ที่มา มติชน
คลิกฟังเสียงเทศนาธรรม
พระปราโมทย์ ปาโมชโช
คลิกฟังเสียงเทศนาธรรมได้ที่รูปกล้องเหนือพาดหัวข่าว
จาก กรณีกลุ่มชาวพุทธรักษ์ศาสนา (พรศ.) ยื่นเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบพฤติการณ์พระปราโมทย์ ปาโมชโช(สันตยากร)เจ้าสำนักสวนสันติธรรม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยตั้งข้อสงสัยในเรื่องทรัพย์สินที่ยักย้ายถ่ายเทให้ นางอรนุช สันตยากร อดีตภรรยา และพฤติกรรมอื่นๆ นำโดยนางสาวฐิตินาถ ณ พัทลุง ไฮโซนักเขียนชื่อดังผู้ออกมายื่นโนติสให้พระปราโมทย์คืนเงินบริจาคกว่า 4 ล้านบาท และชี้แจงข้อเท็จจริง
หาก มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของทาง"โลก"ที่ต้องฟ้องร้องกันขอเว้นวรรคไม่ กล่าวถึง ขอนำเสนอในส่วนทาง"ธรรม" ที่สวนสันติธรรมยังมีลูกศิษย์เข้าออกเป็นปกติเพื่อเข้าฟังธรรมะและฝึก ปฏิบัติตามแนวทางที่ชี้แนะด้วยพระปราโมทย์ ซึ่งมีการเผยแพร่ไปทั่วตามสื่อต่างๆที่ได้รวบรวมบันทึกไว้ในแบบหนังสือที่ พระปราโมทย์เขียนเอง คำเทศนาปรากฎในเว็บไซต์ธรรมต่างๆ การบันทึกเทปโดยลูกศิษย์รวมไปถึงการโหลดเสียงเทศนาในโอกาสต่างๆ รวมไปถึงการนำข้อความในหนังสือไปอ่านเผยแพร่กระจายเสียงออกทางวิทยุก็มีเช่น เดียวกัน
หนังสือ ของพระปราโมทย์ที่จัดพิมพ์มีหลายเล่มไม่ได้มีไว้เพื่อจำหน่ายแต่เอาไว้แจก ให้ลูกศิษย์ที่ต้องการศึกษาธรรมะหรือหากใครอยากได้มากกว่า 1 ชุด สามารถร่วมสมทบทุนได้ราคามีตั้งแต่ 20-60 บาท นอกจากนี้ยังมีซีดีธรรมะแจกฟรีเป็นเสียงเทศนาของพระปราโมทย์และเสียงอ่าน หนังสือให้สำหรับผู้ที่ไม่สะดวก
ตัวอย่างหนังสือของพระปราโมทย์ที่แพร่หลายมากที่สุดที่บรรยาลูกศิษย์นิยมอ่านเพราะเข้าใจง่ายและนำไปปฏิบัติได้จริง "ทางเอก" กล่าวถึงจุดเริ่มต้นและปลายทาง ซึ่งพระปราโมทย์กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า เบื้องต้นก็จะบอกจุดหมายปลายทาง เป้าหมายแรกของการปฏิบัติ เป้าหมายแรกก็คือต้องเป็นพระโสดาบัน ต้องละความเห็นผิดคือกายกับใจ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติต้องรู้กายรู้ใจ บทเรียนต่อมาก็คือ หัดรู้ว่าทางที่ผิดมันเป็นอย่างไร สิ่งที่ทำให้เรารู้กายรู้ใจไม่ได้ก็มี 2 อันนะ ใจเราหลงไปคิด หลงไป เผลอไป กับการที่ไปเพ่งเอาไว้บังคับไว้ สุดโต่ง 2ด้าน เป็นทางที่ผิด
