกับ “ความดี” การใช้สติปัญญาครุ่นคิดตรึกตรองไม่หลงเชื่ออะไรอย่างงมงายมีค่าเป็นคุณธรรม ถือว่ามนุษย์ทั้งหลายสามารถที่จะได้รับการฝึกฝนให้ใช้สติปัญญาได้ และถือว่าเหตุผลเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการรับรู้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบ ตัวอย่างเท่าทัน ยุคนี้เป็นยุคที่เกิดการเรียกร้องให้มีขันติธรรมในเรื่องความเชื่อทางศาสนา กล่าวให้ถึงที่สุด ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญา คือ ยุคที่เสรีภาพจะเข้าแทนที่สมบูรณาญาสิทธิ์ ความเสมอภาคจะเข้าแทนที่ระบบชนชั้น เหตุผล ความรู้ วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์จะเข้าแทนที่อคติและความงมงายทั้งหลาย
ถึงแม้ ว่าในปัจจุบันนี้ นักคิดสกุลหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) และนักคิดในสายถอดรื้อโครงสร้าง (Deconstruction) จะปฏิเสธคุณค่าภววิสัยและความจริงปรมัตถ์ และเห็นว่าตรรกะไม่ใช่รากฐานเพียงประการเดียวของความรู้ของมนุษย์ก็ตาม แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หากเราไม่เริ่มต้นตั้งคำถาม และใช้สติปัญญาของเราอันเปรียบเสมือนแสงสว่างขับไล่ความมืดมนคืออคติและความ งมงายแล้ว เราก็คงจะสร้างสรรค์สังคมมนุษย์ที่ยุติธรรมไม่ได้ แม้ว่ายุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญาจะเป็นเพียงยุคสมัยหนึ่งในประวัติ ศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่เราเห็นว่า การใช้เหตุผลและสติปัญญาแสวงหาความจริงเป็นกระบวนการที่ไม่รู้จักจบสิ้น
การ ที่เราเรียกตนเองว่า enlightened jurists จึงมีความหมายแต่เพียงว่า เราปฏิเสธความเชื่อ จารีตอันงมงายอันปรากฏในวงวิชาการนิติศาสตร์ และอยู่บนหนทางของการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และท้าทายสถาบันทั้งหลายทั้งปวงในทางกฎหมายที่ไม่ตั้งอยู่บนรากฐานของเหตุผล ที่สามารถยอมรับได้
เราเห็นด้วยกับคำขวัญของยุค แห่งความสว่างไสวทางสติปัญญา คำขวัญที่ Immanuel Kant (ค.ศ.๑๗๒๔-๑๘๐๔) นักปรัชญาผู้เรืองนามชาวเยอรมันให้ไว้ว่า
“จงกล้า ที่จะใช้ปัญญาญานแห่งตน!” (Habe Mut, dich deines eigenen Verstandes zu bedienen!)
สำหรับชื่อภาษาไทยที่เราเรียกว่า “นิติราษฎร์” นั้น ความหมายอยู่ในคำขยายที่ตามมา นั่นคือ “นิติศาสตร์เพื่อราษฎร”
ประเด็นก็คือทำไมต้องเป็นนิติศาสตร์เพื่อราษฎร
หาก เราย้อนกลับไปที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว เราจะพบความจริงประการหนึ่งว่ าวิธีคิดของคนในวงการนิติศาสตร์และระบบ ตลอดจนโครงสร้างขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยุติธรรม มีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก อาจกล่าวได้ว่า อุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ไม่ได้ถูกปลูกฝังบ่มเพาะให้เข้าสู่ความรับรู้ของบุคคลในวงการกฎหมายอย่างที่ ควรจะเป็น
การเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ในช่วงสามสี่ปีมานี้ ย่อมต้องถือว่า เป็นผลพวงของความล้มเหลวในอันที่จะสถาปนาอุดมการณ์นิติรัฐ-ประชาธิปไตยให้ เป็นอุดมการณ์หลักในวงการกฎหมายและวงวิชาการนิติศาสตร์
เหตุผล ของความล้มเหลวดังกล่าวมีอยู่หลายประการ แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง น่าจะเนื่องมาจากการที่สถาบันที่อบรมให้ความรู้ทางวิชาการและฝึกฝนวิชาชีพ ทางกฎหมาย ตัดตัวเองออกจากการเรียนการสอนกฎหมายมหาชนในแง่ของหลักการและคุณค่าที่แท้ จริง นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นต้นมา เราจึงได้เห็นการรัฐประหารและล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่า
เรา เห็นบรรดานักกฎหมายรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่พร้อมจะรับใช้คณะรัฐประหารและผู้ที่ อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร และพร้อมที่จะละทิ้งหลักวิชาที่ร่ำเรียนมา เพื่อตอบสนองความต้องการของการทำรัฐประหาร
เราเห็นศาลยอมรับ บรรดาประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารให้มีค่าบังคับเป็นกฎหมายโดยแทบจะไม่มีการ ตั้งคำถามถึงความยุติธรรมในทางเนื้อหาของบรรดาประกาศหรือคำสั่งเหล่านั้น
สิ่ง เหล่านี้นอกจากจะมีผลทำลายคุณค่าของวิชานิติศาสตร์ลงอย่างถึงรากแล้ว ในที่สุดยังเท่ากับเป็นการทำร้ายราษฎรผู้เป็นเจ้าของอำนาจรัฐด้วย
เรา เห็นว่าวิชานิติศาสตร์ในรัฐเสรีประชาธิปไตย ต้องเป็นศาสตร์ที่มุ่งตรงไปที่ความยุติธรรมและความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ ที่สำคัญวิชานิติศาสตร์ต้องเป็นวิชาการที่เป็นไปเพื่อราษฎร เราใช้คำว่า “ราษฎร” โดยถือว่าคำๆ นี้ มีความหมายนัยเดียวกับ พลเมือง และประชาชน เราเห็นว่า การเรียนการสอนในทางนิติศาสตร์ ไม่ควรจำกัดอยู่แต่การ ท่องจำตัวบท คำอธิบายกฎหมาย หรือคำพิพากษาของศาล การเรียนการสอนในทางนิติศาสตร์ไม่ควรเป็นไปเพื่อให้ผู้เรียนตัดขาดตัวเองออก จากสังคม ไต่เต้าบันไดแห่งความสำเร็จทางวิชาชีพเพียงเพื่อในที่สุดแล้วจะได้อยู่ในที่ สูงกว่าราษฎร และใช้อำนาจหรือการผูกขาดความรู้ทางกฎหมายเอารัดเอาเปรียบกดขี่ข่มเหงราษฎร
วิชา นิติศาสตร์ ควรจะสอนให้ผู้เรียนได้ตระหนักว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาและเริ่มต้นประกอบวิชาชีพโดยเข้าไปเป็นองค์กรของรัฐและ ทรงอำนาจในการกระทำการทางกฎหมาย อำนาจที่ตนกำลังใช้อยู่นั้น โดยเนื้อแท้แล้ว หาใช่อำนาจของตนเองไม่ แต่เป็นอำนาจของราษฎร เรา เห็นว่าการศึกษาวิชานิติศาสตร์อย่างมีจิตใจวิพากษ์วิจารณ์ และใช้กฎหมายโดยซื่อตรงต่อหลักวิชาที่ยอมรับกันเป็นยุติว่า มีเหตุผลอธิบายได้ ไม่คำนึงถึงหน้าคน ย่อมเท่ากับเป็นการใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์แก่ราษฎรทั้งหลาย
เว็บไซต์ ที่เราทำขึ้นนี้ นอกจากจะเป็นที่รวบรวมงานทางวิชาการ กึ่งวิชาการ บทสัมภาษณ์ ตลอดจนความเห็นทางกฎหมายของสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มนิติราษฎร์เพื่อสนับสนุน หลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตยแล้ว เรายังจะคัดสรรเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองและ ประวัติศาสตร์กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายมหาชนมาลงไว้ด้วย การคัดสรรเอกสารเหล่านี้มาลงไว้ นอกจากจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนรายวิชาต่างๆ แล้ว เรายังหวังให้เอกสารทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ทั้งที่เป็นของไทยและต่างประเทศ เล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ด้วยตัวของเอกสารนั้นเอง
นอกจากที่ได้ กล่าวมาข้างต้นแล้ว เรายังเปิดคอลัมน์บทความนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาวิชากฎหมายได้เขียนบทความทางวิชาการหรือกึ่งวิชาการ แสดงทัศนะของตนต่อประเด็นปัญหาทางกฎหมายและการเมืองการปกครอง เราหวังว่านี่จะเป็นบันไดขั้นต้นสำหรับนักศึกษาที่รักในความรู้ที่จะได้ แสดงออกซึ่งความสามารถทางวิชาการของตน บทความแรกที่นำเสนอในการเปิดเว็บไซต์นี้ คือบทความของคุณกฤษณ์ วงศ์วิเศษธร นักศึกษาปริญญาโท สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องปรองดองแห่งชาติในสายตาสังคมวิทยากฎหมาย