บทเรียนต่อมาในหนังสือเรื่องทางเอกก็จะบอกว่า แล้ว ทางที่ถูกมันเกิดได้อย่างไร ทางที่ถูกนี่ไปสั่งให้เกิดไม่เกิดนะ ต้องรู้ว่าต้นทางจริงๆ อยู่ตรงไหน ที่หลวงพ่อพูดซ้ำไปซ้ำมา ต้นทางก็คือ หัดรู้สภาวะ พอเรารู้สภาวะแล้ว ต่อไปพอสภาวะเกิด สติจะเกิดเอง เมื่อสติเกิดขึ้นมานะจิตจะมีความสุข เมื่อจิตมีความสุข จิตจะมีสมาธิ สมาธิเกิดจากความสุข จิตจะตั้งมั่น เมื่อจิตมีสมาธิ จิตจะเกิดปัญญา ปัญญานี่มีสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ปัญญาก็คือการที่จิตมันรู้ความจริงของกายของใจ เมื่อปัญญาเกิด วิมุตติจะเกิด คือปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจได้ เมื่อวิมุตติเกิดแล้วนี่ ‘วิมุตติญาณทัสสนะ’ คือความเข้าใจถึงความหลุดพ้นจะเกิดขึ้น นี่สายเส้นทางของการปฏิบัติเริ่มต้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เริ่มต้นจากการไปน้อมใจง๊อกแง๊กๆ ขาดสติอะไรอย่างนั้นนะ
เริ่มต้นของการปฏิบัติจริงๆ หัด รู้กายหัดรู้ใจไป จนกระทั่งจิตมันรู้จักสภาวะ มันจำสภาวะได้ สติเกิด พอสติเกิด ความสุขเกิด สมาธิเกิด ปัญญาวิมุตติเกิด จะเกิดไปตามลำดับ ค่อยๆ เรียนนะ มีให้อ่านนะ เอาไปอ่านดู หลังจากนั้นก็จะเล่าตัวอย่างของการปฏิบัติ เล่าตัวอย่างของการปฏิบัติที่เหมาะสำหรับคนในเมือง คือเรื่องของพระโปฐิละ พระใบลานเปล่า พระโปฐิละทำกรรมฐานด้วยการดูจิต ดูจิตเป็นวิธีง่ายๆ
ถัด จากนั้น บทต่อไปจะพูดถึงปลายทางของการปฏิบัติแล้วนะ จุดหมายปลายทางเลย ตัวนิโรธนั่นเอง ตัวนิโรธ ตัวนิพพาน ตัวสุญญตา ลองไปอ่านดูนะ แล้วบทสุดท้ายนี่แหละ เป็น บทที่หลวงพ่อจะ โดนก้อนหิน คือจะเล่าถึงแนวทางปฏิบัติต่างๆ แล้วก็จะเทียบกับปริยัติให้ดู ว่าแต่ละแนวนี่มันถูกกับปริยัติไหม หรือมันไม่ถูก ทำไมหลวงพ่อไปอ้างปริยัติ เพื่อหลวงพ่อจะได้ไม่เจ็บตัว ใครบอกว่าหลวงพ่อมาคัดค้านเขานะ หลวงพ่อบอกปริยัติเขาว่าอย่างนี้ ไปอ่านนะ ไปอ่าน เผื่อโมโหหลวงพ่อจะได้ไม่มา หลวงพ่อจะได้สบายบ้าง
ข้อความในหนังสือบางตอน
"ไม่ มีวิธีทำกรรมฐานอย่างใดที่จัดว่าดีที่สุดมีแต่วิธีที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ตามจริตนิสัยและวาสนาบารมีที่เคยฝึกฝนอบรมมาเฉพาะตัวเท่านั้น"
ทาง สายกลางเส้นนี้มีจุดเริ่มต้นจนถึงปลายทางดังนี้" การเจริญสติปัฏฐานอย่างเป็นอนุปัสสนา หรือ การตามรู้กาย เวทนา จิต และธรรม เป็นต้นทางของการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ เพราะเป็นวิธีการที่จะทำให้สติเกิดขึ้นเนืองๆ เนื่องจากจิตจดจำสภาวะของรูปนามได้
ลำพัง การศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ศึกษารู้จักรูป นาม ดังนั้นก่อนที่พวกเราจะเริ่มลงมือเจริญวิปัสสนา จะต้องศึกษาให้รู้จักรูปนามของจริงในตัวเองให้ได้เสียก่อน ถ้าไม่เห็นหรือไม่รู้จักสภาวะของรูปนาม เราจะไม่สามารถปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องต่อไปได้
การ ศึกษาจนมองเห็นรูปนามของจริงในตนเอง เป็นเครื่องทำลายความเห็นผิดขั้นพื้นฐานที่เห็นว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ หรือ อัตตา มีอยู่จริงๆ วิธีการก็คือ การหักมองตัวเองอย่างมีการจำแนก อย่าใช้วิธีคิดเอาเองว่าตัวเรามี หรือไม่มี แต่ให้รู้ลงไปที่สภาวะจริงๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นส่งที่เรียกว่าตัวเราให้ได้
ใน ขั้นแรกนี้ไม่ต้องทำอะไรมากนักหรอก ในขณะที่เรากำลังนั่งอยู่นี้ ให้พวกเรารู้สึกลงไปในร่างกายที่กำลังนั่งอยู่ ขำย้ำว่าต้องรู้สึกเอาว่าที่นั่งอยู่นี้เป็นรูป ไม่ใช่คิดเอาว่านี่ คือ รูปนั่งไม่ใช่เรานั่ง จากนั้นค่อยๆสังเกตให้ออกว่า รูปกายที่อยู่ในอาการนั่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งจิตใจที่เป็นผู้ไปรู้รูปนั่งก็ เป็นอีกส่วนหนึ่ง เมื่อเดินทางก็รู้ว่ารูปกายที่อยู่ในอาการเดินนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง และจิตใจที่เป็นผู้ไปรู้รูปเดินก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เป็นต้น
หนังสือธรรมเล่มบางอีกเล่มหนึ่งสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นศึกษาธรรมะมีหนังสือควรเริ่มเรื่อง "เรียนธรรมคู่เพื่อรู้ธรรมหนึ่ง " "ความหัศจรรย์ของธรรมะก็คือให้เราเรียนรู้ธรรมคู่พอรู้แจ้งในธรรมคู่แล้วเราจะรู้ธรรมหนึ่ง" ถอดข้อความมาจากเทศนาธรรมกล่าวถึงการเจริญวิปัสสนาเป็นการเรียนรู้สภาวธรรม คือ รูปนาม ล้วนเป็นธรรมคู่ที่แปรปรวนมีเกิดแล้วมีดับอยู่คู่กันเสมอ
ขอยกตัวอย่างตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ "ใจ ไปยึดความไม่มีอะไร อะไรนี่เอง ไอ้โน่นก็ไม่ยึดไอ้นี่ก็ไม่ยึด แต่ไปนึกความไม่มีอะไร เห็นมั้ยกิเลส ละเอียดนะ อย่างพวกเราภาวนา บางคนจิตว่างๆ ว่างอะไรกัน จิตไหลไปที่ความว่างเปล่าไปหลงยึดความว่างเปล่า คิดว่าว่างแล้วหรือ ? ไม่วางจริงหรอก "
เคยมีครูบาอาจารย์องค์หนึ่งชวนหลวงพ่อสนทนาว่า "คุณสอนฆารวาสมาเยอะแล้ว ฆารวาสมีจุดอ่อนอยู่ตรงไหน? ก็กราบเรียนท่านว่า "ฆารวาสมีจุดอ่อนคือมักขาดความต่อเนื่อง" เอา ไม่จริง ถ้าเอาจริงก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ใจไม่ถึงหรอก เหยาะๆแหยะๆ ทำบ้างหยุดบ้าง ทำบ้าง หยุดบ้าง คนไม่จริงก็ได้ของไม่จริง คนจริงต้องใจถึงจริงๆ คนใจถึงจริงๆต้องอดทนอดกลั้น ขันติ สำคัญมากจะเก่งแสนเก่งทำตัวเหยาะๆแหยะๆไม่ได้กินหรอก ต้องพากเพียรจริงๆ
คำ สอนทั้งหลายก็สับสนอลหม่านมาก ต้องศึกษาให้ดีด้วยเอาจริงอย่างเดียวแต่จริงแบบวัวควายยังใช้ไม่ได้ ต้องศึกษาว่า จริงๆแล้วพระพุทธเจ้าสอนอะไร ศึกษาให้ถ่องแท้นะ คำสอนซึ่งคลาดเคลื่อนนี่เต็มไปหมดเลย น่าสงสารคนจำนวนมากที่แสวงหาทางออกพ้นทุกข์ แทนที่จะพ้นทุกข์กลับทุกข์มากกว่าเก่าก็เยอะนะ บางคนภาวนจนเป็นบ้าเป็นบอ พิกลพิการ หลังเดี้ยง คอเดี้ยงเจ็บปวดไปทั้งตัว ทรมานเหมือนคนพิการไปเลย ไม่ศึกษาให้ดีเสียก่อน อาศัยว่าเชื่อคนโน้นคนนี้ หรือนึกเอาเองว่าวิธีนี้คงดี แล้วทุ่มเทลงไปกลับเดินชนกำแพง ขยันเดินเอาหัวโขกเปรี้ยงๆเข้าไป ไม่ได้กินหรอก