ส่วนที่สำคัญที่สุด อีกส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ คือ บทความแนะนำ ในส่วนนี้สมาชิกผู้ก่อตั้งจะได้นำบทความที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ในการทำความ เข้าใจกฎหมายและการเมืองการปกครองมาลงไว้ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นบทความในทางนิติศาสตร์เท่านั้น
ในชั้นแรก ที่สุดนี้เราได้รับความอนุเคราะห์บทความจากอาจารย์ ดร. ณัฐพล ใจจริง เรื่อง “ความชอบด้วยระบอบ” : วิวาทะในคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญของสำนักจารีตประเพณีกับรัฐธรรมนูญนิยม ว่าด้วยอำนาจของพระมหากษัตริย์ (๒๔๗๕-๒๕๐๐) แม้บทความนี้จะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารศิลปวัฒนธรรมมาแล้ว และแพร่หลายไปในวงกว้าง แต่สำหรับในวงวิชาการนิติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษาวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ดูเหมือนว่าจะยังอ่านกันน้อยมาก บทความนี้ได้ชี้ให้เห็นการต่อสู้ในทางความคิดของนักกฎหมาย ๒ สำนัก คือ สำนักจารีตประเพณี กับสำนักรัฐธรรมนูญนิยม อาจารย์ณัฐพลได้แสดงให้เห็นถึงภูมิหลังของนักกฎหมายไทยที่มีแนวความคิดแบบ จารีตนิยม กับนักกฎหมายไทยที่มีแนวความคิดแบบรัฐธรรมนูญนิยม การให้เหตุผลตลอดจนคำอธิบายสถานะในทางรัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์ตามแนวทาง ของแต่ละสำนัก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด ปัญหาเรื่องการละเมิดไม่ได้กับความรับผิดชอบ ปัญหาเรื่องการรับสนองพระบรมราชโองการ ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาล ปัญหาเรื่องที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ ท้ายที่สุดอาจารย์ณัฐพลได้ชี้ให้เห็นว่า แม้คำอธิบายของสำนักรัฐธรรมนูญนิยม จะได้วางหลักความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญที่น่า สนใจไว้หลายประการ แต่หลักการเหล่านั้นได้สูญหายไปจากคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าบทความนี้จะเขียนถึงการต่อสู้ทางความคิดของนักกฎหมายทั้งสองสำนัก ในช่วง ๒๕ ปีแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญหาที่ถกเถียงกันนั้นยังคงเป็นปัญหาหลักในทางการเมืองการปกครองไทยมาจนถึง ปัจจุบันนี้ สำหรับนักศึกษาวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว บทความนี้เป็นบทความที่จะผ่านเลยไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด
เว็บไซต์นี้ จะมีความเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ สำหรับบทนำที่เราเรียกว่า “นิติราษฎร์ ฉบับที่ ...” นั้นสมาชิกผู้ก่อตั้งจะสลับกันเขียนทุกๆ สัปดาห์หรือสองสัปดาห์ แสดงทัศนะและความเห็นทางกฎหมาย เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง แนะนำหนังสือ แนะนำบทความ วิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปของบ้านเมือง เราหวังว่านี่จะเป็นก้าวเล็กๆในการก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทางวิชาการและ ทางความคิดเพื่อส่งเสริมให้การศึกษาวิชานิติศาสตร์มีชีวิตชีวา เพื่อสนับสนุนหลักนิติรัฐ และเพื่อให้ในที่สุดแล้วบทบัญญัติในมาตรา ๑ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ปรากฏขึ้นเป็นจริง
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
๑๙ กันยายน ๒๕๕๓