ธรรมะของพระพุทธเจ้าลึกซึ้งมากนะ
ฉะนั้นเวลาละนี่ไม่ใช่ว่าไปไล่ดับตัวโน้นตัวนี้เอาตามใจชอบ ต้องดูว่าอะไรเป็นต้นตอที่แท้จริง ต้นตอที่แท้จริงคือ อวิชชา แล้ว ทำอย่างไรจะละอวิชชาจะดับอวิชชาได้ ไม่มีใครดับอวิชชาได้ แต่ถ้าเมื่อไรเกิดอวิชชา อวิชชาจะดับเอง วิชชาเหมือนแสงสว่าง วิชชาคือความมืด ทันทีที่แสงสว่างเกิดขึ้นความมืดก็หายไปเอง เพราะ ฉะนั้นไม่ต้องมุ่งหน้าดับอวิชชา แต่ให้มุ่งหน้าทำให้เกิดวิชชาขึ้นมา วิชชาอันแรกคือ การรู้แจ้งในกองทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไรก็ละสมุทัยโดยอัตโนมัติเมื่อนั้น ถ้าละสมุทัยเมื่อไรก็แจ้งนิโรธเมื่อนั้น ถ้าแจ้งนิโรธเมื่อไรก็เกิดอริยมรรคเมื่อนั้น
ดังนั้นงาน กรรมฐานจริงๆ คือ การรู้ทุกข์ เมื่อรู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้วก็เป็นอันเกิดวิชชาละอวิชชาได้ทั้งหมด สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ คือ รูปนามในกายใจนี้เอง การที่เรามีสติรู้กายใจตรงตามความเป็นจริงนี่แหละเรียกว่า สติปัฏฐาน เพราะ ฉะนั้นท่านถึงสอนว่า สติปัฏฐานเป็นทางสายเดียวที่จะทำให้ถึงความบริสุทธ์หลุดพ้นได้ หน้าที่เราต้องรู้กายรู้ใจต้องรู้ความความเป็นจริง รู้ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็จะเกิดความรู้จริง ความไม่รู้ คือ อวิชชาก็ดับไป แล้วกระบวนการทำงานเพราะความไม่รู้ หรือที่เรียกว่า "ปฏิจจสมุปบาท" อันเริ่มด้วยการดับอวิชชา หรือเรียกว่า "ปฏิจจสมุปบาทสายดับ"
ฉะนั้นให้พวกเราจับหลักของการภาวนาให้ดีนะ งานอื่นใดนอกจาก"การ รู้ทุกข์"ไม่มี งานดับเวทนาไม่มี งานดับสังขารไม่มี งานหยุดความคิดไม่มี งานที่ว่าจะทำยังไงให้ไม่คิด ทำยังไงจิตจะสงบอยู่แต่ความว่าง ภาวนาแล้วเอาแต่ความว่าง น้อมจิตไปสู่ความว่างอย่างเดียว นี่ใช้ไม่ได้ทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้น้อมจิตไปสู่ความว่าง พระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐานต่างหาก สอนกายานุปัสสนา ให้มีสติตามรู้กายอยู่เนืองๆ สอนจิตตานุปัสนาให้สติตามรู้จิตอยู่เนืองๆ สอนธรรมานุสปัสสนา ให้มีสติตามรู้สภาวธรรมอยู่เนืองๆ ท่านไม่ได้สอนสุญญตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่มี ไม่ได้สอนให้ไปรู้ความว่าง แต่ถ้าเมื่อไรที่เรารู้กายและรู้ใจแจ่มแจ้งตรงตามความเป็นจริงเราจะเห็น นิพพาน มันวางเอง หลวงปู่ดูลย์ท่านจะสอนว่า ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง ท่านจะสอนอย่างนี้